วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ศิลปะภาพถ่ายไร้พรมแดน มานิต ศรีวานิชภูมิ

ศิลปะภาพถ่ายไร้พรมแดน มานิต ศรีวานิชภูมิ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2552 16:31 น.

มานิต ศรีวานิชภูมิ

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น


หนึ่งในผลงานชุด pink man ของมานิตย์

ผลงานของ บรูซ กันเดอร์เซน

ผลงานของ บรูซ กันเดอร์เซน

ผลงานชุด ชีวิตสวยงาม ของ มานิต ศรีวนิชภูมิ

ผลงานชุด ชีวิตสวยงาม ของ มานิต ศรีวนิชภูมิ

เรื่องโดย...ฮักก้า ถ่ายภาพโดย : วรงค์กร ดินไทย
       
       เมืองไทยมีคลื่นลูกใหม่ผู้หลงใหลในงานศิลปะภาพถ่าย นำเสนอผลงานสู่สายตาสาธารณชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ คลื่นลูกเก่าหลายคน ก็ยังคงปักหลักเป็นแรงกระตุ้นที่เข้มแข็ง ให้คลื่นลูกใหม่กล้าที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นกับวงการศิลปะแขนงนี้
       

       หนึ่งในนั้นคือ มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินภาพถ่ายที่มีผลงานไปจัดแสดงในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเวลานี้ที่เขาหาที่ทางเล็กๆให้ศิลปินภาพถ่ายทั้งในและต่างประเทศได้แสดงฝืมือ ด้วยการเปิด คัดมันดู โฟโต้ แกลเลอรี่ [Kathmandu Photo Gallery] ขึ้นบนถนนปั้น (ใกล้วัดแขก)
       
       ปัจจุบันไม่ว่างานศิลปะภาพถ่ายจะก้าวหน้าไปไกลเพียงใด แต่สำหรับ 1 ใน 100 ช่างภาพที่ดีที่สุดในโลก จากการคัดเลือกของสำนักพิมพ์ ไพดอน และ เจ้าของรางวัลกาชิกาวาจากประเทศญี่ปุ่นเช่นมานิต เห็นว่าไม่มีอะไรที่จะสามารถทำลายสิ่งที่ถือเป็นเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานศิลปะภาพถ่ายลงไปได้
       
       “บางครั้งภาพถ่ายอาจจะเลียนแบบภาพจิตรกรรม แต่เราก็ถ่ายภาพจากความจริง ส่วนงานจิตรกรรมจะเขียนจากสิ่งที่มันมี ให้มันไม่มี แต่ภาพถ่ายเราถ่ายจากสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ถึงแม้เราจะนำภาพที่ถ่ายมาได้ไปต่อเติมเสริมแต่งอะไรต่อ แต่ในแง่หนึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพถ่ายมันก็ยังเป็นเรื่องที่มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เป็นจริง”
       
       ส่วนภาพถ่ายแต่ละภาพจะมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน มานิตกล่าวว่าขึ้นอยู่กับเป้าหมายของช่างภาพว่า ต้องการสื่อสารหรือโน้มน้าวจิตใจของผู้ชมไปในทางไหน และเนื้อหาในการนำเสนอมีความน่าสนใจหรือไม่ ควบคู่กับการให้ความสำคัญในแง่ของสุนทรียศาสตร์ เรื่องของเทคนิค สี และองค์ประกอบทางศิลปะ
       
       “ปัจจุบันนี้ ถ้าจะดูจากผลงานของเด็กรุ่นใหม่ จะเห็นว่าคอมพิวเตอร์ได้ช่วยให้ศิลปินมีอิสรภาพที่จะนำเสนอผลงานมากขึ้น แตกต่างจากยุคที่เป็นภาพถ่ายฟิล์ม เพราะคอมพิวเตอร์ทำให้จินตนาการของศิลปิน หรือคนที่ทำงานภาพถ่าย ขยายกว้างออกไป จากเดิมที่ต้องลงมือถ่ายของจริง หรือสร้างตัวมอคอัพขึ้นมา แต่ปัจจุบันนี้ช่างภาพสามารถไปถ่ายแต่ละส่วนแต่ละชิ้น แล้วนำมาประกอบภาพ จนเกิดเป็นงานชิ้นใหม่ขึ้นมา”
       

       ดังนั้น ในยุคนี้จินตนาการของช่างภาพจึงไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่การลั่นชัตเตอร์
       
       “กระบวนการทางคอมพิวเตอร์ช่วยได้เยอะ ทำให้เขามีอิสรภาพที่จะทำงานที่แตกต่างออกไป เพราะฉะนั้น บางทีเดี๋ยวนี้ช่างภาพไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพเลยก็ได้ แค่เอาข้อมูลภาพมาจากที่อื่นมา แล้วก็ทำทุกอย่างในคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันก็เกิดเป็นงานศิลปะภาพถ่ายได้เหมือนกัน”
       
       สิ่งที่กระตุ้นให้ศิลปินเช่นมานิตคิดอยากหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ คือทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามากระทบใจและความรู้สึก โดยที่ไม่จำกัดว่าเป็นเรื่องในด้านบวกหรือลบ
       
       “ไม่ว่าจะเปิดหนังสือพิมพ์อ่านข่าวเจอ ขับรถผ่านไปแล้วเห็นสิ่งก่อสร้าง หรือสิ่งปรักหักพังเห็นภาพคน เห็นใบหน้าคน แล้วมันน่าสนใจ ดูแล้วมันมีพลัง มีเรื่องราวบางอย่างอยู่ในใบหน้านั้น เราก็อยากจะถ่ายเอาไว้ โดยที่ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นบวกหรือลบ แต่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกกับมันก่อน เป็นบวกเป็นลบ สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องของคนที่มาดู ที่เขาจะตัดสินกันเอาเอง ว่าเขาอยากจะคิดอย่างไร
       
       คือเราไม่ได้เริ่มจากว่า เราจะถ่ายภาพให้มันสวย หรือเราต้องถ่ายดอกไม้ เราไม่ได้เริ่มจากโจทย์แบบนั้น แต่เราเริ่มจากสิ่งที่เรารู้สึก ก่อนที่จะถ่าย ศิลปินต้องเริ่มอย่างนั้นก่อน ถ้าเราไปเริ่มตั้งเป้าว่า เราอยากจะถ่ายดอกกุหลาบสีแดง เพราะว่าดอกกุหลาบสีแดงมันสวยดี มันไปไหนไม่รอด เพราะว่าสิ่งนั้นมันยังไม่กระทบใจเราเลย แล้วเราจะไปทำให้คนอื่นเขารู้สึกร่วมไปกับเราได้ยังไง ดังนั้น เราต้องเริ่มจากสิ่งที่มันมากระทบความรู้สึกเรา”
       
       ในทุกขั้นตอนของการสร้างงานภาพถ่าย เขาบอกว่าไม่มีขั้นตอนไหนที่ทำให้มีความสุขเท่า การถือกล้องออกไปถ่ายภาพ และยกกล้องขึ้นมาบันทึกในสิ่งที่เข้ามากระทบใจ
       
       “มันได้ปะทะ ได้ลุ้น ได้ผจญภัย การที่ได้ออกไปสัมผัสผู้คนต่างๆและ เรื่องราวต่างๆ มันเป็นความสนุก เพราะบางเรื่องมันเป็นสิ่งที่บางทีเราไม่ได้คาดฝันว่าจะได้เจอ”
       
       เวลานี้นอกจากใช้เวลาไปกับการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองและคัดสรรผลงานภาพถ่ายที่น่าสนใจของช่างภาพรายอื่นมานำเสนอ เพื่อเปิดโลกกว้างให้กับคนที่สนใจงานภาพถ่าย (ซึ่งล่าสุดแกลลอรี่ของเขา นำเสนอนิทรรศการผลงานศิลปะภาพถ่ายชุด “ต่างมิติ : On the Other Side” โดย บรูซ กันเดอร์เซน ศิลปินชาวนิวยอร์กผู้นี้ใช้เวลาแปดปี ศึกษาตำนานแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มานิตยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านถ่ายภาพที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งสิ่งที่เขาพยายามถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์มากที่สุดคือ เรื่องของแง่คิดและมุมมอง
       
       “นักศึกษาไทย ผมไม่ค่อยห่วงเรื่องเทคนิค เพราะเขาเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้เร็ว ส่วนเรื่องของแง่คิดและมุมมอง ผมคิดว่ามันยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้นให้กล้าหาญที่จะคิด และคิดให้ต่างออกไป คิดอะไรที่เป็นของตนเอง ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ยาก และเป็นเรื่องที่ต้องกระตุ้นกันอยู่
       
       กระบวนการเรียนการสอนในบ้านเรา สอนให้เด็กอยู่ในกรอบ แต่ศิลปะ เราจะปล่อยให้เขาอยู่ในกรอบไม่ได้ เราต้องปล่อยให้เขาอิสระ ซึ่งใครที่จะทำงานสร้างสรรค์ หรืองานศิลปะ มันจะมีปัญหากับกฎระเบียบทางสังคมมาก เพราะว่ากฎระเบียบทางสังคม มันทำให้เขาต้องอยู่ในกรอบ ในวิธีคิดแบบเดิมๆ แต่เราเองอยากจะเห็นสิ่งที่มันต่างออกไป อยากเห็นสิ่งที่มันนอกกรอบ อยากเห็นเขาไม่คิดเหมือนคนอื่น มีมุมมองในชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่น หรือมีแง่มุมที่เป็นของตนเอง”
       
       แกลลอรี่เล็กๆของเขาจึงขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่รอเราไปเสพรับเอาความต่าง ที่เป็นไปได้ว่ามันอาจกระตุ้นให้เราหรือใครเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาได้
       
       “ผมคิดว่ามนุษย์เรา ร่างกายก็เหมือนต้นไม้ ต้องการแร่ธาตุ ต้องการอะไรใหม่ๆ เหมือนกัน ที่เราจะได้ซึมซับ แล้วเราก็จะได้แปลงมาเป็นความคิด แปลงมาเป็นไอเดีย แล้วเราก็จะโตขึ้น”
       

http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9520000056301

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น