วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

โหด มัน ฮาในจิตรกรรมฝาผนัง/นรา

โหด มัน ฮาในจิตรกรรมฝาผนัง/นรา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มิถุนายน 2552 09:12 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น






ภาพมารผจญถือเป็น "ทีเด็ด", "ลูกชิ้น", "ไฮไลท์" หรือ "ไคลแม็กซ์”ของจิตรกรรมฝาผนังส่วนใหญ่
       
        ที่วัดดุสิดารามก็เป็นแห่งหนึ่ง ซึ่งวาดออกมาได้สุโค่ย & สุดยอดเหลือเกิน

       
        เมื่อมีโอกาสได้ดูภาพต้นฉบับเดิม "ตัวจริง ผนังจริง" ผมก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจไปกับฝีมือการวาดแบบอลังการงานสร้าง
       
        กรรมวิธีในการดูจิตรกรรมฝาผนังภาพมารผจญให้สนุกได้อรรถรส ควรต้องทราบเรื่องราวคร่าวๆ เกี่ยวกับพุทธประวัติมาบ้าง (สักนิดก็ยังดี) นะครับ
       
        เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อพระโพธิสัตว์ ใกล้จะล่วงเข้าสู่ภาวะตรัสรู้ ทวยเทพทั้งหลายส่งเสียงแซ่ซร้องสาธุการ จนได้ยินไปถึงพญามาร ซึ่งไม่อาจนิ่งทนเพิกเฉยดูดาย ต้องยกพลมาก่อกวนขัดขวางด้วยจิตริษยา
       
        พญามารอันมีชื่อว่า วัสวดีมาร จึงระดมไพร่พลมาเป็นกองทัพมหึมามหาศาล ประกอบด้วยเหล่าทหารนานาชาติ, สารพัดสัตว์อันดุร้าย และอมนุษย์ ชุมนุมรวมตัวกันกินพื้นที่กว้างไกลถึงแสนโยชน์
       
        เทพทั้งหลายได้ยินเสียงกึกก้องอื้ออึงปานฟ้าถล่มดินทลาย และเห็นกองทัพมารเข้า ก็สะดุ้งตกใจพากันหนีไปจนหมดสิ้น เหลือพระโพธิสัตว์แต่เพียงพระองค์เดียว
       
        แล้วบรรดาสมุนมาร ก็จู่โจมเข้ารุมทำร้ายพระพุทธองค์ ด้วยอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นานา แต่ก็พ่ายต่อพระบารมีไปเสียทุกครั้ง
       
        พญามารจึงเร่งไสช้างคีรีเมขล์เข้าใกล้ กวัดแกว่งอาวุธขพระขรรค์ข้างละพันแขน ร้องขับไล่พระสิทธัตถะ ออกลูกเกเรอ้างว่า บัลลังก์ที่ทรงนั่งประทับนั้นเป็นของตน
       
        พระโพธิสัตว์ยืนยันว่า บัลลังก์นี้เป็นของเรา พยานของเธอมีหรือ?
       
        จอมมารอ้างเหล่าไพร่พลเสนาเป็นพยาน พลันบรรดาลิ่วล้อก็โห่ร้องตะโกนสนับสนุนพร้อมเพียงกัน
       
        พระมหาบุรุษจึงชี้พระหัตถ์ขวาลงบนพื้นปฐพี ตรัสขอให้แม่พระธรณีช่วยเป็นพยาน
       
        พลันแม่พระธรณีก็ผุดขึ้นจากแผ่นดิน และบีบมวยผม จนน้ำที่พระโพธิสัตว์ทรงหลั่งลงดินขณะบำเพ็ญบารมีสั่งสมไว้ทุกชาติภพ ไหลเนืองนองไปทั่ว
       
        ปริมาณน้ำที่แม่พระธรณีบีบออกจากมวยผม ไม่เยอะหรอกครับ แค่เป็นสึนามิโถมท่วมกองทัพมารจนแตกพ่ายย่อยยับเท่านั้นเอง
       
        ภาพมารผจญในจิตรกรรมฝาผนังของไทย คือ การถ่ายทอดจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้นทั้งหมดโดยเล่าเรื่องรวบรัด และตัดรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างออกไปบ้าง
       
        โดยมากนิยมแบ่งพื้นที่ผนังเป็น 3 ส่วน บริเวณกึ่งกลางตอนบน วาดภาพเจ้าชายสิทธัตถะนั่งประทับบนรัตนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ แนวเดียวกันถัดมาเบื้องล่างเป็นภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม ปลายชี้ไปทางซ้ายมือ
       
        เพื่อความสะดวก, เข้าใจง่าย และป้องกันความสับสนงุนงง คำว่า "ซ้าย" และ "ขวา" ตลอดทั้งบทความชิ้นนี้ หมายถึงซ้าย-ขวาของผู้ชม ขณะหันหน้าเข้าหาตัวภาพนะครับ
       
        ด้านขวาคือ พญามารขี่ช้างคีรีเมขล์ (อยู่ด้านบน) ซึ่งนิยมวาดโดยอิงคาแรคเตอร์มาจากทศกัณฐ์ เรียงรายถัดลงมาเบื้องล่างเป็นกองทัพมาร ทั้งหมดยกอาวุธพุ่งปลายชี้ไปที่พระโพธิสัตว์ ตระเตรียมทำร้ายพระองค์ท่าน
       
        ส่วนทางซ้ายเป็นลำดับเหตุการณ์ท้ายสุด เมื่อแม่พระธรณีบีบมวยผม จนน้ำท่วมกองทัพมารระส่ำระสายพ่ายแพ้
       
        วิธีดูภาพนี้ ตามปกติจึงมักจะดูจากขวาไปซ้าย แต่ก็มีบางวัดบางแห่ง วาดผิดแผกจากซ้ายไปขวาบ้างเหมือนกัน (แต่ก็พบเห็นน้อยกว่า)
       
        เทียบเคียงง่ายๆ กรุณานึกถึงการเขียนอักษรตัว M ลากเส้นจากหลังไปหน้า นั่นคือ ลำดับเรื่องราวในภาพมารผจญ
       
        หลักในการจำแนกแยกแยะ ว่าภาพควรจะเริ่มจากด้านไหน สามารถพิจารณาดูได้ที่อากัปกิริยาของตัวละคร (กลุ่มมาร) ในภาพ แต่จุดสังเกตง่ายกว่านั้นคือ ดูที่ปลายเส้นผมของแม่พระธรณี หากชี้ไปด้านซ้ายมือของผู้ชม ภาพจะเริ่มเรื่องจากทางขวา
       
        ในทางตรงข้าม หากปลายผมชี้ไปด้านขวามือของผู้ชม ภาพจะเริ่มเรื่องจากทางซ้าย
       
        อันนี้ก็เป็นด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ปลายเส้นผมนั้นจะบ่งชี้ว่าน้ำท่วม (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทีหลัง) ไปยังทิศไหน
       
        ตอนบนสุดของภาพมารผจญ โดยทั่วไปแล้ว มักจะมีเส้นหยักสินเทาเหมือนแบ่งกั้นเขตแดน นอกบริเวณเส้นหยักเหล่านี้ วาดภาพเทวดาในท่วงท่าอาการต่างๆ บางแห่งวาดเหล่าเทวดากำลังหลบหนี บางแห่งวาดเป็นเทวดาถือพนมมือถือดอกไม้แซร่ซร้องแสดงยินดีต่อชัยชนะของพระ พุทธองค์
       
        ภาพมารผจญส่วนใหญ่ มักจะแสดงเหตุการณ์ตามแบบแผนต่างๆ เช่นนี้
       
        ผมคิดว่า จุดเด่นของภาพมารผจญ อยู่ที่การจัดองค์ประกอบภาพ เน้นความสมดุลย์เท่าเทียมกันระหว่างด้านซ้ายและขวา รวมทั้งแสดงความยุ่งเหยิงวุ่นวายอย่างมีระเบียบ
       
        รูปมารผจญ วัดดุสิดาราม มีจุดสะดุดตาอันดับแรก ตรงบริเวณตอนบนข้างซ้ายและขวาของพระพุทธเจ้า
       
        แถบนั้นเป็นเนื้อที่ว่างโล่ง ปราศจากตัวละครอื่นใด ระบายพื้นเป็นสีแดงเข้ม
       
        ครูช่างที่วาดภาพนี้ ท่านแก้ปัญหา "ที่ว่าง" ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างเยอะ ด้วยการเขียนคันธงและธงรูปสามเหลี่ยมประจำกองทัพมาร ฝั่งละ 5 พุ่งตรงสอดคล้องรับกับเส้นหยักสินเทาตอนบนสุดอย่างเหมาะเจาะลงตัว
       
        นอกเหนือจากนี้ ครูช่างยังแก้ปัญหาเรื่อง "ที่ว่าง" โดยวาดลายดอกไม้ร่วงลงไปบนพื้น
       
        ลายดอกไม้ทางด้านซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกันนะครับ
       
        ด้านขวาเป็นลายดอกไม้ธรรมดา เหมือนลายประดับหรือวอลล์เปเปอร์ ส่วนด้านซ้ายวาดดอกไม้ห้อยเป็นพวงระย้า แตกต่างออกไป
       
        สันนิษฐานกันว่าหมายถึง อาวุธที่เหล่ามารระดมยิงเข้าใส่พระโพธิสัตว์ พ่ายแพ้ต่อพระบารมี กระทั่งกลายรูปแปรเปลี่ยนเป็นพวงดอกไม้เครื่องบูชาต่อพระองค์
       
        จุดเด่นถัดมาของภาพมารผจญ วัดดุสิดารามก็คือ ความแพรวพราวพิสดารของลายเส้น
       
        จิตรกรรมฝาผนังของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ได้วาดขึ้นโดยยึดหลักมุ่งเสนอความสมจริง, ไม่คำนึงถึงหลักการเรื่อง perspective ใกล้-ไกล, รายละเอียดของแสงเงาไม่ระบุเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน (ผู้ชมจะล่วงรู้จำแนกแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้จากอากัปกิริยาของตัวละครในภาพ เช่น ภาพกษัตริย์กำลังบรรทม เป็นต้น), ร่างกายของตัวละครเขียนชนิดไม่มีกล้ามเนื้อ ระบายสีแบนราบ ไม่แรเงา (เชื่อและยึดคติสืบทอดกันมาว่า เพราะเทวดามีกายเป็นทิพย์ ปราศจากกิเลส จึงงดงามอิ่มเอิบอยู่เสมอ) ประกอบไปด้วยเส้นโค้งอ่อนช้อยผิดหลักกายวิภาค, ลักษณะของสถาปัตยกรรมในภาพ มีขนาดเล็ก วาดให้พอดีกับการล้อมภาพตัวบุคคล ฯลฯ
       
        การดูจิตรกรรมฝาผนังให้เห็นซึ้งถึงความงาม จึงจำเป็นต้องผ่านเลยทฤษฏีหรือหลักเกณฑ์ทางศิลปะบางอย่างของฝรั่ง และยึดมาตรฐานทางสุนทรียศาสตร์แบบของไทยเราเอง
       
        เกณฑ์ความงามแบบไทยๆ ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง คือ พิจารณากันที่ฝีมือการเขียนเส้นสายต่างๆ
       
        เส้นในจิตรกรรมฝาผนัง มีทั้งเส้นที่มองเห็น และเส้นที่มองไม่เห็นนะครับ
       
        แบบแรกนั้นก็คือ สารพัดเส้นที่ประกอบกันเป็นรูปทรงตัวบุคคล, ทิวทัศน์รอบข้าง, ปราสาทราชวัง และเส้นที่ผูกขึ้นเป็นลวดลายกนกลายประดับต่าง ๆ
       
        เส้นกลุ่มนี้ จะสวยหรือไม่สวย ประเมินหยั่งวัดกันที่ความเฉียบคม, อ่อนโค้ง, ความเบาบางของปลายพู่กัน, ความราบรื่นไม่มีสะดุ้งคดงอ
       
        ส่วนเส้นที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เรียกกันว่า "เส้นโครงสร้าง" (Structural line) เป็นเส้นที่เกิดขึ้นในจินตนาการของผู้ชม ซึ่งจะรู้สึกปะติดปะต่อเชื่อมโยงไล่สายตาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
       
        ในภาพมารผจญส่วนใหญ่ "เส้นโครงสร้าง" ยังอาจจำแนกแยกย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม
       
        ด้านขวามือ เส้นโครงสร้างจะมุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน คือ นำสายตาผู้ชมเข้าสู่องค์พระโพธิสัตว์ อันนี้สามารถดูได้จากท่วงท่าการแหงนเงยจ้องมองของไพร่พลกองทัพมาร การพุ่งชี้ของบริเวณปลายอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นเส้นโค้งหรือเส้นตรง ล้วนมีจุดหมายจอดป้ายสถานีเดียวกันหมด
       
        พูดอีกแบบคือ นี่เป็นซีกด้านที่แสดงให้เห็นถึงความมีระเบียบ เข้มแข็ง เปี่ยมด้วยพลัง
       
        ตรงข้ามกับด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากมวลมารกระเจิดกระเจิงพ่ายแพ้ย่อยยับ "เส้นโครงสร้าง" ฝั่งนี้ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งวิ่งขึ้นวิ่งลง วิ่งย้อนวิ่งเฉียง ปนเปมั่วซั่ว ดูอ่อนแรง ไม่ดุดัน ขับเน้นความโกลาหลพ่ายแพ้ให้เด่นชัด
       
        ฉากกองทัพมารพ่ายแพ้ทางด้านซ้าย จึงเป็นจุดโชว์ฝีมือของศิลปินที่สำคัญสุด เนื่องจากเรื่องราวเหตุการณ์เอื้ออำนวยให้ครูช่าง แสดงอิสระในการวาดอะไรก็ได้สุดแท้แต่จะสามารถจินตนาการนึกไปถึง และเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ให้ผู้ชมสังเกตได้ไม่รู้จักจบสิ้น (เช่น งวงของช้างคีรีเมขล์ซึ่งเคยม้วนพันจับอาวุธทางด้านขวา เปลี่ยนมาเป็นชูช่อดอกบัวแสดงอาการคารวะยอมจำนน ฯ)
       
        ความสุนทรทางบันเทิงอันสูงสุดในการดูภาพมารผจญ อยู่ที่การค่อยๆ ละเลียดสังเกตรายละเอียดระหว่างด้านขวากับซ้าย ค่อยๆ เทียบเคียงกันไปทีละจุด เพื่อค้นหาข้อแตกต่างตรงข้ามของเหล่ามาร ซึ่งฮึกเหิมและกร่างเหลือเกินในตอนแรกเริ่ม กับสภาพเละเทะเสียมาดหมดฟอร์มไม่เป็นท่าตอนพ่ายแพ้
       
        ความสนุกลำดับต่อมาในการดูภาพนี้ก็คือ การค้นหาชาวต่างชาติทั้งหลายแหล่ที่แทรกปนอยู่ในกองทัพมาร
       
        จะอุปาทานไปเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ผมรู้สึกว่า บรรยากาศและอารมณ์ใกล้ๆ กับงานสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารจังเลย
       
        ภาพชาวต่างชาติในจิตรกรรมฝาผนังตอนมารผจญ ดูเหมือนว่าจะเริ่มมีปรากฎให้เห็นสมัยอยุธยาตอนปลาย
       
        สันนิษฐานกันมาว่า สถานการณ์ทางสังคมขณะนั้น เพิ่งผ่านวิกฤติการเมืองปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารยณ์ฯ ได้ไม่นานนัก ความรู้สึกติดลบต่อชาวต่างชาติ น่าจะตกค้างอยู่เยอะทีเดียว และสะท้อนออกมาในจิตรกรรมฝาผนังหลายๆ แห่ง โดยวาดฝรั่งมังค่าแขกจีน ฯลฯ อยู่ฝั่งผู้ร้าย กระทั่งกลายเป็นขนบแบบแผนให้ครูช่างสมัยรัตนโกสินทร์ ยึดถือสืบทอดกันเรื่อยมา
       
        เสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ อีกอย่างในการดูภาพมารผจญ คือ การบริหารสายตาเสาะหาอารมณ์ขันแบบโฉ่งฉ่างทะลึ่งตึงตัง (บางแห่ง เช่นที่วัดสุวรรณาราม อารมณ์ขันไปไกลถึงขั้นโป๊ติดเรท X เลยทีเดียว แต่ครูช่างที่วาดก็ร้ายกาจมาก ในการอำพรางภาพโจ๋งครึ่มเหล่านี้ไว้ได้อย่างแนบเนียน)
       
        ที่วัดดุสิดาราม อาจมีไม่มากนัก แต่ผมก็เจอ "ตลกร้าย" ทำนองนี้อยู่บ้างเหมือนกัน นั่นคือ เป้าหมาย (ซึ่งผมไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม) ที่แพะตัวหนึ่งกำลังพุ่งศีรษะเข้าชน
       
        นอกจากจะเป็นพุทธประวัติตอนสำคัญที่สุด บอกเล่าสาระให้เห็นถึงสภาวะจิตของพระโพธิสัตว์ ขณะที่ทรงต่อสู้เพียรพยายาม เพื่อยกระดับจิตให้อยู่เหนือกิเลสตัณหา กระทั่งบรรลุซึ่งโมขธรรมแล้ว
       
        ฉากมารผจญในจิตรกรรมฝาผนัง ยังมีอารมณ์ "โหด มัน ฮา" อยู่เพียบพร้อมครบครันด้วยนะครับ
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000063921

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น