วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

'9 ค่าย'นานกว่า 20 ปี 'ตัวเลขผู้ลี้ภัย' ในไทย

'9 ค่าย'นานกว่า 20 ปี 'ตัวเลขผู้ลี้ภัย' ในไทย

วันพุธ ที่ 24 มิถุนายน 2552 เวลา 0:00 น

 

'ยังมีเป็นแสน'

เรื่องของ "ผู้ลี้ภัย" ทุกวันนี้ยังมีอยู่ในประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ   ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ได้เผยสถานการณ์ผู้ลี้ภัยโลกว่า ในปีที่ผ่านมาทั่วโลกยังมีคนกว่า 42 ล้านคนที่พลัดพรากจากบ้าน โดยแบ่งเป็นผู้ลี้ภัยราว 16 ล้านคน และผู้พลัดถิ่นราว 26 ล้านคน นี่ยังไม่รวมตัวเลขผู้พลัดถิ่นในปี 2552 นี้
   
ในส่วนของ "ผู้ลี้ภัย" คนไทยเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้น...
   
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว "ในไทยก็มี-มีมานานกว่า 20 ปี !!"
   
"จากรายงานสถานการณ์ผู้ลี้ภัยทั่วโลกของยูเอ็นเอชซีอาร์ ประจำ ปี 2551 พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้ลี้ภัยในโลกมาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปากีสถาน ซีเรีย อิหร่าน เยอรมนี และจอร์แดน ส่วนประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของผู้ลี้ภัยคือ อัฟกานิสถาน และอิรัก" ...เป็นการเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้โดย โจเซปเป เดอ วินเซนทิส รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
   
พร้อมทั้งยังมีการระบุว่า... แม้ว่าจำนวนตัวเลขผู้ลี้ภัยจะลดลง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยาวนาน และระยะเวลาที่ใช้ในการคืนสู่บ้านเกิดของคนเหล่านี้ ทำให้ผู้ลี้ภัยต้องพลัดพรากจากบ้านเมืองตนเองเป็นเวลานานนับปี หรืออาจจะกว่าสิบปีก็ได้ เช่น ผู้ลี้ภัยชาวพม่า ซึ่งเป็น ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศพม่าที่เกิดขึ้นยาวนาน และไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคตอันใกล้
   
สำหรับประเทศไทยเรานั้น รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่ง สหประชาชาติ บอกว่า... กว่า 30 ปีแล้วที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่เคยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ซึ่งมีขึ้นในปี พ.ศ. 2484 แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำงานกับยูเอ็นเอชซีอาร์อย่างใกล้ชิดมาตลอด
   
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรับ "ผู้ลี้ภัย" เข้าพักพิงในประเทศ ทั้งผู้ลี้ภัยที่เกิดจาก "สงครามอินโดจีน" ที่เกิดจาก  "สงครามเวียดนาม" และที่เกิดจาก "สถานการณ์ในพม่า"
   
ทั้งนี้ ทางยูเอ็นเอชซีอาร์เองมีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยร่วมกับรัฐบาลไทยและเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่ โดยให้ความคุ้มครองต่อผู้ลี้ภัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ อาทิ การฝึกทักษะอาชีพ และการศึกษา เพื่อที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถดำเนินชีวิตระหว่างอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว อย่างปลอดภัย
   
รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุต่อไปว่า... ผู้ลี้ภัยกว่าแสนคนในไทยอยู่ในพื้นที่ปิดมาเกือบตลอด บางคนอยู่มา 10 ปี 20 ปี หรือเกิดในพื้นที่พักพิง ซึ่งการที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากพื้นที่ สร้าง ความอึดอัด หดหู่ ซึมเศร้า เกิดสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง ข่มขืน ใช้ยาเสพติด
   
ด้วยเหตุนี้ ทางยูเอ็นเอชซีอาร์จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีการปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของ "ค่ายผู้ลี้ภัย" เท่าที่รัฐบาลไทยพอจะทำให้ได้ หรืออยากจะให้มีการให้สิทธิแก่ผู้ลี้ภัยในการเดินทางออกนอกค่ายเพื่อการประกอบอาชีพได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายต้องรออาหารจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาบริจาคเท่านั้น ขณะที่ในความรู้สึกของผู้ลี้ภัยเองก็ไม่อยากจะเป็นภาระให้แก่ใครมากมาย
   
"อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อเรียกร้องนี้จะดูมากเกินไปในระยะเวลาอันใกล้ แต่ทางยูเอ็นเอชซีอาร์ก็เห็นสัญญาณที่ดีของรัฐบาลไทย เช่น การส่งเสริมให้เรียนภาษาไทย โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ และการศึกษา นอกโรงเรียน ซึ่งข้อเรียกร้องข้อหลังนั้นทางยูเอ็นเอชซีอาร์คงจะพูดคุยกับรัฐบาลไทยในระยะยาวต่อไป" ...รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุ
   
นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า... ผู้ลี้ภัยไม่เหมือน "แรงงานต่างด้าว"เพราะผู้ลี้ภัยคือคนที่ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหนีออกจากประเทศของตน พวกเขาต้องหนีเพราะชีวิตตกอยู่ในอันตราย หรือมีการไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ของพวกเขา ในขณะที่แรงงานต่างด้าวคือคนที่เข้ามาหางานทำ โดยทางยูเอ็นเอชซีอาร์หวังว่ารายงานประจำปีของยูเอ็นเอชซีอาร์ที่เปิดเผยออกมาจะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยให้คนไทยได้ทราบมากขึ้น
   
ขอย้ำว่า "ผู้ลี้ภัย" เป็นคนละกลุ่มกับแรงงานต่างด้าว
   
และเป็นกลุ่มคนต่างชาติที่ยังมีอยู่ในไทยจำนวนมาก...
   
ถามว่ามีมานานแค่ไหนแล้ว ? และตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่แน่ ? ข้อมูลจากการระบุของรองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีคำตอบคือ... ยูเอ็นเอชซีอาร์ทำงานด้านผู้ลี้ภัยร่วมกับรัฐบาลไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว และว่ากันเฉพาะที่ประเทศไทยรับภาระโดยการจัดให้มีค่ายพักพิงผู้ลี้ภัย ก็มีประมาณ 9 แห่ง ที่ดูแลผู้ลี้ภัยมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งก็นับเป็นจำนวนมากที่สุดและเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
   
"ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว 112,932 คน และมีผู้ ขอลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยอีก 12,578 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า ชาวกะเหรี่ยง และกะเหรี่ยงแดง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทราบว่ามีคนที่เป็นผู้ลี้ภัยจริง ๆ อยู่ในประเทศของตัวเอง" ...ทางยูเอ็นเอช ซีอาร์ระบุ
   
มิใช่ระยะเวลาสั้น ๆ เลย...ที่ "มีผู้ลี้ภัย" อยู่ในไทย
   
และมิใช่น้อย ๆ เลย...กับ "จำนวนผู้ลี้ภัย" ในไทย
   
นี่เป็นอีกเรื่องที่คนไทยจำนวนไม่น้อย...ไม่รู้ ?!?!?.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=4824&categoryID=23

Please visit my blog.Thank you so much.
http://www.sanamluang.bloggang.com
http://tham-manamai.blogspot.com



check out the rest of the Windows Live™. More than mail–Windows Live™ goes way beyond your inbox. More than messages

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น