วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเมืองนำการทหาร อังคณา นีละไพจิตร

  "ส่วนตัวรู้สึกว่าหลังจากมีคำพิพากษาตากใบเมื่อ  29  พ.ค.  หลังจากนั้นมันเริ่มมีอะไรแรงขึ้นที่นราธิวาส  จะเกี่ยวหรือเปล่าไม่รู้  แต่หลังจากนั้นเรารู้สึกว่ามันแรงขึ้นนะ..."

     "ตำรวจ   โห-แต่ก่อนนี้ชาวบ้านไม่เอาเลยนะ  แต่ทำไมวันนี้ชาวบ้านเขารู้สึกว่าตำรวจดีกว่าทหาร  ศปก.ตร.สมัยคุณอดุลย์  มีการอบรมตำรวจเรื่องความมั่นคงกับสิทธิมนุษยชน  อบรมให้ตำรวจพูดภาษามลายูถิ่น  ขณะที่ทหารไม่ได้อบรมเจ้าหน้าที่เลย  แต่เอาชาวบ้านมาอบรม"

     "วันนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังเข้าใจว่าการเมืองนำการทหารก็คือการที่ทหารไปจัดโครงการพัฒนาต่างๆ   ซึ่งมันไม่ใช่  การเมืองนำการทหารก็คือการเมืองภาคพลเมือง  คือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม   การเมืองที่อำนาจทุกอย่างไม่ได้อยู่ภายใต้เจ้าหน้าที่ทหารอย่างเดียว  ทุกวันนี้   ผอ.กอ.รมน.คือนายกรัฐมนตรี  ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีต้องมีอำนาจจริง"


รวมศูนย์  กอ.รมน.

     นั่งสนทนากันโดยมีตำรวจป้วนเปี้ยนอยู่หน้าบ้าน   เพราะรถของเธอถูกงัด  2  คันซ้อนเมื่อคืนวันเสาร์และคืนวันพุธที่ผ่านมา   ในพฤติกรรมที่เหมือนกันเปี๊ยบ  คืองัดแล้วรื้อค้นของเกลื่อน  เอาไปทิ้งถังขยะ  แต่ไม่เอาอะไรไปเลยแม้แต่วิทยุติดรถยนต์

     "น่าจะเป็นเพราะคดีที่   ป.ป.ช.ใกล้ชี้แล้ว"  เธอบอกว่ารถที่จอดในซอยก็ของหายบ่อย  แต่มักเป็นพวกลักเล็กขโมยน้อย  กระจก  ไฟท้าย  ไม่เคยมีงัดเข้าไปข้างในแล้วไม่เอาทรัพย์สินอย่างนี้


     ความรุนแรงกลับมา   เหมือน  3  จังหวัดชายแดนใต้กลับมารุนแรง  รัฐบาลประชาธิปัตย์ทำให้คนหวังว่าจะแก้ปัญหาได้  แต่คล้ายกับทำอะไรไม่ได้เลย


     "ต้องถามว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ทำงานเป็นอิสระหรือเปล่า  หรือว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์เองยังไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องอย่างที่รับปากประชาชนไว้หรือเปล่า   อย่าง  พ.ร.บ.ศบ.จชต.ของท่านถาวร   เสนเนียม  วันนี้ก็ยังไม่เห็นเลย  ถ้ามันเป็นภาวะเร่งด่วนต้องผลักดันให้กฎหมายนี้ออก   วันนี้อำนาจทุกอย่างยังอยู่ภายใต้  กอ.รมน.ภาค  4  อย่างท่านนายกฯ  บอกว่าจะยกเลิก   มันเป็นไปไม่ได้ที่จะฉุกเฉินตลอดไป  แต่พอจะยกเลิกทหารบอกมีงานวิจัยของทหารบอกว่าชาวบ้านชอบ   ก็ต้องถามว่างานวิจัยต้องเป็นกลางสิ  ไม่ใช่ทหารทำเองแล้วบอกเองว่าชาวบ้านชอบ  มันต้องมีสถาบันหรือองค์กรที่เป็นกลางมาทำวิจัยว่า  พ.ร.ก.กระทบสิทธิของชาวบ้าน  หรือคุ้มครองชาวบ้าน อั นไหนมากน้อยกว่ากัน"


     "จริงๆ   แล้วส่วนตัวก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้ทำงานได้อิสระแค่ไหน  แต่ชาวบ้านให้การต้อนรับดีมากเลย   แต่วันนี้  ทำไม  พ.ร.บ.ศบ.จชต.ของท่านถาวรก็ยังไม่ออก  พี่เป็นกรรมาธิการของวุฒิสภาเรื่องภาคใต้    ก็เคยเชิญสำนักงบประมาณมาชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของ  กอ.รมน.ภาค   4  และถามว่าสำนักงบฯ  เคยประเมินผลการใช้งบประมาณของ  กอ.รมน.ภาค   4  ไหม  เขาบอกว่าเคยแจ้งว่าจะลงมาประเมินผล  แต่  กอ.รมน.ภาค  4  แจ้งกลับว่าเนื่องจากสถานการณ์มีความไม่ปลอดภัยสูง  จึงเห็นว่าไม่ควรที่สำนักงบฯ  จะลงมา  ถ้าเป็นอย่างนี้คุณให้งบประมาณไปปีละ   2   หมื่นกว่าล้านโดยที่คุณไม่ได้ติดตามเลยว่ามันได้ผลดีแค่ไหน   มันไม่ดียังไง  ใช้จ่ายตรงตามวัตถุประสงค์ไหม  มันกระจายไปถึงคนรากหญ้าริงๆ  แค่ไหน    และการประเมินผลก็คือหน่วยงานประเมินผลเอาเอง   บางทีบอกว่าชาวบ้านเชื่อถือ ซึ่งจริงๆ  แล้วชาวบ้านเขาเชื่อถือแค่ไหน"


     "คือถ้ามองแบบกลางๆ  ก็มองว่าตำรวจ  โห-แต่ก่อนนี้ชาวบ้านไม่เอาเลยนะ  แต่ทำไมวันนี้ชาวบ้านเขารู้สึกว่าตำรวจดีกว่าทหาร   พอไปมองใน  ศปก.ตร.สมัยคุณอดุลย์  (พล.ต.ท.อดุลย์   แสงสิงแก้ว)  ไปอยู่  มีการอบรมตำรวจเรื่องความมั่นคงกับสิทธิมนุษยชน  อบรมให้ตำรวจพูดภาษามลายูถิ่น   ขณะที่ทหารไม่ได้อบรมเจ้าหน้าที่เลย  แต่เอาชาวบ้านมาอบรม   และวิธีการให้ชาวบ้านมาอบรมก็คือ   ฉก. 2  ตัว  (ฉก.ประจำหมู่บ้าน  ใช้เลข  2  ตัวเช่น  ฉก.23   ฉก.64)  ส่งหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้านให้จัดคนในหมู่บ้านมาเข้าอบรมทีละ  5  คน ใน  1   เดือนคุณต้องส่งมา  5  คน  5  เคยโทร.ไปถามที่อำเภอหนึ่งในนราธิวาส   ตอนนั้นเป็นช่วงน้ำท่วม  พี่โทร.ไปบอกว่าท่านนายอำเภอชาวบ้านเขาไม่อยากมา  ทำอย่างไรดี  นายอำเภอบอกว่าผมแทบจะร้องไห้เลย  เพราะว่าน้ำเพิ่งลดและชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ  แต่ผมไม่มีอำนาจเลย  แสดงว่าตอนนี้ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจอะไรเลย  อำนาจทุกอย่างอยู่กับ  ผบ.ฉก.หมด  ซึ่งวันนี้ถ้าถามว่าประชาชนเขาไว้ใจใคร  เขาไว้ใจฝ่ายปกครอง  อย่างน้อยกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน   นายอำเภอ   ต้องมีบทบาทเข้ามาทำอะไรบ้าง  แต่นี่กลายเป็นว่าการเอาชาวบ้านไปอบรมอะไรต่างๆ  ฝ่ายปกครองไม่รู้เรื่อง  ไม่ได้อยู่ในอำนาจ"


     "อย่างเมื่อ  2  อาทิตย์ที่แล้วไปปัตตานี  มีชาวบ้านมาร้องเรียนว่าเขาถูกเรียกไปอบรม  อายุ  50  กว่าทั้งนั้นเลย  เขาสุขภาพไม่ค่อยดี  เขาต้องกรีดยาง  เวลาสามีไม่อยู่เมียก็ออกไปคนเดียวไม่ได้  ในหนังสือที่เรียกไปอบรมเขาเขียนว่าให้มาอบรมโดยความสมัครใจ  แต่พอโทร.ไปถามทางเจ้าหน้าที่   เขาก็บอกว่าไม่ได้  จำเป็นต้องมา  อ้าว-ถ้าจำเป็นต้องมามันก็ไม่สมัครใจสิ  ชาวบ้านก็มีสิทธิจะใช้สิทธิทางศาลได้นะถ้าเขาไม่เต็มใจมา  แล้วท่านบังคับให้เขามาอยู่   20  วันอย่างนี้  ปรากฏว่าอีก  2  วันชาวบ้านเขาโทร.มา  เจ้าหน้าที่  ฉก.นัดผมไปกินน้ำชาที่สถานีตำรวจ   อ้าว-แบบนี้ขู่เขาหรือเปล่า  คุกคามเขาหรือเปล่า  นัดไปกินน้ำชาที่โรงพักจะจับเขาหรือเปล่า  พี่ก็โทร.ไปถามอีก  ท่านทำแบบนี้คุกคามเขาหรือเปล่า  เขากลัวนะ  ไม่ใช่พอเขาไม่อยากมาอบรมแล้วไปถูกจับ   ถ้าอย่างนั้นขอส่งคนไปสังเกตการณ์ได้ไหม  ก็ส่งคนไป  เขาก็บอกเอ้าไม่เป็นไร  ไม่อบรมก็ได้  จบ"

     "เราก็ต้องทำเป็น   case  by  case  อยู่เรื่อยๆ  ซึ่งถ้าหลักความจริงบอกว่าให้มาอบรมโดยสมัครใจ   คุณก็ต้องให้เขาสมัครใจจริงๆ  ถ้าไปบังคับมา  ชาวบ้านไม่ให้ความไว้ใจหรอก  เราต้องไปดูว่าเขาเดือดร้อนไหม  เอาหัวหน้าครอบครัวมาให้เมียอยู่บ้านก็ไปกรีดยางไม่ได้   มันต้องดูหลายๆ  เรื่องไปพร้อมกัน  และก็ควรประเมินผลว่าในช่วง  2-3  ปีมานี้เราอบรมประชาชนไปเป็นหมื่นคน   ทำไมสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเลย  ทำไมความไว้วางใจไม่เกิดขึ้นเสียที   มันควรต้องประเมินผล  ระบบการทำงานของ  กอ.รมน.ภาค  4   มันยากที่เรา-อย่างเอ็นจีโอก็ไม่สามารถจะไปประเมินผลได้   หรือแม้แต่กรรมาธิการของสภาผู้แทนฯ  ก็ไม่สามารถประเมินผลอะไรได้เลย  รัฐบาลเองก็ไม่ทราบเคยประเมินหรือเปล่า"


     งบ   2  หมื่นกว่าล้านตั้งผูกพัน  5  ปีมาตั้งแต่ปลายปี  2550  หรือปีงบประมาณ  2551  ถามว่าเอาไปทำอะไรบ้าง

     "เยอะแยะเลย   ทำนาร้าง  ทำงานพัฒนาอะไรต่อมิอะไร  และยังมีเงิน  4,500  อัตราที่จ้างใครโดยไม่ต้องมีใบเสร็จอย่างนี้เป็นต้น"


     "นาร้างคือนาที่เคยทิ้งไม่ได้ทำอะไรมานาน  บางทีปาล์มราคาดีท่านก็ให้ไปปลูกปาล์ม  ยางราคาดีท่านก็ให้ปลูกยาง  และตอนนี้ด้วยความไม่สงบและอะไรหลายๆ  อย่างชาวบ้านก็ทิ้งนาร้าง  ตอนนี้เขากลับมาฟื้นฟูใหม่ให้มีการทำนา  ถ้าลงไปเราจะเห็นพื้นที่นาสีเขียวเยอะมาก  ซึ่งดูแล้วดีมาก   แต่ในพื้นที่สีแดงเมื่อปีที่แล้วก็ไม่มีการกระจายงบไป  ปีนี้หลังจากมีเสียงเรียกร้องว่ามันไม่เป็นธรรมอะไรต่างๆ  ก็เข้าไปทำในพื้นที่สีแดงด้วย"


     พื้นที่สีแดงคือ  217  หมู่บ้าน


     "ไม่เข้าเลย   เข้าก็น้อยมาก   โดยบอกว่าต้องให้มันเป็นเหลืองก่อนเป็นเขียวก่อนแล้วถึงจะกระจาย   อ้าว  ยิ่งแดงนี่แหละยิ่งต้องให้งบมาก  พื้นที่สีแดงยิ่งต้องพัฒนาให้มาก  ไม่ใช่ปล่อย  แล้วบอกว่ารอให้คุณเป็นเด็กดีก่อนนะแล้วถึงจะช่วย  แต่ปีนี้ดีขึ้น  กระจายงบประมาณอย่างทั่วถึง  โครงการของ  ศอ.บต.ก็ลงไปในพื้นที่สีแดงมากขึ้น"


     อะไรคืออัตราจ้าง  4,500  บาท


     "คือชาวบ้านจะได้รับเงินเดือน   4,500   บาท  มาบรรจุทำอะไรต่ออะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมด   แต่ไม่มีมาตรการที่จะบอกได้ว่าใครบ้างอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานนี้   และทำงานอะไร   คือลองไปถามชาวบ้านนี่เยอะมากเลย  4,500  เคยมีในรายงานของเอ็นจีโอ  ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมแล้วก็เยียวยาโดยการให้   4,500   ทุกเดือนๆ  ไม่ต้องเอาเรื่องนะ  ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่เราตรวจสอบไม่ได้"

     มีคนได้เงินเดือนจำนวนนี้มากไหม


     "ก็เยอะ   เท่าที่สอบถามดูก็เป็นพัน   ไม่รู้ว่าหลักเกณฑ์อนุมัติเป็นยังไง  ไม่มีอะไรแน่นอน   แต่   4,500  มีทั้งทำงานในอำเภอก็มีและก็มีสายข่าวบ้างอะไรบ้าง  เยอะแยะไปหมด  แต่ชาวบ้านเขาจะรู้กันว่าอ๋อทำงานให้  4,500"

     อันนี้คืองบ  กอ.รมน.


     "งบ   ศอ.บต.ตอนนี้ก็อยู่ภายใต้  กอ.รมน. ต้องเบิกจาก  กอ.รมน. ที่จริงมันไม่เป็นปัญหาเลยถ้าใช้งบประมาณอย่างเต็มที่แต่ต้องโปร่งใส   ถ้าเราไปดูตำรวจ  เสื้อเกราะต้องใช้สลับกัน  คนนี้ออกเวรเสร็จเอาเสื้อเกราะไปแขวน  อีกคนก็เอาไปใช้   ถามว่าทำไมเราต้องมาบริจาคซื้อเสื้อเกราะ  ในเมื่องบประมาณมีตั้งเยอะ  เจ้าหน้าที่ต้องมีความพร้อมสิ  ไม่ใช่ไปกู้ระเบิดทีไปมือเปล่าแล้วก็โดนระเบิดตาย  มันต้องอำนวยความสะดวกกับเจ้าหน้าที่  อุปกรณ์พร้อมหรือเปล่า  ต้องทันสมัยด้วย  แค่เสื้อเกราะลองไปดูสิตำรวจไม่ค่อยมีหรอก  เพราะฉะนั้นตรงนี้จะทำอย่างไร"


     แปลว่างบไปลงที่ทหารหมด


     "งบทั้งหมดอยู่ที่   กอ.รมน.  ต้องตรวจสอบได้  ต้องมีการประเมินผลว่าใช้จ่ายไปจริงตามวัตถุประสงค์ไหม"

     ในส่วนของงานพัฒนาเขาทำได้ผลไหม

     "ถ้าพูดถึงความไว้ใจชาวบ้านเขาจะไว้ใจฝ่ายปกครอง  และ  ศอ.บต.เขาก็มีอยู่  ทหารก็ลงไปทำด้วย   คือทหารถามว่าทำนาเป็นไหม  แต่ทหารเครื่องมือดี  สมมติเขาจะทำนา  ทำไมท่านไม่ไปลงทุนไถให้เขา  เครื่องมือท่านเยอะ  อำนวยความสะดวกให้เขา  แล้วไปทำให้ทั่วถึง  ไม่ใช่ไปแย่งงานกันว่าพื้นที่นี้ฉันทำ  พื้นที่นี้  ศอ.บต.ทำ  เครื่องไถมีเครื่องเดียวแบ่งกันตั้งหลายหมู่บ้าน   ตรงที่ทหารทำปรากฏเครื่องไถท่านเยอะ  เพราะฉะนั้นต้องมากางดูให้หมด  ทุกหมู่บ้านต้องทั่วถึงและเท่าเทียม   อย่างท่านแม่ทัพไปตั้งหมู่บ้านเย็บเสื้อเหลืองแตงโมที่สุไหงปาดี   ชาวบ้านก็ชอบมากเลยมีงานทำ   มีคนเอาไปขายให้ด้วย  แต่ที่อื่นไม่มี  คนที่อื่นพวกแม่ม่ายก็อยากจะมีอาชีพ   เย็บถุงผ้าโสร่งขายก็ได้  แต่เอาไปขายที่ไหนล่ะ  หาตลาดที่ไหน  ซึ่งตรงนี้ควรจะมองเป็นระบบ  ทำแล้วนอกจากขายในชุมชนแล้วขายที่อื่นได้ไหม  ต้องให้มีรายได้เลี้ยงตัวได้  หาตลาดให้เขา"


     ในภาพรวมมองว่างานพัฒนายังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

     "ชาวบ้านยังไม่มีอะไรดีขึ้นเท่าไหร่"

     ควรให้  ศอ.บต.เป็นคนจัดการใช่ไหม


     "ไม่ใช่ทั้งหมด   มันก็จะมีบางพื้นที่ที่   ศอ.บต.อาจเข้าไม่ได้  ควรจะร่วมมือกัน  แลกเปลี่ยนประสบการณ์  คือมีส่วนร่วม  ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนจริงๆ  ว่าประชาชนชาวบ้านเขาอยากได้อะไร  บางทีเขาอยากจะมีอาชีพ  เขาถนัดอะไร  ทำแล้วขายได้ไหม   หรือส่งเสริมการทำอาหาร  ทำแล้วทำแพ็กเกจให้ดีๆ  ส่งขายที่อื่นได้  ต้องหาตลาด  ไม่ใช่ทำแล้ววันนี้บอกว่าเย็บผ้าจนไม่รู้จะไปขายใครแล้ว   ขายไม่ออก  มันต้องมองให้เป็นระบบ   ต้องหาตลาดให้ชาวบ้านด้วย  เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเขาก็ฉลาดนะ  เขาก็บอกว่าทำไมชุดนักเรียนที่ส่งไปแจกเด็กไม่เอามาให้ชาวบ้านที่นี่เย็บล่ะ   ความจริงคนพื้นที่เขาก็เย็บได้  ท่านเอาผ้ามาให้เขา   หาจักรให้เขา  เขาก็เย็บเองได้แล้วมันก็เป็นรายได้ของเขาด้วย  ถ้าพูดอย่างพัฒนาประชาชนต้องมีส่วนร่วมว่าเขาอยากทำอะไร  แล้วเขาจะได้อะไร  ให้เขามีสิทธิ์กำหนดด้วย"

ความยุติธรรม

     เธอบอกว่างงอยู่เหมือนกันที่ระยะหลังภาพพจน์ตำรวจดีกว่าทหาร


     "ก็งงอยู่เหมือนกัน  คือพอทหารลงไปอยู่เยอะมาก  6  หมื่นกว่านาย  แล้วถามว่าทหารรู้กฎหมายแค่ไหน   คือตำรวจดีๆ  ชั่วๆ  ก็ยังรู้กฎหมายเพราะเขาอยู่กับกฎหมาย  แต่ทหารล่ะ  บางทีจับปุ๊บเขาอนุญาตให้เยี่ยม  แต่ชาวบ้านไปขอเยี่ยมบอกไม่ให้เยี่ยม  ห้ามเยี่ยม  3  วัน  ชาวบ้านก็บอกว่าอ้าวแล้วถ้าไปซ้อมสามีเขาล่ะ   ก็เถียงกันอีก  พี่พยายามพูดมาตลอดว่าขออย่างเดียวให้ท่านปฏิบัติตามกฎหมาย  กฎระเบียบคำสั่งทุกอย่างอย่างเคร่งครัด  ได้ไหม  ขอให้ทำตามอยางเคร่งครัดชาวบ้านก็รับได้   เอาไปแล้วบอกเขาว่าลูกเขาสามีเขาอยู่ที่ไหน  คุณมาเยี่ยมได้เวลาเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่  ให้เขาไปเห็นหน้าว่าไม่ได้ถูกซ้อมถูกอะไรเขาก็สบายใจ  แล้วก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม  มีหลักฐานก็ฟ้องร้องไป  ให้ประกันตัวได้ก็ให้ประกันไป  เขาจะได้มาหากินเลี้ยงครอบครัว   ให้ประกันไม่ได้ก็อธิบายกันไป  มันต้องเข้าไปดูแล  และวันนี้คนถูกจับตั้งเยอะตั้งแยะอยู่ในเรือนจำ   ลูกเมียก็ไม่ค่อยมีกิน  หนังสือไม่ได้เรียน  แล้วจะทำอย่างไร  โตขึ้นจะมีปัญหาอีกไหม"


     "ความจริงมันเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรมทั่วประเทศ     บางทีเรามองว่าคนนี้มันลูกโจร   เอ้าแล้วลูกโจรมันจะโตมายังไงถ้ามันไม่ได้เรียนหนังสือ  ซึ่งตรงนี้ควรเข้าไปดู  หรือบางทีสู้คดีมา   3  ปี  5  ปีสุดท้ายศาลยกฟ้อง  กรมคุ้มครองสิทธิ์เยียวยานิดเดียวเอง  ที่ลูกเต้าเขาเติบโตมาอย่างลำบากทำยังไง  มันควรมีอะไรที่สนับสนุนเขา  อย่างน้อยให้แม่  ให้ผู้หญิงพึ่งตัวเองได้  มีงานการทำ  ชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง"


     "พี่เป็นคนทำงานภาคประชาชนก็เห็นความสำคัญของประชาชน   ว่าคุณจะมีเขตปกครองพิเศษหรืออะไรก็ตาม  คุณจะทำอะไรไม่ได้ถ้าภาคประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  คุณบอกว่าจะตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ   ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้  แต่ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมมันก็แค่เปลี่ยนหัวจากหัวนี้ไปเป็นหัวนี้  สุดท้ายประชาชนก็โง่เหมือนเดิม  ถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนเดิม  แล้วมันก็คงมีปัญหาเหมือนเดิม"


     "หน่วยงานความมั่นคงฟันธงไปเลยว่าเป็นขบวนการ    BRN   Co-Ordinate  แต่เราคุยกับชาวบ้านเรามีความรู้สึกว่ามันไม่น่าจะใช่องค์กรใหญ่ๆ  ที่มีหัวสั่งการ  เป็นผู้นำจิตวิญญาณ  เท่าที่เราฟังมาเราไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินชาวบ้านพูดถึง   แต่เท่าที่สัมผัสรู้สึกมันเป็นเหมือนเครือข่ายที่อยู่ทั่วไป  เวลาตรงนี้แรงตรงนี้ก็ตอบโต้แทน  เจ็บแค้นแทน  และพอไปดูแบบสอบถามไม่ว่าเป็นตำรวจหรือทหารเวลาเขาซักถามคนที่เขาควบคุมตัวไว้  มันเหมือนถามนำ  รู้จัก  RKK   ไหม  รู้จักขบวนการนี้ไหม  รู้จักสะแปอิง  บาซอ  ไหม  เคยได้ยินไหม  มันเหมือนคำถามถามนำ  และฝ่ายความมั่นคงหรือนักวิชาการบางกลุ่มก็บอกว่ามันเป็น  BRN  Co-Ordinate  เมื่อเดือนที่แล้วพี่ไปที่อินโดนีเซีย  มีกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง  ทุกคนก็ถามเรา  บ้านเรามีปัญหาตรงที่ไม่รู้ว่าใครทำ  ไม่ว่าจะเป็นอาเจะห์  ฟิลิปปินส์  หรือไอร์แลนด์เหนือ  มันมีหัวขบวน   มันรู้ว่าใคร  แต่บ้านเราแปลก  บางทียังคุยกันเล่นๆ  ว่าที่มันไม่มีเพราะว่ามันไม่มีจริงๆ  หรือเปล่า  หรือว่ามันพูดออกมาแล้วคนยอมรับไม่ได้หรือเปล่า"


     "เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ต้องไปมองว่าเป็นใคร   แต่เราไปสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน    พี่มองเหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา  ที่กรุงเทพฯ  มีความขัดแย้ง  แล้วพี่ก็นึกถึงภาคใต้  ที่กรุงเทพฯ  เวลามีความรุนแรงมันไม่ได้ยุติโดยที่ทั้ง  2  ฝ่ายมาคุยกัน  ไม่ได้มีการเจรจาอะไรกัน   ทั้งรัฐบาลทั้งเสื้อแดงไม่ได้ทำอะไรเลย   แต่ประชาชนที่อยู่ตรงนั้นที่ลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าฉันไม่เอาความรุนแรงจากทุกฝ่าย   และปกป้องชุมชนตัวเอง  ทั้งนางเลิ้ง  สามเหลี่ยมดินแดง  และที่พญาไท  คือมันต้องมีกลุ่มประชาชนที่บอกว่าฉันไม่เอาแล้ว  อย่างถ้าคุยกับชาวบ้านวันนี้ในภาคใต้เขาจะบอกเลยว่าไม่รู้ใครมาจากข้างนอกหมู่บ้าน  มาทำอะไรต่ออะไร  เสร็จแล้วมันออกไปหมดเลย   แล้วพวกเราก็ถูกจับ  แต่ถามว่าแล้วเขาเข้มแข็งพอที่จะมาบอกเจ้าหน้าที่ไหม  เขาไม่กล้า  เพราะอะไร  เพราะเจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยคุ้มครองพยาน  ใครมาให้การเป็นพยานถึงเวลาท่านก็ไป   ถึงเวลาพวกนี้ก็ถูกยิงบ้างอะไรบ้าง  เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ชาวบ้านให้ข้อมูล  รัฐต้องเพิ่มการคุ้มครองพยานมากขึ้น  เรามีวิธีการตั้งหลายอย่างที่คุ้มครองพยาน  เปลี่ยนชื่อ  เปลี่ยนโรงเรียนลูก  เปลี่ยนงาน   ตรงนี้เราเคยเอามาใช้ไหม  สถานการณ์วันนี้มันรุนแรงนะ   เพราะฉะนั้นวิชาความรู้ทั้งหลายที่มีท่านต้องเอามาใช้   งบประมาณ  ครม.ก็ให้ไปอีกตั้งหมื่นกว่าล้าน  มันต้องเอามาดูและต้องให้เกิดผลได้จริง"


     "งานวิจัยทุกชิ้นบอกว่าปัญหาสำคัญที่สุดคือเรื่องความยุติธรรม  แต่ถามว่าวันนี้มีอะไรบ้างที่ชาวบ้านรู้สึกว่าเขาได้รับความเป็นธรรม  มันดูเหมือนว่าความเป็นธรรมเป็นสิ่งเดียวที่เกาะเกี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐอยู่   แต่วันนี้ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมให้เห็นว่าเขาสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้จริง  ผู้กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหนก็ตาม  ถ้าทำผิดต้องถูกลงโทษ  แต่วันนี้มันยังไม่เห็น"


     "ช่วงสงกรานต์  ปี  2550  ชรบ.ยิงชาวบ้านมุสลิมที่หมู่บ้านภักดี  ชาวบ้านรู้ชื่อด้วย  แต่วันนี้ก็เงียบไปแล้ว  ชาวบ้านบอกจะชี้ตัวเพราะเขาจำหน้าได้  เขารู้ชื่อ  เจ้าหน้าที่เอารูปมาให้ดูชาวบ้านบอกไม่ชี้รูปเพราะเอารูปหนุ่มๆ   มา  เอานายคนนี้มาให้ชี้ได้ไหม  จนวันนี้ก็ยังไม่ได้ชี้ตัว   เรื่องแบบนี้มันทำให้รู้สึกว่าเขาพูดไปก็แค่นั้น  เพราะฉะนั้นในเมื่อชาวบ้านยังรู้สึกว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้เขารู้สึกดีๆ   กับรัฐ  รัฐก็จำเป็นที่จะส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมและให้เขาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้จริง"

     "ทุกวันนี้รัฐหมดเงินกับการเยียวยาไปเยอะมาก   แต่การเยียวยามันไม่ได้หมายถึงการให้เงินอย่างเดียว  การเยียวยาด้วยความธรรมถือเป็นการเยียวยาที่สำคัญมากที่สุด  รัฐต้องถามตัวเองว่ารัฐได้ให้เขาพอไหม  อย่างระเบิดที่มัสยิดที่ผ่านมา  ชาวบ้านโทร.มาตลอดเลย  พี่ลงมาฟังหน่อย   เจ้าหน้าที่แน่นอน  คนมุสลิมไม่ทำหรอก  อย่างนี้  ขณะเดียวกัน  โฆษก  ทุกคนในกองทัพก็แถลงว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่แน่นอน   ตรงนี้ถ้าทั้ง  2  ฝ่ายด่วนสรุป  มันก็ทำงานไม่ได้  เจ้าหน้าที่เองก็ควรให้ความมั่นใจกับชาวบ้านว่าขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงานก่อน  ให้กระบวนการสอบสวนทำงานก่อน  และไม่ว่าหลักฐานไปถึงใครจะไม่เห็นแก่หน้า  ต้องนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  ชาวบ้านเองก็เหมือนกัน  ใครที่รู้เห็น  มีเบาะแส  องกล้ามาให้การเป็นพยาน  ต้องทำงานร่วมกัน  ม่อย่างนั้นคุณไม่ยอมให้การคุณไม่ชี้เบาะแสคุณไม่ให้ข้อมูล  เจ้าหน้าที่ก็ทำงานไม่ได้  พราะตอนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น"


     "ทีนี้พอ   2-3   วันหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ออกมาบอกว่าเก็บปลอกกระสุนปืนได้ เคยก่อเหตุตรงนั้นตรงนี้   ชาวบ้านก็บอกว่าปลอกแบบนี้เก็บที่ไหนก็ได้   เพราะเวลาเราลงไปในพื้นที่  เราจะเจอว่าเวลามีเหตุการณ์ใหญ่ๆ   การกราดยิง  ปลอกกระสุนมันตกทั่วไปหมดเลย  เจ้าหน้าที่เก็บไม่หมดหรอก   ชาวบ้านนี่แหละไปเก็บปลอกกระสุนใส่ขัน  บางทีเราไป  เอ้าพี่เอาไปหน่อยเถอะไม่อยากเก็บไว้ที่บ้าน  คือปลอกกระสุนมันหาได้ง่ายมากเลย  เพราะเวลาเกิดเหตุการณ์แล้วเก็บไม่หมด  วันนี้เลยมีคำถามจากชาวบ้านว่า ปลอกกระสุนที่ท่านว่าไปเก็บจากที่อื่นมาหรือเปล่า    เพราะฉะนั้นถ้าจะให้รู้จริง   ประชาชนเองต้องให้เวลารัฐ   อย่าไปรีบร้อนว่า  2   วันต้องจับตัวได้   ไม่มีทาง  เจ้าหน้าที่เองก็ต้องรอบคอบ  ดูแค่ปลอกกระสุนไม่พอหรอก  ไปแคะกระสุนที่ฝังอยู่ในตัวผู้บาดเจ็บ   เอามาดูเกลียวกระสุน  ดูว่าเป็นอาวุธชนิดไหน  เคยก่อเหตุไหม   หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดใช้ไหม  ถ้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดใช้  ก็ต้องเรียกตัวมาสอบสวน   หรือว่ามาจากคนที่เคยก่อเหตุตรงไหนๆ  ก็ต้องเอามา  มันต้องโปร่งใสและทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ  ชาวบ้านต้องเข้ามาสอบถามความคืบหน้าได้ด้วย  มันจะทำให้ไว้ใจกันได้มากกว่าต่างคนต่างฟันธง"

     ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าโจรกลุ่มหนึ่งถูกออกหมายจับรวบทีเดียวหลายคดี


     "ทุกวันนี้มันกลายเป็นว่าสะแปอิง  บาซอ  มีไม่รู้กี่คดี  เมื่อ  2-3  วันนี้รองผู้ว่าฯ  ยะลา   คุณกฤษฎา  บุญราช  ให้ข้อมูลว่าลองมาดูสิคดีทั้งหมดเป็นคดีความมั่นคงกี่คดี  เรื่องส่วนตัวกี่คดี  ถามว่า  3  จังหวัดภาคใต้มันไม่มีเรื่องส่วนตัวหรือ  มันไม่มีเรื่องชู้สาวเลยหรือ  มันไม่มียิงกันตายด้วยสาเหตุอื่นเลยหรือ   ความโกรธแค้นอย่างอื่นไม่มีเลยหรือ   อย่างที่รองผู้ว่าฯ  ยะลาพูดจริงๆ  แล้วคดีความมั่นคงอาจจะไม่ถึง  20%  นอกนั้นก็เป็นเรื่องอื่นๆ  แต่วันนี้ทุกอย่างโยงเป็นเรื่องความมั่นคง  ต้องมาดูว่าเป็นเพราะอะไร  บางทีเงินเยียวยาที่รัฐให้  ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทุกคนพยายามอยากให้คดีของตัวเองเป็นคดีความมั่นคง   บางทีรู้ๆ  เลยว่าเรื่องนี้ขัดแย้งภายในท้องถิ่น  นักการเมืองท้องถิ่นขัดแย้งผลประโยชน์เรารู้ๆ  อยู่  แต่ชาวบ้าน  ผู้เสียหาย  พยายามที่จะวิ่งเต้นเพื่อให้เป็นคดีความมั่นคง  เพื่อจะได้เยียวยา  ถ้าเป็นนักการเมือง  เจ้าหน้าที่รัฐ  จะได้เยอะ  ลูกก็ได้ทุนการศึกษาเรียนจบมหาวิทยาลัย  เพราะฉะนั้นสิทธิประโยชน์ตรงนี้เลยทำให้ทุกคนอยากให้เรื่องของตัวเองเป็นคดีพิเศษ  สมมติเป็นนักธุรกิจแล้วโดนระเบิด   ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงนอกจากเยียวยา  ชดเชยความเสียหาย  เขามีสิทธิที่จะได้รับการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำด้วย   อะไรอย่างนี้  วันนี้พอเกิดอะไรขึ้นทุกคนเลยอยากให้เป็นคดีความมั่นคง   เจ้าหน้าที่ชอบหรือเปล่าก็ไม่รู้  แต่พอเป็นคดีความมั่นคงไม่ต้องไปจับใครเลย  มันโยงไปที่คนไม่กี่คน  แล้วมันจบไม่ต้องไปหาใคร  เพราะฉะนั้นต้องมาพูดความจริงกันนะ  อย่าเกรงใจกัน เ พราะบางทีเกรงใจกันอ้อมๆ  แอ้มๆ  มันไม่ได้"

 


     คดียิงมัสยิดมีข่าวชาวบ้านสงสัยว่าเป็นการล้างแค้นโดยญาติของครูที่ตายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

     "เมื่อก่อนมันเคยมีเรื่องแบบนี้ที่เป็นซีรีส์มาพักหนึ่ง   ตอนนี้มันกลับมาใหม่   ที่สะบ้าย้อยก็เคยมีที่หมู่  2  กับหมู่  3 หมู่  2  เป็นมุสลิม  หมู่  3  เป็นไทยพุทธ  ยิงกันไปยิงกันมา  มายิงปอเนาะเด็กตาย  2   คน  อีกไม่กี่วันไปถล่มกลับสะบ้าย้อยตายไป  4  คน  อีก  2  อาทิตย์มายิงที่หน้ามัสยิดแถวๆ  สะบ้าย้อยตายไปอีก  5  คน  มันจะเป็นการตอบโต้กันเองเป็นกลุ่มๆ  แล้วตอนหลังก็ซาลง  แต่คราวนี้มันกลับมาอีก"

กระบวนการเปิดความจริง


     "ส่วนตัวรู้สึกว่าหลังจากมีคำพิพากษาตากใบเมื่อ  29  พ.ค.หลังจากนั้นมันเริ่มมีอะไรแรงขึ้นที่นราธิวาส  มันจะเกี่ยวหรือเปล่าไม่รู้  แต่ว่าหลังจากนั้นเรารู้สึกว่ามันแรงขึ้นนะ"


     คำพิพากษานี้เป็นเรื่องไต่สวนการตาย


     "ศาลบอกว่าตายในระหว่างควบคุมตัวของเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามกฎหมาย  ชาวบ้านเองอาจจะคาดหวังว่าศาลน่าจะบอกสิว่าตายโดยการที่มีคนนี้ๆ  เป็นผู้รับผิดชอบการขนย้าย  แต่ศาลไม่ได้ชี้  คือชาวบ้านอาจจะคาดหวังแบบนี้  พอไม่ได้เขาก็อาจจะรู้สึกว่าจะหาความเป็นธรรมได้จากที่ไหน  หรืออย่างกรือเซะ  การไต่สวนการตายออกมาเลยว่านายทหารระดับสูง  3  นายทำให้เกิดการเสียชีวิต  ปรากฏสุดท้ายอัยการไม่ฟ้อง  บอกว่ามีหลักฐานไม่พอ  ทั้งๆ  ที่มีรายงานคณะกรรมการอิสระ  คุณสุจินดา  ยงสุนทร  ที่บอกว่าถ้าใช้สันติวิธีน่าจะได้ข้อมูลได้เบาะแสดีกว่านี้  ดีกว่าใช้การปราบปรามอย่างรุนแรง  แต่สุดท้ายอัยการบอกไม่มีหลักฐาน  สั่งไม่ฟ้อง"

     "กรณีตากใบศาลก็ไม่ได้ระบุว่าใครทำให้เกิดการเสียชีวิต  ศาลเพียงแต่บอกว่าขาดอากาศหายใจ  พยานฝ่ายผู้ร้องคือญาติผู้ตายส่งวิดีโอที่เจ้าหน้าที่เตะต่อยทำร้ายประชาชนตรงนั้น  ศาลบอกว่าตรงนั้นมันไม่ได้ทำให้เกิดการเสียชีวิต  ซึ่งก็จริง  ศาลท่านก็พูดถูกต้อง  แต่การขนย้ายแล้วมันทับซ้อนจนทำให้ขาดอากาศหายใจ   หรืออย่างในวิดีโอที่แพร่หลายก็เห็นท่านแม่ทัพภาค  4  เดินไปเดินมา  ผบ.ตร.  นายตำรวจทหารระดับสูงก็เดินไปเดินมาอยู่ตรงนั้น  ชาวบ้านอาจจะคาดหวังหรือเปล่า  แต่ชาวบ้านก็ต้องเข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด  ไต่สวนการตายแล้วยังสามารถฟ้องร้องได้อีก  คือชาวบ้านก็ต้องยอมรับว่าอยู่ดีๆ  คุณจะไปคิดว่าใครจะมายื่นความยุติธรรมให้คุณ  เป็นไปไม่ได้  แต่เราต้องรวมตัวกัน  ต้องเรียกร้อง  ต้องสารพัดอย่าง  อาจจะต้องถูกข่มขู่คุกคาม  แต่ชาวบ้านก็ต้องยอมรับว่าจะมีภาคประชาสังคม  มีประชาชนทั้งประเทศที่เป็นกำลังใจให้  องค์กรหน่วยงานที่ดูแลให้ความช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย  สภาทนายความก็ต้องมาให้คำปรึกษากับผู้เสียหาย  พยายามที่จะตั้งเรื่องฟ้องให้  ถ้าอัยการเขาไม่ฟ้องอีก  ให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปได้"


     ฝ่ายรัฐบอกว่ามันเกิดหลังเปิดเทอม  แต่อังคณารู้สึกว่าเกิดหลังคำพิพากษาตากใบ

     "อันนี้รู้สึกเองว่า  เอ๊ะ..ทำไมมันแรงขึ้น  ยิงครูท้องแก่นี่มันเหี้ยมโหดมากๆ"

     ที่บอกว่าสงบไปช่วงหนึ่งแล้ว  ที่ผ่านมามันสงบจริงๆ  ไหม


     "ดูๆ  มันก็ไม่ค่อยสงบนะ  มันจะมีเหตุเล็กๆ  น้อยๆ  ซึ่งไม่เป็นข่าว  ก่อนหรือหลังที่ยิงครูวันสองวันมีข่าวว่าทหารที่นราธิวาสโดนระเบิดใต้ถนนรถคว่ำแล้วทหารบาดเจ็บเล็กน้อย  ชาวบ้านบอกทำเอง  ตอนนั้นทหารไม่มีตายเลยนะ  ชาวบ้านบอกทำเอง  เอางบประมาณหรือเปล่า  คือเราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ  แล้วอะไรเป็นอะไร  แต่ถ้ามันเป็นอย่างนั้น  อะไรก็แล้วแต่ที่เอาชีวิตผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องต่อรอง  มันไม่ได้  หรืออย่างชาวบ้านบอกว่าทำไมคนนามสกุลนี้ๆ  ไม่เห็นถูกจับล่ะ  นี่ถ้าเป็นนามสกุลนี้นะถูกวิสามัญอย่างเดียว  อะไรอย่างนี้  เอ๊ะ..ทำไมคนนี้ลูกหลานนักการเมืองโดนจับแป๊บเดียวปล่อยล่ะ  ถ้าเป็นพวกเขาอย่างน้อย  37  วัน  พอครบ  37  วันหาหลักฐานฟ้องอีก"


     มีบางตระกูลที่ไม่แตะต้องเลยทั้งที่มีส่วนก่อเหตุอย่างนั้นหรือ


     "อันนี้ฟังชาวบ้านเขาพูดนะ  เขาจะบอกเลยนามสกุลนี้ไม่เห็นถูกจับเลย  เขาจะพูดว่าทำไมเวลาลูกหลานคนใหญ่คนโตถูกจับแป๊บเดียวปล่อย  แต่ทำไมเขาถึงต้องโดน  คือตรงนี้ใครก่อเหตุจริงหรือไม่จริงไม่รู้  ชาวบ้านเองก็ควรทีจะมาให้เบาะแส  คือพี่มีประสบการณ์ว่าก็มีการจับอย่างนี้  เขามาปรับทุกข์  เมียท้องแก่สามีโดนจับ  เจ้าหน้าที่บอกว่ามีหลักฐานนะ  เราก็บอกให้ลองคุยกัน  ประกันตัวได้ไหม  ปรากฏว่าหลังจากนั้นก็มีคนอยากขอมารายงานตัว  เขาบอกเขาเบื่อแล้วโดนปืนจ่อหัวให้ทำ  พอมีแบบนี้เราก็ต้องเปิดรับคนพวกนี้  เวลาจะเข้ามาเราจะยังไง  ก็เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐถามพี่ว่าจะเอายังไง  พี่บอกพี่ไม่ขอนะ  พี่ไม่เคยขอว่าเขามารายงานตัวแล้วปล่อยไป  พี่จะไม่เคยขออย่างนี้แต่จะบอกว่าลองดูนะ  ถ้าให้ประกันได้ก็ให้ประกัน  ถ้าประกันไม่ได้ก็อธิบายให้เขาเข้าใจ   ครอบครัวพ่อแม่เขาลำบาก   มีอะไรช่วยเหลือเขาได้อยากให้ทำ  แต่ให้เป็นไปตามกฎหมายนะ  อย่าเลือกปฏิบัติ  พี่ไม่เคยขอว่าฉันเอาคนนี้มารายงานตัวแต่ขอให้ปล่อย"


     "ตอนคุณอดุลย์เป็น  ผบ.ศปก.ตร.  พี่พูดในกรรมาธิการว่ามีเด็กคนหนึ่งจบโรงเรียนธรรม  สอบแพทย์แผนโบราณศิริราชได้  เรียนอยู่ปี  2  ปรากฏวันหนึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากภาคใต้มาจับเขาที่ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต  ทั้งๆ  ที่เด็กไม่เคยหลบหนี  เรียนหนังสือตามปกติ  และหมายจับก็ออกเป็นปีแล้ว   พี่ก็ถามในที่ประชุมกรรมาธิการซึ่งมีตำรวจอยู่  คุณอดุลย์ก็นั่งอยู่  ถามว่าในเมื่อเขาไม่ได้หลบหนีทำไมต้องมาจับ   น่าจะออกหมายเรียกเขา  ซึ่งเขาก็เรียนอยู่เปิดเผย  ก็เรียนคุณอดุลย์ว่าถ้าเขาได้ประกันตัวจะเป็นประโยชน์นะ  สมมติเขาเรียนแพทย์จบ  เขาก็สามารถออกมาประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้  แล้วคดีว่าไป  ถ้าศาลบอกว่าเขาผิดจริงเขาก็สามารถใช้วิชาชีพในเรือนจำได้  แต่ถ้าท่านไม่ให้เขาประกันตัว  แล้วถ้าอีก  5  ปีศาลยกฟ้องเขา  เขาจะออกมาทำอะไร  คุณอดุลย์บอกว่าคนนี้เจ้าหน้าที่บอกหลักฐานแน่น  แต่พี่ก็คิดของพี่แบบนี้  ตอนหลังคุณอดุลย์ก็บอกว่าจะให้ประกันตัว  ท่านอยากให้โอกาสเด็ก  จนทุกวันนี้เด็กเรียนปี  3  ส่วนคดีเขาก็ไปรายงานตัวทุกเดือนที่ปัตตานี  เขาก็ปรึกษาพี่ว่ามันเสียเวลาเพราะต้องเรียนหนังสือ เลยบอกให้เขาไปขอศาลว่าขอรายงานตัวที่กรุงเทพฯ  ได้ไหม  ซึ่งศาลก็อนุญาต  แล้วศาลกรุงเทพฯ  ก็บอกว่าคดีนี้จะสืบพยานฝ่ายโจทก์ปี  2552  ส่วนตัวเขาจะสืบพยานปี  2553  ซึ่งเป็นปีที่เรียนจบพอดี  ศาลบอกว่าไม่ต้องมารายงานตัวแล้วนะ  เรียนให้จบแล้วค่อยกลับมาให้การ  คือเขาก็มีโอกาส  ตรงนี้มันสำคัญนะ  ทุกครั้งที่โทร.คุยกับเขาจะชื่นชมคุณอดุลย์มากเลยว่าให้โอกาสเขา  ทั้งๆ  ที่เป็นคดีฆ่าและคดีหนัก  แต่เขาก็ไม่ได้หนีนะ  ทุกวันนี้เขาก็เรียนอยู่"

     แล้วรายที่อยากรายงานตัวตำรวจทำอย่างไร

 


     "เขายังไม่มีหมายจับด้วยซ้ำ   บางคนตำรวจยังไม่มีหมายเลย  บางคนก็มีหมาย  ป.วิฯ  อยู่  แต่บางคนเจ้าหน้าที่ยังไม่รู้เลยว่าคนนี้ทำ  แต่เขาบอกว่าเขาโดนปืนจ่อหัว  เขาก็มารายงานตัวว่าต่อไปนี้จะไม่ทำอีก  ตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า  พ.ร.บ.ความมั่นคงเรายังไม่ได้ใช้  เรามี  พ.ร.บ.ความมั่นคงเพื่อรองรับคนที่กลับใจ  แต่  พ.ร.บ.ความมั่นคง  มาตรา  15  เขียนไว้ว่าต้องเป็นสถานการณ์ที่ไม่ฉุกเฉิน   พอเป็นสถานการณ์ที่ไม่ฉุกเฉินก็ต้องยกเลิก   พ.ร.ก.  แต่เจ้าหน้าที่ไม่อยากยกเลิก  มันเลยทำให้กระอักกระอ่วนว่ามีคนที่อยากจะกลับตัว  เขาเบื่อแล้ว  ไม่อยากหลบซ่อนแล้ว  เราต้องเปิดพื้นที่ให้เขา  ซึ่งต้องเอา  พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้"


    "อย่างที่ท่านนายกฯ  พูด  เมื่อสถานการณ์มันไม่ฉุกเฉินมันก็ต้องหยุด  อย่างกรุงเทพฯ  วันนี้ประกาศ  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  พรุ่งนี้ยกเลิก  มะรืนนี้ประกาศใหม่  มันประกาศเมื่อไหร่ก็ได้  เพราะฉะนั้นมันต้องลอง  พี่มองไปถึงอนาคตว่าถ้าเราไม่เปิดพื้นที่ให้คนที่อยากกลับเข้ามาได้มีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรี   แล้วเขาจะกลับมาได้ยังไง  อย่างคนที่ปูตะปูเรือใบ  ตัดต้นไม้  โดนข้อหากบฏอั้งยี่  ซ่องโจร  ซึ่งโทษหนัก  ชาวบ้านที่เขาจ้างมาให้ปูตะปูเรือใบ  ตัดต้นไม้  ไม่ได้ฆ่า  แต่เวลาส่งฟ้องฟ้องเป็นกลุ่มข้อหากบฏอั้งยี่ซ่องโจร   โทษประหารชีวิต  รัฐต้องเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้กลับเข้ามา  วันนี้มันยังไม่มีพื้นที่ที่ให้คนเหล่านี้กลับเข้ามาได้เลย"

     แสดงว่าถ้าเอา  พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้จะมีประโยชน์กว่า  พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือ


     "พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาตัวมาควบคุมได้  30  วัน  เขาก็อยากเอามาควบคุมได้  30  วัน  แต่ความมั่นคงมันจะ   soft  กว่า  และจะมีทางออกให้  เช่นเล็กๆ  น้อยๆ  ปูตะปูเรือใบ  ตัดต้นไม้  ถ้าเขารับสารภาพและอยากกลับตัวให้ส่งเรื่องให้ศาล  ศาลสามารถมีคำสั่งส่งเขาไปอบรมได้  6  เดือนแล้วพ้นผิด  อะไรอย่างนี้  เจ้าหน้าที่ยังอยากใช้  พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่  แต่มันเยอะเกินไป  พี่ยังคิดว่าทำไมเราไม่ลองยกเลิก  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ถ้าสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาจริง  มันเผาบ้านเผาเมืองขึ้นมาจริงก็ประกาศใหม่ๆ  ได้  คนเป็นพันมาเดินขบวนก่อเหตุก็ประกาศเมื่อไหร่ก็ได้"


     การควบคุมตัว  30  วันตาม  พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้มีปัญหาตามมาไม่น้อย


     "ทำไมเราพบว่าสถิติการซ้อมทรมานใน  ศปก.ตร.เราไม่ค่อยพบเลย  แต่ในค่ายทหารเราพบเยอะ  ใน  ศปก.ตร.เราแทบไม่พบ  แต่ตาม  ฉก.เราพบเยอะ  ตรงนี้เป็นข้อเสียของ  พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ให้ควบคุมได้  30  วัน  บางทีญาติไปเยี่ยมแล้วท่านไม่ให้เยี่ยม  มันก็เลยไม่มีการตรวจสอบ  อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือระเบียบของ  พ.ร.ก.ฉุกเเฉิน  ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ขยายการควบคุมทุก  7  วัน  จะต้องทำบันทึกการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ถูกควบคุมตัว  เพราะ  พ.ร.ก.ฉุกเฉินเขาเรียกผู้ถูกควบคุมตัวว่าผู้ถูกเชิญมาให้ข้อมูลเพื่อเก็บทัศนคติ  ในระเบียบบอกไว้เลยว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำบันทึกการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ถูกควบคุมตัว  ประกอบกับการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัว  แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมี  และศาลท่านก็ให้เกียรติพนักงานสอบสวน   ท่านไม่เคยไปทวงว่าทัศนติเขาดีขึ้นยังไง  เปลี่ยนแปลงยังไง  หรือว่าไม่เปลี่ยนเลยจนต้องขยายต่ออีก  ศาลท่านก็ให้เกียรติ  แต่ทำอย่างไรเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย  กฎระเบียบอย่างเคร่งครัดได้"


     "ที่สำคัญการเปิดพื้นที่ให้คนที่กลับใจเข้ามา  เวลานี้เราพูดเรื่องความเจ็บปวดเรื่องอดีต เรื่องความเจ็บปวดในอดีตมันมีทุกคน  แต่ทำอย่างไรที่เราจะไม่เอามาเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงต่อกัน  เราคงจำได้เรื่องนานกิงที่ทหารญี่ปุ่นบุกจีน  ฆ่าคนเป็นแสน  ผู้หญิงนานกิงถูกข่มขืน  ถามว่าคนนานกิงเจ็บปวดไหม  เขาก็เจ็บปวด  แต่สุดท้ายมันมีกระบวนการ  มันมีการขอโทษ  มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  และทุกคนยอมรับร่วมกัน  คนจีนที่นานกิงเขาก็ได้รู้ว่ามีกระบวนการที่ทำให้เขาได้รับความเป็นธรรม  แต่ถามว่าเขาจำอดีตได้ไหม  เขาก็จำได้  เรื่องความรุนแรงเรื่องความขัดแย้งมันมีทุกแห่งทั่วโลก  แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้คนกลับมาอยู่ด้วยกันได้  ต้องมีกระบวนการ  ถ้าเราไปศึกษาที่อื่นมันจะมีกระบวนการเปิดเผยความจริง  truth  commission  ผู้กระทำผิดต้องรู้ตัวว่าทำผิดและขอโทษ  เร็วๆ  นี้ก็มีข่าว  คงจำภาพเด็กแก้ผ้าวิ่งตอนระเบิดลงที่เวียดนาม  แล้วที่อเมริกามีงานงานหนึ่ง  เด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วขึ้นไปพูดเรื่องที่เขาเจอตอนเด็กๆ  จากนั้นก็มีนายทหารอเมริกันคนหนึ่งที่เกษียณไปแล้วมาพูดว่าเขาคือคนที่ทิ้งระเบิดลูกนั้น  เขาเสียใจและเขาอยากขอโทษ  เสร็จแล้วมันจบ  และผู้หญิงคนนี้ก็บอกว่าเขาไม่เคยติดใจ   ไม่เคยโกรธแค้น   และไม่เคยคิดที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้"


     "นี่คือกระบวนการที่จะทำให้คนรู้สึกว่าเขาพอใจแล้วมันจบ  ไม่ใช่ว่าทุกวันนี้เวลาพูดถึงภาคใต้   เราก็พูดย้อนไปถึงเรื่องสมัยรัฐปัตตานี  หะยีสุหรง  ซึ่งเราไม่สามารถเคลียร์อะไรได้เลย  และเราก็พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก  พี่เคยพูดกับท่านถาวร  เสนเนียม  พูดกับกระทรวงการต่างประเทศ  กรณีกรือเซะที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง  และก็พูดกับอัยการสูงสุด  ถามท่านว่าเรื่องกรือเซะมันคาใจประชาชน  ท่านส่งฟ้องไปไม่ได้หรือ  แล้วให้ผู้เสียหาย  รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐต่างคนต่างนำพยานหลักฐานมาให้ศาลดู  แล้วให้ทุกคนมีโอกาสพิสูจน์ความจริง  ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรทุกคนต้องยอมรับนะ  ทุกคนต้องเชื่อมั่นในความเป็นอิสระของศาล  พี่ว่ามันจบ  มันจะไม่มีการมารื้อฟื้นอีก  คือวันนี้คนก็พูด-กรือเซะอัยการก็ไม่ฟ้อง  และตากใบอัยการจะฟ้องไหม  ทุกเรื่องที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  กลไกรัฐต้องเยียวยาด้วยความเป็นธรรม  ท่านถาวรบอกว่าอัยการวันนี้เป็นองค์กรอิสระ  รัฐแทรกแซงไม่ได้  แต่อัยการก็ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอยู่  เป็นข้าราชการอยู่   อัยการก็ต้องมีสำนึกในการที่จะผลักดันกระบวนการยุติธรรมให้ขับเคลื่อนไปได้เช่นกัน  พี่ก็อยากจะฝากเลยว่ากรณีตากใบเป็นกรณีสำคัญนะ  ถ้าอัยการยังนิ่งเฉยอยู่และไม่ฟ้องจะไม่เป็นผลดี  และคนพูดอีก  100  ปีก็ไม่จบ  ทุกครั้งที่ก่อเหตุรุนแรงก็จะเอาเรื่องตากใบเรื่องกรือเซะขึ้นมาอีก  เอาเรื่องคุณสมชายขึ้นมาอีก  เพราะฉะนั้นมันต้องมีการยอมรับความจริงร่วมกัน"


     "กรณีคุณสมชาย  พี่พูดมาตลอดเลยว่าสุดท้ายพี่อาจจะไม่ได้อะไรก็ได้  แต่ก็ได้ทำเต็มที่ได้ทำสุดความสามารถแล้ว  มันได้แค่นี้  กระบวนการยุติธรรมไทยต้องกลับมาพิจารณาว่าถ้าคนเล็กคนน้อยมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ระดับสูง  กระบวนการยุติธรรมจะอยู่อย่างไร  จะยอมให้คนเล็กคนน้อยถูกรังแกไปเรื่อยๆ  หรือเปล่า  กระบวนการยุติธรรมจะต้องปฏิรูปไหม  ตรงนี้พี่ยังเชื่อว่าสุดท้ายคดีคุณสมชายจะไม่ได้อะไร  แต่มันจะนำมาสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เสียหายจะต้องให้ความร่วมมือทุกเรื่อง  มัสยิดที่เจาะไอร้อง  ใครรู้เบาะแสต้องมาให้ข้อมูล  อย่ากลัว  ถ้าเมื่อไหร่บอกว่าคุณกลัวคุณไม่พูด  แล้วคุณไปพูดข้างหลัง   มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย  และไม่สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมทำหน้าที่ได้ด้วย  เจ้าหน้าที่หาหลักฐานมาแทบตาย  สุดท้ายอัยการบอกว่าหลักฐานไม่น่าเชื่อถือสั่งไม่ฟ้อง  มันจบแค่นั้นเลย  มันไม่ขึ้นสู่ศาลด้วยซ้ำไป  เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญ  เจ้าหน้าที่สำคัญ  ผู้เสียหายก็สำคัญ"


     "งานนิติวิทยาศาสตร์วันนี้ดีมากเลยนะ  เมื่อก่อนตำรวจใช้พยานซัดทอด  เดี๋ยวนี้ตำรวจใช้หลักฐานนิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น  ไม่เหมือน  4  ปีที่แล้วใช้พยานซัดทอด  พอขึ้นศาลกลับคำก็หลุดหมดเลย  ตอนนี้ใช้นิติวิทยาศาตร์  แต่ก็จะมีปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์อีก  ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องลดอัตตาและเห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อความเป็นธรรมของประชาชน  มันมีคดีที่ยะลาเมื่อเดือนเศษที่ผ่านมา   11  สำนวนที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวนการสืบสวนสอบสวน  ถามว่าทำไมจึงไม่ปรากฏหลักฐาน  แล้วหลักฐานมันไปไหนล่ะ  ในเมื่อเจ้าหน้าที่ก็ลงไปเก็บกัน  ถ้าสมมติว่าหลักฐานมันไม่มีอยู่ในสำนวน  เป็นเพราะบางหน่วยงานไม่ให้หลักฐาน  ทั้งๆ  ที่ตัวผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิด  มันเรื่องใหญ่นะที่เราจะปล่อยตัวผู้กระทำผิดไป    แต่ถ้าไม่มีหลักฐานจริงแล้วท่านเอาเขามาควบคุมตัว  กฎอัยการศึก  7  วัน  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  30  วัน  ฟ้อง  ป.วิอาญาฯ  อีก  84  วัน  มันกี่เดือนล่ะ  ถ้าไม่มีหลักฐานจริงๆ  แล้วเอาเขามาควบคุมขนาดนี้มันไม่ได้  เพราะฉะนั้นตรงนี้งานนิติวิทยาศาสตร์สำคัญนะ  และต้องไปทางเดียวกัน"


     "เคยถามท่านรองชาญเชาวน์ว่าสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมออกแบบมาเพื่อที่จะรับรองมาตรฐาน   แต่ไม่ได้มีหน้าที่ให้บริการ  คือไม่มีศักยภาพในการที่จะให้บริการได้  วันนี้นิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมเองลงไปทำงานให้บริการ  ฝึกทหารเข้ามาตรวจสถานที่เกิดเหตุ  ตรวจดีเอ็นเอ  จะได้ถ่วงดุลกับตำรวจ  แต่ชาวบ้านถามว่าแล้วทำไมต้องไปอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธฯ   ล่ะ   นิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมหาที่อยู่เองไม่ได้  หรือมาอยู่ที่  ศอ.บต.ก็ได้  ทำไมต้องไปอยู่ในค่ายอิงคยุทธฯ  แล้วจะเป็นกลางมั้ย  ชาวบ้านเขาคิดแบบนี้  ก็เห็นว่ากระทรวงยุติธรรมนี่แหละเป็นหน่วยงานที่ประชาชนพึ่งได้  นิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรมต้องอิสระ  ถ้าจะต้องเทรนคนมาเก็บวัตถุพยานก็นาจะต้องเอาพลเรือนเอาบุคลากรในกระทรวงนั่นแหละมาทำ"


     อังคณาเล่าด้วยว่า  บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ปักใจเชื่อมั่นในเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อย่างผิดๆ

 


     "มันมีกรณีการใช้เครื่องมือตรวจสารประกอบระเบิดที่เรียกว่า  GT200  คือวิธีการในการหาพยานหลักฐาน  ต้องมีความน่าเชื่อถือได้  GT200  มันจะ  sensitive  กับสารประกอบวัตถุระเบิด  เช่นยูเรีย  ในสังคมเกษตรกรรมใน  3  จังหวัดภาคใต้ปุ๋ยมันมีทั่วไป  ชาวบ้านก็จะสัมผัสกับสารเหล่านี้อยู่ตลอด  เสื้อผ้าเขาก็มี  ไปถามผู้เชี่ยวชาญหรือไปค้นในอินเทอร์เน็ตดูก็ได้  การที่เราจะรู้ว่าใครจับต้องวัตถุระเบิดจริงไหม  ต้องเอาเนื้อซอกเล็บไปตรวจ  ซึ่งก็ไม่ยาก  แต่พอเอาเครื่อง  GT200  ไปตรวจเจอคนไหนเครื่องมัน  detect  มันร้อง  เราเอาเขามาควบคุมตัวแล้วสอบ  30  วัน  ชาวบ้านก็คิดว่ามันไม่เป็นธรรม  ที่สำคัญคนที่  sensitive  ต่อเครื่องนี้  รายชื่อถูกทำเป็น  black  list  ซึ่งมันไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน  มันควรจะมีระบบตรวจสอบมากกว่านี้  ไม่ใช่ว่าแค่เครื่อง  detect  ปุ๊บก็หาว่าเขาจับต้องวัตถุระเบิด  ซึ่งมันไม่ใช่  เคยมีผู้หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดก็มี  มือไม้เขาไปจับปุ๋ย  ฉะนั้นวิธีการหาพยานหลักฐาน  การนำตัวประชาชนมาควบคุมตัว  ถ้าคนทำผิดจริงไม่เป็นไร  แต่ถ้าเอาคนบริสุทธิ์หลุดเข้ามาสักคน  และยิ่งถ้าถูกซ้อม  มันมีเรื่อง"


     กรณีนี้เคยเกิดเรื่องลุกลามมาแล้ว


     "ที่บ้านกอตอ   อ.รือเสาะ   มีการไปปิดล้อมตรวจค้น  เอาอิหม่ามยะหากาเซ็งกับพวก  5-6  คนมาควบคุมตัวที่  ฉก.39  วัดสวนธรรม  ตรงนั้นไม่มีสถานที่ควบคุมตัว  ก็เอาไปควบคุมในรถขนผู้ต้องหา  อยู่ได้คืนแรกก็เอาตัวไปสอบบ้างไปซ้อมบ้าง  อิหม่ามอายุมากแล้ว  มีเด็กอีกคนอายุ  19  ถูกซ้อมแต่ไม่ตาย  เด็กคนนี้โดนวิธีแปลกประหลาดมากคือใช้เข็มฉีดยาจิ้มเข้าไปในซอกเล็บ  แล้วมันจะเป็นรอยเลือดออกเป็นทางยาว  พ่อแม่เขาไปเยี่ยมแล้วเขารับไม่ได้  โต๊ะอิหม่ามกับลูกชายก็ถูกจับด้วย  เอามาสอบ  มาซ้อม  3  เที่ยว  เหตุเกิดเดือน  มี.ค.2551  ครั้งที่สามเดินกลับมาไม่ได้เจ้าหน้าที่ลากมา  โต๊ะอิหม่ามก็บอกลูกว่าเขาไม่ไหวแล้วช่วยส่งโรงพยาบาลหน่อย  แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตคาตักลูกชาย  ชันสูตรศพก็ปรากฏผลเอกซเรย์กระดูกซี่โครงหักทิ่มปอด  ซ้ายขวาหน้าหลัง  และมีบาดแผลตามตัวเหมือนรอยบุหรี่จี้  อันนี้ชัดเจนเลย  เป็น  case  เดียวที่ชัดเจนมากใน  3  จังหวัด  และคนที่ถูกควบคุมตัวที่ถูกเอาวิธีการของทหารเสนารักษ์จิ้มเข้าไปในซอกเล็บ  มันเจ็บจะตาย  ทำได้ยังไง"


     คดีนี้ศาลไต่สวนแล้ว


     "ไต่สวนการตายแล้ว  และมีคำสั่งเมื่อปลายปีที่แล้วว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร  4-5  นายเป็นคนทำให้เกิดการเสียชีวิต  และตอนนี้ส่งเรื่องเข้า  ป.ป.ช.ให้สอบวินัย  แต่ส่วนตัวเห็นว่าถึงส่งให้   ป.ป.ช.แล้วก็ควรจะนำเข้าสู่ศาลทหารได้เลย  ไม่ควรต้องรอ  ป.ป.ช.สอบอีก  2  ปี  ประชาชนก็รู้สึกว่าแล้วอย่างนี้ความเป็นธรรมมันอยู่ตรงไหน"


     ทหารชุดนี้ถูกย้ายออกทันทีหลังเกิดเหตุ  ย้ายกลับเพชรบูรณ์  และถูกกักบริเวณ  เป็นคดีที่ชัดเจนที่สุด


     "ชัดที่สุดเพราะตายในระหว่างการควบคุมตัว  กระดูกหักทิ่มปอด  ตอนแรกเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นประมาณว่าอาจจะปั๊มหัวใจ  กระดูกเลยหัก   แต่หมอที่ตรวจศพมาเบิกความให้การต่อหน้าศาลบอกว่าตั้งแต่เรียนหนังสือมาก็ยังไม่เคยได้ยินว่ามีการปั๊มหัวใจแล้วทำให้กระดูกซี่โครงหัก  คุณหมอให้การดีมากในคดีนี้  คุณหมอจะบอกเลยว่าแผลตรงนี้เป็นลักษณะการถลอก  น่าจะมีการครูดกับของแข็งไม่มีคม  ก็สอดรับกับการให้การของพยานซึ่งเป็นลูกชายของผู้ตายว่าถูกลากไปตามพื้น"


     เจ้าหน้าที่มีความเชื่อเรื่องเครื่องตรวจระเบิดที่ผิดๆ

     "ต้องยอมรับว่าอันนี้คือเบื้องต้น   อย่าคิดว่าพอมันไป  detect  ใครแล้วคนนั้นเป็นโจร  คือจริงๆ  มันมีปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ต้องยอมรับและเข้าใจกฎหมาย  รัฐธรรมนูญบอกไว้เลยว่าต้องสันนิษฐานว่าทุกคนคือผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา  เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามว่าทุกคนคือคนบริสุทธิ์  จนกว่าศาลจะพิพากษา  ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตได้  แต่ท่านจะไปกระทืบเขาตายเองไม่ได้"

    

การเมืองนำการทหาร


     ตั้งแต่รัฐบาล   ปชป.ขึ้นมา   บอกว่าจะดูแลปัญหาภาคใต้  แต่ก็เข้าไปดูแลอะไรไม่ได้มาก

     "ไม่ใช่ว่ามันดูไม่ได้   แต่หมายถึงประชาธิปัตย์ต้องชัดเจนนะ  การเมืองนำการทหารคืออะไร  และต้องบอกเจ้าหน้าที่ทหารด้วยว่าการเมืองนำการทหารคืออะไร  เพราะวันนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังเข้าใจว่าการเมืองนำการทหารก็คือการที่ทหารไปจัดโครงการพัฒนาต่างๆ   ซึ่งมันไม่ใช่   การเมืองนำการทหารก็คือการเมืองภาคพลเมืองตามที่รัฐธรรมนูญบอกไว้  คือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม   การเมืองที่อำนาจทุกอย่างไม่ได้อยู่ภายใต้เจ้าหน้าที่ทหารอย่างเดียว  ทุกวันนี้  ผอ.กอ.รมน.คือนายกรัฐมนตรี  ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีต้องมีอำนาจจริง  โครงสร้าง  กอ.รมน.ควรปรับไหม   โดยการที่อย่ามีทหารอย่างเดียว  มีการมีส่วนร่วมของประชาชน  มีผู้นำศาสนา   มีนักวิชาการ  ภาคประชาชน  กลุ่มผู้หญิง  และมีหน่วยงานความมั่นคง  เป็นคนกำหนดนโยบาย   นี่คือการเมืองนำการทหาร   มันไม่ใช่การเมืองนำการทหารแบบที่ทหารทุกวันนี้เข้าใจว่าคือการที่ทหารเข้าไปพัฒนา  ไปทำโครงการ  ไปสานเสวนา  มันไม่ใช่  และมันมีคำหนึ่งที่ใช้กันมาตลอดคือปฏิบัติการจิตวิทยา   ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งกัน  จิตวิทยาใช้ไม่ได้  ความจริงเท่านั้นที่จะช่วยได้   คือถ้าคุณไปใช้จิตวิทยาคุยกับเขา   เขารู้เลยว่ามาหลอกอะไรเขาอีก  และเขาไม่เชื่อ   แต่ต้องเอาความจริงเข้าไป  เอาความยุติธรรมเข้าไป  สิ่งเหล่านี้มันจะสร้างความไว้วางใจได้  เมื่อไว้วางใจได้ก็เริ่มที่จะสื่อสารกันแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน"

 


     "คือวันนี้ประชาชนก็ผิดหวังนักการเมือง   ถ้าเราไปคุยกับชาวบ้าน   เขาจะพูดเลยว่านักการเมืองส่วนใหญ่เขาพึ่งพาไม่ได้  ถามว่าแล้วเลือกไปทำไม  เขาบอกก็ไม่รู้จะเลือกใคร  ก็เห็นเป็นมลายูด้วยกัน  แต่เลือกไปแล้วก็ไม่มีประโยชน์  เขาเคยพูดขนาดที่ว่า  ต่อให้มีเขตปกครองพิเศษจะแก้อะไรได้   ทุกวันนี้เลือกผู้ใหญ่บ้านยังยิงกันตายเลย  คือชาวบ้านเขาไม่ได้คิดถึงอะไรที่เป็นความพิเศษกว่าที่อื่นเลย   เขาแค่ขอให้คุณเข้าใจอัตลักษณ์เขานะ  เข้าใจว่าเขาพูดมลายูนะ   เขาแต่งกายแบบนี้  เขาอยากเรียมลายูนะ  เขามีสิทธิที่จะกำหนดเจตจำนงของเขาว่าเขาอยากอยู่แบบนี้   คุณต้องเคารพศักดิ์ศรีเขานะ  เขาอาจจะเป็นคนยากคนจนใส่รองเท้าขาดๆ   แต่ศักดิ์ศรีเขากับท่าน    ผบ.ทบ.เท่ากัน  ศักดิ์ศรีความเป็นคนมันเท่ากัน  คำพูดที่ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจต้องไม่มี  ไม่ใช่ท่านต้องไปบอกว่าให้เขาพูดไทย  ในเมื่อมันเป็นภาษาแม่ก็ต้องให้เกียรติว่ามันคือภาษาแม่ซึ่งเขาต้องอนุรักษ์   ซึ่งก็ต้องยอมรับ  แต่เราก็ต้องบอกชาวบ้านว่าต้องรู้ภาษาไทยด้วยนะ   ไม่ใช่รับหนังสือมีตราครุฑหน่อยมือไม้สั่นทำอะไรไม่ถูกเพราะอ่านไม่ออก  มันต้องปรับกันทั้ง  2  ฝ่าย"


     ตอนนี้นักการเมืองรู้สึกว่ามีบทบาทน้อยกว่าทหาร


     "คุณพีรยศมานั่งแถลงข่าวเหมือนกับว่าพรรคประชาปัตย์ไม่เห็นความสำคัญของ  ส.ส.  ขนาด  ส.ส.พื้นที่เขาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้ความสำคัญ  อันนี้เป็นเรื่องภายในพรรคคุณว่าไป   แต่บทบาทความเป็นตัวแทนประชาชนถึงพรรคไม่ให้ความสำคัญคุณก็มีอำนาจ   คุณพูดแทนประชาชนได้   ชาวบ้านตรงนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมคุณพาเขาไปพบแม่ทัพภาค  4  ได้นี่  ทำไมคุณไม่ทำล่ะ   ตรงนี้เรายังไม่เห็นบทบาทของผู้แทนราษฎรของ  3  จังหวัดภาคใต้ที่ทำแบบนี้สักเท่าไหร่"


     คุณถาวรล่ะ


     "ก็ดูหลักการดี  แต่ถามว่าถ้าไม่มีกฎหมายแล้วคุณถาวรจะไปทำอะไรได้  ถ้าไม่มี  พ.ร.บ.จชต.คุณถาวรจะทำอะไรได้"

     เหมือนประชาธิปัตย์ตั้งใจเข้ามาแก้แต่ทำอะไรไม่ได้


     "วันนี้เขายังอยู่ใต้ทหารหรือเปล่า  ถ้าใช่แล้วเขาจะทำอะไรได้  พี่ก็พูดตลอดว่าคุณอภิสิทธิ์คนเดียวทำอะไรไม่ได้หรอก   มันต้องมีประชาชนหนุนเพื่อให้คุณอภิสิทธิ์ทำงาน  ถ้าคุณอภิสิทธิ์ทำคนเดียวไม่มีทาง   เอาแค่  ศบ.จชต.นี่ก็ไม่ง่าย  ท่านนายกฯ  ถูกทุบรถ  เดินเข้าไปได้ยังไงคนเดียว  ทหารหายไปไหนหมด  พี่ก็ยังรู้สึกว่าทหารมีอิทธิพลมากกับรัฐบาลนี้"

     ถ้าอย่างนี้ประชาธิปัตย์ไม่มีทางแก้ได้เลยหรือ


     "ประชาชนต้องสนับสนุน   สมมติท่านนายกฯ  บอกว่าทบทวนการใช้  พ.ร.ก. ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก   พ.ร.ก.ต้องกล้าออกมาให้ข้อมูล  เพาะไม่อย่างนั้นทหารก็บอกว่าทำวิจัยแล้วชาวบ้านชอบ  แล้วมันจบไหม  ไปเถียงได้ยังไง  แต่ถ้าประชาชนออกมาพูด  คนที่ได้รับผลกระทบมาให้ข้อมูล   เช่น  รัฐบาลให้  มอ.ปัตตานีทำวิจัยว่าชาวบ้านชอบ  พ.ร.ก.ฉุกเฉินไหม  คือมันต้องมีอะไรมาถ่วงดุล"

     สภาพปัจจุบัน  ศอ.บต.ทำอะไรไม่ได้มาก

     "ทำอะไรไม่ค่อยได้   เรื่องยุติธรรมนี่ทำอะไรไม่ได้เลย   ทำงานพัฒนาในหมู่บ้านที่ไม่แดง  หมู่บ้านแดงก็ทหารดู  การสอบสวนใช้พลเรือน  ทหาร  ตำรวจ  แต่พลเรือนไม่มีส่วนเลย  รองผู้ว่าฯ  ยะลาเคยทำหนังสือถึงหน่วยงานความมั่นคงว่า  ทหารเข้าไปเยอะๆ  ในหมู่บ้าน  วัฒนธรรมของคนมุสลิม  ลูกสาวเขา  เมียเขา  บางทีเขาไม่อยากให้คนต่างถิ่นเข้าไปหรอก  เขาหวง   การเข้าไปแล้วพูดจาแซว  เกี้ยวพาราสี  เขาไม่ชอบ  หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดหรอก   เขาก็รู้สึกไม่ชอบ  ฝ่ายปกครองที่ยะลาเลยเสนอ  ทำหนังสือถึงหน่วยงานความมั่นคงว่าลองให้ถอนทหารออก   ให้เขาดูแลกันเอง  ใช้กฎเกณฑ์ของเขาเอง  ถ้ามันยังมีเหตุเกิดเราเข้าไปได้เลย  แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ไว้ใจ"

     "ในหมู่บ้านสีแดงเขาเรียกหมู่บ้าน   3   ส.   217  แห่ง  วันนี้เขาเอาชุดพัฒนาสันติอะไรไม่รู้ไปอยู่เกือบ  30  คน  ทหาร  25  คน  แล้วมี  อส.มีตำรวจ  อยู่กันเต็มเลย  และวันดีคืนดีท่าน  ฉก.ก็มีวิธีการให้ชาวบ้านมาประชุม  คือเหมือนไปปกครองเขาเป็นหน่วยย่อยๆ  พี่ได้รับหนังสือฉบับหนึ่ง  มีคนส่งมาให้  จาก  ฉก.2  ตัวถึงหัวหน้าครอบครัว  เนื่องจากการประเมินผลของหมู่บ้าน  3  ส. ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร  ดังนั้น  ข้อ  1  หากเชิญแล้วไม่มาร่วมประชุมเจ้าหน้าที่จะไปเยี่ยมและตักเตือน  ข้อ  2  ถ้าไปตักเตือนแล้วยังไม่มาจะต้องให้มารายงานตัว  3  ครั้ง  ข้อ  3  ถ้าไม่มารายงานตัวจะนำตัวส่งศูนย์ซักถาม  นี่เท่ากับว่าท่านไปคุมประพฤติเขาเลยนะ   เหมือนค่ายกักกัน  สิ่งที่ชาวบ้านพูดคือเหมือนเขาเป็นเมืองขึ้น   ถึงเขาไม่ได้ติดคุกแต่มันเหมือน   จะออกจากหมู่บ้านเขาต้องไปเซ็นต้องไปขออนุญาต  เรียกไปเขาก็ต้องไป  ถ้าเขาติดทำมาหากิน  หรือจะขี้เกียจอยากจะนอน  ก็ไม่ได้  เรียกแล้วต้องไป  ถ้าไม่ไปก็จะแห่กันมาเตือน  กลายเป็นคนผิดไปเลย  ทั้งๆ  ที่เขาอาจจะแค่รำคาญ  ไม่อยากไป  ถ้าคุณเข้าไปอยู่แล้วทำให้ชาวบ้านเขาเกลียดแล้วคุณจะได้ใจเขาหรือ"

     "พี่เคยไปที่สายบุรี   ระหว่างนั่งคุยกับชาวบ้านก็มีทหารขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามา   3   คัน  ผู้บังคับหน่วยเป็นร้อยตรีเพิ่งจบ   อายุ   22-23   คนอยุธยา   เขาก็มานั่งด้วย  4-5  คน   พี่ถามสารทุกข์สุกดิบ   ก็มีคนหนึ่งบอกพี่เชื่อไหมผมอยู่ที่นี่มาตั้งหลายปีไม่เคยมานั่งกับชาวบ้านเลย   ถ้ามีโอกาสได้คุยกันแบบนี้ก็คงจะดี  พี่ก็พูดกับผู้ใหญ่บ้านว่าผู้หมวดนี่รุ่นลูกเรานะ  ถ้าลูกเราไปอยู่ในที่ที่มีแต่คนเกลียด   เราก็คงนอนไม่หลับ  ผู้ใหญ่ต้องคอยดูแลเขานะ  พ่อแม่เขาก็คงนอนไม่หลับ  ปรากฏว่าอีก  2-3  คนทั่งนั่งอยู่ก็บอกคุณอังคณาครับผมก็มีลูกเมียเหมือนกัน  คือทุกคนก็มีคนเป็นห่วง"

     ปัญหาอีกอย่างของทหารคือย้ายบ่อย  "พอชาวบ้านเริ่มจะไว้ใจ  เริ่มจะคุย  เริ่มจะสบตาก็ย้าย"

     "ทหารชั้นผู้น้อยอยู่ปีเดียว  แต่จะมีระดับที่มาแล้วพอได้ตำแหน่งก็ไป  อาจจะ  2 ปี   หรือบางทีได้เงิน  พสร. เดือนละพันสองพัน  ตลอดชีวิต"

     "ทหารที่ไปก็ผู้หมวดจบใหม่หรือทหารเกณฑ์   "หน้าใสๆ  ทั้งนั้น  บางทีก็สงสาร  พี่คุยกับพลทหารบอก   เดือนหรือสองเดือนผมได้พัก   10  วัน  บ้านอยู่อุบลฯ อุดรฯ  ต้องนั่งรถไฟ   กว่าจะไปก็   2  วันกว่าจะกลับ  2  วัน  ฉะนั้น  10  วันพอไหม  ระดับผู้ใหญ่ต้องคิดด้วย  ไม่เหมือนท่านนั่งเครื่องบินไปเช้าเย็นกลับยังได้"

     ที่ประหลาดใจคือตำรวจกลับปรับปรุงตัวได้ดี

     "ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อก่อนชาวบ้านเกลียดตำรวจมาก   แต่ตอนนี้เขาเริ่มคุยกับตำรวจ   พี่ลงไปล่าสุดเขามาเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ตำรวจเขาดีนะ   เขาเรียนภาษามลายู  คือชาวบ้านมาสะท้อนเอง  มันไม่น่าเชื่อว่าเปลี่ยนได้ภายใน  2-3  ปี  เมื่อก่อนใช้พยานซัดทอด  ซ้อมบ้าง  จนพูดแล้วไปขึ้นศาล   แต่ตอนนี้เขาพัฒนาระบบนิติวิทยาศาสตร์  เรื่องอุ้มไม่มีเลย  แต่ก่อนตำรวจทั้งนั้นเลยนะ"

     ในช่วงหลังไม่มีอุ้มแต่ชาวบ้านเชื่อว่ามีการตามฆ่า

     "การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม   เป็นกองกำลังติดอาวุธที่เราไม่รู้ว่าใคร   แต่มันจะแก้ได้โดยเจ้าหน้าที่ต้องหาตัวผู้กระทำผิดให้ได้   ถ้าชาวบ้านสงสัยว่าอะไรก็แล้วแต่  อย่างที่ปะแตฆ่า  6  ศพ  เมื่อเดือนที่แล้ว  ชาวบ้านบอกว่ารถปิ๊กอัพขนอาวุธสงครามเข้ามาได้ยังไง  ด่านตั้งเยอะ   เจ้าหน้าที่ก็บอกสงสัยพวกนี้เก็บกันเอง  อิทธิพลท้องถิ่น  รถผ่านด่านมาแล้วขนอาวุธที่ข้างทาง   ที่ปะแตเคยมีกรณีเมื่อปี  2550  ที่ชาวบ้านบอกว่ามีฆ่าข่มขืนและประท้วงใหญ่ที่มัสยิดกลางปัตตานี  ตอนนั้นมองหน้ากันไม่ได้เลย  มีครอบครัวหนึ่งที่สามีตาย  ลูกสาวตาย  หลานชายอีก  2  คน  รวมแล้ว  4  คนได้รับเงิน  4  แสน  เขาไม่เอา  คือคล้ายๆ  เขาต่อต้านรัฐโดยไม่เอาเงิน   พนักงานสอบสวนบอกว่าพี่เจอเขาช่วยบอกเขามาแจ้งความหน่อย  มันไม่มีโจทก์  ไม่มีผู้เสียหาย  case  นั้นที่พี่กับโฆษกกองทัพบกเถียงกันตลอด  โฆษกบอกว่าไม่ได้ข่มขืน   พี่ไปถามหมอ   หมอบอกว่าไม่ได้ตรวจภายใน  ไม่ได้บอกนี่ว่าถูกข่มขืนจะได้ตรวจภายใน    หมอก็ตรวจแต่ภายนอก  ผู้เสียหายไม่ได้บอกว่าถูกข่มขืน  พี่ถึงบอกท่านอดีตโฆษกว่าในเมื่อไม่ได้ตรวจภายในไปพูดได้ยังไงว่าเขาไม่ได้ถูกข่มขืน  มันพูดไม่ได้  พูดไปมันทะเลาะกัน"

     เรื่องยิงมัสยิดชาวบ้านเขามองอย่างไร

     "เมื่อเช้าพระถูกยิงมรณภาพและบาดเจ็บสาหัส   มันเป็นเหมือนเครือข่าย  พอตรงนี้โดน  ตรงนั้นก็จะเอาคืน   พี่ว่าตอนนี้ทุกฝ่ายควรจะหยุดพูดและให้เจ้าหน้าที่ทำงาน  แล้วให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้"

     เป็นครั้งแรกหรือเปล่าที่ยิงในมัสยิด

     "ปี   2550   ที่ไอบาตู  นราธิวาส  ตอนนั้นมีอุสตาซผู้หญิงตายคนหนึ่ง  และที่มัสยิดทุ่งโพธิ์ อ.หนองจิก  ปัตตานี   ปี  2551  ตาย  2  ศพ  บาดเจ็บอีกหลายคน  ครั้งนี้ตายเยอะมาก  11  คน  บาดเจ็บ  10 กว่าคน"

     ชาวบ้านไม่เชื่อว่าเป็นมุสลิม

     "เขาจะบอกเลยว่ามุสลิมคงไม่ยิง  แต่ก็ต้องบอกว่าชาวบ้านอย่าไปตั้งเป้า  เพราะบางทีเราก็ต้องยอมรับคนมุสลิมที่เป็นมิจฉาชีพก็มี   อาชญากรก็มี   ฉะนั้นชาวบ้านอย่าไปตั้งเป้าอย่างนั้น   เจ้าหน้าที่ก็อย่าไปบอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำแน่  ขอให้พนักงานสอบสวนทำงาน  แล้วชาวบ้านก็ต้องมีโอกาสตรวจสอบ"

     2  ครั้งก่อนจับได้ไหม

     "ไม่ได้   ได้แต่การเยียวยา  ถึงบอกว่าที่ผ่านมันมีการเยียวยาด้วยเงิน  แต่ไม่มีการเยียวยาด้วยความเป็นธรรม"

     ครั้งนี้ทำให้คนมุสลิมในจังหวัดอื่นไม่พอใจด้วย

     "มุสลิมทั่วโลกก็ไม่พอใจ  ศาสนสถานควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย   ไม่ว่าวัดหรือมัสยิด  ปัญหาเวลานี้คือไม่เคยจับผู้กระทำผิดได้   เจ้าหน้าที่ต้องจับตัวผู้กระทำผิดให้ได้  แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเบาะแสที่สำคัญคือคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ     ซึ่งชาวบ้านต้องไว้ใจเจ้าหน้าที่และให้ความร่วมมือ   และถ้าชาวบ้านพูดแล้วก็ต้องคุ้มครองพยานด้วยนะไม่ใช่มาถามๆ     เขาเสร็จแล้วออกไปเลย   คือที่ชาวบ้านเขาสงสัยเพราะหลังมัสยิดเป็นป่าไผ่  และมีค่ายทหารพรานเขาเลยสงสัย  ส่วนเขาจะมีความขัดแย้งกับทหารมาก่อนหรือไม่  เจ้าหน้าที่ก็ต้องสอบชาวบ้าน  และให้ความคุ้มครองพยาน   แต่กระบวนการยุติธรรมช้า  ประชาชนก็ต้องใจเย็น  ผู้นำศาสนาก็ต้องออกมามีบทบาทมากขึ้นด้วย"

     ผู้นำศาสนาดูเงียบๆ

     "เขาบอกว่าเขาก็ถูกขู่  เราก็บอกอายุตั้ง  70  กว่าทั้งนั้น  70  ยังกลัวตาย  แล้วคนที่มีศักยภาพเป็นประธานอิสลาม   เป็นผู้นำศาสนา  คนมีศักยภาพยังกลัว  แล้วชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยจะอยู่ยังไง   ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน  ฆ่าแล้วเผา  ฆ่าตัดคอ  ฆ่าพระ  ผู้นำศาสนาก็ต้องบอกว่าทำอย่างนี้ผิดบาปมากนะ   ไม่ใช่บอกว่าพูดไม่ได้   พูดแล้วมันโทร.มาถามว่าอยากอยู่นานๆ  ไหม  พี่เคยคุยกับท่านอานันท์  ปันยารชุน  ท่านบอกว่าถ้าเราอยู่คนเดียว  10-20  คนเขาทำอะไรเราเมื่อไหร่ก็ได้   แต่ถ้าเรามีเป็นหมื่นเป็นแสนคน  ไม่มีใครทำอะไรเราได้  เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งของประชาชนถึงจะทำให้เกิดความสงบ  เกิดสันติภาพ  ถึงจะยุติความรุนแรงได้".
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น