วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

คอนเสิร์ตซิมโฟนี 80 ปี"จิตร ภูมิศักดิ์" วันเสาร์ที่ 13 มิ.ย.2552 เวลา 18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6765 ข่าวสดรายวัน


คอนเสิร์ตซิมโฟนี 80 ปี"จิตร ภูมิศักดิ์"







"เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินอีสาน อีกนาน อีกนาน อีกนาน เขาตายเหมือนไร้ค่าแต่ต่อมาก้องนาม ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน

ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดนักเขียน ดั่งเทียนผู้ถ่องแท้แก่คน..."

คนส่วนใหญ่รู้จักชื่อ "จิตร ภูมิศักดิ์" จากบทเพลงของวงคาราวาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ภาพของชายร่างสันทัดใส่แว่นหน้าเข้ม ถูกเผยแพร่เคียงข้างโปสเตอร์ เช กูวาร่า นายแพทย์นักปฏิวัติแห่งละติน อเมริกา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษในใจคนหนุ่มสาวผู้ปรารถนาสังคมใหม่ในยุคนั้น

"ชีวิตของจิตร เป็นเหมือนความลับที่ถูกเปิดเผยออกมา เป็นชีวิตต้องห้าม ที่แง้มออกมาจากห้องลับ หนังสือมากมายถูกค้นพบ นามปากกามากมายของจิตรถูกพิสูจน์ เป็นความประจวบเหมาะ คล้ายเป็นความคิดที่อาจนำพาสังคมออกจากถ้ำไปสู่ความหวังเบื้องหน้า" สุรชัย จันทิมาธร หรือ "หงา คาราวาน" เผยความรู้สึกถึงจิตร

ในบรรดาผลงานหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นงานค้นคว้าวิชาการอันน่าทึ่ง ความเรียง และบทวิจารณ์อันเข้มข้น บทกวีอันเต็มไปด้วยพลังของภาษา

แต่ "เพลงของจิตร" นับเป็นผลงานที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ในการสร้างจิตใจที่ฮึกเหิมของคนหนุ่มสาวผู้มุ่งมั่นจะรับใช้ประชาชน แม้จะพ้นยุคสมัยของการต่อสู้ทางอุดมการณ์มาแล้วหลายสิบปี ดังเช่นเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" หนึ่งในเพลงของจิตร ที่ไม่มีวันตาย

ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ดร.สุกรี เจริญสุข ได้นำเพลงของจิตรมาเรียบเรียงเสียงประสาน บรรเลง และขับร้องประสานเสียง โดยวงดุริยางค์ซิมโฟนี แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำเสนออัจฉริยภาพด้านดนตรีและบทเพลงของจิตรสู่สาธารณชน



"จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นศิลปิน เป็นกวี นักภาษา นักประวัติศาสตร์ โบราณ คดี นักปราชญ์ เป็นนักคิดผู้กล้า นักปฏิวัติผู้มีอุดมการณ์ เป็นนักสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นผู้มาก่อนกาล มีจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ สร้างพลังและแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังมหาศาล" ดร.สุกรีกล่าวถึงเจตจำนงริเริ่มคอนเสิร์ตเพลงของจิตร

หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดแสดงคอนเสิร์ตเพลงของจิตร ร่วมกับรายการดนตรี กวี ศิลป์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเดือนต.ค.ปีที่ผ่านมา แต่หลายคนยังไม่มีโอกาสรับชม

ประกอบกับกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย โดย น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ได้ริเริ่มก่อตั้ง "มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์" จึงร่วมมือกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล นำคอนเสิร์ตเพลงของจิตรมาจัดแสดงอีกครั้ง ในวันเสาร์ที่ 13 มิ.ย.2552 เวลา 18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

"จากการปรึกษาหารือกับดร.ชาญวิทย์ เห็นว่าใน 2 ปีข้างหน้ามีวาระสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับจิตร คือครบรอบ 80 ปี วันเกิด ในวันที่ 25 ก.ย.2553 ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่จะอายุครบ 80 ปีพอดี ส่วนในปีถัดไป วันที่ 5 พ.ค.2554 จะครบรอบ 45 ปีที่จิตรถูกยิงเสียชีวิต" หมอพลเดชเล่าถึงที่มาของคอนเสิร์ต



คณะทำงานจึงเข้าพบคุณภิรมย์ ภูมิศักดิ์ พี่สาวของจิตร เพื่อขออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิ โดยมีคุณจินตนา เนียมประดิษฐ์ แห่งสำนักพิมพ์เทวเวศม์ ผู้จัดพิมพ์หนังสือของจิตรในสมัยนั้น จนกลายเป็นเพื่อนร่วมคุกกันในเวลาต่อมา บริจาคเงินตั้งต้นในการก่อตั้งมูลนิธิจำนวน 200,000 บาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการยื่นขอจดทะเบียน

การแสดงคอนเสิร์ตเพลงของจิตรครั้งใหม่ ภายใต้ชื่อ "ซิม โฟนี 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์" ถือได้ว่า เป็น การแสดงผลงานเพลงครั้งสมบูรณ์ของจิตร เพราะเพิ่มเติมบทเพลงที่ยังไม่ได้บรรเลงในคราวที่แล้ว มาจัดแสดงครั้งนี้จนครบถ้วน 25 บทเพลง ให้นักดนตรี คณะประสานเสียงรวมแล้วนับ 100 ชีวิต ขับร้องบรรเลงกระหึ่มก้องหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกว่า "เพลงของจิตร ไม่มีวันตาย"

ดังวลีในเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ที่ว่า "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย"

หนึ่งในบทเพลงที่นำมาแสดงใหม่ในครั้งนี้ เป็นบทเพลงที่ถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ โดย หงา คาราวาน ได้รับต้นฉบับลายมือจิตร นำมาร้องเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ต "คาราวานกลับบ้านธรรมศาสตร์" แต่จะเป็นครั้งแรกที่บทเพลงนี้จะถูกบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าในคอนเสิร์ตครั้งนี้ นั่นคือเพลง "จอมใจดวงแก้ว"

"เป็นเพลงรักโรแมนติก ที่แตกต่างสิ้นเชิงจากเพลงปฏิวัติอื่นๆ ของจิตร เจ้าของต้นฉบับเป็นคุณป้าสหายนักข่าวหญิงแห่งหนังสือพิมพ์ปิตุภูมิ ที่เข้าร่วมต่อสู้ในเขตป่าเขาเช่นเดียวกับจิตร ประมาณปีพ.ศ.2508"

"คนรักของป้าเป็นนักรบจรยุทธ์ชาวนาชื่อ สหายกลาโหม ได้ขอให้จิตรช่วยแต่งเพลงแทนความในใจมอบให้ป้า จิตรจึงใช้ทำนองเพลงลูกทุ่ง วันสุดท้าย ของ สุชาติ เทียนทอง ที่กำลังโด่งดังในขณะนั้น แต่งเนื้อร้องใหม่ให้เป็นความ รักของคนหนุ่มสาว แต่แฝงไว้ด้วยอุดมการณ์รักชาติ" น้าหงาเล่าถึงที่มาเพลงจอมใจดวงแก้ว

หลังจากจิตรเสียชีวิต ไม่เคยมีใครเคยได้ฟังหรือพูดถึงเพลงบทนี้อีกเลย กระทั่งมีการจัดงานรำลึกจิตร ที่จ.สกลนคร เมื่อปีพ.ศ.2542 คุณป้าจึงส่งเพลงรักฉบับนี้ให้กับ วิทิต จันดาวงศ์ ก่อนจะมาถึงมือหงา คาราวาน ในที่สุด เป็นการฉลองครบรอบ 10 ปี ที่เพลงบทนี้ได้คืนสู่หน้าประวัติศาสตร์เพลงของจิตรอีกครั้งก็ว่าได้

นอกจากสุรชัย จันทิมาธร แล้วยังมี "หว่อง" มงคล อุทก มาร่วมร้องเพลง "มนต์รักจากเสียงกระดึง" ที่ไม่ได้แสดงในคอนเสิร์ตคราวที่แล้วเช่นกัน ซึ่งจิตรแต่งเพลงนี้โดยอาศัยลีลาเพลงพื้นบ้าน "ต้อนงัวขึ้นภู" ของภาคอีสาน ใช้ประกอบในการแสดงละครรื่นเริงต้อนรับปีใหม่ปีที่ 4 ในคุกลาดยาวเมื่อปีพ.ศ.2505

รวมทั้งเพลง "ความหวังยังไม่สิ้น" ถ่ายทอดความไพเราะของคำร้อง และท่วงทำนองกินใจผ่านการขับร้องประสานเสียงของ "โฮปแฟมิลี่"

และแน่นอนที่ขาดไม่ได้คือ "แสงดาวแห่งศรัทธา" ที่ทำให้ "จิตร ภูมิศักดิ์" ยังมีชีวิตอยู่ในใจพวกเราทุกคน

หน้า 5http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNVEEzTURZMU1nPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBd09TMHdOaTB3Tnc9PQ==
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น