นักวิจัยแกนนำรับทุน 20 ล้านบาท เร่งพัฒนาชุดตรวจสารพัดโรค-ยาแอนติบอดี
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 4 มิถุนายน 2552 12:08 น. |
สวทช. มอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2552 ให้แก่ ศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ (ถือช่อดอกไม้) หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 20 ล้านบาท สำหรับโครงการ "การวิจัยและพัฒนา และจัดการองค์ความรู้ทางวิทยาภูมิคุ้มกันและเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุล เพื่อการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรค" | |
|
 |
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น |  นักวิจัย มช. เจ้าของผลงานชุดตรวจพาหะแอลฟาธาลัสซีเมียรายแรกของโลก ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำ 20 ล้านบาท จาก สวทช. เป็นครั้งแรก เร่งพัฒนาชุดตรวจสารพัดโรค เน้นธาลัสซีเมีย วัณโรค มะเร็ง หัวใจ พร้อมมุ่งศึกษาวิจัยพื้นฐานด้านภูมิคุ้มกัน หวังผลิตยาแอนติบอดีรักษามะเร็ง เอดส์ ควบคู่ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศผลการคัดเลือกและพิธีมอบทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2552 ที่โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.52 โดยผู้ที่ได้รับทุนนักวิจัยแกนนำเป็นคนแรกของประเทศไทย คือ ศ.ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนจำนวน 20 ล้านบาท สำหรับโครงการ " การวิจัยและพัฒนา และจัดการองค์ความรู้ทางวิทยาภูมิคุ้มกันและเทคโนโลยีชีวภาพระดับโมเลกุล เพื่อการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรค" ในระยะเวลา 5 ปี ศ.ดร.วัชระ กล่าวว่า หลังจากที่จอร์จ โคห์เลอร์ (George Kohler) และซีซาร์ มิลสไตน์ (Cesar Milstein) สองนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันพัฒนาเทคนิคการผลิตโมโนโคลน อลแอนติบอดี (monoclonal antibody) ได้เมื่อปี 2518 ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโมโนโคลนอลแอนติบอดีในห้องปฏิบัติการ และพัฒนาเป็นชุดตรวจวินิจฉัยจำนวนมากในเวลาต่อมา รวมถึงพัฒนาเป็นยาที่เรียกว่า แอนติบอดี ดรัก (antibody drug) สำหรับรักษาโรคชนิดต่างๆ เช่น มะเร็ง ภูมิแพ้ โรคอักเสบเรื้อรัง และภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง เป็นต้น ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ให้การรับรองยาแอนติบอดีแล้ว 22 ชนิด และยังมีโมโนโคลนอลแอนติบอดีอีกกว่า 400 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการทดสอบในระดับคลินิกที่คาดว่าจะพัฒนาออกมาเป็นยาได้ ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งนี้ โมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นสารชีวโมเลกุลที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถทำปฏิกิริยาได้อย่างจำเพาะกับแอนติเจนที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้าง แอนติบอดีชนิดนั้น และสามารถผลิตได้อย่างไม่จำกัดในห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิคไฮบริโดมา (Hybridoma technique) "ปัจจุบันชุดตรวจโรคและยาแอนติบอดีมีประโยชน์มหาศาลและสร้างมูลค่าทางการตลาดมากถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทยมีงบประมาณให้กับชุดตรวจวินิจฉัยปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท โดย 98%ต้องนำเข้าชุดตรวจวินิจฉัยจากต่างประเทศ เพราะเรายังผลิตเองน้อยมาก ส่วนยาแอนติบอดีนั้นก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีใครศึกษากัน" ศ.ดร.วัชระ กล่าว ศ.ดร.วัชระ เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและด้านภูมิคุ้มกันวิทยา โดยได้ทำงานวิจัยทางด้านนี้มานานกว่า 15 ปี และประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจคัดกรองพาหะโรคแอลฟาธาลัสซีเมียเป็นราย แรกของโลก และการพัฒนาชุดน้ำยาตรวจนับเม็ดเลือดขาวสำหรับผู้ป่วยเอดส์ โดยไม่ต้องใช้เครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ (Flow Cytometer) ซึ่งมีราคาแพงมาก โดยผลงานทั้งสองเรื่องนี้ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชนของไทย ผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชน์ทั้งในและต่างประเทศแล้ว ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโรคจากต่างประเทศได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ศ.ดร.วัชระ เคยได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี 2550 จากมหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน ประจำปี 2551 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จากการได้รับทุนนักวิจัยแกนนำในครั้งนี้ ศ. ดร.วัชระ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคชนิดอื่นๆ ที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว และราคาถูกลงกว่าเดิม เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสาธารณสุขของไทยและของโลก เช่น ชุดตรวจวัณโรค, มะเร็ง, โรคหัวใจขาดเลือด, โรคธาลัสซีเมียชนิดอื่นๆ (เช่น เบต้าธาลัสซีเมีย) ตลอดจนพัฒนายาแอนติบอดีสำหรับรักษาโรคมะเร็ง, โรคเอดส์ และโรคอื่นๆ "ทีมวิจัยของเราจะมุ่งพัฒนาเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสำหรับการผลิต โปรตีนในหลอดทดลองหรือโปรตีนรีคอมบิแนนต์ (recombinant protein) และการเตรียมโมโนโคลนอลแอนติบอดี เพื่อพัฒนาชุดตรวจโรคต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ควบคู่ไปกับศึกษาวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษารูปแบบใหม่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวการแพทย์ และ สปิน-ออฟ คัมพานี (Spin-off company) ในนามของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรองรับการผลิตสารชีวสังเคราะห์และการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยในระดับ อุตสาหกรรม" ศ.ดร.วัชระ เผยกับผู้สื่อข่าวและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ เบื้องต้นนักวิจัยแกนนำคาดว่า ผลงานชุดตรวจโรคเบต้าธาลัสซีเมียน่าจะประสบความสำเร็จออกมาเป็นอันดับแรก หลังจากนี้ เนื่องจากพัฒนาต่อยอดจากชุดตรวจแอลฟาธาลัสซีเมีย ส่วนชุดตรวจวัณโรคนั้น นัก วิจัยตั้งเป้าว่าจะทำให้สามารถตรวจและรู้ผลได้ภายใน 10 นาที โดยนำเลือดหรือซีรัมจากผู้ป่วยมาตรวจหาโปรตีนชนิดหนึ่งที่เชื้อวัณโรคสร้าง ขึ้นและปล่อยสู่กระแสเลือดผู้ป่วย แทนการตรวจแบบเดิมที่ตรวจจากเสมหะ ซึ่งใช้เวลาราวครึ่งวัน แต่ความไวต่ำ ส่วนวิธีมาตรฐานคือการเพาะเชื้อจากตัวอย่างเนื้อเยื่อปอด ต้องใช้เวลานานประมาณ 1 เดือน อาจทำให้รักษาไม่ทันการณ์ ส่วนชุดตรวจโรคหัวใจขาดเลือด จะพัฒนาวิธีการตรวจหาคลอเรสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL chloresterol) ขนาดเล็ก ซึ่ง จะสามารถบ่งบอกความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวได้ดีกว่าการตรวจคลอเรสเตอรอลแบบรวม ทั้งหมด และยังไม่เคยมีใครพัฒนาเทคนิคการตรวจแบบนี้มาก่อน สำหรับชุดตรวจมะเร็ง นักวิจัยแกนนำจะพัฒนาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่มีความจำเพาะต่อมาร์กเกอร์ของโรคมะเร็ง ขณะเดียวกันก็จะศึกษาและพัฒนายาแอนติบอดีสำหรับยับยั้งการแพร่กระจายของ เซลล์มะเร็ง และพัฒนายาแอนติบอดีที่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อเอชไอวี (HIV) เพื่อแก้ปัญหาเชื้อเอชไอวีดื้อยาในปัจจุบัน ด้าน รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการทุนส่งเสริมกลุ่มนักวิจัยอาชีพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้การสร้างนักวิจัยแกนนำอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมและสังคมได้ ตลอดจนให้เป็นแกนหลักในการผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไป ทั้งนี้ สวทช. ได้เปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการ ทุนนักวิจัยแกนนำ ประจำปี 2553 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 ก.ย.52 http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000062339
| | | | | |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น