วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

จากหมีแพนด้าถึงช้างไทย

      ข่าวหลินฮุ่ยกับลูกน้อยสามารถครองพื้นที่บางส่วนบนหน้าหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งข่าวผ่านจอทีวีในแต่ละวันอีกด้วย

     หมีแพนด้าน้อยลูกของหลินฮุ่ยกับช่วงช่วงนั้น  จะไม่มีใครรู้จักเห็นจะไม่มี  (ถ้าติดตามข่าวผ่านสื่อต่างๆ)  พูดได้ว่ารู้จักมากกว่ารัฐมนตรีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร  มีผลงานอะไรบ้าง

     คุณสุวิทย์  คุณกิตติ  รัฐมนตรีคนหนึ่งจะขึ้นไปเยี่ยมสองแม่ลูกหมีแพนด้า  พร้อมทั้งนำสูติบัตรไปมอบให้หมีแพนด้า  คนก็จะรู้จักผลงานคุณสุวิทย์เพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่งทันที

     เรียกว่าโดยสารถูกจังหวะว่างั้นเถอะ

     เวลานี้อะไรๆ  ก็หมีแพนด้า  สินค้าเกี่ยวเนื่องด้วยรูปหมีแพนด้าที่ชายแดน  ยอดขายพุ่งจนสินค้านั้นขาดตลาด

     วงการหวยซึ่งไม่ควรเกี่ยวกับหมี   เพราะจะเป็นภาษาไทยที่ล่อแหลมเมื่อภาษาของเรามีคำผวนเป็นลักษณะหนึ่งของภาษาไทย  ก็ยังเกิดหวยหมีเข้าจนได้  ซึ่งวิธีการเพื่อความปลอดภัยควรเรียกว่าหวยแพนด้าจะเหมาะกว่า  คือ  งวดที่ผ่านมานี้  097  ตรงกับจำนวนวันที่หลินฮุ่ยตั้งท้อง

     พูดถึงเรื่องการตั้งท้องของหลินฮุ่ย  ผู้เขียนเกิดความประหลาดใจ  เพราะเข้าใจว่าหมีแพนด้าน่าจะท้องนานกว่า  97  วัน  และยิ่งคำนึงถึงวันผสมเทียมก็ยิ่งไม่น่าจะตกลูกตอนนี้

     หรือว่าหลินฮุ่ยเธอท้องตามธรรมชาติก่อนผสมเทียม  มิฉะนั้นคงมีใครแอบนำไผ่อาหารประจำการไปแช่น้ำยาเบนโล  แล้วจึงค่อยเอาไปให้เธอกิน

     สมมุติฐานว่าหมีแพนด้าน้อยเป็นผลิตผลร่วมกันของหลินฮุ่ยกับช่วงช่วง  ดังนั้น  ช่วงช่วงที่ถูกจับแยกจึงพลอยมีชื่อติดอันดับไปด้วย  เพราะหมีแพนด้าน้อยตัวนี้เป็นตัวแรกของปีนี้  ทั้งก่อนจะเกิดผลิตผลออกมา  การผสมเทียมครั้งสุดท้ายก็เป็นการผสมนอกฤดูกาล

     องค์ความรู้เกี่ยวกับหมีแพนด้าของสัตวแพทย์และนักวิจัยชาวไทยที่เกี่ยวข้องจึงควรแก่การซูฮก  ใช่แต่เท่านั้น  ช่วงช่วงเห็นจะตัวเบาอีกครั้ง  เพราะเขาจะจับพี่แกรีดน้ำเชื้อใส่หลอดส่งไปจีนเพื่อช่วยสาวๆ  หมีแพนด้าจีนทำพันธุ์

     ใครที่ประกาศสัจพจน์ว่า  "นมเมียสำหรับผัว  นมวัวสำหรับลูก"  นั้น  คำประกาศนี้ใช้ไม่ได้กับครอบครัวหลินฮุ่ย-ช่วงช่วง  เพราะหลินฮุ่ยเชื่อเรื่องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ย่อมทำให้เด็กฉลาดแข็งแรง  หลินฮุ่ยจึงให้นมแก่ลูกเอง  ขาดไปเพียงลูกยังกินนมไม่ครบทุกเต้า

     ไม่เพียงให้นมตามเวลา  หลินฮุ่ยยังอุ้มแพนด้าน้อยตลอดเวลา  เกือบจะทนไม่ไหวก็ยื่นแขนยื่นขาออกมานอกกรง  วานคุณพี่ที่เอาใจใส่เลี้ยงดูช่วยนวดเฟ้น

     ถ้าตกงานจากสัตวแพทย์น่าจะมีโอกาสไปเปิดสำนักนวดแผนไทยคงพอไหว

     วันที่ลงมือเขียนต้นฉบับนี้  นังหนูหมีแพนด้าน้อยลุกขึ้นยืน  4  ขาได้แล้ว  บอกแล้วว่ารู้จากข่าวประจำวัน  ขาดไปแต่ไม่ยักกะรายงานด้วยว่าการขับถ่ายเป็นอย่างไร

     เอาล่ะ  หมีแพนด้าเป็นข่าวได้  เป็นภาพสวยๆ  และน้ำจิตน้ำใจคนไทยก็เมตตาเอ็นดู  ผู้เขียนอดคิดถึงช้างบ้างไม่ได้  ช้างไทยเป็นสัตว์ประจำชาติไทย  เราๆ  ท่านๆ  ที่เป็นไทยด้วยกันคิดถึงช้างอย่างไร  โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวน่าเศร้าอย่างพังกำไลประสบอุบัติเหตุ  โชคยังดีที่การรักษาได้รับพระมหากรุณาธิคุณ  ส่วนความบาดเจ็บของพังกำไลก็สาหัสนัก  สำหรับข่าวเกี่ยวกับช้างอีกเชือก  คือพังน้ำฝนลูกช้างที่ห้างฉัตร  จังหวัดลำปาง  เธอยังอยู่ในวัยที่ต้องกินนม  หากเคราะห์ร้ายที่แม่ไม่ยอมให้นม  ไม่โชคดีอย่างลูกของหลินฮุ่ย  นอกจากพังน้ำฝนกินนมแม่ไม่ได้แล้ว  ยังจะถูกแม่ไล่กระทืบอีก  เขาต้องจับแยก  และเลี้ยงพังน้ำฝนด้วยน้ำข้าวซึ่งทำให้ผอมผิดรูปช้าง  ตามที่เชื่อว่าใครจะเขียนรูปช้างหรือรูปฤๅษี   ต้องทำตามคำพังเพยว่า  "คชาผี  ฤๅษีผอม  จึงงาม"

     หมีแพนด้ามาอยู่กับเรา  6  ปีเศษ  คณะสัตวแพทย์และนักวิจัยชาวไทย  ได้มีประสบการณ์และองค์ความรู้เรื่องหมีแพนด้าอย่างน่าทึ่ง  ขณะที่ช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทยในประวัติศาสตร์อันยาวนาน  มีความสัมพันธ์กับสังคมไทยในบริบทต่างๆ  ทั้งประวัติศาสตร์  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว  เป็นต้น  องค์ความรู้เรื่องช้างของคนไทยย่อมมีมาก  และยังมีช้างอยู่ในแผ่นดิน  ไม่ต้องขอหยิบขอยืมช้างใครจากประเทศไหนมาประคบประหงม

     ส่วนวันข้างหน้านั้นไม่แน่   เมื่อช้างสิ้นจากแผ่นดินไทย  ดังนั้น  ความรู้ที่จะรักษาช้างไว้ได้ต้องเป็นความรู้ที่คู่คุณธรรม  อีกทั้งพึงตระหนักว่าช้างไทยในทุกวันนี้อาภัพนักหนาแล้ว  ไม่ต้องปลูกไผ่ไว้ให้ช้างกิน  หรือไม่ต้องเลี้ยงช้างในห้องแอร์  เพียงแต่ป้องกันมิให้คนไปบุกรุกทำลายป่าอันเป็นที่อยู่ของช้างจนปราศจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ  ต้องออกจากป่ามาเสี่ยงต่อการบุกรุกแหล่งเกษตรกรรมของชาวบ้าน  มากินพืชผักที่ปนเปื้อนสารพิษ  ส่วนช้างที่เป็นช้างบ้านก็ดูแลรักษาเขา  ไม่ถูกทำให้เป็นช้างขอทานเร่ร่อนในเมือง  เสี่ยงอุบัติเหตุ  ฯลฯ

     ความจริงของช้างในโลกมีแค่  2  ตระกูลใหญ่ๆ  คือ  ช้างเอเชียกับช้างแอฟริกา  สำหรับช้างไทยอยู่ในตระกูลช้างเอเชีย  ช้างไทยชอบอากาศเย็น  (แต่ไม่ถึงอยู่ห้องแอร์)  จึงลงน้ำบ่อย  ลอยคอในน้ำและว่ายน้ำได้ดี  ที่อยู่ของช้างจึงมิใช่ข้างถนน  ช้างนอนหลับคืนละ  3-4  ชั่วโมง  (ระหว่างเวลา  23.00- 03.00 น.)  กลางวันจะไม่นอนหลับยกเว้นป่วยไข้

     คนไทยจะมีคำเรียกจำแนกเพศ  ลักษณะช้างและลักษณะนาม  ตามประเภท  ได้แก่  เราเรียกช้างตัวผู้ว่าช้างพลาย  ซึ่งมีงา  ถ้าช้างตัวผู้ไม่มีงาจะเรียกว่าช้างสีดอ  และเรียกช้างตัวเมียว่าช้างพัง  ช้างตัวเมียตามปกติไม่มีงา  อาจมีบ้างที่มีงาสั้นๆ  จะเรียกว่าขนาย  ช้างทั่วไปรูปร่างสูงใหญ่  หากยังมีช้างไทยชนิดหนึ่งสูงเพียง  2  เมตร  เป็นช้างแคระซึ่งเรียกว่าช้างค่อม  เคยมีแถวป่าเขาในจังหวัดสงขลา,  พัทลุง  ปัจจุบันสูญพันธุ์แล้ว

     การที่ถือว่าช้างเป็นสัตว์ประจำชาติไทย  น่าจะมาจากช้างมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมือง  โดยเฉพาะการเป็นช้างศึก  ซึ่งเราใช้ช้างในงานพระราชการสงคราม  สมัยสุโขทัย  พ่อขุนรามคำแหงทรงกระทำยุทธหัตถีกับขุนสามชน  เจ้าเมืองฉอด  ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงชนช้างกับพระเจ้าแปร  ครั้นช้างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีแก่ข้าศึก  พอดีกับสมเด็จพระศรีสุริโยทัยซึ่งปลอมพระองค์เป็นชาย  ขับช้างเข้าไปช่วย  ก็ถูกพม่าข้าศึกฟันสิ้นพระชนม์บนช้างนั้น

     ยุทธหัตถีอันเลื่องลือยิ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย  คือ  การยุทธหัตถีครั้งสำคัญ  พ.ศ.2135   คราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ทรงช้างชื่อว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพ  ชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่าที่ทรงช้างพลายพัทกอ  กาลครั้งนั้นพระมหาอุปราชาถูกพระแสงของ้าวพระนเรศวรฟันจนขาดบนคอช้าง  พระราชสงครามครั้งเดียวกันนี้  พระเอกาทศรถได้โดยเสด็จพระราชสงครามด้วย  โดยทรงชนช้างกับมังจาจะโรพระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชาซึ่งมีพลายพัดชะเนียงเป็นช้างศึก  ผลการรบได้ถูกพระแสงง้าวพระเอกาทศรถฟันขาดบนคอช้างเช่นกัน

     นอกจากไทยสมัยโบราณมีช้างเป็นพาหนะสำคัญทำศึกกับอริราชศัตรูดังกล่าวแล้ว  ในยุครัตนโกสินทร์   แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  3  ไทยรบกับญวนที่เขมร  พ.ศ.2388  กาลครั้งนี้  เจ้าพระยาบดินทรเดชา  แม่ทัพไทยไปตั้งรับที่เมืองอุดง  ส่วนญวนใช้ทัพเรือเป็นขบวนใหญ่ถึงเมืองอุดง   ท่านเจ้าพระยาบดินทรฯ  ไม่มีกองเรือจะทำการยุทธนาวี  จึงวางกลศึกปล่อยให้ญวนยกพลขึ้นบก  จากนั้นท่านจึงบัญชาให้ใช้ช้างศึกไล่แทงข้าศึ  โดยวางกำลังทหารราบตามตี  จนข้าศึกต้องถอยทัพเรือคืนประเทศตน

     เราจะเห็นว่าช้างมีความสำคัญต่อการรักษาเอกราชของแผ่นดิน  และช้างยังมีความหมายทางวัฒนธรรมอีกหลายประการ  พระมหากษัตริย์พระองค์ใดขึ้นครองราชย์แล้วมีช้างเผือกเกิดขึ้นใต้ร่มพระบารมี  ย่อมถือว่าทรงมีบุญญาธิการมาก  ช้างเผือกที่รับการขึ้นระวางเป็นช้างต้นของหลวง  จะมีอิสริยศ-เทียบชั้นเจ้าฟ้า  ส่วนช้างสำคัญเชือกอื่นๆ  อาจเป็นเจ้าพระยา  พระยา  หรือพระก็แล้วแต่  จึงมีคำเปรียบเปรยถึง  "ยศช้าง  ขุนนางพระ"

     อย่างไรก็ดี  การที่ช้างมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยมาแต่โบราณกาล  เมื่อแรกจะมีธงชาตินั้นช้างจึงเป็นธงชาติรูปช้างบนผืนผ้าสีแดง  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  รัชกาลที่  5  ทรงโปรดฯ  ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์  ก็มีช้างเผือกในดวงตราเป็นสกุลเครื่องราชสำคัญ  "ที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก"  ในทางภาษาและวรรณคดี  การที่บัญญัติคำเรียกช้างลักษณะนามของช้าง  ตลอดจนมีวรรณคดีเฉพาะเกี่ยวกับช้างโดยตรง  คือ  คำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง  ที่มีอยู่หลายฉบับ  ดังมีฉบับเก่าแก่สุดเป็นฉบับขุนเทพกวี  ส่วนฉบับล่าสุดเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี

     ความสำคัญของช้างมีเป็นอเนกประการ  ยุคสมัยที่เปลี่ยนอาจทำให้ความสำคัญลดลง  แต่คุณค่าทางใจที่ควรรักษาไว้ด้วยความเมตตาต่อช้างไม่ควรจะลดลง.
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น