
ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. ได้เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว แต่ถึงวันนี้ ชาว กทม.ทั่วไปน้อยคนที่จะรู้ว่า อาคารสีขาว สูง 9 ชั้น ที่สี่แยกปทุมวัน คือสถานที่จัดงานศิลปวัฒนธรรม เหตุใดการลงทุนเกือบ 500 ล้าน จึงกลายเป็นเช่นนั้น....
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือหอศิลปกรุงเทพฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. ได้เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2551 แต่ถึงวันนี้ ชาว กทม.ทั่วไปน้อยคนที่จะรู้ว่า อาคารสีขาว สูง 9 ชั้น ที่สี่แยกปทุมวัน คือสถานที่จัดงานศิลปวัฒนธรรม
เหตุใดการลงทุนเกือบ 500 ล้าน จึงกลายเป็นเช่นนั้น....วันนี้ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รักษาการผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะให้คำตอบกับรายงานวันจันทร์
-----------------
ถาม : หอศิลปกรุงเทพฯ เปิดมาเกือบปีแล้วทำไมยังดูเงียบเหงา
ฉัตรวิชัย : ที่ยังเห็นเป็นพื้นที่ว่างๆ เพราะขณะนี้หอศิลปกรุงเทพฯ ยังไม่ได้เปิดอย่างเป็นทางการ ช่วงนี้ถือว่าอยู่ในขั้นของการทดลองใช้ทดลองทำ แต่ที่ผ่านมาหอศิลปกรุงเทพฯ จัดงานต่างๆ มาแล้วเกือบ 100 งานและมีงานใหญ่ๆด้วย เช่น นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดยั้ง" ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เป็นงานปฐมฤกษ์เปิดตัวหอศิลปกรุงเทพฯด้วย, นิทรรศการกรุงเทพฯ 226 และที่กำลังจัดแสดงอยู่ตอนนี้คือ การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ ครั้งที่ 2 หากหอศิลปกรุงเทพฯ เสร็จสมบูรณ์แบบแล้ว จะสามารถจัดงานพร้อมกันได้ถึง 6-7 งานทีเดียว และคาดว่าในประมาณเดือนสิงหาคมนี้
ถาม : ความขัดแย้งและไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากข้าราชการ เป็นปัญหาของหอศิลปกรุงเทพฯ
ฉัตรวิชัย : ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง แต่ยอมรับว่าไม่ได้รับความสนับสนุนจากข้าราชการ เพราะระเบียบข้อบังคับของหอศิลปกรุงเทพฯไม่ชัดเจน ข้าราชการจึงไม่กล้าที่ทำ กลัวผิดระเบียบ แต่โครงสร้างบริหารปัจจุบันยังให้ข้าราชการประจำเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร
ขณะที่การประชุมกับคนในระบบราชการ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งคุยกันไม่รู้เรื่อง เรื่องนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ต้องรีบเข้ามาแก้ไข อย่างน้อยที่สุด ควรแยกหอศิลปกรุงเทพฯออกมาจากระบบราชการ ในรูปแบบของมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ มีกรรมการ มีคณะบริหาร เพื่อให้การทำงานคล่องตัว ส่วนบทบาทของข้าราชการนั้นก็ยังอยู่ แต่ให้อำนาจเพียงการติดตามตรวจสอบ โดยในรูปคณะกรรมการที่ปรึกษาต้องไม่ลืมว่าหอศิลปกรุงเทพฯเกิดมาได้เพราะภาคประชาชน โดยเหล่าศิลปินที่ร่วมรณรงค์สร้าง หอศิลปกรุงเทพฯเป็นของประชาชน ไม่ใช่ว่าทำกันเอง ดูกันเอง และที่สำคัญข้าราชการต้องสร้างโอกาสให้แก่เอกชนและประชาชนในการบริหารงาน
ถาม : มีแนวทางการพัฒนาหอศิลปกรุงเทพฯให้มีชื่อเสียง หรือมีคนเข้ามาดูงานศิลปะมากขึ้นอย่างไร
ฉัตรวิชัย : ต้องหารายการที่น่าสนใจเป็นตัวดึงดูด เช่น การจัดงานศิลปะที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ การดีไซน์ การแสดงที่สนุก ต้องเปิดพื้นที่บางส่วนของชั้นใต้ดิน ทำเป็นพื้นที่เพื่อเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ สถานที่ซื้อของ และต้องปรับปรุงทางกายภาพของหอศิลปกรุงเทพฯให้สมบูรณ์ เช่น ระบบเสียง แสง บุคลากรที่ทำงานต้องเพิ่มให้มากกว่าปัจจุบันที่มีเพียง 12 คน
นอกจากนั้นแล้ว ต้องสร้างเครือข่ายหอศิลปกรุงเทพฯ เช่น ระบบสมาชิกระบบอาสาสมัครให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดแสดงและเป็นส่วนกระจายข่าวสาร
ถาม : หอศิลป กรุงเทพฯไม่มีการจัดเก็บรายได้ของการจัดแสดง ในอนาคตจะหาทุนทำงานจากไหน
ฉัตรวิชัย : ในอนาคตหอศิลปกรุงเทพฯ จะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิหอศิลปฯ นอกจากรายได้จะมีเข้ามาในส่วนของพื้นที่ที่เปิดทำเชิงพาณิชย์แล้ว ก็ต้องสร้างระบบผู้อุปถัมภ์ เช่น บริษัท ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า จุดประสงค์ของการสร้างหอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ใช่เพื่อเชิงพาณิชย์ ดังนั้นการสร้างเสริมของวงการศิลปะ จำเป็นต้องมีคณะบริหารจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ใช่ทำในระบบของออแกไนเซอร์ แต่คนหอศิลปกรุงเทพฯเท่านั้นต้องเป็นผู้สร้างขึ้นมา เราจะไปยืมความคิดคนอื่นมาใช้ตลอดเวลาไม่ได้ ต้องสร้างเอง
ขนิษฐา เทพจร รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น