วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ศาลปค.สั่งคุ้มครองชั่วคราว สรรหา สป.ชุดที่ 3 ระงับเสนอชื่อนายกฯ พบพิรุธ กก.มีสัมพันธ์กับผู้รับเลือก



 


วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 20:16:45 น.  มติชนออนไลน์
 

ศาลปค.สั่งคุ้มครองชั่วคราว สรรหา สป.ชุดที่ 3 ระงับเสนอชื่อนายกฯ พบพิรุธ กก.มีสัมพันธ์กับผู้รับเลือก
อำนาจ จงยศยิ่ง(ซ้าย)อรรถการ ตฤษณารังสี

ศาลปกครองกลางคุ้มครองชั่วคราวฟ้องเพิกถอนสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ชุด 3 สั่งระงับการส่งรายชื่อเสนอนายกฯ พบพิรุธส่อไม่ชอบ เหตุกรรมการมีสายสัมพันธ์กับผู้รับเลือกถึง 3 กรณี

ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน  โดยนายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวนคดีฟ้องเพิกถอนการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชุดที่ 3  มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้คณะกรรมการสรรหาฯผู้ถูกฟ้องที่ 3 ระงับการรับรองรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกกันเองเพื่อเป็นสมาชิสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ในสัดส่วนของกลุ่มการผลิตด้านการบริการและให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ระงับการส่งชื่อบุคคลดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 เพื่อดำเนินการประกาศรายชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ในราชกิจจานุเบกษา ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ โดยการเลือกกันเองดังกล่าว ปรากฏว่า มีกรรมการสรรหาฯ 2 ราย คือ นายอำนาจ จงยศยิ่ง และนายอรรถการ ตฤษณารังสี มีสถานะเป็นสามีของนางผ่องพรรณและนางรัตนา ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบในการคัดเลือกกันเอง ในกลุ่มการผลิตด้านการบริการ นอกจากนี้ นายพนัส ไทยล้วน กรรมการสรรหา ยังมีสถานะเป็นบิดาของนายนพพนธ์  และพี่ชายของนายสุชาติ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบในการคัดเลือกกันเอง ในกลุ่มพัฒนาระบบแรงงาน เช่นเดียวกับนายสุธรรม จิตรานุเคราะห์ กรรมการสรรหา ก็มีนามสกุลเดียวกับนางอัมพร ที่เป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบในการคัดเลือกกันเองในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผู้ฟ้องอ้างว่าบุคคลทั้ง 2 เป็นคู่สมรสกัน จึงมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ของคณะกรรมการสรรหาฯว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลจะวินิจฉัยเนื้อหาของคดีต่อไป

 

แต่ชั้นนี้ศาลเห็นว่า การสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย หากให้การสรรหาดำเนินต่อไปอาจทำให้ผู้ฟ้องทั้ง 2 เสียสิทธิที่จะได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ อย่างเป็นธรรม ขณะที่ การจะมีคำสั่งให้กรรมการสรรหาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ระงับการรับรองรายชื่อบุคคลที่ได้รับคัดเลือกกันเองเฉพาะในกลุ่มการผลิตด้านการบริการ และให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ระงับการส่งรายชื่อบุคคลดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ดำเนินการประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลเห็นว่า ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐแต่อย่าสงใดเพราะสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีการสรรหาชุดใหม่ตามที่พ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ บัญญัติไว้ ดังนั้น ศาลปกครองจึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการสรรหาฯผู้ถูกฟ้องที่ 3 ระงับการรับรองรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกกันเองเพื่อเป็นสมาชิสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ในสัดส่วนของกลุ่มการผลิตด้านการบริการและให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ระงับการส่งชื่อบุคคลดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 เพื่อดำเนินการประกาศรายชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ในราชกิจจานุเบกษา ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับคดีนี้นายเกษม จันทร์น้อย และนายเกรียง วิศิษฎ์สรอรรถ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งสมัครเข้ารับการสรรหา เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ฯ ชุดที่ 3 ในสัดส่วนที่เป็นผู้มีสิทธิคัดเลือกกันเองในกลุ่มการผลิตด้านการบริการ ในนามองค์กรสมาคมการประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยและสมาคมหมอความยุติธรรม  ยื่นฟ้อง  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,   คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ และคณะอนุกรรมการสรรหาฯ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการสรรหาและประกาศรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ชุดที่ 3 เนื่องจากการได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาไม่ได้เป็นไปตามพ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2543 เพราะสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ได้ให้ปลัดกระทรวงและอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษามาประชุมเพื่อคัดเลือกกันเองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่กลับส่งเอกสารให้เลือกกันเองทางไปรษณีย์ และใช้โทรศัพท์ติดต่อเพื่อให้สมยอมกันลงคะแนนเสียง นอกจากนี้ เมื่อปลัดกระทรวงและอธิการบดีไม่เคยมาประชุมและให้ผู้อื่นประชุมแทนซึ่งรับเบี้ยประชุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะเดียวกัน การคัดเลือกองค์กรเข้ามาเป็นคณะกรรมการและอนุกรรมการสรรหาฯ ก็มีอดีตเลขาธิการของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ อยู่เบื้องหลัง โดยผู้ที่เข้ามาเป็นอนุกรรมการสรรหามีองค์กรจำนวนมากที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างแท้จริงต่อเนื่อง 2 ปี อีกทั้งยังมีการแสวงหากำไรหรือรายได้ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์และคุณสมบัติ ซึ่งทำให้การลงคะแนนคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯโดยการคัดเลือกกันเองมีการสมยอมให้กับพวกของตนเอง เช่น นางผ่องพรรณ จงยศยิ่ง ในกลุ่มการผลิตด้านการบริการ เป็นภรรยาของนายอำนาจ ซึ่งเป็นกรรมการสรรหาฯ  นางรัตนา  ตฤษณารังสี  ในกลุ่มในกลุ่มการผลิตด้านการบริการ เป็นภรรยาของนายอรรถการ ซึ่งเป็นกรรมการสรรหาฯ เป็นต้น จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้
1.เพิกถอนประกาศของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 21 คน ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551

 

2.เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ ๆ ละ 12 คนเพื่อสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552  และเพิกถอนมติคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เรื่องรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิ์คัดเลือกกันเองเพื่อเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ รวมทั้งเพิกถอนการประชุมวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 ลงคะแนนคัดเลือกกันเองของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ กลุ่มการผลิตด้านการบริการเพื่อเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ

 

3.ให้ศาลสั่งระงับการประชุมในวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ของสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ และคณะกรรมการสรรหาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 -3  เพื่อห้ามไม่ให้ลงนามอนุมัติเห็นชอบผลคะแนนในวันที่ 24 พฤษภาคม 2552  และให้ตกเป็นโมฆะ ไม่ให้มีผลบังคับใช้เพื่อให้สรรหาคัดเลือกและเลือกกันเองใหม่ให้ถูกต้อง และระงับไม่ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2-3 ส่งเรื่องการรับรองประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯไปให้นายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องที่ 1 ลงนามเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งระงับไม่ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ลงนามรับรองเห็นชอบผลการเลือกสรรหา
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น