วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พบเต่าทะเลลอยตายที่สตูล 2 ตัว คาดฝีมืออวนลาก

พบเต่าทะเลลอยตายที่สตูล 2 ตัว คาดฝีมืออวนลาก

ชาวประมงพื้นบ้านสตูล พบเต่าทะเลตายที่สตูล ตัวแรกพบที่เกาะกล้วย สภาพบาดเจ็บสาหัส หายใจรวยริน ก่อนสิ้นใจ ด้านศูนย์วิจัยประมงฯ นำซากไปพิสูจน์และศึกษา ส่วนอีกตัวชาวบ้านพบที่เกาะแดง ตายลอยน้ำ สภาพเน่าเหม็น ไม่สามารถเก็บซากเข้าฝั่งได้ ชาวบ้านคาดเต่าตายฝีมือเรืออวนลากเข้ามาทำประมงใกล้ชายฝั่งหลายวันก่อน ตำหนิเจ้าหน้าที่กรมประมงไม่เข้ามาดูแล

 

เครือข่ายชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 เวลา 08.00 น. ขณะที่นายโสธร โสสนุ้ย อายุ 27 ปีชาวประมงพื้นบ้าน ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ขณะวางอวนลอยกุ้ง ลงทะเลในบริเวณปากร่องกลาง ห่างจากเกาะกล้วย ประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งอำเภอทุ่งหว้า ประมาณ 5 กิโลเมตร ได้เห็นเต่าทะเลตัวหนึ่ง มีอาการบาดเจ็บสาหัส หายใจรวยริน กำลังใกล้ตาย และในที่สุดก็ตาย

นายโสธรจึงได้วิทยุแจ้งข่าวกับเพื่อนในกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน 4-5 ลำ ที่วางอวนลอยกุ้งอยู่บริเวณใกล้ๆกัน ช่วยกันนำขึ้นเรือ พบบาดแผลที่ซากเต่าหลายจุดและช่วยกันนำเต่า แช่น้ำแข็งจากนั้นได้โทรศัพท์แจ้งข่าวแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งจังหวัดสตูล กรมประมง ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ ให้นำซากเต่าทะเลกลับมาเพื่อเก็บซากไว้พิสูจน์และศึกษาต่อไป

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายประเสริฐ โชติวรกุล อายุ 52 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน ที่วางอวนลอยกุ้ง อยู่บริเวณเกาะแดง ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะกล้วย ประมาณ 2 กิโลเมตร ได้พบเต่าทะเลอีกตัวหนึ่ง ตายจนเน่าเหม็น ลอยมากับกระแสน้ำ แต่ไม่สามารถเก็บซากกลับเข้าฝั่ง เพื่อมอบให้กับกรมประมงได้

ส่วนเต่าทะเลตัวที่นำกลับมาทางศูนย์วิจัยฯ ชั่งน้ำหนักได้ 12 กิโลกรัม ความยาว 57 เซนติเมตร น่าจะเป็นพันธุ์ “เต่าหญ้า” ซึ่งสาเหตุการตายของเต่าทะเลทั้ง 2 ตัว ครั้งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า น่าจะเข้าถุงเรืออวนลาก เพราะ 2-3 วัน ก่อนที่ชาวประมงขนาดเล็กหรือชาวประมงพื้นบ้านจะออกทะเลได้ในตอนเช้า เป็นช่วงที่มีฝนตก มีลมมรสุม มีเรืออวนลากเดี่ยว อวนลากคู่ จากจังหวัดสตูล จังหวัดภูเก็ต แอบเข้ามาทำการลากอวน บริเวณใกล้ชายฝั่งของเกาะทุกครั้งที่มีลมมรสุม ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถออกตรวจแนวเขตห้ามทำการประมงได้ เพราะมีเรือขนาดเล็ก

นายประเสริฐ โชติวรกุล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า กล่าวว่า “ตามกฎหมายประมงแล้ว บริเวณดังกล่าว อวนลากไม่สามารถทำการลากอวนได้ ซึ่งประกาศกระทรวงเกษตรฯและกรมประมงที่ออกมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ห้ามทำการอวนรุน อวนลาก ในเขตห่างจากชายฝั่ง 5,400 เมตร และห่างจากเกาะ 3,000 เมตร แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เรือตรวจของกรมประมง เข้ามาตรวจ ทำให้เต่าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน แหล่งปะการัง และเครื่องมืออวนลอยปูม้าของชาวบ้านเสียหาย ขณะนี้เกิดเหตุการณ์ลักลอบ เข้าทำการลากอวนบริเวณชายฝั่งอย่างผิดกฎหมายตลอดในพื้นที่จังหวัดสตูล ได้แก่ ชายฝั่งทะเลตำบลเกาะสาหร่าย ตำบลตันหยงโป อำเภอเมือง และบริเวณเกาะบุโหลน เกาะตะรุเตา เกาะเขาใหญ่ ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ซึ่งเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดสตูล จะมีการเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในเร็วๆ นี้

http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24774

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น