วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ท่องเอเชีย ไปกับเรือสำราญ

รายงานโดย :วิกรม กรมดิษฐ์:
วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552
ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ผม วางแผนหลบลมร้อนไปรับลมทะเลแถบเอเชียบ้านเรามา 13 วัน

หลังจากที่ ติดใจกับการล่องเรือสำราญ Road To Mandalay หลังจากที่ ติดใจกับการล่องเรือสำราญ Road To Mandalay ลำเล็กในแม่น้ำอิระวดีเมื่อ 2 ปีก่อนมาแล้ว คราวนี้เรือที่ผมขึ้นจากท่าเรือแหลมฉบังมีชื่อว่า Diamond Princess หรือที่ผมให้เรามาทำความรู้จักกับเจ้าหญิงเพชกันก่อนดีกว่าครับ เธอถูกสร้างขึ้นโดย บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรี โดย อู่ต่อเรือในญี่ปุ่น แต่เธอจดทะเบียนที่แฮมิลตัน–เบอร์มิวดา มีน้ำหนักรวม 115,875 ตัน ความยาว 290 เมตร ความกว้าง 40 เมตร สูง 15 ชั้น และมีชั้น ดาดฟ้าอีก 2 ชั้น มีความจุเชื้อเพลิง 3,000 ลูกบาศก์เมตร และความจุน้ำสะอาด 3,380 ลูกบาศก์เมตร จุผู้โดยสารได้เต็มที่ 3,078 คน ลูกเรือได้ 1,240 คน ความเร็ว 20.7 นอต แต่คราวนี้มีผู้โดยสารร่วมเรือ กับผม 2,600 กว่าคน และลูกเรือราว 1,100 คน

เมื่อขึ้นไปบนเรือผู้โดยสาร ทุกคนจะมีบัตรประจำตัวผู้โดยสาร บัตรใบนี้ใช้เป็นบัตรสำหรับเปิดประตูห้องพัก บัตรผ่าน เข้า–ออกจากเรือที่ต้องมีการสแกนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยว่าไม่มีคนอื่นๆ แปลกปลอมเข้ามา นอกจากนี้บัตรขนาดเท่ากับเครดิตการ์ดนี้ยังทำหน้าที่เหมือนบัตรเงินสด ที่ไม่ว่าเราจะใช้บริการใดๆ ภายในเรือ เช่น ซื้อทัวร์ หรือรับประทานอาหาร ซื้อของ เล่นอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ก็สามารถใช้บัตรนี้ได้เลย จึงทำให้ใช้ชีวิตในเรือได้อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องการแลกเงินหรือถือกระเป๋าสตางค์ไปไหนมาไหน

ข้อที่น่าสนใจมากคือ ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือนั้นล้วนมาจากทั่วทุกหนทุกแห่งบนโลก คล้ายๆ กับการจำลองโลกใบเล็ก ลอยน้ำเคลื่อนที่เลย ผมยังไม่มีสถิติว่ามีผู้โดยสารจากกี่ประเทศ แต่ที่แน่ๆ นั้นลูกเรือทั้ง 1,100 คนนั้นมาจาก 43 สัญชาติทั่วโลก กว่า 700 คน เป็นชาวฟิลิปปินส์ ส่วนคนไทยมีไม่ถึง 10% กัปตันชื่อกัปตัน ดีโน ซากานี (Captain Dino Sagani) เป็นชาวอิตาเลียน มีประสบการณ์การเดินเรือช่ำชองตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึง 50 กว่าปีแล้ว เขาทำงานร่วมกับกลุ่มเรือเจ้าหญิงนี้มาตั้งแต่ปี 1995 ทีเดียว ทุกๆ วันกัปตันจะออกเสียงตามสายชี้แจงสภาวะเดินเรือ สภาพอากาศให้ผู้โดยสารเข้าใจ ผมถือว่าเขาวางระบบการบริหารจัดการได้ดีเยี่ยมจริงๆ เพราะแม้ว่าผมไม่ได้พบหน้ากัปตันเลยสักครั้ง แต่ก็รู้สึกใกล้ชิดกับเสียงตามสายของเขาทุกวัน

นอกจากนั้น ลูกเรือก็จะมาจากที่ต่างๆ กัน เช่น อังกฤษ แคนาดา เม็กซิโก บราซิล สหรัฐอเมริกา อินเดีย บังกลาเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ ดังนั้น สำเนียงภาษาอังกฤษ (ซึ่งเป็นภาษาหลัก) จึงแตกต่างกันมาก เป็นโรงเรียนฝึกภาษาโดยเฉพาะการฟังชั้นดี คนไทยเราเรียนภาษาอังกฤษกันมาหลายปี แต่ก็ยังพูดไม่ค่อยได้ เห็นฝรั่งแล้วอยากวิ่งหนี แต่ถ้าใครได้ไปทำงานในเรือสำราญแล้วเขาจะมีแผนกฝึกหัด มีครูมาสอนภาษาให้ น่าจะเป็นทางเลือกให้กับคนหนุ่มสาวที่อยากท่อง (รอบ) โลกได้เป็นอย่างดี แต่ขอกระซิบนะครับว่า งานที่ทำนั้นค่อนข้างหนักเอาการ ส่วนใหญ่แล้วทำงานกันคนละไม่ต่ำกว่า 14 ชั่วโมง เท่าที่ทราบรายได้ดีกว่าทำงาน บนฝั่งสำหรับงานประเภทเดียวกันสองถึงสามเท่าทีเดียวครับ สิ้นเดือนได้รับเงินเดือนเป็นเงินสด หรือที่เรียกว่า Cash On Board ลูกเรือต้องบริหารจัดการวางแผนการใช้เงินกันอย่างดี เวลาขึ้นฝั่งก็สามารถนำเงินไปฝากธนาคารกันได้ตามปกติ ทุกคนที่ทำงานที่นี่ต้องสมัครงานและได้รับการพิจารณาผ่านตัวแทนที่มีอยู่ทั่วโลก

ลูกเรือส่วนใหญ่ที่ทำงานในเรือลำนี้กว่า 300 คนนั้นทำงานมานานกว่า 5 ปี บางคนก็ทำงานกับบริษัทนี้มานาน 40, 25, 15, 10 ปี ตามลำดับ พวกเขาได้รับสวัสดิการที่ดีทุกอย่างเหมือนคนที่ทำงานบนฝั่ง มีห้องพัก มีอาหารฟรี มีบริการซักรีดเสื้อผ้าให้ มีแพทย์พยาบาล มีสันทนาการ โรงยิม ฯลฯ คล้ายคลึงกับที่ผู้โดยสารได้รับเกือบทุกอย่าง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าคนทำงานกว่าครึ่งหนึ่งนั้นมีประสบการณ์ในการบริการและมีความรู้ ความเข้าใจกับการทำงานในเรือมาก ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานด้วยเหตุผลว่ารักในอาชีพหรืออยากเที่ยวรอบโลกหรือทำงานหนักในวัยหนุ่มสาวเพื่อเก็บสตางค์ ฯลฯ ผมก็สังเกตได้ว่าพวกเขาทำเพราะความรัก และมีความสุขกับงาน ส่วนใหญ่แล้วหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายแขกให้รู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน

จุดมุ่งหมายของการเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นจากท่าเรือแหลมฉบัง–สิงคโปร์–ท่าเรือฟูมี (Phu My) ที่โฮจิมินห์ซิตี–นาตรัง หรือญาตรัง (Nha Trang อ่านตามสำเนียงภาษาเวียดนาม)–ฮ่องกง–ท่าเรือเมืองคีหลุง (Keelung), ไต้หวัน–ท่าเรือเมืองนาฮา (Naha), โอกินาวา และปิดท้ายที่ท่าเรือเมืองเซี่ยงไฮ้ อันที่จริงการเดินทางตามโปรแกรมนี้จะต้องไปสิ้นสุดที่เมืองปักกิ่งเป็นเวลา 16 วัน แต่เนื่องจากผมติดภารกิจที่กรุงเทพฯ จึงต้องออกจากเรือก่อนกำหนด เรือเจ้าหญิงเพชรนี้เธอวนเวียนรอบโลกเลย เพราะหลังออกจากปักกิ่งแล้ว เธอมุ่งหน้าไปอะแลสกาแล้วต่อด้วยแวนคูเวอร์

เรือเจ้าหญิงเพชรจึงเปรียบเสมือน “โรงแรม” ลำใหญ่ที่เคลื่อนตัวไปอย่างสง่างามท่ามกลางน้ำกับฟ้า แถมมีคลื่นลมใหญ่ปะทะให้ตกใจเล่นๆ บางครั้ง ภายในตกแต่งอย่างทันสมัย มีงานศิลปะทุกชั้น ทุกห้อง มีห้องอาหาร 6 ห้อง บุฟเฟต์บริการ 24 ชั่วโมง มีคลับ บาร์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ห้องสมุดจุหนังสือนับพันเล่ม แกลเลอรีที่มีงานศิลปะทั้งจิตรกรรมและประติมากรรมดีๆ หลายร้อยชิ้น ร้านค้าปลอดภาษี สปา สระว่ายน้ำ โรงภาพยนตร์–โรงละคร กาสิโน โทรศัพท์–โทรทัศน์ระบบดาวเทียม ห้องซักรีด มีเครื่องหยอดเหรียญบริการพร้อมเตารีด ฯลฯ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีกิจกรรมอันหลากหลายบริการคนทุกเพศทุกวัย เพื่อให้ใช้ชีวิตในวันที่ไม่ได้ขึ้นฝั่งอย่างสำราญใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะเงียบเหงาหรือคิดถึงบ้านเลย สามารถติดตามข่าวสารได้ตลอดเวลา ผมได้ดูภาพยนตร์ Slumdog Millionaire ที่ได้รับรางวัลออสการ์ที่นี่ด้วย

ในเรือลำนี้มีการจัดโปรแกรมการโชว์ ที่เข้าขั้นมาตรฐานสากลมาก ไม่ว่าจะเป็น นักร้อง นักเต้น ที่สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ความสำราญใจกับผู้โดยสารกว่า 22 คน พร้อมทีมนักเต้นอีกกว่า 30 คน หรือแม้กระทั่งมี “เดี่ยวไมโครโฟน” ที่ได้รับความนิยมมากไม่แพ้กัน เรียกเสียงฮาได้ดีทีเดียว

ทางเรือมีวิธีการสื่อสารกับผู้โดยสารด้วยการพิมพ์แผ่นปลิวที่เรียกว่า Princess Patter ขนาด A4 จำนวน 4 หน้า แจกให้กับผู้โดยสาร โดยวางไว้บนเตียงนอนทุกคืน เพื่อให้ผู้โดยสารได้ศึกษาดูว่าวันรุ่งขึ้นจะมีกิจกรรมใดๆ ทำบ้าง เช่น จะมีโชว์อะไร มีภาพยนตร์เรื่องอะไร หรือมีการบรรยายความรู้เรื่องใด โดยเฉพาะก่อนวันที่เรือจะเข้าเทียบท่าเมืองต่างๆ จะมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับเมืองนั้นๆ ให้ผู้โดยสารเข้าใจเพื่อการเตรียมตัวอย่างถูกต้อง แถมท้ายด้วยการตอบคำถามอีก การเข้าฟังคำบรรยายข้อมูลเมืองต่างๆ นี้ ได้รับความสนใจจากผู้โดยสารนั่งฟังจนเต็มห้องทุกครั้ง หรือหากใครติดภารกิจอื่นๆ ก็สามารถติดตามดูจากรายการทีวีจากช่องพิเศษที่เขาทำขึ้นมาเพื่อออกอากาศเฉพาะในเรือได้อีกด้วย

ในแต่ละคืนช่วงอาหารเย็น จะมีการกำหนดการแต่งกายให้กับผู้โดยสาร โดยแจ้งไว้ในแผ่นปลิวว่าคืนนี้ต้องแต่งกายแบบใด แบบเป็นทางการ (ใส่สูทหรือเสื้อคลุม) หรือตามสบาย ช่วงที่ผมไป เจอแต่งแบบทางการ 2 คืนเท่านั้น ทั้งผู้โดยสารชายและหญิงต่างแต่งตัวกันอย่างเต็มที่ในคืนนี้ เพราะทางเรือเขามีบริการถ่ายภาพในบรรยากาศต่างๆ กันเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย หากใครไม่อยากแต่งตัวก็สามารถไปรับประทานอาหารบุฟเฟต์ที่เขาบริการ 24 ชั่วโมงกันได้บนชั้น 15 ของเรือกันอย่างไม่อั้น เวลาผมอยู่ในเรือจึงรู้สึกว่าตัวเองผอมและดูตัวเล็กไปถนัดใจ เพราะรอบข้างมีแต่คนตัวโต อ้วนๆ กันทั้งนั้นเลย และที่สำคัญผมรู้สึกว่าตัวเองยังดูหนุ่มแน่นมาก เนื่องจากผู้โดยสารส่วนใหญ่เกือบ 80% อยู่ในวัยเกษียณอายุกันแล้ว บางคนล่องเรือเป็นอาชีพเลย สูงสุดเท่าที่ผมพบคือ 32 ครั้ง หรือไม่ก็ 16, 10 ครั้ง 5 ครั้ง ส่วนใหญ่แล้วมาแล้วมาอีก ติดใจ อยู่เรือเหมือนอยู่บ้านไปเลย

ที่นี่ผมพบกับคุณลุงเอ็ดและคุณป้า แครอล สามีภรรยาจากสหรัฐอเมริกา แต่เป็นคนเชื้อสายฟิลิปปินส์ คุณลุงเอ็ดอายุ 83 ปีแล้ว แต่ดูภายนอกเหมือน 70 ปี ต้นๆ เท่านั้น เขาเล่าให้ฟังว่า เที่ยวกับเรือ Princess มาแล้ว 16 ครั้ง ทุกๆ ปี ถ้ายังแข็งแรงคงเที่ยวต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะเขาเคยเป็นเชฟทำงานกับกองทัพเรือสหรัฐมาจนกระทั่งเกษียณอายุ ตอนนี้งานประจำคือเลี้ยงหลานๆ ทำสวน ทำกับข้าว ฯลฯ ผมไม่แปลกใจเลยที่คุณลุงยังดูหนุ่มและแข็งแรง เดินด้วยท่าทางทะมัดทะแมง และข้อสำคัญทั้งคู่อารมณ์ดีเอามากๆ เลย เวลาพูดคุยด้วยมีเสียงหัวเราะตลอดเวลา

ย่างก้าวแรกเมื่อขึ้นบนเรือ หลังจากที่เรือออกจากท่าเรือแล้วทางเรือจะมีการจัดซ้อมการใช้ “เสื้อชูชีพ” โดยเรียกช่วงเวลานี้ว่า General Emergency Stations ผู้โดยสารที่เพิ่งขึ้นเรือมาใหม่จะถูกเรียกให้มารวมตัวกัน ณ บริเวณที่นัดหมายเพื่อ เข้าฟังวิธีการใช้เสื้อชูชีพในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก เพราะการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้โดยสารทุกคนเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในยามที่หากเกิดมีเหตุการณ์ใดๆ ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะได้ไม่ฉุกละหุกหรือตื่นเต้น จนทำอะไรไม่ถูก

มีอยู่คืนหนึ่งหลังจากเรือแล่นออกจากท่าเรือฮ่องกงแล้วมุ่งหน้าสู่ไต้หวัน ลมแรงมาก เรือโยกเยกเกือบตลอดเวลา สำหรับคนที่ยังไม่เคยชินอย่างผมก็ต้องกังวลใจกันนิดหน่อยล่ะครับ ผมวางแผนไว้ว่าหากเกิดอะไรขึ้นก็ขอเอาแค่งานเขียนที่ผมลงมือเขียนแล้วใส่ซองพลาสติกรูดซิปกันน้ำเข้าอย่างดีฉวยเอาไว้ก่อน อย่างอื่นยังหาใหม่ได้ แต่ถ้าจะให้มาเขียนใหม่นี่สิ ตาค้างเลย เท่าที่ถามลูกเรือจึงทราบว่าที่เคยเจอลมแรงๆ นั้นมีขนาดสูงเท่ากับชั้น 7 ของเรือ ส่วนบางคนมีประสบการณ์เจอกับเฮอริเคน 4 วันครึ่ง เล่นเอาตาเหลืองไปเลย มี กระจกแตกบ้าง เรือเสียหายสูงถึง 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ระบบดาวเทียมสัญญาณนำทาง โอกาสเกิดแบบเรื่องไททานิคคงยากมากครับ เพราะเรือ ลำหนึ่งๆ มีมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ คงไม่จมกันง่ายๆ แน่ ข้อนี้คนที่คิดจะเดินทางโดยเรือแบบนี้ไม่ต้องกังวลครับ

บางวันมีกิจกรรมการสาธิตการทำค็อกเทล การแกะสลักผลไม้ การพับผ้า ขนหนูเป็นรูปสัตว์ การประมูลภาพเขียนผลงานของศิลปินชั้นเยี่ยม การวาดภาพลงบนเซรามิก กิจกรรมเหล่านี้จะสลับสับเปลี่ยนกันไปบ้าง จัดที่ห้องโถงหรือไม่ก็ตามห้องต่างๆ การแข่งขันปิงปอง มีคนสนใจกันมากทีเดียว นอกจากนี้ที่ผมเห็นคนนิยมกันมากคือ การเดินออกกำลังกาย การ ที่เรือลอยลำอยู่กลางทะเลไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ที่ระเบียงเรือชั้น 6, 7 หรือชั้นดาดฟ้า มีที่ให้เดิน โดยเขาจะมีป้ายบอกว่าเดิน กี่รอบจะเป็นระยะทางเท่าใด ยามที่ผม ว่างเว้นจากการเขียนหนังสือก็ออกไป เดินกับเขาบ้าง รับลมทะเลบริสุทธิ์กลางมหาสมุทรสดชื่นอย่าบอกใครเชียว

ผมไปคราวนี้มีจุดประสงค์ไปเขียนหนังสือชื่อ “กินอยู่แบบวิกรม” กำหนดการออกสู่ตลาดในงานสัปดาห์หนังสือเดือนต.ค. ปีนี้ เขียนได้ร้อยกว่าหน้า หมดปากกาไปหลายด้าม รู้สึกดีมาก เพราะได้มีเวลาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เวลาอยู่เขาใหญ่ก็มักจัดเวลามาเขียนอยู่แล้ว แต่การออกไปโดดเดี่ยวกลางทะเลแบบนี้ช่วยทำให้ผมไม่ต้องพบปะพูดคุยกับใครมากนัก ยกเว้นตอนรับประทานข้าวที่อาจเจอ คนโน้นคนนี้บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยเจอซ้ำกันเลย เพราะเรือลำใหญ่มาก จึงมีโอกาสได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ เสมอ ผมพบกับครอบครัวคนไทย พ่อ แม่ ลูกสาว 2 คน รวม 4 คนเท่านั้น จะเห็นว่าการล่องเรือสำราญนานๆ แบบนี้กับคนไทยอาจยังไม่ค่อยคุ้นเคยหรือเป็นที่นิยมกันเท่าใดนัก หากต่อไปในอนาคตเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น ไม่แน่ว่าการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญในอนาคตอาจได้รับความสนใจมากขึ้นก็ได้

ในการเทียบท่าของเรือในแต่ละท่า ล้วนสร้างรายได้ให้กับเมืองที่เรือแวะจอดได้อย่างมาก ลองคิดดูสิครับ คนเกือบ 4,000 คน (ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือ) ลงไปใช้บริการ การท่องเที่ยวไกด์ท้องถิ่น จับจ่ายใช้สอย หรือช็อปปิ้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบ อย่างน้อยๆ ก็ต้องหาเรื่องซื้อของชำร่วยติดมือก่อนกลับบ้าน ไม่นับอาหารการกิน วงจรของการให้บริการ ยิ่งเรือจอดนานเท่าใด เม็ดเงินที่จะเข้าสู่กระเป๋าของประเทศนั้นๆ ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผู้โดยสารจะทำการวางแผนการท่องเที่ยวในแต่ละเมืองที่แวะด้วยการตัดสินใจซื้อทัวร์ตามที่เรือมีโปรแกรมจัดไว้ให้เลือกโดยกรอกแบบฟอร์ม (Tour Order Form) สามารถเลือกได้ตามใจชอบ บางคนเน้นด้านศิลปวัฒนธรรม ช็อปปิ้ง เมืองเก่า ฯลฯ แต่ต้องจ่ายค่าทัวร์เพิ่มอีก หรือไม่ก็สามารถใช้บริการรถบัส (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ไปลงในเมืองตามแหล่งช็อปปิ้งที่นัดหมายแล้วจะมีบริการรถบัสวนมารับเพื่อกลับเรือ สำหรับคนที่เดินทางบ่อยๆ ไปเมืองที่คุ้นเคยแล้ว การเลือกเดินเที่ยวเองก็ไม่หักโหม หรือยากจนเกินไป เพราะทางเรือมีข้อมูล แผนที่ เจ้าหน้าที่บริการอย่างครบครัน

ดังนั้น ในวันที่เรือเทียบท่า หากเราใช้บริการทัวร์ที่เรือจัดให้ จะมีการเรียกมาพบกัน ณ จุดนัดพบแล้วค่อยๆ ทยอยกันออกจากเรือไปขึ้นรถบัสที่จัดไว้อย่างมีระเบียบ พนักงานที่มาคอยบริการก็ทำงานกันอย่างสบายๆ ไม่วุ่นวาย ผมติดใจการบริการของเขามาก ดูแลสบายใจ สบายตาจริงๆ ทำให้หลังจากกลับมาเมืองไทยแล้ว ผมคิดว่าจะต้องนำประสบการณ์จากการเดินทางครั้งนี้นำมาปรับปรุงการบริการ การทำงานขององค์กรอมตะให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ท่าแรกที่ผมแวะขึ้นไปเพื่อตั้งใจไปเดินช็อปปิ้งหลังจากที่ล่องเรือมาหลายวันคือ ฮ่องกง ถ้าบินไปก็ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่นี่นั่งเรือมาเข้าสู่วันที่ 8 พอดี เรือจอดที่ฮ่องกงเป็นเวลา 2 วัน ผมจึงได้โอกาสเดินดูของใช้ที่ตนเองสนใจทั้ง 2 วันเลย คราวนี้ผมอดนึกแปลกใจไม่ได้ว่า ไม่พบเจอ คนไทยไปเที่ยวฮ่องกงเอาเลย ร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านนาฬิกาแบรนด์ดัง ร้าน จิวเวลรี ร้านเสื้อผ้าล้วนดูเงียบเหงาไป ถนัดตา จากลูกค้าชาวยุโรปหรืออเมริกา ที่เคยจับจ่ายกันมาก เดี๋ยวนี้ลมเปลี่ยนทิศ ส่วนใหญ่จะเป็นทัวร์จากจีนแผ่นดินใหญ่เสียมากกว่าที่พอมีกำลังซื้อ ผมแวะร้านเซี่ยงไฮ้ถัง ได้เสื้อสูทจีนแบบที่ชอบเป็นเสื้อหนังมา 1 ตัว และได้เสื้อแจ็กเกตหนังสีดำจากร้านลัมเบอร์กินีมาอีก 1 ตัว และที่ผมเห็นแล้วปิ๊งแทบทันทีคือ ภาพเขียนสีเซรามิก บรรยากาศชนบทเก่าของจีน ราคาเพียง 5,000 เหรียญฮ่องกง ตอนแรกเขาติดราคาไว้สูงกว่านี้มาก พอลองต่อราคาดู พนักงานขายใจดีลดราคาให้ จึง ทำให้ผมควักกระเป๋าซื้อทันที แถมแบกขึ้นเครื่องบินกลับมา เพราะกลัวว่าจะแตกหากเอาไปไว้ใต้ห้องเครื่อง ทราบมาว่าศิลปินที่ทำงานชิ้นนี้เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่อายุเพียง 24 ปีเท่านั้น ผมเห็นงานเขาแล้วคงต้องบอกว่าอนาคตเขาคงไปได้อีกไกลมาก ทำให้นึกถึงโอกาสของศิลปินไทยในเวทีโลกที่จะมีช่องทางการสร้างรายได้ให้มากๆ และเป็นที่รู้จักด้วย เราต้องทำงานกันหนักพอควรทีเดียว เท่าที่ผมเห็นทั้งจีน เวียดนาม เขาไปได้ไกลแล้ว

ถ้าให้เล่าการเดินทางหลายๆ เมืองพื้นที่นี้คงไม่พอแน่ๆ ผมจึงขอนำรูปมาลงไว้ให้ท่านได้ดูให้เพลิดเพลินจำเริญใจ โปรดดูคำบรรยายใต้ภาพแทนก็แล้วกันนะครับ ส่วนท่านใดสนใจที่จะไปล่องเรือแบบนี้ เขามีโปรแกรมวางล่วงหน้ากันจนถึงปีหน้าแล้ว โดยเฉพาะทางเรือได้เปิดเส้นทางใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก 9 แห่ง แวะท่าเรือใหม่ๆ อีก 11 แห่ง ขอแนะนำให้ลอง ติดต่อไปที่ผู้ที่ช่วยผมจัดการการเดินทางครั้งนี้คือ คุณพจน์ เบอร์ โทร. 08-6977-4455 หรือเข้าไปที่ www.princess.com กันได้ครับ คุณพจน์ยินดีตอบทุกคำถาม ไม่แน่ว่าท่านผู้อ่านอาจได้สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ด้วยวิธีการใหม่ที่อาจทำให้คุณเปิดมุมมองโลกใบนี้แบบผมบ้างก็ได้ ด้วยสโลแกน Escape Completely ครับ แต่ผมขอออกตัวเสียก่อนนะครับว่า ไม่ได้รับค่านายหน้าแต่ประการใด เพียงแต่อยากบอกเล่าประสบการณ์จากการเดินทาง สิ่งดีๆ มีสาระประโยชน์ที่ได้ไปพบเห็นมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านบ้าง สังคมไทยเรายังต้องการการพัฒนาปรับปรุงอีกมาก ในเบื้องต้นเราควรส่งเสริมปลูกฝังให้คนไทยรักสามัคคีกันให้มากๆ ลดความเห็นแก่ตัวลง เห็นบ้านเมืองอื่นๆ เขาเติบโตกันอย่างพรวดพราด มีหลักการแล้วอดรู้สึกเสียใจกับอาการถอยหลังเข้าคลองของบ้านเราไม่ได้เลยครับ

ผมยังมีความหวังกับประเทศไทยว่า “วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้” เสมอ...แล้ว คุณล่ะคิดอย่างไร?

http://www.posttoday.com/travel.php?id=51948

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น