วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ชานชาลาประชาชน..แทบลอย เกษตรกรในร่างเงาของนักการเมือง

  แม้มติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  9  มิถุนายน  2552  จะได้อนุมัติให้ปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง  ปี  2552  จากเดิมที่กำหนดไว้  4.0  ล้านตันเพิ่มอีกจำนวน  2.0  ล้านตัน  รวมเป็น  6.0  ล้านตัน

     แต่ดูเหมือนว่ามาตรการดังกล่าว  ชาวนาจะไม่ได้รับผลประโยชน์  เพราะโครงการรับจำนำข้าวก็ยังอยู่บนการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองกับโรงสี  โดยมีกลไกรัฐคอยเอื้อประโยชน์อยู่เช่นเดิม

     หลายครั้งหลายคราวที่ชาวนาเดือดร้อนเพราะปัญหาขายข้าวไม่ได้ราคา  ถูกนายทุนเอาเปรียบ  ต้องออกมาชุมนุมเดินขบวนปิดถนนในหลายพื้นที่  แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ปัญหากลับไม่ถึงชาวนา

     การแก้ไขปัญหาบนโต๊ะเจรจา  โดยมีนักการเมืองนั่งเป็นประธาน  ข้าราชการคอยป้อนข้อมูล  ข้อเสนอของเกษตรกรมักจะถูกบิดเบือนและจบลงอย่างเจ็บปวด  ด้วยเล่ห์กลของนักการเมืองทุกครั้งไป

     ปัญหาการขาดทุนของเกษตรกรที่มาจากนโยบายการส่งเสริมการเกษตรของภาครัฐและทุน  ย่อมนำไปสู่การเป็นหนี้  การสูญเสียที่ดิน  สูญเสียอำนาจอธิปไตยในการกำหนดวิถีการผลิตของตนเองและชุมชน

     นี่คือชะตากรรมของเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนักการเมือง  ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา  ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล  ชาวนาอันเป็นสันหลังของชาติก็ถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลา

     ปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ไม่สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตและราคาที่เป็นธรรมที่แท้จริง  คือผลพวงความล้มเหลวของทุกรัฐบาลที่ไม่จัดการกับกลไกเศรษฐกิจที่บิดเบือนและกระบวนการทุจริตคอรัปชั่น

     จากการศึกษาพบว่าความผิดพลาดของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา  คือการดึงอำนาจของเกษตรกรไปสู่มือนายทุนและทำลายศักยภาพการผลิตที่หลากหลายของชุมชน    บนความผิดพลาดอย่างน้อย  5  ประการคือ

     1.ความผิดพลาดจากนโยบายการส่งออกที่เชื่อว่าจะเป็นการสร้างรายได้หลักให้ประเทศ

     2.การใช้ได้เปรียบเป็นต้นแบบในการแข่งขันทางการค้าด้วยการผูกขาดบนข้ออ้างการค้าเสรี

     3.ความผิดพลาดจากการใช้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้

     4.ความผิดพลาดของนโยบายเกษตรอุตสาหกรรมที่สร้างภารหนี้สินและทำลายสภาพแวดล้อม

     5.ความผิดพลาดที่รัฐทำให้เกษตรกรขาดทุนเพราะขาดอำนาจทั้งด้านการผลิตและการตลาด

     ดังนั้น   การนิ่งเฉยไม่จัดการกับการทุจริตคอรัปชั่น  ก็เท่ากับรัฐบาลสมยอมกับนายทุนชั่ว  เพื่อเอาเปรียบประชาชน  หากินกับส่วนต่างที่ชาวนาควรได้ผลประโยชน์บนหยาดเหงื่อและแรงกายของตนเอง

     อีกทั้งยังจะเห็นได้ว่านโยบายทั้งหมดของนักการเมืองในปัจจุบันนี้  ทุกอย่างคือการต่อรองบนประโยชน์ของพวกพ้อง  โดยอ้างเอาความทุกข์ยากของประชาชนเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์

     แม้กระทั่งนโยบายการการจัดที่ดินเพื่อคนจน  โครงการโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดินของรัฐบาลก็ถูกต่อรองด้วยโครงการของพรรคร่วมรัฐบาล  โดยไม่ใส่ใจปัญหาความเดือดร้อนสาหัสของชาวนาไร้ที่ดิน

     ดังนั้น  ถึงเวลาแล้วที่ชาวนาเกษตรกรทุกภาคส่วนจะต้องวิเคราะห์ปัญหาที่ตนเองถูกเอาเปรียบ  ข้ามพ้นความเป็นประชาชนของนักการเมืองที่ถูกแยกส่วนให้เป็นพลเมืองในสังกัดถูกตกเขียวทางสินค้า

     เบื้องต้นเราจะต้องร่วมกันเรียกร้องให้รัฐแก้ไขแก้ปัญหาด้านการเกษตรในประเด็นพื้นฐาน  ดังนี้

     1.ปลดพันธนาการของภาคเกษตรกรรม  อันเนื่องจากการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก  อาทิ  ข้อตกลงทางการเกษตร,  ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา  เป็นต้น

     1.1  มีนโยบายปกป้องคุ้มครองที่ชัดเจนต่อพืชที่เป็น  "พืชความมั่นคงทางอาหาร"  ของประเทศ

     1.2  สร้างกลไกการป้องกันอธิปไตยทางอาหาร  โดยให้มีตัวแทนเกษตรกรเป็นคณะกรรมการร่วมในการนำเข้าพืชผล  ร่วมกันวิเคราะห์และวางแผนโดยใช้ผลผลิตที่อยู่ภายในประเทศเป็นฐานการผลิตหลัก

     2.รัฐต้องให้การสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรของเกษตรกร  โดยเน้นที่การมีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุดของเกษตรกร  โดยเฉพาะในกระบวนการตัดสินใจ  ต้องปลอดจากการแทรกแซงและครอบงำทุกระดับขั้น

     2.1  เร่งจัดทำกฎหมายรับรองสิทธิ  อำนาจ  และหน้าที่ของสภาการเกษตรแห่งชาติโดยเร่งด่วน

     2.2   ทบทวนกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเกษตรกร  โดยปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกกฎหมายนั้นๆ  ถ้าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานอย่างอิสระและความมั่นคงขององค์กรเกษตรกร

     2.3  สนับสนุนงบประมาณในการก่อตั้งและบริหารงานขององค์กรเกษตรกรอย่างเต็มที่

     2.4  สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยเพื่อพัฒนายกระดับสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกร

     3.รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการในการปกป้องและอุดหนุนคุ้มครองเกษตรกรที่สัมฤทธิ์ผล  ในทางปฏิบัติ  เพื่อความมั่นคงของเกษตรกร  เช่น  ออกกฎหมายประกันรายได้เกษตรกร  โดยมีมาตรการต่างๆ

     3.1  ควบคุมราคาสินค้าต้นทุนการผลิตทางการเกษตร  เช่น  ปุ๋ย,  สารกำจัดศัตรูพืช,  เมล็ดพันธุ์  น้ำมัน

     4.รัฐจะต้องทบทวนนโยบายทางการเกษตรที่กำลังดำเนินการอยู่  และจะดำเนินการในอนาคต  โดยเปิดให้เกษตรกรได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรและให้ความเห็นแก่นโยบายนั้นๆ  ก่อน

     ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรต้องต่อรองกับอำนาจรัฐและนักการเมืองที่ฉ้อฉล  สร้างอำนาจประชาชนที่เป็นจริงด้วยตนเอง  อันจะนำไปสู่การปลดปล่อยพันธนาการออกจากนักการเมืองและนายทุนฉ้อโกง

     นี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์ของประชาชน  ประวัติศาสตร์ที่ประชาชนต้องลุกขึ้นสร้างด้วยมือของประชาชน  ลุกขึ้นมาสร้างการเมืองใหม่  ประชาธิปไตยใหม่  สังคมใหม่  บนผืนดินแผ่นสุดท้ายของเรา.
 
      http://www.thaipost.net/tabloid/140609/6181


Invite your mail contacts to join your friends list with Windows Live Spaces. It's easy! Try it!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น