วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ล้วงลึกโลกยึกยือกับ "เจ้าพ่อกิ้งกือ" สัตว์พันขาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ล้วงลึกโลกยึกยือกับ "เจ้าพ่อกิ้งกือ" สัตว์พันขาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 15 มิถุนายน 2552 12:53 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กับกิ้งกือยักษ์ชัยภูมิ

กิ้งกือดำเท้าชมพูที่เพิ่งค้นพบใหม่ ค่อยๆไต่อยู่บนมือของเจ้าพ่อกิ้งกือ

กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม กำลังผสมพันธุ์กันในวันแถลงข่าวเปิดตัวกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่พอดี

กิ้งกือยักษ์ช้ยภูมิ

กิ้งกือตะเข็บส้ม และ กิ้งกือตะเข็บชมพู อยู่ร่วมกัน

กิ้งกือกระบอก

กิ้งกือกระสุน

กิ้งกือมังกรชมพู ตัวนี้โด่งดังไปทั่วโลก

เอ่ยถึง "กิ้งกือ" วินาทีนี้ต้องนึกถึง "ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา" อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือมือหนึ่งของไทย หรือที่ใครหลายคนถึงกับให้สมญาว่า "เจ้าพ่อกิ้งกือ" เมื่อมีโอกาสได้พบกับเจ้าพ่อกิ้งกือตัวจริงเสียงจริงในงานแถลงข่าวเปิดตัวกิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์เลยขอล้วงลึกเรื่องกิ้งกือมาตีแผ่ให้รู้กัน
       
       "กิ้งกือเป็นสัตว์อาภัพ แถมยังถูกสร้างภาพให้น่าเกลียดน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก" คำบอกเล่าจากปากของเจ้าพ่อกิ้งกือ ที่หวังอยากให้คนไทยเปลี่ยนทัศนคติต่อสัตว์ร้อยขาตัวน้อยนิด และอยากให้ทุกคนรู้จักกิ้งกือมากขึ้น เพราะเจ้าสัตว์สหัสบาทเหล่านี้มีคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศอย่างมหาศาล และประเทศไทยก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกิ้งกือหลากชนิดมากกว่าที่เราจะคาดคิดกัน
       
       ทำความรู้จักกับ "กิ้งกือ" เจ้าของฉายา "สหัสบาท" ญาติใกล้ชิดกับตะขาบ
       
       กิ้งกือ หรือสัตว์พันขา (millipedes) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวยาวและเป็นข้อปล้อง จัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโปดา (Phylum Arthropoda) ชั้นดิพโพลโปดา (Class Diplopoda) ที่มีมากถึง 10,000 สปีชีส์ทั่วโลก และคาดว่าน่าจะมีมากถึง 80,000 สปีชีส์ โดยมีประวัติยาวนานกว่า 400 ล้านปี ส่วนตะขาบ หรือสัตว์ร้อยขา (centiipedes) แม้อยู่ในไฟลัมและกลุ่มเดียวกับกิ้งกือ แต่ถูกจัดไว้ในชั้นชิโลโพดา (Class Chilopoda)
       
       ตะขาบมีหนวดยาว 1 วงปล้อง มีขา 1 คู่ เป็นผู้ล่ากินสัตว์อื่น มีเขี้ยวพิษที่บริเวณส่วนหัว และเคลื่อนไหวรวดเร็วมาก ขณะที่กิ้งกือมีหนวดสั้น 1 วงปล้อง มีขา 2 คู่ เคลื่อนไหวช้าแต่ขาพริ้วไหวเหมือนคลื่น และเป็นสัตว์กินพืชหรือกินซาก จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาอวัยวะสำหรับการล่าเหมือนอย่างตะขาบ และไม่มีเขี้ยวสำหรับกัด มีเพียงแผ่นฟันคล้ายช้อนตักไอศครีมสำหรับกัดแทะซากได้เท่านั้น กิ้งกือจึงไม่สามารถกัดคนได้อย่างที่หลายคนมักเข้าใจผิดกัน
       
       และเพราะว่ามีขามากมายนับไม่ถ้วนขนาดนั้น กิ้งกือจึงได้รับฉายาว่า "สหัสบาท" หรือสัตว์พันขา แต่ที่จริงกิ้งกือมีขาไม่ถึงพันขา เท่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยศึกษากันมาจนถึงปัจจุบันพบว่ากิ้งกือมีขามากที่สุด 710 ขา และมีลำตัวยาวตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร ถึง 30 เซนติเมตร โดยมักอาศัยอยู่ทั่วไปในดิน ใต้ก้อนหิน ใต้ซากใบไม้ทับถม ตามขอนไม้ผุ ตลอดจนในถ้ำ
       
       "กิ้งกือ" มหัศจรรย์ชีวิตในธรรมชาติ โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชั้นยอด
       
       "กิ้งกือมังกรชมพู" อาจเป็นกิ้งกือไทยที่โด่งดังที่สุด เพราะได้ติดอันดับ 3 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ครั้งสำคัญของโลกปี 2550 และทำให้กิ้งกือในสายตาของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป เพราะเจ้ามังกรชมพูมีรูปร่างและสีสันสวยงามผิดแผกไปจากกิ้งกือบ้านๆ ที่เราเคยเห็นกันทั่วไป
       
       ศ.ดร.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้มีการศึกษากิ้งกือในประเทศไทยโดยชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถจำแนกได้แล้วกว่า 100 ชนิด และเขาเพิ่งเริ่มหันมาศึกษากิ้งกืออย่างจริงจังก็เมื่อปี 2549 และได้ค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่คือกิ้งกือหัวขาว, กิ้งกือมังกรชมพู และกิ้งกือกระบอก 12 ชนิด
       
       หากศึกษาต่อเนื่องไปอีกคาดว่าจะพบกิ้งกือชนิดใหม่ในไทยอีกไม่ต่ำกว่า 500 ชนิด เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น จึงทำให้มีความหลากหลายของกิ้งกือมาก ขณะที่ในบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก มีกิ้งกือเพียง 27 ชนิดเท่านั้น
       
       "ฝรั่งไม่ค่อยเกลียดกลัวกิ้งกือ เพราะกิ้งกือบ้านเขาตัวเล็กๆ ไม่มีลักษณะอะไรโดดเด่นเท่าไหร่ และมีเพียงไม่กี่ชนิด แต่เขาสนใจกิ้งกือในเขตร้อนเพราะมีความหลากหลายของชนิดมากกว่า เช่น กิ้งกือในประเทศไทย ที่พบทั่วประเทศ มีตั้งแต่ตัวเล็กๆ ไปจนถึงกิ้งกือยักษ์" ศ.ดร.สมศักดิ์เผย โดยกิ้งกือในไทยที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและพบบ่อยที่สุด คือ กิ้งกือกระบอก
       
       นอกจากนี้ยังมีกิ้งกือยักษ์ กิ้งกือมังกร กิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกือเหล็ก และกิ้งกือขน ซึ่งอาจารย์สมศักดิ์บอกว่า กิ้งกือทุกชนิดล้วนมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศ ต้นไม้ใหญ่ในป่าเขตร้อนอาจไม่สามารถยืนต้นได้อย่างสง่าสงามหากโลกนี้ไม่มีกิ้งกือ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายเศษซากพืช ใบไม้ ลูกไม้ ให้กลายเป็นแร่ธาตุอาหารกลับคืนสู่ธรรมชาติโดยมีจุลินทรีย์คอยช่วยเหลือด้วย และกิ้งกือทำหน้าที่นี้มายาวนานหลายล้านปีแล้ว แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้และไม่เห็นความสำคัญของกิ้งกือ
       
       ซากพืชที่กิ้งกือกินเข้าไป ก็จะถูกถ่ายออกมาเป็นมูลก้อนเล็กๆ คล้ายยาลูกกอน ที่มีทั้งจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ที่ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน เช่นเดียวกับมูลของไส้เดือนและหอยทาก
       
       นอกจากอาจารย์สมศักดิ์จะศึกษาความหลากหลายของกิ้งกือแล้ว ก็ยังศึกษาวิเคราะห์ธาตุอาหารในมูลกิ้งกือด้วย เพื่อหวังจะใช้เป็นข้อมูลส่งเสริมให้คนเห็นประโยชน์ของกิ้งกือมากขึ้น และเลิกคิดกำจัดกิ้งกือ แต่หันมาให้ความสนใจ หรือให้กิ้งกือช่วยทำประโยชน์ให้ชุมชน เช่น ปล่อยให้กิ้งกืออยู่ในพื้นที่เพาะปลูกไปตามธรรมชาติ หรือให้กิ้งกือเป็นเทศบาลช่วยย่อยขยะอินทรีย์ มูลกิ้งกือที่ได้ก็นำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์
       
       "เจ้าพ่อกิ้งกือ" สมญานี้มีที่มา
       

       "เมื่อก่อนผมก็กลัวกิ้งกือ ไม่กล้าจับ ก็เรายังไม่รู้จักว่ามันเป็นตัวอะไรยังไง แต่พอได้มาศึกษาถึงได้รู้ว่ามันไม่มีอันตราย และที่จริงชีวิตมันน่าสงสารด้วยซ้ำ กิ้งกือเป็นสัตว์อาภัพที่คนส่วนใหญ่เกลียดกลัว และยังถูกสร้างภาพให้น่าเกลียดน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก ที่บอกว่ากิ้งกือกัดคนตายบ้าง กิ้งกือมีพิษบ้างล่ะ ทั้งที่ฟันกิ้งกือมีไว้กัดแทะได้แต่เศษซากพืชเท่านั้น กัดคนไม่เข้าเลย หรือแค่ทำให้คนที่ถูกกันรู้สึกจั๊กจี้เท่านั้นเอง ส่วนกิ้งกือบางชนิดอาจปล่อยสารพิษพวกไซยาไนด์หรือเบนโซควิโนนออกมาเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่ไม่ทำให้คนเป็นอันตรายได้" ศ.ดร.สมศักดิ์ เผย
       
       ก่อนหน้านี้อาจารย์สมศักดิ์ เป็นที่รู้จักกว้างขวางในวงการวิชาการในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านหอย ที่ศึกษาวิจัยหอยมานานร่วม 20 ปี แต่เหตุไฉนจึงมาสนใจกิ้งกือได้ อาจารย์สมศักดิ์ชี้แจงให้ฟังว่าเพราะ ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผอ.โครงการบีอาร์ที (BRT) เป็นผู้ชี้นำ ด้วยเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีใครศึกษาเรื่องกิ้งกืออย่างจริงจัง ทั้งที่เรามีกิ้งกือเยอะมาก และเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ
       
       "อาจารย์วิสุทธิ์เห็นว่าผมศึกษาเรื่องหอยมาจนอิ่มตัวแล้ว และก็มีคนที่จะศึกษาต่อยอดแล้ว แต่กิ้งกือยังไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน จึงอยากให้มีคนมาศึกษาเรื่องกิ้งกือบ้าง ก็เลยตกลงทำเรื่องนี้ ซึ่งก็เริ่มศึกษาตั้งแต่ปี 49 โดยเริ่มต้นจากเชิญปรมาจารย์ด้านกิ้งกือระดับโลก คือ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ (Prof. Henrik Enghoff) มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มาอบรมเรื่องการวิจัยกิ้งกือให้กับทางเรา และก็เริ่มออกสำรวจเก็บตัวอย่างกิ้งกือทั่วประเทศมาศึกษา และพบว่าเป็นกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกหลายชนิดเลย เพราะยังไม่ค่อยมีใครศึกษากัน" ศ.ดร.สมศักดิ์เล่า
       
       อาจารย์สมศักดิ์เริ่มศึกษากิ้งกืออย่างจังจัง พร้อมกับก่อตั้ง "ชมรมคนรักกิ้งกือ" ขึ้น เพื่อให้คนที่สนใจเรื่องกิ้งกือได้ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องกิ้งกือกัน และเดี๋ยวนี้เมื่อมีเหตุการณ์กิ้งกือระบาดขึ้นที่ใด อาจารย์สมศักดิ์ก็มักถูกตามตัวไปแก้ไขปัญหาและหาสาเหตุที่กิ้งกือบุกรุกเข้าไปในที่อยู่อาศัยเป็นประจำ
       
       "กิ้งกือ" คือทรัพย์ในดิน
       
       "เรามักพูดกันว่าเมืองไทยมีอะไรตั้งเยอะแยะมากมาย แต่จริงๆ แล้วเราไม่รู้หรอกว่ามีอะไรบ้าง กิ้งกือก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง คนไทยส่วนใหญ่เกลียดกลัวกิ้งกือ แต่กิ้งกืออาจสร้างคุณประโยชน์ได้มากกว่าคนบางคนเสียอีก ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติคนที่มีต่อกิ้งกือได้เพียง 1-2% เราจะได้อะไรกลับคืนมาอีกมาก และยังทำให้คนเราเกิดความเมตตาต่อสัตว์ร่วมโลกด้วย" ศ.ดร.สมศักดิ์กล่าว
       
       เจ้าพ่อกิ้งกือบอกว่า จากการที่ได้ศึกษากิ้งกือ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอีกมาก ชีวิตพวกนี้ ทำให้เรามองเห็นว่ายังมีอีกหลายชีวิตที่จะช่วยทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองของเราได้ กิ้งกือเป็นเหมือนทรัพย์ในดินที่เรามีอยู่ เราสามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาความหลากหลายของกิ้งกือมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรในธรรมชาติ การเกษตร และการจัดการของเสียในชุมชนได้ ช่วยให้เรานำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น จากแต่เดิมที่เราอาจไม่เคยรู้และไม่เห็นคุณค่าของพวกมัน
       
       "อยากเห็นคนไทยเลิกเกลียดเลิกกลัวกิ้งกือ และมีทัศนคติที่ดีต่อกิ้งกือมากขึ้น" ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000066561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น