วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ชีวิตสัมพันธ์ ในอาณาจักร"สืบ"

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11425 มติชนรายวัน


ชีวิตสัมพันธ์ ในอาณาจักร"สืบ"


ภาคภูมิ ป้องภัย /เรื่อง สุรินทร์ มุขศรี /ภาพ




(จากซ้ายไปขวา)ตือ, มะลิ, บุญเท

ลึกเข้าไปจากถนนดำ 22 กิโลเมตร มี 7 หมู่บ้านกลางพนาไพร ต่อไปนี้คือเรื่องราวของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน และคนกับป่า

ครั้งแรกในชีวิตที่มีโอกาสเดินทางเข้าหมู่บ้านกะเหรี่ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เวลา 2 วันเต็มบนทางโคลน และสายฝนที่ตกลงมาทุก 10 นาที ถือเป็นช่วงเวลาสมบุกสมบันที่สุดนับแต่เคยเข้าป่า แต่ในสายทางหฤโหดเส้นนี้ ทำให้ผมพบเห็นมิตรภาพรายทางของผู้คน 3 กลุ่มที่เชื่อมร้อยกันคล้ายมาลัยซึ่งมีป่าใหญ่เป็นเส้นด้าย

ป่าแห่งนี้เป็นเสมือนอาณาจักรของ "สืบ นาคะเสถียร" ในฐานะผู้ปลุกโลกให้ช่วยกันหวงแหน

"หวัดดีแม่ใหญ่ สบายดีมั้ย" คำทักทายของ "ตือ" ดังขึ้นพร้อมรอยยิ้มตอบรับของแม่เฒ่า แม่ของ "ประวัติ" แกนนำชาวบ้านกุยต๊ะ

นี่คือจุดแรกที่เราแวะดูบ้านนำร่องโครงการไร่นาสวนผสม และแท็งก์น้ำสำหรับหน้าแล้ง หนึ่งในแผนงานที่ "ตือ" หรือ ยุทธชัย บุตรแก้ว หัวหน้าภาคสนามพื้นที่อุ้มผางของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร วาดหวังให้เป็นแรงขับดันชาวกุยต๊ะนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อมีกินมีใช้ตลอดทั้งปีโดยไม่รุกป่าทำไร่หรือล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์ฯ นอกจากนี้ เขายังเตรียมเสริมชาวบ้านด้วยเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตในเชิงพาณิชย์อีกด้วย

เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่นบทนี้ไม่ได้ มูลนิธิสืบฯจึงได้เข้ามาเชื่อมช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านที่มีมานานให้จนสามารถร้องเพลงเดียวกันคือ "ชุมชนมั่นคง ป่าไม้ก็มั่นคง"

มีงานเลี้ยงเล็กๆ ต้อนรับ "หนุ่ย" หัวหน้าใหม่ประจำหน่วยพิทักษ์ป่าทีชอแม จุดพักแรมคืนที่สองของทริป ผมได้เห็นความกลมเกลียวระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้ประสานงานภาคสนามมูลนิธิ และแกนนำหมู่บ้านกลางป่า ได้ฟังหัวข้อสนทนาเรื่องสัพเพเหระทว่าสอดแทรกเรื่องการรักษาป่าไม้ร่วมกันได้อย่างแนบเนียน โดยไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกระอักกระอ่วนใจ



ลองถ้าเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านตั้งใจและจริงใจที่จะพูดคุยกันทุกครั้งยามมีปัญหา คุณอย่าได้แปลกใจที่เขตทุ่งใหญ่ฯฝั่งตะวันออกจะมีสถิติคดีจับกุมชาวบ้านน้อยที่สุด และมีอัตราการได้ผืนป่าคืนมากเป็นอันดับต้นๆ จนกลายเป็น "ต้นแบบ" ให้พื้นที่เขตอื่นๆ สนใจศึกษางาน

เช้าวันรุ่ง โฟว์วีล 2 คันเร่งฝ่าสายฝนและโคลนสีส้มเพื่อไปให้ถึงหมู่บ้านแม่จันทะจุดหมายสุดท้ายทันเที่ยง ระหว่างทางเราพบชุดลาดตระเวนอย่างมีส่วนร่วม 8 คน นำโดย บุญเท ยศรุ่งเรือง เจ้าหน้าที่หน่วยทีชอแม มี 3 คนเป็นกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านยูไนต์เข้าร่วมซึมซับงานอนุรักษ์ บุญเทรายงานว่า พบร่องรอยฝูงเก้งและกวางหลายจุดบริเวณผืนป่าใกล้ชุมชน บ่งชี้ว่าปัจจัยคุกคามจากมนุษย์ลดลงหรือหายไป ทำให้สัตว์หวนกลับมาหากินดังเดิม

พี่มะลิเป็นชื่อที่ผมได้ยินจากปาก "ตือ" บ่อยมาก ในฐานะอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และปัจจุบันแกนนำหมู่บ้านแม่จันทะ ซึ่งทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่และมูลนิธิสืบฯ แวบแรกในสมองคืออดีตสหายหญิงผู้เชี่ยวชาญการแพทย์

ไม่นึกว่าเมื่อไปถึงแม่จันทะแล้ว กลับกลายเป็นนายมะลิ กาญจนเจริญชัย กรรมการหมู่บ้านวัย 53

พี่มะลิพูดถึงความสำเร็จของการกำหนดแนวเขตร่วมกันเพื่อแยกพื้นที่ไร่หมุนเวียนรอบหมู่บ้านออกจากเขตป่าแล้ว ปัญหาชาวบ้านรุกเขตป่าค่อยๆลดลง ล่าสุดกรรมการหมู่บ้านเพิ่งเรียกพ่อเฒ่าเพียงรายเดียวมาตักเตือนกลางวงประชุม วิธีใช้ดังกล่าวค่อนข้างได้ผล ผู้ทำผิดมักไม่กล้าออกนอกเขตซ้ำสอง เพราะไม่อยากโดน "ฤษี" ผู้นำทางจิตวิญญาณเอ่ยปากกลางที่ประชุมว่า "อย่างนี้ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้"

"เราทำงานร่วมกันมา 3 ปี ไปมาหาสู่ดีขึ้น พูดคุยกันมากขึ้น พึ่งพาอาศัยกันดีขึ้น ชาวบ้านก็ปฏิบัติตาม และให้ความร่วมมือรักษาป่าเต็มที่ ถึงแม้มูลนิธิสืบฯจะถอนตัวออกไป เราก็จะปกครองกันเอง เขาไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่ที่นี่เป็นบ้านเกิด เราจะทำกันเองตามแนวทางที่เขาวางไว้" พี่มะลิยืนยัน



ผมหันมาคุยกับธงชัย กาญจนเจริญชัย เจ้าหน้าที่สุขศาลา วัย 30 เขาเล่าข่าวร้ายเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรีย 2 ราย เป็นเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุมาจากตรวจพบเชื้อช้า เพราะขาดชุดตรวจ และยาเวชภัณฑ์ ย้อนไป 4 ปีก่อน เคยเกิดอหิวาต์ระบาด ป่วยกว่า 30 คน ตายไป 4 คนภายใน 2 วัน เพราะขาดน้ำเกลือ

เรากลับออกมาพร้อมคำร้องขอในสิ่งที่พวกเขาขาดแคลนมากที่สุดเวลานี้คือ
1.ชุดตรวจเชื้อมาลาเรีย
2.น้ำเกลือ
3.ยารักษาโรคมาลาเรีย ผมทำได้แค่เพียงส่งต่อข้อความจากชาวแม่จันทะถึงเพื่อนมนุษย์ในเมืองกรุง

ขณะรถวิ่งกระโดกกระเดกผ่านหมู่บ้านกรูโบ เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งตะโกนจากรถอีแต๊กที่วิ่งสวนมา มีวิทยุแจ้งว่าแม่ของลูกจ้างหน่วยคนหนึ่งที่บ้านแม่จันทะป่วยหนัก ถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องจัดคน 10 คน ผลัดกันหามไปโรงพยาบาลอุ้มผางคืนนี้

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เสนอให้หมอชุมชนเยียวยาไปก่อนแล้วค่อยพามาขึ้นรถที่หน่วยทีชอแมออกไปโรงพยาบาลอุ้มผางพร้อมกันในเช้าวันรุ่ง ดีกว่าเดินทางกลางคืน

เดชะบุญอาการแม่เฒ่าดีขึ้นแล้วก่อนรุ่งสาง แต่เพื่อนร่วมทางปลี่ยนเป็นหญิงสาวป่วยด้วยไข้มาลาเรีย กับแม่และลูกเล็ก ขอติดรถออกไปโรงพยาบาล

ระหว่างทาง เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อรถสะบัดโคลน เจ้าหน้าที่ตัวลอยตกลงมากระแทกพื้นไหล่หลุด คนป่วยเพิ่มเป็นสาม เรายังมีปัญหารถติดหล่มเป็นระยะๆ แต่เจ้าหน้าที่กับชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจแก้ไขได้ทุกเปลาะ

นานแล้ว...ผมไม่ได้พบเห็นชีวิตที่สัมพันธ์กันด้วยความเกื้อกูลเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน...ทั้งคนและป่าใหญ่



มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนจากประเทศแคนาดา มาช่วยเป็นคนกลางระหว่างเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กับชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ผ่านรูปแบบจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Areas) หรือ JOMPA ในระยะเวลาประมาณ 3 ปี แต่ละพื้นที่ประสบความสำเร็จแตกต่างกันไป

แต่ที่น่าจะประสบความสำเร็จมากเห็นจะเป็นที่ทุ่งใหญ่ฯฝั่งตะวันออก

สมปอง ทองสีเข้ม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯฝั่งตะวันออก เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้โครงการที่นี่ประสบความสำเร็จนอกจากความเข้มแข็งของทีมงานทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว ยังมาจากวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ดี เนื่องจากใช้ชีวิตแบบพอเพียง เน้นทำไร่หมุนเวียนมากกว่าไร่เลื่อนลอย จึงไม่จำเป็นต้องบีบคั้นให้ออกจากป่าที่เขาอยู่มาก่อนประกาศเขตรักษาพันธุ์ฯ เพียงแค่ทำข้อตกลงกำหนดพื้นที่ห้ามบุกรุกให้ชัดเจน เจ้าหน้าที่จึงยับยั้งการรุกป่าขยายที่ทำกินไว้ได้ ผิดกับชาวม้งทำกินแบบพ่อค้า ชอบรุกป่าขยายพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยปลูกผักและข้าวโพดพ่วงยาฆ่าแมลง

ทว่าหัวใจสำคัญที่สุดคือ พูดคุยกันทุกครั้งเมื่อเกิดปัญหา ระหว่างเจ้าหน้าที่เขต ผู้แทนภาคสนามมูลนิธิสืบฯ และชาวบ้าน 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ยูไนท์, กรูโบ, ตละโคล่ง, แม่จันทะ, ทิบาเก, แม่จันทะเก่า และช่องแป๊ะ

"เขารักษาสัจจะทำกินในที่เดิม เราก็รักษาสัจจะไม่จับในที่ที่เขาเคยทำไร่หมุนเวียน ผลคือปัจจัยคุกคามป่าและสัตว์ป่าลดลง ร่องรอยสัตว์ป่ารอบๆ ชุมชนมีมากขึ้น แถมเรายังได้พื้นที่ป่าฟื้นฟูกลับมาคืนเขตหลายร้อยไร่ สรุปว่าปัญหาดีขึ้น 80%" หัวหน้าย้ำถึงความสำเร็จโครงการ

ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เสริมว่า พื้นที่อื่นๆ ก็ทำพร้อมกัน แผนเดียวกัน แต่ที่ฝั่งตะวันออก ทุกฝ่ายให้การสนับสนุนมูลนิธิอย่างเต็มที่ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และแกนนำชุมชนเข้าใจสอดคล้องกันในหลักการและเป้าหมาย


หน้า 8
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way01210652&sectionid=0137&day=2009-06-21
                     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น