วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"ผู้หญิงต้องเสียสละ" ปัจจัยกระบวนการค้ามนุษย์โต


"ผู้หญิงต้องเสียสละ" ปัจจัยกระบวนการค้ามนุษย์โต


     งานสัมมนาเรื่อง  "การกลับบ้านและสร้างชีวิตใหม่ : ประเด็นท้าทายในการทำงานการค้ามนุษย์"  จัดโดยมูลนิธิผู้หญิง  เพื่อนำเสนอประสบการณ์การทำงานและสถานการณ์หญิงและเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์   ทั้งกรณีหญิงไทยที่ตกเป็นผู้เสียหายของการค้ามนุษย์ข้ามชาติ   หรือหญิงและเด็กต่างชาติที่มาเป็นผู้เสียหายในประเทศไทย  มาวิเคราะห์ปัจจัยปัญหาอุปสรรคในการทำงาน   ตลอดจนพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือกลับคืนถิ่น  และการสร้างชีวิตใหม่ของหญิงและเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ      

        

     นางสาวมัทนา  เชตมี  ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิผู้หญิง  กล่าวว่า  จากการสำรวจหญิงที่กลับมาจากต่างประเทศ   ระหว่างเดือนกันยายน  2550-เดือนกุมภาพันธ์  2552  รวม   18   เดือน  พบว่า  มีผู้เสียหายกลับจากต่างประเทศ  130  ราย  ส่วนใหญ่  หรือ  44   ราย  มีอายุ  25-30  ปี  จบการศึกษามัธยมส่วนใหญ่  รวม  46  ราย

     สำหรับประเทศปลายทางที่ถูกช่วยเหลือกลับมามากที่สุดอันดับ  1  คือ  บาห์เรน  คิดเป็นร้อยละ  40  รองลงมาคือ  อิตาลี  ร้อยละ  19  และญี่ปุ่น  คิดเป็นร้อยละ  12  โดยผู้หญิงเหล่านี้จะถูกละเมิดสิทธิต่างๆ   ถูกบังคับให้ทำศัลยกรรม  ถูกบังคับข่มขืนและทำร้าย  ถูกบังคับให้ทำแท้ง  ให้เสพยาเสพติด  ถูกกระทำวิตถารทางเพศ  ถูกดุด่าเยี่ยงทาส  และถูกละเมิดสิทธิแรงงาน  ถูกผูกมัดหนี้สินไม่เป็นธรรม  ไม่มีวันหยุด  ปฏิเสธแขกไม่ได้  และเมื่อกลับมาที่ประเทศไทยแล้วส่วนใหญ่จะมีสภาพร่างกายและจิตใจย่ำแย่  จะติดเหล้าติดยาเจ็บป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศ  เช่น  เอชไอวี  มะเร็ง  และเกิดความพิการแปลกแยกจากการถูกบังคับทำศัลยกรรม

     ด้านนางสาวปานจิตต์  แก้วสว่าง  เจ้าหน้าที่มูลนิธิผู้หญิง  รายงานผลการศึกษาการสร้างชีวิตใหม่ของหญิงและเด็กต่างชาติ   กรณีศึกษาลาว  กัมพูชา  และพม่า  โดยเยี่ยมครอบครัว   สัมภาษณ์ผู้หญิง   เด็ก   และครอบครัว  25  กรณีศึกษา  ประกอบด้วย  ลาว  12  กรณี   กัมพูชา  10  กรณี  และพม่า  3  กรณี  พบข้อมูลน่าสนใจ  ดังนี้  กรณีศึกษาลาว  12  กรณี  มีหญิงและเด็กย้ายถิ่นทำงานในลาว  5  ราย  อาศัยอยู่กับครอบครัว  1  ราย  แต่งงาน   3  ราย  อบรมและศึกษาต่อ  2  ราย  และกลับมาทำงานในไทย  1  ราย

     กรณีศึกษากัมพูชา   10  กรณี   มีหญิงและเด็กอาศัยอยู่กับครอบครัว  3  ราย  แต่งงาน  3  ราย  อบรมอาชีพและศึกษาต่อ  2  ราย  และกลับมาทำงานในไทย  2  ราย  และกรณีศึกษาพม่า  3  กรณี  มีหญิงและเด็กอาศัยอยู่กับครอบครัว  2  ราย  อบรมอาชีพและศึกษาต่อ   1  ราย  โดยรายงานการศึกษาพบด้วยว่าความต้องการของหญิงและเด็กเหล่านี้  คือ   อยากเรียนหนังสือ  มีอาชีพ  มีรายได้เลี้ยงครอบครัว  และเลือกที่จะแต่งงาน  แต่สิ่งที่ต้องเผชิญเมื่อกลับไปบ้าน  ได้แก่  สภาพครอบครัวที่คาดหวังให้เด็กและผู้หญิงแบกรับภาระ  ปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน  โดยเฉพาะหนี้สินในครอบครัว

     นางสาวปานจิตต์กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ยังมีประเด็นท้าทายหลายประการที่อาจเป็นปัจจัยให้เด็กและผู้หญิงเหล่านี้กลับไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ได้อีก  ได้แก่  สภาพสังคมที่มีแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่มีมายาคติว่า   ลูกผู้หญิงต้องเสียสละ   ไม่ควรเรียนหนังสือ  ต้องแบกรับภาระดูแลครอบครัวสามีและลูก  การเมืองการปกครองที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของภาคประชาชน  จึงไม่สามารถป้องกันนักค้ามนุษย์ที่เข้ามาชักชวนหลอกลวงได้   สถานการณ์การย้ายถิ่นแรงงานในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  มีปัญหาซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะในกัมพูชา  พบว่าเป็นบริบทชุมชนที่ไม่ปลอดภัย  มีนักค้ามนุษย์อยู่ในชุมชน  ส่วนพม่า  บริบทค่ายผู้ลี้ภัย  พบว่าเด็กหญิงที่อยู่ในค่ายรอการส่งกลับหรือไปประเทศที่สาม   จะมีนักค้ามนุษย์เข้าไปชักชวนและล่อลวงถึงในค่าย  โดยบางรายให้เงินกับพ่อแม่เด็กและนำเด็กออกมาทำงานเยี่ยงทาส

     รายงานการศึกษาฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  ประกอบด้วย 

1.ควรให้ผู้หญิงและเด็กจากการค้ามนุษย์ได้สะท้อนความต้องการความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน 

2.ให้มีการติดตามช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กอย่างต่อเนื่องในทุกมิติสังคม  และ 

3.การส่งเสริมประสานความร่วมมือภาคประชาสังคมในประเทศต้นทางและปลายทาง.





See all the ways you can stay connected to friends and family

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น