วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

'ชุมชนมีส่วน' มิติใหม่ 'กองทุนสุขภาพ' อีก 'กลไกสาธารณสุข'

วันที่ 9 มิถุนายน 2552 เวลา 00:00 น.

'ชุมชนมีส่วน' มิติใหม่ 'กองทุนสุขภาพ' อีก 'กลไกสาธารณสุข'

ในงานมหกรรมระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่     "เสริมศักยภาพท้องถิ่น สร้างสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน" ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ประเด็น "กองทุนสุขภาพชุมชน" ถือว่าน่าติดตาม...
 
ทั้งนายกฯ-ทั้ง รมว.สาธารณสุข...ก็พูดถึงเรื่องนี้...
 
กองทุนนี้น่าจะเป็นอีก "กลไกสุขภาพ" ที่สำคัญ !!
 
"กองทุนสุขภาพชุมชนนี้ คือรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจ ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งระบบสุขภาพชุมชนมีองค์ประกอบสำคัญคือ ชุมชนเข้มแข็ง กับระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง โดยรัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาระบบบริการสุขภาพของภาครัฐทุกระดับให้ได้มาตรฐาน"
 
... นี่เป็นการระบุของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเป็นประธาน และบรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางการกระจายอำนาจและบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น" ในงานมหกรรมระบบหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งนายกฯ   อภิสิทธิ์ยังเน้นย้ำด้วยว่า...
 
"รัฐบาลนี้จะสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนไทยมีหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงอย่างแน่นอน"
 
ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า... กองทุนสุขภาพชุมชนเป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล โดย "เน้นสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสมรรถภาพ" ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2549
 
จนถึงขณะนี้ ก้าวสู่ปีที่ 4 มี อบต. และเทศบาลเข้าร่วมโครงการ 3,943 แห่ง ครอบคลุมประชากรกว่า 31 ล้านคน มีผลการดำเนินงานและกิจกรรมที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนมากมายและหลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายและการขยายผลความร่วมมือจากภาคีต่าง ๆ ในการดำเนินงานสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป
 
ทั้งนี้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขยายความในเรื่องของกองทุนสุขภาพชุมชน โดยบอกว่า... ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพมากขึ้น โดยมีกระทรวงสาธารณสุขคอยเป็นพี่เลี้ยง
 
จากผลงานที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่ "ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข" ซึ่ง สปสช. ได้สนับสนุน อปท. ในการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และคนพิการ ในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล หรือ "กองทุนสุขภาพชุมชน" ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ในการจัดสรรงบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติให้เป็นรายปีตามจำนวนประชากร ในอัตรา 37.50 บาทต่อคน และมีเงินสมทบจาก อบต. และเทศบาล ในอัตราไม่น้อยกว่า 10-15% รวมถึงมีเงินสมทบจากชุมชนเองด้วย
 
"สปสช. โอนงบประมาณ 1,870 ล้านบาท ขณะที่ อบต. และเทศบาล สมทบกว่า 450 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าขณะนี้กองทุนสุขภาพชุมชนได้ครอบคลุมพื้นที่และประชากรของ ประเทศกว่า 50% แล้ว เป้าหมายคือการ   ขยายให้ครอบคลุม อบต.และเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ 7,800 แห่ง"
 
...เลขาฯ สปสช.กล่าว พร้อมทั้งระบุด้วยว่า... และในปีหน้า ปี 2553 จะมีการเพิ่มงบประมาณเหมาจ่ายจาก สปสช. และจากท้องถิ่นเข้าสู่แต่ละกองทุนมากขึ้น เพื่อผลักดันให้การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน ให้มีความ      เข้มแข็งมากขึ้นอีก
 
กับเรื่องนี้กับโครงการนี้ในส่วนขององค์กรท้องถิ่นที่มีส่วนร่วม นภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย บอกว่า... นโยบายนี้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความตื่นตัว มีความสนใจในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ โดย "ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วม" ด้วย
 
โครงการลักษณะนี้เป็นการพัฒนาแนวทางการทำงานใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่น ที่เน้นในด้านการ "พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในชุมชน" ซึ่งบางแห่งยังต้องการขยายการทำงาน
 
"เช่น จัดสวัสดิการภาคประชาชน เมื่อเจ็บป่วยให้การช่วยเหลือ มีแพทย์ประจำสถานีอนามัยตามวันเวลาที่กำหนด มีรถพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีการจัดทำข้อมูลชุมชน แผนสุขภาพชุมชน การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนพิการในชุมชน การป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เอดส์ วัณโรค การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนในชุมชน เป็นต้น" ...นายกสมาคม อบต. ระบุ
 
ทั้งนี้ ก็ต้องถือว่าคืบหน้าขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับ "หลักประกันสุขภาพ" ซึ่งประชาชนคนไทยก็ควรให้ความสนใจเพื่อให้ทราบถึง     "สิทธิ" ต่าง ๆ รวมถึงติดตามดูการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาล
 
โรคภัยไข้เจ็บทั้งโรคเก่า-โรคใหม่...มันมีวิวัฒนาการต่อเนื่อง
 
การพัฒนาหลักประกันสุขภาพ...เป็นสิ่งสำคัญที่หยุดนิ่งมิได้
 
และ "กองทุนสุขภาพ" ก็ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่น่าสนใจ !!!.

http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=74783&NewsType=2&Template=1








What can you do with the new Windows Live? Find out

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น