วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สร้างสรรค์อย่างไร

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11422 มติชนรายวัน


สร้างสรรค์อย่างไร


คอลัมน์ โลกสองวัย

โดย บางกอกเกี้ยน



การรับน้องใหม่ ที่เรียกกันเต็มๆ ว่า "ต้อนรับน้องใหม่" นับเป็นประเพณีและธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติมานานแล้ว เข้าใจว่าจะเกิดจากการที่นักเรียนไทยไปเรียนต่อต่างประเทศ และรับเอาวัฒนธรรมประเพณีของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเข้ามาใช้กับนิสิตนักศึกษาในเมืองไทย

มหาวิทยาลัยของเราเพิ่งเกิดขึ้นเพียง 93-94 ปีเท่านั้น และมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีอายุมากที่สุดคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อก่อนไม่มี

"การันต์บน ณอเณร" ที่ "รงค์ วงศ์สวรรค์ บอกว่า "ทัดการันต์" เพิ่งจะมามีเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง

ด้วยเหตุผลเป็นคำสมาส ไม่ใช่คำสนธิ และให้อ่านว่า "จุ รา ลง กอน มหา วิด ทะ ยา ลัย" ไม่ได้อ่านว่า "จุ รา ลง กอน ระนะ มหา วิด ทะ ยา ลัย" (โปรดเข้าใจตามนี้)

มหาวิทยาลัยต่อมา มีมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หลังจากเหตุทางการเมืองไม่สู้จะสงบดีนัก นักการเมืองในสมัยนั้นจึงปรับเปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

ต่อมามีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่แตกแขนงออกจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่เป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การต้อนรับน้องใหม่เมื่อก่อน โดยเฉพาะที่จุฬาฯ ดูเหมือนว่าจะเข้มข้นในเรื่องของการเคารพรุ่นพี่ หากมีใครสักคนหนึ่งฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ ไม่ทำตามที่รุ่นพี่สั่ง อาจถูกกล่าวหาร้ายแรงพอกับการเป็นกบฏทีเดียว เช่นกรณีของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตำนานแห่งคณะอักษรศาสตร์ซึ่งมีแนวทางความคิดไปในรูปแบบของมาร์กซิสม์

ทำให้เกิดกรณีการ "โยนบก" ขึ้นที่หน้าบริเวณหอประชุม นับเป็นกรณีร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการลงโทษ และทราบว่า จากนั้นไม่มีการโยนบกอีกเลย เว้นแต่ยังมีการ "โยนน้ำ" อีกครั้งสองครั้ง แล้วประเพณีการลงโทษเช่นนั้นก็หายไปจากสังคมปัญญาชนจุฬาฯ

ส่วนประเพณีห้ามขึ้นบันไดหน้า ห้ามเดินผ่านตรงนั้นตรงนี้ ของแต่ละคณะยังมีต่อมาอีกนาน วันนี้คงหมดไปแล้วกระมัง เอ๊ะ หรือยังมีพอเป็นกระสายยา

การรับน้องใหม่ที่มีขั้นตอนหลายรูปแบบ เช่นการต้อนรับเฉพาะน้องใหม่ของวิชานั้น เฉพาะคณะนั้น เฉพาะที่เป็นชาวหอ เช่นหอนิสิตเกษตรฯที่เมื่อก่อนโด่งดังมาก พอๆ กับหอจุฬาฯ ที่เรียกว่า "ซีมะโด่ง"

สำหรับคณะบางคณะที่รับน้องค่อนข้างไปในทางรุนแรง คงเนื่องจากน้องใหม่คณะนั้นเมื่อก่อนล้วนเป็นผู้ชาย เช่น คณะวนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีรับรวมให้น้องใหม่ชายร่วมกันปีนเสาทาน้ำมันขึ้นไปชิงธงจากยอดเสาให้ได้ เป็นต้น

ทุกวันนี้ มีคณะเรียนจำนวนมาก และไม่มีคณะเรียนใดที่เป็นการเรียนเฉพาะผู้ชายล้วน แถมยังในหลายคณะมีผู้หญิงเรียนมากกว่าผู้ชายเสียอีก ดังนั้นการต้อนรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยจึงไม่ค่อนจะเป็นข่าวกับเขาเท่าไหร่ ผู้ที่ตกเป็นข่าวมากที่สุดเห็นจะเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเอกชน และในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทุกวันนี้ ใช่แต่การต้อนรับน้องใหม่ในสถาบันการศึกษาเท่านั้น ยังมีการต้อนรับเพื่อนใหม่ของสถาบันที่เปิดการอบรมระดับสูงหลายแห่ง

เช่น หลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหารระดับสูง สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเปิดการอบรมถึงรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 13 มีการพาผู้เข้ารับการอบรมรุ่นใหม่ไปต้อนรับที่พัทยา เมื่อวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

นอกจากนั้น การเปิดอบรมหลักสูตรในหลายระดับ ซึ่งมีผู้เข้าเรียนและผู้เข้ารับการอบรมต่างอายุ ต่างหน่วยงาน มีทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้บริหารองค์การรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรเอกชนระดับสูงจำนวนหนึ่งตั้งแต่ 30 คน ขึ้นไปถึงกว่า 100 คน หรือมากกว่านั้น เช่นการเข้าอบรมในหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รับเรียนร่วม 2 หลักสูตรประมาณ 200 คน

"ก่อนการเข้ารับอบรม ผู้จัดยังต้องให้รับน้องใหม่ และปฐมนิเทศเชิงละลายพฤติกรรมด้วยเลย"


หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra04180652&sectionid=0131&day=2009-06-18

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น