วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ตามรอย กะปอมยักษ์


รายงานโดย :อรพร บาลี:
วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552
หลายคนกล่าวไว้ว่า ต่อจากนี้ไปภาคอีสานจะเป็น "เมืองแห่งไดโนเสาร์" หรือเรียกกันอย่างคนอีสานว่า "เมืองแห่งกะปอมยักษ์"
ไม่ ผิดจากที่ว่า...ทันทีที่ก้าวเข้ามาในสนามบินขอนแก่น คณะเราก็สัมผัสถึงความเป็นเมืองแห่งไดโนเสาร์ ด้วยการต้อนรับจากไดโนเสาร์กินพืชที่เป็นรูปปั้นจำลองขนาดเล็ก มีป้ายเขียนคำอวยพร "Bon Voyage" ไว้ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านเขียนเป็นภาษาอีสานไว้อย่างน่ารักว่า "ไปดีมีแฮงเด้อ" ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้เห็นไดโนเสาร์มากมายระหว่างเส้นทางตามรอย ไม่ว่าจะเป็นริมทาง ในสวนสาธารณะ เป็นลายบนย่ามกระเป๋า หรือแม้กระทั่งยืนคาบดอกบัวสักการะพระมหาธาตุอยู่ในวัดหนองแวง!

พอ ได้เห็นอย่างนี้แล้วก็น่าตื่นเต้นไม่น้อยเลยนะคะ เมืองไทยมีที่เที่ยวเชิงธรรมชาติ ชมวัฒนธรรมกันมาเยอะแล้ว ลองมาตามรอยไดโนเสาร์กันบ้างก็แปลกใหม่ดีเหมือนกัน

ภาค อีสานมีการค้นพบซากฟอสซิลจำนวนมากที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ซึ่งมีหลายชนิดที่ค้นพบเป็นพันธุ์ใหม่ของโลก โดยชื่อที่น่าจะคุ้นหูใครหลายคนดีนั้นก็ได้แก่ ภูเวียงโกเซารัส สิรินธรเน่ ไดโนเสาร์ซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว) และยังมีไดโนเสาร์กินเนื้อคือ (Siamotyrannus Isanensis) หรือไทรันสยาม ซึ่งเป็นไดโนเสาร์เทอร์โรพอด (ไดโนเสาร์กินเนื้อ) บรรพบุรุษของ "ไทแรนโนเซารัส" ที่เป็นที่รู้จักกันดีจากภาพยนตร์อีกหลายเรื่องนั่นเอง

เราเริ่ม ตามรอยกันจาก จ.ขอนแก่น แวะเยือนสถานที่ซึ่งจุดประกายการศึกษาไดโนเสาร์ในเมืองไทย นั่นก็คืออุทยานแห่งชาติภูเวียง แหล่งค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่พันธุ์แรกของไทยที่ชื่อว่า "ภูเวียงโกเซารัส สิรินธรเน่" ซึ่งเป็นที่คุ้นหูกันอย่างดีนั่นเองค่ะ

อุทยานแห่งนี้ สวยงามไม่ต่างจากอุทยานชื่อคุ้นหูแห่งอื่น แต่มีกิจกรรมโดดเด่นไม่ซ้ำที่ไหน นั่นคือการเที่ยวชมแหล่งขุดค้นซากฟอสซิล ซึ่งมีอยู่ด้วยกันถึง 9 หลุม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเฝ้าดูบริเวณที่พบโครงกระดูกไดโนเสาร์ได้อย่าง ใกล้ชิด ซึ่งก็มีทั้งโครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืช ไดโนเสาร์กินเนื้อ และไดโนเสาร์ขนาดเล็ก

แต่ ถ้าใครคิดจะไปก็ต้องฟิตร่างกายกันมาหน่อยนะคะ เจ้าหน้าที่อุทยานแนะช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหน้าหนาว เพราะถ้ากะมาแล้วเดินให้คุ้ม ไปครบทุกหลุมระยะทางก็ยาวเกือบ 10 กิโล มาตอนร้อนๆ อาจจะเหนื่อยจนคิดแต่จะไปให้ถึงจุดหมายจนไม่ได้สัมผัสบรรยากาศสวยๆ ระหว่างทางของที่นี่ไปอย่างน่าเสียดาย

นอกจากแหล่งขุดค้นโครงกระดูก ไดโนเสาร์ ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ล่องเรือ น้ำตก แล้วก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ซึ่งเป็นที่เก็บโครงกระดูก ถูกขุดค้นและจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ค้นพบในประเทศ ไทยไว้ให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมอีกด้วย

ตามรอยมากันต่อจนถึงวัดสักกะ วัน อ.ภูกุ้มข้าว ซึ่งเป็นบริเวณที่พบซากไดโนเสาร์ที่ยิ่งใหญ่ โดยพบซากโครงกระดูกภูเวียงโกเซารัสอย่างเกือบสมบูรณ์ที่สุด ขาดไปแค่ส่วนกระดูกคอเท่านั้น อยู่รวมกับไดโนเสาร์กินเนื้อ และยังมีฟอสซิลไดโนเสาร์อื่นๆ อีกหลายชนิด รวมแล้วมีจำนวนกว่า 800 ชิ้นด้วยกัน บริเวณที่ขุดค้นมีการทำหลังคากันฝนและน้ำกัดเซาะไว้อย่างดี เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

เดิน ลงเนินมาไม่ไกลมากนักจะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สิรินธร ซึ่งกินพื้นที่ราว 100 ไร่ เป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์ ด้านในมีการจัดแสดงหุ่นจำลองไดโนเสาร์และนิทรรศการให้ความรู้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 โซน เพื่อเล่าเรื่องราวตั้งแต่การถือกำเนิดโลก กำเนิดสิ่งมีชีวิต และวิวัฒนาการของชีวิตต่างๆ บนโลกในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ยังรุ่งเรือง จนถึงเวลาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นั่นคือมนุษย์อย่างเรา ทางเดินนั้นออกแบบไว้เป็นสัดส่วน มีลูกเล่นในการเล่าเรื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวีดิทัศน์ แบบจำลองที่ให้คนเข้าไปหยิบจับได้ ซากฟอสซิลของจริงที่นำมาจัดแสดง หรือกระทั่งแผ่นกระเบื้องบนพื้นยังมีความรู้สอดแทรกให้คนก้มลงอ่าน

ไฮไลต์ ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้แก่ แบบจำลองโครงกระดูกไดโนเสาร์ ซึ่งตั้งอยู่ห้องโถงใจกลางพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ชนิด เป็นแหล่งดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้อย่างมากค่ะ เพราะสวยงามโอ่อ่าจริงๆ ผู้ที่มาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีเพียงแต่เด็กและนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น ความรู้แปลกใหม่เหล่านี้ยังดึงดูดผู้คนทั่วไปไม่พ้นกระทั่งคุณตาคุณยาย ที่หลายท่านอุตส่าห์เดินทางมาเสียไกลเพื่อจะได้เยี่ยมชม

พิพิธภัณฑ์ สิรินธรยังคงเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย น่าสนับสนุนให้พาลูกพาหลานเข้ามาเยี่ยมชมกันจริงๆ นะคะ และเรื่องราวไดโนเสาร์ของภาคอีสานยังไม่หมดเพียงเท่านี้ มีแหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งที่เราจะเข้าไปสัมผัสชีวิตของสัตว์ดึกดำบรรพ์ เหล่านี้ได้ อย่างเช่น การเลยไปชมรอยเท้าไดโนเสาร์ ซึ่งชัดเจนมากๆ ที่ภูแฝก

เป็น เรื่องที่น่ายินดีนะคะที่เมืองไทยของเรานั้นมีมรดกล้ำค่าเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงจะได้ดูได้ชม อีกทั้งเรื่องราวไดโนเสาร์ในภาคอีสานยังคงไม่หยุดนิ่ง การค้นพบสิ่งใหม่ๆ ยังมีอยู่เสมอ การตามรอยไดโนเสาร์ไม่เพียงแค่จะมาดูสิ่งที่คนอื่นค้นพบไปแล้วเท่านั้น คุณยังสามารถหันไปมองรอบๆ ตัว ก้มหน้าสังเกตพื้นใต้เท้าที่เหยียบดูสักหน่อย...เผื่อว่าไม่แน่

การตั้งชื่อไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ครั้งถัดไป อาจจะเป็นชื่อของคุณก็ได้

http://www.posttoday.com/travel.php?id=50954




Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น