วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รายงานพิเศษ: ถอดบทเรียน 1 ปี พ.ร.บ.ค้ามนุษย์

รายงานพิเศษ: ถอดบทเรียน 1 ปี พ.ร.บ.ค้ามนุษย์
โดย : เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข  เมื่อ : 3/06/2009 10:58 AM
นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2551 เป็นระยะเวลากว่า 1 ขวบปีแล้ว ที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งกฏหมายฉบับดังกล่าวนับว่าเป็นความหวังของสังคม ในการเป็นเครื่องมือสำหรับจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ด้วยปัจจัยทาง สังคม เศรษฐกิจ และสภาพภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเป็นพื้นที่ต้นทาง พื้นที่ทางผ่านและพื้นที่ปลายทาง ทำให้ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายเฉพาะทางในการจัดการปัญหานี้

ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จึงได้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ทำงานในสถานการณ์จริงที่ได้พบเจอ หลังจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประกาศบังคับใช้มาแล้วเป็นเวลากว่า 1 ปี เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ต่อไป

การพิจารณาในชั้นพนักงานสอบสวน

การนำผู้เสียหายเข้าสู่การแจ้งความร้องทุกข์ในชั้นพนักงานสอบสวน มักไม่ค่อยปรากฏการแจ้งความโดยผู้เสียหายโดยลำพัง แต่จะอาศัยกลไกการนำผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ โดยองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ หน่วยงานของรัฐ เช่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เป็นต้น ผู้เสียหายส่วนมากไม่ประสงค์จะดำเนินการทางกฎหมายตั้งแต่แรก ดังนั้น การให้ความรู้และการสนับสนุนให้ผู้เสียหายเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง

ปัญหาและอุปสรรคสำคัญประการแรก เป็นเรื่องความรู้ของพนักงานสอบสวนในการตั้งข้อกล่าวหาแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ ดังนั้น พนักงานสอบสวนจำนวนมากจึงไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายค้ามนุษย์ เมื่อมีการร้องทุกข์แจ้งความจึงมักจะตั้งข้อหาตามกฏหมายอาญามากกว่าเนื่องจากมีความชัดเจนและคุ้นเคยกว่า

และหากผู้เสียหายเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยแล้ว กระบวนการสอบสวนจะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยจะต้องเชิญทีมสหวิชาชีพมาร่วมการสอบปากคำด้วย ซึ่งพนักงานสอบสวนหลายคนต่างมีความเห็นว่าเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยาก ทั้งจะต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมและมีอุปกรณ์ที่สามารถทำการบันทึกการสอบปากคำได้ ดังนั้น หลายกรณีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กจะถูกตัดตอนในกระบวนการชั้นพนักงานสอบสวน โดยการไม่รับแจ้งความ หรือ หากเป็นแรงงานข้ามชาติก็จะถูกผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางในฐานะบุคคลเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ประการต่อมาเป็นการตัดตอนการพิจารณาในชั้นพนักงานสอบสวนทางอ้อม กล่าวคือ เมื่อหน่วยงานต่างๆ พาผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ในเบื้องต้นแล้วนั้น พนักงานสอบสวนมักจะยังไม่ลงรับเป็นเลขคดีตามระเบียบ แต่มักจะสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อน แล้วค่อยทำการนัดผู้เสียหายมาสอบปากคำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกครั้งในภายหลัง ซึ่งการปฏิบัติในลักษณะนี้ประวิงเวลาประมาณ 1- 4สัปดาห์ เป็นผลให้ผู้เสียหายหลายกรณี ซึ่งได้รับการพักฟื้นฟูอยู่ในบ้านพักชั่วคราวในพื้นที่เกิดเหตุ มักจะเปลี่ยนใจไม่ประสงค์จะดำเนินคดี และขอกลับภูมิลำเนาโดยไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ประกอบกับข้าราชการตำรวจมักมีการโยกย้ายตำแหน่งเสมอทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ และบางคดีต้องถูกทิ้งไปโดยไม่สามารถติดต่อพนักงานสอบสวนคนเดิมได้

หรือกรณีการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ในที่เกิดเหตุ หลายกรณีพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้หลักเกณฑ์แตกต่างกัน ไม่เป็นมาตรฐาน อ้างอิงข้อกฎหมายไม่ครบตามพฤติการณ์ทั้งหมด ดังนั้น คดีค้ามนุษย์จึงถูกตัดตอนในชั้นพนักงานสอบสวนหลายกรณี

เขตอำนาจสอบสวนคดีค้ามนุษย์

เนื่องด้วยการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ มีกระบวนการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน ทั้งกระบวนการนายหน้า กระบวนการนำพา จนถึงการแสวงหาประโยชน์ในสถานประกอบการ การกระทำความผิดจึงเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางและในหลายพื้นที่เกี่ยวเนื่องกัน หรือบางกรณีมีเส้นทางไปไกลถึงต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของปัญหาสำคัญในการที่พนักงานสอบสวนบ่ายเบี่ยงการรับแจ้งความโดยอ้างเขตอำนาจสอบสวนและสถานที่เกิดเหตุ จนเกิดการผลักภาระและความรับผิดชอบไปยังท้องที่อื่นๆ จนผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อ เพราะต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมา

นอกจากนี้คดีค้ามนุษย์ส่วนหนึ่งต้องดำเนินการในเขตอำนาจสอบสวนที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้เสียหาย เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาเรื่องอิทธิพล ประกอบกับมาตรการคุ้มครองพยานยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ผู้เสียหายจึงไม่อยากที่จะร้องทุกข์แจ้งความ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย

ส่วนกรณีที่การกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามกฏหมายประเทศไทยเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร หรือใช้ประเทศไทยเป็นต้นทางหรือทางผ่านนั้น พนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดชี้ขาดและมอบอำนาจการสอบสวน ซึ่งบางกรณีใช้ระยะเวลานานกว่าที่อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมาก ถอดใจและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อ เนื่องจากระยะเวลาดำเนินคดีที่ยาวนาน และต้องการกลับไปยังภูมิลำเนาหรือทำงานมากกว่ารอกระบวนการเสร็จสิ้น ทำให้คดีค้ามนุษย์หลายคดีจบลงในชั้นพนักงานสอบสวน

การตัดตอนพฤติกรรมการกระทำความผิด

ปัญหาที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้น ก็คือปัญหาความซับซ้อนของรูปคดีและการที่มีผู้กระทำความผิดหลายคนและหลายพื้นที่ กล่าวคือ ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคแรงงานประมงนั้น มีขั้นตอนและกระบวนการล่อลวงและนำพาจากหลายพื้นที่และมีนายหน้าหลายชั้น ทำให้มีผู้กระทำความผิด ผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้สมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด และตัวการในการกระทำความผิดหลายคน แต่ในแนวทางการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจำนวนมาก มักตัดผู้ต้องสงสัยหรือผู้ร่วมขบวนการที่เกี่ยวข้องออกไปเกือบทั้งหมด โดยเลือกที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดหลักเพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่หลายกรณีผู้เสียหายให้การว่ามีการล่อลวงผู้เสียหายจากพื้นที่อื่น จากนั้นถูกนำไปกักขัง ก่อนถูกนายหน้าส่งต่อให้ทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งจากพฤติการณ์มีผู้กระทำความผิดหลายคน

ด้วยองค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ มีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคน และเหตุแห่งการกระทำความผิดเกิดขึ้นหลายพื้นที่ เป็นผลให้พนักงานสอบสวนตัดตอนกระบวนการเหลือเพียงการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น เพราะง่ายแก่การสืบสวนสอบสวน การปฏิบัติของพนักงานสอบสวนในลักษณะนี้ ทำให้วงจรการค้ามนุษย์ ไม่ถูกลงโทษตามกฎหมายและยังลอยนวลอยู่

การช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์

แม้ว่าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 จะกล่าวถึงแนวทางและมาตรฐานการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ก็ตาม แต่ในแนวทางปฏิบัติก็พบปัญหาและอุปสรรคพอสมควร

ปัจจจุบันมีสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพทั้งบ้านชายและบ้านหญิงเพียงไม่กี่แห่ง และจำนวนบุคลากรก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้รับบริการที่เข้ารับการคุ้มครอง นอกจากนี้สถานคุ้มครองบางแห่งเป็นบ้านที่เปิดใหม่ ยังไม่มีพื้นที่เป็นสัดส่วน ต้องเช่าบ้านเป็นที่ทำการสถานคุ้มครอง ซึ่งไม่เหมาะสมต่อการคุ้มครองและดูแลผู้เสียหาย

นอกจากนี้ กรณีเมื่อผู้เสียหายกลับภูมิลำเนา มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน โดยหน่วยงานที่จำเป็นต้องเข้ามาดูแลผู้เสียหายในเบื้องต้น คือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด แต่กระนั้นก็ยังพบว่าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด ก็ถือว่าเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการดูแลผู้เสียหายยังภูมิลำเนาเช่นเดียวกัน ทำให้ในหลายกรณีขาดความเป็นเอกภาพในการเป็นเจ้าภาพดูแลผู้เสียหาย การดูแลผู้เสียหายในภูมิลำเนาจึงขาดความสม่ำเสมอ และผู้เสียหายมักถูกทอดทิ้งในการติดตามผลการฟื้นฟู

นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ในการติดตามผู้เสียหายยังขาดทักษะในการสัมภาษณ์และการสืบค้นข้อเท็จจริงทำให้การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เป็นในลักษณะเก็บเพียงประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวของผู้เสียหายเท่านั้น มิได้ลงลึกถึงรายละเอียดทั้งหมด อันอาจจะเป็นการคุ้มครองผู้เสียหายในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การแจ้งความร้องทุกข์กับผู้กระทำความผิด หรือการเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากนายจ้างหรือผู้กระทำความผิด

ส่วนกระบวนการในการฟื้นฟูผู้เสียหาย พบว่า สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หลายแห่ง ดำเนินการเพียงสิทธิในการช่วยเหลือผู้ยากไร้หรือคนไร้ที่พึ่งเท่านั้น โดยจะมอบเครื่องอุปโภคบริโภค และเงินสงเคราะห์ครอบครัวเบื้องต้นให้กับผู้เสียหายเพียง 2,000 บาทเท่านั้น จากนั้นก็จะไม่ปรากฏการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ อีก ถึงแม้ว่าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จะมีกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อยู่ก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหลายแห่งไม่ทราบหลักเกณฑ์ในการขอรับทุนจากกองทุนนี้ให้ผู้เสียหาย ซึ่งเท่ากับว่ามีงบประมาณในการดูแลฟื้นฟูผู้เสียหายแต่ไม่ทราบวิธีในการขออนุมัตินำเงินไปใช้

นอกจากนี้ยังพบว่าการประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้เสียหาย มิได้มีระบบในการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างพร้อมเพรียง กล่าว คือ มักจะเข้าทำงานกับผู้เสียหายเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่มีการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมช่วยเหลือด้วย ซึ่งจะเป็นผลในระยะยาวว่าหน่วยงานเช่น สำนักงานจัดหางานจังหวัด ไม่ทราบสถานการณ์การค้ามนุษย์ในพื้นที่ เนื่องด้วยไม่ปรากฏข้อมูลของผู้เสียหายในพื้นที่เลย ทั้งที่หน่วยงานอื่นในพื้นที่อาจจะมีข้อมูลของผู้เสียหายอยู่ก็ตาม

กว่า 1 ปี ที่สังคมไทยมีเครื่องมือทางกฎหมายใช้ต่อสู้กับปัญหาการค้ามนุษย์ ภาพสะท้อนในการปฏิบัติงานจริง อาจกล่าวได้ว่า เครื่องมือทางกฏหมายเป็นเพียงตัวช่วยให้มีอำนาจในการจัดการปัญหาได้ง่ายขึ้นเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้วจิตสำนึกและความเอาจริงเอาจังของคนทำงานจะทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์คลี่คลายลงได้

 

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข
ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา
www.notforsale.in.th

      http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1217

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น