วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ตั้งรองผู้ว่าฯนครสวรรค์ คุม 5 กก.สอบผู้บริหาร-บิ๊ก อบจ.ทุจริตจัดซื้อหนังสือเรียน

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 19:18:11 น.  มติชนออนไลน์

ตั้งรองผู้ว่าฯนครสวรรค์ คุม 5 กก.สอบผู้บริหาร-บิ๊ก อบจ.ทุจริตจัดซื้อหนังสือเรียน

พ่อเมืองนครสวรรค์ตั้ง 2 รองผู้ว่าฯ คุม 5 กรรมการสอบผู้บริหาร-บิ๊ก อบจ.ทุจริตจัดซื้อหนังสือเรียนเสริมแจกโรงเรียน หลังสตง.ชี้มูลความผิดพบปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ประมาทเลินเล่อ ปล่อยให้ฮั้วราคาเกินจริง ให้สรุปผลใน 30 วัน แฉ"ปากน้ำโพ"ต้นแบบจัดซื้ออื้อฉาว ก่อนลามไปทั่วประเทศ

ความคืบหน้ากรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขต 11 นครสวรรค์ได้สอบสวนพฤติการณ์ส่อทุจริตของผู้บริหารในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครสวรรค์ กรณีจัดซื้อหนังสือเรียนเสริมแจกโรงเรียนทั่วพื้นที่เขตการศึกษา จ.นครสวรรค์ ระหว่างปี 2550-2551 มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท หลังจาก "มติชน" ได้เปิดโปงกระบวนการจัดซื้อส่อมิชอบ ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน มีรายงานข่าว สตง.แจ้งว่า สตง.ส่วนกลางมีหนังสือถึงนายศุภกิจ บุญญฤทธิพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ในฐานะผู้กำกับดูแล อบจ. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัย แพ่ง และอาญากับผู้บริหาร อบจ. และข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามระเบียบราชการ ตามผลการสอบสวนของ สตง.เขต 11 นครสวรรค์ ซึ่งพบความผิดใน 5 ประเด็นหลัก อาทิ 1.ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บริษัทที่แจ้งเลิกกิจการแล้ว หลุดเข้ามาร่วมเสนอราคาแข่งขัน 2.ปล่อยให้เกิดการฮั้วราคาในการจัดซื้อ เป็นเหตุให้หนังสือเรียนเสริมมีราคาแพงเกินจริง 3.ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทำให้ราชการเสียหาย เป็นต้น


ข่าวแจ้งว่า เมื่อนายศุภกิจได้รับหนังสือจาก สตง.แล้ว จึงมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการ 5 คณะสอบสวนผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งหมดตามที่ สตง.ชี้มูลมา 5 ประเด็นความผิด โดยให้นายชัยโรจน์ มีแดง รองผู้ว่าฯนครสวรรค์เป็นประธาน 4 คณะ สอบทั้งหมด 4 ประเด็น ให้นายวิบูลย์ชัย เกิดเพิ่มพูน รองผู้ว่าฯนครสวรรค์ เป็นประธานคณะกรรมการสอบในประเด็นที่เหลือ และให้สรุปผลการสอบสวนทั้งหมดภายใน 1 เดือน สำหรับผู้อยู่ในข่ายโดนสอบสวนไล่ตั้งแต่อดีตนายก อบจ. คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับงาน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อบจ.นครสวรรค์ถือเป็นต้นแบบของพฤติการณ์การจัดซื้อหนังสือเรียนเสริมแจกโรงเรียนในลักษณะส่อไปในทางทุจริต จากนั้นพฤติการณ์ดังกล่าวก็แพร่ไปยัง อบจ.หลายแห่งทั่วประเทศ นอกจาก สตง.เข้ามาสอบสวนเรื่องดังกล่าวแล้ว กระทรวงมหาดไทยยังสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนเอาผิดผู้บริหาร อบจ.ที่จัดซื้อในลักษณะเดียวกับที่ จ.นครสวรรค์ด้วย ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบยังได้ตั้งนายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นประธานอนุกรรมการสอบสวน อบจ.ไม่ต่ำกว่า 8 แห่ง อย่างไรก็ดี ทั้งสามหน่วยงานดำเนินการสอบสวนมาตั้งแต่กลางปี 2551 จนบัดนี้ผ่านไป 1 ปีแล้ว ยังไม่มีผู้บริหาร หรืออดีตผู้บริหาร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตรายใดถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกแจ้งความดำเนินคดีแม้แต่รายเดียว
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น