วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ค้นความนัยสารพัดเส้นบอกเล่าเรื่องราวสิ่งใกล้ตัว

จากสีสันความหลากหลายของอาหารที่ปรากฏ แต่ละท้องถิ่นภูมิภาคอาจมีความคล้ายคลึงมีเอกลักษณ์ความโดดเด่น  นอกเหนือจากรสชาติการปรุงสร้างสรรค์ อีกคุณค่าความหมายในอาหารยังถ่ายทอดบอกเล่าการดำเนินชีวิต วิถีวัฒนธรรม
   
อาหารประเภทเส้น อีกสิ่งใกล้ตัวที่บริโภคกันอย่างกว้างขวาง ต่อเนื่องจากอดีตจวบปัจจุบันอาหารประเภทนี้มีพัฒนาการ การเพิ่มคุณค่า มูลค่าสร้างสรรค์เป็นอาหารหลากหลายที่ชื่นชอบนิยมและจากสิ่งใกล้ตัว อะไรอยู่ในเส้น นิทรรศการมีความหมายที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออกแบบจุดประกายความคิด องค์ความรู้การสร้างสรรค์ ฯลฯ ได้จัดเผยแพร่ให้ศึกษาเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากนี้ถึงต้นเดือนกรกฎาคม บริเวณโถงทางเข้า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ชอปปิง คอมเพล็กซ์
   
ด้วยรูปแบบการแสดงสะดุดตา ร้อยเรียงเรื่องราวใกล้ชิดการบริโภคอาหารประเภทเส้น นิทรรศ การครั้งนี้แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ในการพลิกแพลงวัตถุดิบท้องถิ่นสู่อาหารประเภทเส้นซึ่งสามารถตอบรับความต้องการบริโภคที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ผ่านกรณีศึกษาน่าสนใจจาก 4 ประเทศได้แก่ จีน อิตาลี ญี่ปุ่นและไทย
   
ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ ศุภมาศ พะหุโล ภัณฑารักษ์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบบอกเล่าว่า อะไรอยู่ในเส้นนิทรรศการที่ถ่ายทอดถึงความพยายามการสร้างสรรค์ซึ่งไม่เพียงแค่อาหาร แต่เป็นงานสร้างสรรค์โดยที่นี้หมายถึงการแปลงตัววัตถุดิบ สร้างสรรค์รูปแบบที่มีคุณค่า มีรสชาติ ความอร่อยรวมทั้งทำให้คนมีความสุขมากขึ้นซึ่งในความหมายความหลากหลายเหล่านี้มีอยู่ในเส้น
   
นอกจากนี้อีกสิ่งที่นิทรรศการบอกเล่าสื่อถึงการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งในสิ่งนั้น ๆ ศึกษาในมิติต่าง ๆ อย่างการคิดค้นการทำเส้น แม้จะทราบกันในกระบวนการซึ่งต้องมีการโม่แป้ง แต่ก่อนไปถึงขั้นตอนนั้นก็ต้องเรียนรู้วัตถุดิบ ฯลฯ นิทรรศการได้แสดงให้เห็นถึงความคิด ความพยายามสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันในมิติวัฒนธรรม มิติการสร้างสรรค์การเพิ่มมูลค่าคุณค่า การพัฒนาส่วน ต่าง ๆ ก็ได้ถ่ายทอดไว้เช่นกัน  
   
นิทรรศการครั้งนี้จึงแบ่งการนำเสนอเป็นส่วนต่าง ๆ ได้แก่ 4,000 ปี แห่งประวัติศาสตร์การทำเส้นบะหมี่จีน ย้อนรอยอดีตเรียนรู้เทคนิคการทำเส้นที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันผ่านเส้นบะหมี่เก่าแก่ที่สุดของโลก ฯลฯ พาสต้างานออกแบบอุตสาหกรรมและ ศิลปะการปรุงอาหารของท้องถิ่น ศึกษารูปแบบ รูปลักษณ์ รสชาติ ฯลฯ การก่อกำเนิดพาสต้ากว่า 400 ชนิดที่มีชื่อเรียกต่างกันมากมาย ฯลฯ
   
อูด้งต้นตำรับและการแสวงหาความดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น การเริ่มต้นการทำเส้นของญี่ปุ่น สู่การรักษาเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละครัวเรือน ฯลฯ การปรุงอย่างสร้างสรรค์แบบชาวสยามถ่ายทอดศิลปะการปรุงอาหารที่มีการผสมผสานและในส่วนของนวัตกรรมศตวรรษที่ 20 และวิถีชีวิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอาหารเส้นที่ตอบสนองการดำเนินชีวิตปัจจุบัน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้บอกเล่าสีสันความนัยของเส้นให้สัมผัสเรียนรู้ใกล้ชิด.
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น