วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เที่ยวฟรีให้มีรสชาติ และได้ปัญญาอันรื่นรมย์

วันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11412 มติชนรายวัน


เที่ยวฟรีให้มีรสชาติ และได้ปัญญาอันรื่นรมย์


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ




จะทุ่มเทเงินทองของประชาชนผู้เสียภาษีอากรไปช่วย ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของเอกชนประเภท See, Sand, Sex ก็ไม่ว่าละ เพราะนั่นหมายถึงผลตอบแทนโดยรวม ถ้าทำสำเร็จถูกทิศทาง

แต่จะทอดทิ้งการท่องเที่ยวเพื่อสติปัญญาของคนในบ้านเมืองนั้น หาควรไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ควรได้รับความสนับสนุนจากนโยบายรัฐพร้อมงบประมาณให้มีการท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา หรือทัศนศึกษาฟรีอย่างถ้วนหน้าถึงกัน เดินทางข้ามภาคเพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ เช่น ภาคใต้ไปอีสาน, ภาคกลางไปภาคใต้, ภาคเหนือไปภาคตะวันตกแล้วไปภาคตะวันออก, ภาคอีสานไปภาคใต้ เป็นต้น

เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลเริ่มจัดงบประมาณให้ท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ก็ยิ่งเป็นสุขใจ จะขอยกข่าวจาก มติชน มาให้อ่านก่อน (ฉบับวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2552 หน้า 23) ดังนี้

โค้งแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านบริเวณเมืองบน ยุคทวารวดี ราว 1,500 ปีมาแล้ว ที่ ต.ท่าน้ำอ้อย มองเห็นวัดพระปรางค์เหลืองริมน้ำ ภาพนี้ถ่ายจากบนยอดเขาปกล้น บ้านเขาไม้เดน ต.ท่าน้ำอ้อย อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์



สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้งบประมาณสนับสนุน 153 ล้านบาท จากรัฐบาล เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การท่องเที่ยวในกลุ่มนักเรียน เยาวชน และผู้สูงอายุ ประจำปีการศึกษา 2552 เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2552

เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประสบการณ์ด้านท่องเที่ยว ครอบ คลุมกลุ่มเป้าหมาย 153,000 คน ได้แก่ ม.ต้น 61,050 คน ม.ปลาย 55,870 คน อาชีวศึกษา 21,280 คน และผู้สูงอายุ 14,800 คน

งบฯจะจัดสรรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือให้ทุก สพท. นำเสนอข้อมูลแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจที่สอดคล้องกับหลักฐานท้องถิ่น เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่โรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ ในการคัดเลือกสถานที่ที่จะพาเด็กไปทัศนศึกษา

ที่หนักใจตรงนี้มีอย่างน้อย 2 อย่าง คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และภูมิศาสตร์

ระบบการศึกษาไทยมีแต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของราชวงศ์, สงคราม, และ พ.ศ. ไม่เคยมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แม้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็ไม่ยกย่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพิ่งมีกรณีตัวอย่างที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในพิพิธภัณฑ์ไม่มีความเป็นมาของชื่อเมืองร้อยเอ็ด แม้ประวัติความเป็นมาก็ไม่มี ที่มีคือสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อคนร้อยเอ็ด

ยิ่งภูมิศาสตร์ที่บอกภูมิประเทศยิ่งไม่มี ที่มีเป็นเรื่องธรณี วิทยา เช่น หิน, ดิน, ฯลฯ แต่ไม่เน้นให้เห็นแม่น้ำลำคลอง, หุบเขา, ทุ่งราบ, ฯลฯ สภาพแวดล้อมอันเกื้อกูลคนที่นั่น

สังคมไทยให้แต่ความรู้จากท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองของวัฒนธรรมเถรวาทไทย เช่น

ท่องว่าแม่น้ำเจ้าพระยามาจากปิง-วัง-ยม-น่าน แต่ไม่รู้ต้นน้ำอยู่ไหน? ไหลผ่านอะไร? แล้วมีสายน้ำบริวารอะไรบ้าง? เช่น สะแกกรัง, ป่าสัก, ฯลฯ ไม่เคยรู้ว่าไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา

ฉะนั้น พากันท่องแค่ "อนุรักษ์ธรรมชาติ" แต่ไม่รู้ว่าประวัติธรรมชาติวิทยาให้อะไรแก่มนุษย์มาตั้งแต่เมื่อไร?

เพ้อเจ้อถึงกรุงสุโขทัยเป็นรัฐในอุดมคติ แต่ไม่เคยรู้ว่ามีแม่น้ำอะไรไหลผ่านตรงไหน? ต้นน้ำอยู่ไหน? ไหลไปไหน? มีบทบาทอย่างไรต่อสังคมวัฒนธรรมคนยุคพระร่วงกรุงสุโขทัย?

จะทำอย่างไรถึงให้ใช้เงินหลวงเที่ยวฟรีอย่างมีสติและปัญญา นี่คือปัญหาสำคัญมากของสังคมไทย เพราะไม่อยากให้เหมือน ข้าราชการกับ ส.ส. ในสภาพากันไปดูงานล้างผลาญสิ้นเปลือง โดยไม่ได้อะไรมาปรับปรุงบ้านเมืองเลย นอกจากเที่ยวฟรี มี Sex ในสมอง บกพร่องทางปัญญา


หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03080652&sectionid=0131&day=2009-06-08

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น