วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ผ่าวงจรอุบาทว์แทรกแซงข้าว รวมหัวโกงจนชินกินกันไม่เลิก

ผ่าวงจรอุบาทว์แทรกแซงข้าว รวมหัวโกงจนชินกินกันไม่เลิก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 พฤษภาคม 2552 13:48 น.
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
       ASTVผู้จัดการรายวัน - ผ่าวงจรอุบาทว์โครงการแทรกแซงราคาข้าวของรัฐบาล นายทุน พ่อค้า โรงสี เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง รวมหัวโกงรัฐ หาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำ กินกันตั้งแต่การเปิดรับจำนำ ไปจนถึงการเปิดประมูลขายข้าว วัดใจ “อภิสิทธิ์” จะสร้างมาตรฐานใหม่รักษาประโยชน์ของแผ่นดินหรือรักษาเก้าอี้โดยไม่สนว่าพรรค ร่วมรัฐบาลจะคอร์รัปชั่นกันมันปาก
       
       การดำเนินโครงการแทรกแซงข้าวของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย มีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้สามารถขายข้าวได้ใน ราคาที่ยุติธรรม คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิต และมีกำไรพอสมควร และยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกพ่อค้าคนกลาง โรงสี เอาเปรียบด้วยการกดราคารับซื้อข้าว
       
       แต่ทว่า การดำเนินโครงการแทรกแซงข้าวในระยะต่อมา กลับกลายเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลบางคน เข้ามาหากินกับโครงการรับจำนำ
       
       เริ่มจากกลุ่มนายทุน ได้แก่ พ่อค้าท้องถิ่น โรงสี ที่เป็นผู้กว้างขวางในพื้นที่ที่ปลูกข้าว จะดำเนินการเตี้ยมกันกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รวมถึงแกนนำเกษตรกรให้ออกมาเรียกร้องรัฐบาล เปิดโครงการรับจำนำข้าว โดยมีเงื่อนไขว่าหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง ก็จะทำการประท้วง
       
       ขณะเดียวกัน กลุ่มพ่อค้าท้องถิ่น โรงสี จะทำการซื้อข้าวในราคาถูกด้วยการกดราคารับซื้อจากเกษตรกรเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว พอรัฐบาลเปิดโครงการรับจำนำ ก็จะนำข้าวที่ตัวเองซื้อไว้เอาเข้าสู่โครงการรับจำนำ โดยจะใช้เกษตรกรเป็นเครื่องมือ หรือที่เรียกกันว่า การสวมสิทธิ์เกษตรกร
       
       การสวมสิทธิ์เกษตรกร หมายความว่า กลุ่มนายทุนจะไปจ้างเกษตรกรตัวจริง ให้มาขึ้นทะเบียนการเป็นเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจากนั้นจะใช้สิทธิ์การเป็นการเกษตรกรนำข้าวไปรับจำนำกับหน่วยงานของภาค รัฐที่เป็นหน่วยงานดูแลการรับจำนำข้าว ได้แก่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นหลัก
       
       แต่ข้าวที่เข้าสู่โครงการรับจำนำ ไม่ได้เป็นข้าวของเกษตรกร แต่เป็นข้าวของนายทุนที่ซื้อไว้ในราคาต่ำก่อนหน้านี้
       
       นอกจากนี้ การรับจำนำข้าวในพื้นที่ต่างๆ ยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ได้อีก
       
       โดยสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ในระดับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ อคส. อ.ต.ก. และธกส. ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ มักจะมีความคุ้นเคยกับนายทุน พ่อค้า และโรงสี ซึ่งจะมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กันด้วยการปิดตาข้างเดียว หรือไม่รู้ไม่เห็น หากจะมีการหากินกับโครงการรับจำนำ เช่น ปล่อยให้มีการสต๊อกลม ปล่อยให้มีการเวียนเทียนข้าว ปล่อยให้มีการนำข้าวจากโครงการรับจำนำออกไปขายก่อน เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่จะได้ค่าปิดปากเป็นการตอบแทน
       
       นอกจากนั้นแล้ว ยังมีบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวย์เยอร์) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเซอร์เวย์เยอร์ จะตรวจสอบคุณภาพข้าวที่อยู่ในคลังสินค้าของอคส. อตก. หรือคลังของเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะรายงานผลการตรวจสอบกลับไปยัง กขช. วงจรทุจริตจำนำข้าว ที่เกิดขึ้นในจุดนี้ คือ จะมีข้าราชการบางคนไปเรียกรับเงินจากเซอร์เวย์เยอร์ ทำให้เซอร์เวย์เยอร์ ไปเรียกรับจากโรงสี สองกลุ่มนี้รวมหัวกันทุจริตโดยเอาข้าวที่ไม่ได้คุณภาพมาเก็บเข้าคลังทำให้ รัฐเสียหายปีละหลายพันล้านบาท
       
       ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบจากส่วนกลาง ก็จะให้ความช่วยเหลือกันจนถึงที่สุด แต่หากจนด้วยหลักฐานจริงๆ ก็จะปล่อยให้มีการดำเนินการเอาผิดกับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการที่กระทำการ ทุจริต และจะมีการขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) โรงสีนั้น ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ก็อาจจะถูกโยกย้ายให้พ้นจากพื้นที่ หรือถ้าหนักหน่อยก็จะถูกตั้งกรรมการตรวจสอบ
       
       อย่างไรก็ตาม จากตรงจุดนี้จะเป็นช่องทางให้นักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากโรงสีด้วยการ เรียกเงินเพื่อแลกกับการปลดออกจากบัญชีดำ ซึ่งก็เคยได้มีการดำเนินการมาแล้ว
       
       ถัดมา เมื่อมีข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำเป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นช่องทางให้มีการหากินกับโครงการข้าวครั้งใหญ่ และเป็นครั้งที่รัฐจะเสียประโยชน์มากที่สุด
       
       นักการเมืองหลายๆ พรรคที่เป็นรัฐบาล พยายามที่จะต่อรองทางการเมือง เพื่อให้ตัวเองได้เข้ามาสู่ตำแหน่งรมว.พาณิชย์ เพื่อคุมเกมการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล
       
       อย่างไรก็ตาม ในการต่อรองทางการเมือง เมื่อรู้ว่าพรรคใดจะได้มานั่งในตำแหน่งนี้แล้ว ภายในพรรคการเมืองเองก็จะมีการตั้งคำถามไว้ว่าบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งจะส่ง เงินเข้าพรรคได้เท่าไร หากได้ราคาเหมาะสม ก็จะให้บุคคลนั้นๆ มาเป็นรมว.พาณิชย์ และคนๆ นั้น ก็จะต้องเข้ามาหาหาเงินเข้าพรรคตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้ และโครงการที่จะหาเงินได้เร็วสุด ไว้สุด ก็คือการเปิดจำหน่ายข้าวในสต๊อกรัฐบาล
       
       ปัญหาที่เกิดขึ้นในการแย่งชิงข้าวในสต๊อกรัฐบาลเกิดขึ้นให้เห็นมา แล้วหลายต่อหลายครั้ง เช่น ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ เคยมีความพยายามของบุคคลที่ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี ในการดึงการขายข้าวจากกระทรวงพาณิชย์เพื่อไปดำเนินการเอง แต่สุดท้ายนักการเมืองที่เข้ามาคุมกระทรวงพาณิชย์ ก็ดึงงานการขายข้าวกลับคืนมาได้ เพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่
       
       ในการขายข้าว จะมีวงจรที่ทำให้นักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ได้ โดยการขายข้าวแต่ละครั้ง จะมีการเจรจาต่อรองกับผู้ส่งออกที่ต้องการซื้อข้าว แล้วตกลงกันเป็นการภายในว่า หากอนุมัติขายให้ราคาเท่านั้น เท่านี้ จะจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เป็นจำนวนเท่าไร ซึ่งตามธรรมเนียม รมว.พาณิชย์จะเป็นผู้กำหนดราคาไว้ตายตัว หากผู้ส่งออกรับได้ ก็จะอนุมัติขายข้าวให้ถือว่าสมประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้ซื้อ และฝ่ายผู้ขาย
       
       ในอดีตที่ผ่านมา การหากินกับการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล เริ่มจากการหากินเล็ก เช่น ในสมัยรมว.พาณิชย์ ชื่อ “อ” มีการหากินกับโครงการระบายข้าว ด้วยการเซ็นอนุมัติขายข้าวราคาถูกให้กับผู้ส่งออกบางราย แต่มีปริมาณไม่มากนัก และยังมีการกินค่าหัวคิวจากการอนุมัติโควตาขายข้าวให้กับสหภาพยุโรป (อียู) จากผู้ส่งออกบางราย
       
       ในสมัยรมว.พาณิชย์ ชื่อ “ว” ถือเป็นการปฏิรูปการหากินกับโครงการระบายข้าวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติ ศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ มีการเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 1.7 ล้านตันให้กับผู้ส่งออกเพียงรายเดียว และขายให้ในราคาต่ำมาก ซึ่งถือเป็นการเอื้อประโยชน์ครั้งใหญ่ ที่กระทรวงพาณิชย์เคยทำมา เพราะในการขายข้าวครั้งนี้ เมื่อผู้ส่งออกมีกำไรมาก เงินใต้โต๊ะที่จะต้องจ่ายให้กับนักการเมืองก็มีมากตามไปด้วย
       
       ถัดมา ในสมัยรมว.พาณิชย์ ชื่อ “ช” ได้ดำเนินการดึงงานการขายข้าวที่คนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีจะดึงไปทำเองกลับคืน มายังกระทรวงพาณิชย์ และมีการเปิดระบายข้าว โดยใช้รูปแบบเดิมๆ อีก ก็คือ การเจรจากับผู้ส่งออกข้าวที่ต้องการจะซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาล และอนุมัติขายให้ในราคาถูก เพื่อให้มีส่วนต่างระหว่างราคาขาย กับราคาตลาดมากๆ เพื่อที่จะได้เงินใต๊โต๊ะมาก ซึ่งได้มีการอนุมัติขายข้าวไปถึง 2 ครั้ง ปริมาณ 2.7 ล้านตัน
       
       ล่าสุด ในปัจจุบันนี้ กระทรวงพาณิชย์ที่มีนางพรทิวา นาคาศัย เป็นรมว.พาณิชย์ ก็ได้มีการเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล โดยได้อนุมัติขายให้กับผู้ส่งออกจำนวน 17 ราย ปริมาณข้าวรวมกว่า 2 ล้านตัน และยังมีข่าวการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะจากผู้ส่งออกที่ชนะการประมูลข้าวเกิด ขึ้นด้วยเช่นกัน
       
       ในการอนุมัติขายข้าวทุกครั้ง นักการเมืองจะไม่สนใจว่า ราคารับจำนำมีราคาเท่าไร และขายไปแล้วรัฐบาลจะขาดทุนเท่าไร สนใจเพียงแต่ว่าตัวเองจะได้เงินเท่าไร พร้อมกับมีคำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบเหมือนกันออกมา คือ นโยบายการรับจำนำ เป็นนโยบายที่ช่วยเหลือเกษตรกร ในเมื่อเกษตรกรมีรายได้ มีกำไร ไปแล้ว ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ส่วนการขาดทุนที่เกิดขึ้น จึงเป็นภาระของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบ
       
       การระบายข้าวในสต็อกที่ทำให้รัฐขาดทุนมโหฬารร่วม 2 หมื่นล้านในขณะนี้ จึงมีคำถามว่า นายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเข้ามาตรวจสอบและสร้างมาตรฐานใหม่ทำให้รัฐ ชาวนา ได้ประโยชน์มากที่สุด เสียหายน้อยที่สุด หรือว่าจะมองแค่ประโยชน์เฉพาะหน้ารักษาเก้าอี้โดยไม่สนว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะ คอร์รัปชั่นโกงกินกันมันปาก พุงกาง
       
       การส่ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯ ดูแลฝ่ายความมั่นคง (ของรัฐบาล) ไปเคลียร์ปัญหากับ “ก๊วนสมศักดิ์” เจ้าของโควต้ากระทรวงพาณิชย์ เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เลือกจัดการปัญหานี้ด้วยแนวทางใด
       
       หรือว่าผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำหรือระบายสต็อกข้าวจะเป็นดังคำ ของผู้คร่ำหวอดในวงการค้าข้าวที่ตั้งข้อสังเกตว่า หากประธาน กขช. และรมว.กระทรวงพาณิชย์ มาจากพรรคเดียวกัน ก็มักไม่มีเรื่องฉาวปูดออกมาให้ชาวบ้านได้รับรู้ แต่หากเป็นคนละพรรคดังเช่นครั้งนี้ ที่ประธาน กขช. คือ นายกฯ อภิสิทธิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ “เจ๊วา” พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ สังกัดพรรคภูมิใจไทย (กลุ่มสมศักดิ์) ก็จะมีเรื่องงัดข้อเพื่อต่อรองประโยชน์กัน ข้อสังเกตนี้จะจริงเท็จประการใด นายกฯ อภิสิทธ์ และ รองฯ สุเทพ ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า ใช่ หรือไม่ใช่ ??

http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9520000059352

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น