วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ท่องวัดจีน ตามรอยมังกร หัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ท้องมังกรอยู่วัดเล่งฮกยี่ ฉะเชิงเทรา และหางมังกรสิ้นสุดที่วัดเล่งฮัวยี่จันทบุรี


    พูดถึงความเป็นสิริมงคล ไม่ว่าใครก็มักจะนึกถึงวัดวาอาราม

     ไม่แปลกใจเลยที่บรรดาคนที่ทำทัวร์ทั้งหลายเลือก มักเป็นสถานที่ชวนมาสักการะไหว้พระขอพร ลองสังเกตดูสิว่าระยะหลังมานี่ล้วนแล้วแต่มีรายการท่องเที่ยวเสริมสิริมงคลกันทั้งนั้นที่สำคัญก็คือ ทำแล้วได้รับความนิยม คนแห่กันไปจนเต็มทุกทัวร์ ต้องถือว่าเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งกันเลยทีเดียว

     ก็เพราะการเสริมมงคลนี่แหละที่ชักนำเรามาอยู่บนเส้นทางกรุงเทพฯ-จันทบุรีในตอนนี้ แต่ไม่ใช่ทัวร์ไหว้พระของบริษัทไหนหรอกการสัญจรที่ว่านี้เป็นอีกเส้นทางท่องเที่ยวในโครงการ "เที่ยวทั่วไทย สุขใจเสริมมงคล 52" ที่เป็นเรื่องราวความเชื่อระหว่างวัดกับมังกร ที่กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเนิ่นนาน โดยหัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ท้องมังกรอยู่วัดเล่งฮกยี่ ฉะเชิงเทรา และหางมังกรสิ้นสุดที่วัดเล่งฮัวยี่จันทบุรีถ้าได้กราบนมัสการอธิษฐานขอพรครบทั้งสามแห่งจะได้รับพลังจากมังกรเทพแห่งอิทธิฤทธิ์

     เราหยุดรถตรงลานหน้า วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ ในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ซึ่งลูกหลานชาวจีนตอนใต้ที่มาอยู่เมืองไทยสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์เดิมที่จะสร้างศาลเจ้าและวัดเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ตลอดจนประกอบพิธีกรรมทางเทศกาลต่างๆ วัดแห่งนี้เป็นวัดแบบมหายานที่เก่าแก่อายุเกือบ 140 ปีเปี่ยมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมจีน ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จุดเด่นอยู่ที่การวางผังแบบพระราชวังหลวง งดงามด้วยสถาปัตยกรรมจีนแต้จิ๋วแท้ๆ เป็นที่ร่ำลือว่าสวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     วัดเล่งเน่ยยี่ตั้งขึ้นตามหลักฮวงจุ้ยจีนโบราณ ตั้งอยู่ในชัยภูมิและทำเลที่ดีนับเป็นสังฆารามตามพุทธศาสนานิกายจีนมหายาน มีความเชื่อของผู้คนที่ว่าวัดโบราณแห่งนี้แหละคือส่วนหัวของมังกร มาคราวนี้ถือว่าโชคดีเพราะเราได้ไหว้ไท้ส่วยเอี้ยเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตาชีวิตมนุษย์ขอพรเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้ผ่านพ้นปีฉลูไปอย่างราบรื่น มีโชค ลาภ เงินทองไหลมาเทมา  ได้เห็นเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานภายในวัดเช่นพระศรีศากยมุณี อมิตตาพุทธเจ้า นอกจากนั้นยังมีเทพเจ้าต่างๆ ให้จุดธูปไหว้ขอพรเช่น ฮั่วท้อเซียงซือ "ขอให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ", ไท่ซ่วยเอี๊ย "เทพเจ้าแห่งดวงชะตา", ไฉ่ซิ้งเอี๊ย "เทพเจ้าโชคลาภ" ฯลฯ

     เพียงความหมายของเทพเจ้าก็ให้ทั้งความสุขใจและการใช้ชีวิตอย่างมีสติ วัดนี้ถือว่าไม่ไกลสำหรับการเดินทางไป แถมวัดก็ตั้งอยู่ในย่านเยาวราช ได้เห็นทั้งวัดเก่าแก่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนไชน่าทาวน์เมืองไทยพร้อมกันไปเพิ่มรสชาติสีสันการเดินทางให้น่าสนใจ เราเพลิดเพลินกับบรรยากาศในวัดเล่งเน่ยยี่จนเต็มอิ่ม ก่อนออกรถเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจุดหมายต่อไป ฉะเชิงเทราดินแดนที่ท้องมังกรพาดผ่านในตำนาน ปัจจุบันนั้นอยู่ที่ อ.เมืองฯ นั่นเอง เห็นด้วยไหมว่าถ้าเที่ยวไปโดยมีหัวข้อเป็นประเด็นเรื่องราวเราก็จะมีรายละเอียดอะไรต่อมิอะไรให้เราสนุกกับการเดินทางได้ตลอดเวลา รู้อย่างนี้ก็ต้องจินตนาการเห็นภาพว่ามังกรจะตัวยาวเท่าไหน

     เรากำลังมุ่งหน้าไปที่ วัดจีนประชาสโมสร หลายคนอาจจะไม่รู้จักชื่อแต่ถ้าพูดถึง วัดเล่งฮกยี่ ต้องร้องอ๋อ เชื่อว่ากันว่าเป็นวัดแห่งท้องมังกรเลี้ยวรถเข้ามาในบริเวณวัดก็เห็นสถาปัตยกรรมรูปแบบจีนโดดเด่นแต่ไกล ตามประวัติว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2499ตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยหลวงจีนชกเฮ็งผู้เป็นศิษย์วัดเล่งเน่ยยี่ที่กรุงเทพฯเป็นผู้สร้างจึงเหมือนเป็นวัดจีนฝ่ายมหายานที่ขยายออกมาจากกรุงเทพฯเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรีเพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ได้พระราชทานชื่อให้วัดแห่งนี้ว่า วัดจีนประชาสโมสร อย่างที่ใช้เรียกกันในปัจจุบัน ป้ายชื่อพระราชทานก็ยังติดเป็นมงคลอยู่จนทุกวันนี้

     "เล่งฮกยี่"ในภาษาจีน แปลว่า "มังกรแห่งวาสนา" หรือ "มังกรแห่งโชคลาภ" เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยโดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายจีนปรารถนาจะได้มาสักการะเพื่อรับพลังจากมังกร และขอพรให้มีชีวิตสมบูรณ์ด้วยโชคลาภ สมกับที่ได้มาวัดแห่งโชคลาภตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่มีเรื่องเล่าขานว่าปลาช่อนที่นี่ตัวใหญ่มากจนเวลาจับมาแล่ทำปลาแห้งจะแล่ได้ถึง 8 ริ้ว เป็นที่มาของชื่อเมือง "แปดริ้ว" ที่คนทั่วไปนิยมเรียกกันมากกว่าชื่อจังหวัดที่เป็นทางการอย่างฉะเชิงเทราเสียอีก

     เราเดินเข้าไปนมัสการพระประธานซึ่งสร้างด้วยกระดาษ อายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ภายในพระอุโบสถยังประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบมหายาน 3 องค์ คือ พระยู่ไล้ พระโอนิโทฮุด และพระเอี๊ยซือฮุดซึ่งอัญเชิญมาพร้อมด้วยองค์18อรหันต์ทุกองค์รังสรรค์จากกระดาษที่นำมาจากเมืองจีนฝีมือการสร้างสวยงามและมีเทพเจ้าไฉ่เซ่งเอี้ยอยู่ด้านขวาของพระประธานในวัดมีพวงมาลัยดอกไม้ธูปเทียนปักอยู่เต็ม เราร่วมกันถวายเครื่องสักการะขอพลังจากท้องมังกร ณ ดินแดนตะวันออก ก่อนจะพากันเดินไปตีระฆังใบใหญ่มหึมาที่สลักบทสวดมหาวชิรปริมิตราสูตรไว้โดยรอบซึ่งเป็นพระสูตรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงใช้ในการตรัสรู้และปรินิพพาน ก็เสริมสิริมงคลให้ตัวเองจนนาทีสุดท้ายก่อนที่จะอำลาจากวัด

     เมืองจันทบุรีเป็นอีกเมืองหนึ่งที่จะไปเที่ยวตามรอยมังกรเช้าวันรุ่งขึ้นเราเดินทางสู่ วัดมังกรบุปผาราม หรือ วัดเล่งฮัวยี่ ใน อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ซึ่งสร้างในปี พ.ศ.2520 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 8 ไร่ วัดแห่งนี้สังกัดจีนนิกายเชื่อกันว่าเป็นหางมังกร พระอุโบสถประดับประดาด้วยกระเบื้องโมเสคลวดลายงามตาบรรยากาศภายในวัดเงียบสงบร่มรื่น คนที่ชอบปฏิบัติธรรมน่าจะชอบ แต่เราเป็นนักท่องเที่ยวได้เห็นอะไรสวยๆ งามๆ ก็แฮปปี้แล้ว แต่ที่น่าดีใจมาคราวนี้ได้ร่วมถวายเครื่องสักการะพระประธานในพระอุโบสถไหว้ขอพรเทพเจ้าต่างๆ ให้ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป และรับความเป็นสิริมงคลเข้ามาในชีวิต และร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ของสงฆ์จีนนิกายเป็นภาษาจีน ต้องลองมารับพลังมังกรด้วยตัวเอง

     บนเส้นทางยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่งให้แวะเที่ยวชมได้ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามหลายแห่งที่เรียงรายเต็มไปหมดวัดกองดินวัดอันเก่าแก่ อดีตเคยเป็นพลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเชื่อกันว่าทรงใช้ในการเตรียมสรรพาวุธดินประสิว และรวบรวมกำลังพลก่อนยกทัพเข้าตีเมืองจันทบูร มีพระบรมรูปพระเจ้าตากสินให้สักการะและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธภัทรปิยปกาศิตคู่บ้านคู่เมือง

     วัดชากใหญ่ที่โดดเด่นด้วยประติมากรรมขนาดใหญ่แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ วัดทองทั่ว หรือ วัดเพนียดมีวิหารและเจดีย์อายุราว 200ปีไหว้พระแล้วเดินไปชมกำแพงเมืองเก่าที่ยังเหลือร่องรอยอยู่จนทุกวันนี้ มีอายุประมาณ 1,400 ปี เป็นของดีมีคุณค่าที่แอบซ่อนอยู่ นอกจากนั้นยังมีที่สำคัญอื่นๆเช่น ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ศาลหลักเมืองจันทบุรี ให้กราบสักการะ และแล้วการตามรอยมังกรของเราก็สิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้เป็นอีกเส้นทางความสุขที่อยากให้ทดลองมาเปิดประสบการณ์กัน.

 

http://www.thaipost.net/tabloid/310509/5462

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น