วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

30 ปีกระทรวงวิทย์ อดีต รมต.เห็นรัฐบาลมาร์กใส่ใจ ฝากดัน "นิวเคลียร์-จีเอ็มโอ"

30 ปีกระทรวงวิทย์ อดีต รมต.เห็นรัฐบาลมาร์กใส่ใจ ฝากดัน "นิวเคลียร์-จีเอ็มโอ"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2552 12:55 น.

(ซ้ายไปขวา) ดร.พิจิตต รัตตกุล ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายประจวบ ไชยสาส์น และ น.ส.นิดาวรรณ เพราะสุนทร

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ชมนิทรรศการในงาน 30 ปีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

กระทรวงวิทย์ฉลอง 30 ปี เชิญอดีตรัฐมนตรีขึ้นเวทีเสวนา รับเป็นกระทรวงเกรดซี-ดีในทางการเมือง ชี้กระทรวงวิทย์ยุค "คุณหญิงกัลยา" มีความสำคัญมากขึ้น หลังนายกฯ ลงมามอบนโยบายด้วยตัวเอง เสนอวิสัยทัศน์ให้รัฐบาล ด้าน "ดร.ยงยุทธ" ฝากเสนอเรื่อง "จีเอ็มโอ-นิวเคลียร์" หลังทำไม่สำเร็จ เมื่อครั้งนั่งบริหารงานกระทรวง
       
       กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดเสวนาเรื่อง "30 กระทรวงวิทย์ ร่วมคิดวิสัยทัศน์รัฐบาลไทย" เนื่องในโอกาสครบ 30 ปีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ณ อาคารสถานเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.52 โดย ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้เปิดเสวนาพร้อมปาฐกถาพิเศษ และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงและหน่วยงานในสังกัดได้นำผลงานมาจัดแสดงด้วย
       
       สำหรับผู้ร่วมเสวนาได้แก่ รัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และอดีตรัฐมนตรี คือ นายประจวบ ไชยสาส์น สมัยที่ยังเป็นชื่อ "กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน" และ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมต.ในช่วงปี 2549 พร้อมด้วย ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีต รมช.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน โดย น.ส.นิดาวรรณ เพราะสุนทร รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
       
       ทั้งนี้ นายประจวบรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานใน ระหว่างปี 2531-2533 ศ.ดร.ยงยุทธ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างปี 2549-2551 ส่วน ดร.พิจิตต รับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน สมัยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นรัฐมนตรีเมื่อปี 2528
       
       คำถามในวงเสวนาเริ่มขึ้นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อบทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์ระดับใด? ดร.พิจิตต ผู้มีอาวุโสทางการเมืองมากกว่าใครบนเวที กล่าวว่าเป็นที่น่าน้อยใจ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นยิ่งกว่ากระทรวงเกรดซี อยู่ในระดับดี-เอฟ เป็นรองรับสำหรับคนไม่มีที่ไป เนื่องจากจัดสรรตำแหน่งไปหมดแล้วแต่ยังต้องหาที่ลงให้ แต่กรณีนี้ไม่ได้เกิดกับ ดร.คุณหญิงกัลยา
       
       "ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นไปอย่างขรุขระ คนเข้าใจวิทยาศาสตร์น้อย แต่ อ.ดำรง (นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ - อดีต รมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระหว่างปี 2526-2528) เป็นคนแรกๆ ที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบาย เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่หลังจากท่านก็เงียบใหม่แล้วก็กลับขึ้นมาใหม่ๆ เป็นครั้งๆ คราว การจะพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำเหมือนคลื่นน้ำขึ้น-น้ำลงไม่ได้ ต้องพัฒนาให้มีโมเมนตัมเพื่อให้เกิดผลกระทบ" ดร.พิจิตตกล่าว
       
       ด้าน ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวว่าน้อยใจแต่ไม่มาก ทั้งนี้ยอมรับว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มักเป็นพระรองหรือเพื่อนนางเอกทุกครั้ง เช่น มีปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง กระทรวงอื่นจะได้รับงบไปจัดการเต็มๆ แต่ลึกๆ แล้วกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ต้องช่วยอยู่ตลอด แต่ก็ไม่ค่อยได้เป็นพระเอกจริงๆ 
       
       "การสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต" นั้น วิทยาศาสตร์มีบทบาทในทุกส่วน เพราะปัจจุบันเราไม่สามารถสร้างงาน-สร้างเงินได้จากแรงงานถูกๆ แล้ว ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วย และมั่นใจว่าต่อไปวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นพระเอก-นางเอกอย่างแน่นอน" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว
       
       อย่างไรก็ดี ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่เคยผันมารับหน้าที่บริหารงานกระทรวงนั้น ศ.ดร.ยงยุทธเผยว่า ก็มีสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ เหมือนตอนทำงานวิทยาศาสตร์ก็มีไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งผลงานที่ผิดคาดยังตีพิมพ์ได้ เพียงแต่ต้องอธิบายได้ว่าทำไม ส่วนการบริหารงานกระทรวงนั้นไม่ใช่ 1+1=2 เพราะมีปัญหาต่างๆ มากมาย และทำให้รู้ว่าไม่ใช่เพียงวิทยาศาสตร์อย่างเดียว
       
       "เช่นจีเอ็มโอ ในทางเทคนิคนั้นทั่วโลกก็ทำอยู่แล้ว แต่เมื่อสังคมแคลงใจ มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว ต้องดูด้วยว่าชาวบ้านเอาด้วยไหม ถือว่าวิทยาศาสตร์เป็นปัจจัยหนึ่งแต่ยังมีปัจจัยอื่นอีก หรือนิวเคลียร์ซึ่งเราเห็นว่าพลังงานกำลังจะหมดแล้ว และต้องรีบตัดสินใจ แต่เมื่อลงไปสู่ระดับประชาธิปไตยแล้วก็มีเสียงคัดค้าน ก็ฝากคุณหญิงดูต่อด้วย" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว
       
       ขณะที่นายประจวบ ให้ความเห็นกรณีจีเอ็มโอและนิวเคลียร์นั้น หากจะเดินหน้าจริง ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารแก่สังคมก่อน พร้อมทั้งกล่าวถึงหลักการบริหารว่าต้องวางคนให้เหมาะสมกับงาน ซึ่งครั้งนี้นับว่าตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วางตัวได้เหมาะสมที่สุด นอกจากนายกจะให้ความสนใจแล้ว รัฐมนตรีเองต้องมีความเป็นผู้นำ
       
       ส่วน ดร.คุณหญิงกัลยาเองซึ่งได้รับการยกย่องจากอดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บนเวทีเสวนา ว่าเหมาะสมกับตำแหน่ง ก็เผยว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์มาก และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกๆ ที่เดินทางมาที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แล้วมอบนโยบายด้วยตัวเอง ขณะที่คณะรัฐมนตรีต่างก็ให้ความเห็นว่าต้องให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ฯ มากๆ เนื่องจากเราหาคนเก่งวิทยาศาสตร์ได้น้อย.

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000062475

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น