วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ตั้งมูลนิธิ"จิตร" สืบสานผลงาน

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6779 ข่าวสดรายวัน


ตั้งมูลนิธิ"จิตร" สืบสานผลงาน





กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ร่วมกับมูลนิธิสายธารประชาธิปไตยเครือข่ายภาคี และองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประชุมหารือเพื่อผลักดันให้กองทุนจิตรฯ ปรับเปลี่ยนสถานภาพแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นรูปแบบของ "มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์" เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักที่ชัดเจน 5 ประการ

1.เพื่อการศึกษาเก็บรวบรวมเรื่องราวประวัติ อนุรักษ์ผลงาน การเผยแพร่ และเชิดชูเกียรติประวัติของจิตรฯ
2.เพื่อส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ต่อยอดองค์ความรู้ที่จิตรได้ศึกษาไว้ เป็นการสนับสนุนกิจกรรมวิชาการ หรือเชิงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภูมิภาคอุษาคเนย์
3.เพื่อช่วยเหลือ จัดหาสวัสดิการ และทุนการศึกษาแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่ยากจนในชนบท
4.เพื่อส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกจิตอาสา และทัศนคติที่ถูกต้องดีงามต่อประเทศชาติและประชาชน และ
5.เพื่อสนับสนุนการจัดสร้าง และการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้ และอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการชื่อดัง ในฐานะประธานกองทุนจิตรฯ เปิดเผยว่า หากได้สัมผัสกับชีวิตและผลงานประพันธ์ของจิตร ทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า งานเขียนของจิตรมีความหลากหลายและล้ำลึกมากมายหลายแขนง ทั้งด้านงานศาสตร์และงานศิลป์ ทั้งเรื่องบทกวี ศิลปะ ศาสนา ทฤษฎีการเมือง ภาษาศาสตร์ งานแปล งานวิจารณ์ประวัติศาสตร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การแต่งบทเพลง หรือแม้แต่งานวิชาการ ด้านสังคมศาสตร์และมนุษย ศาสตร์ นามของจิตรจัดว่าโดดเด่นอยู่ในแถวหน้าของนักคิดนักเขียนไทย



"ถ้าเราจะนับคนที่มีสติปัญญาในแง่ของความเป็นนักคิดนักเขียนปัญญาชนในช่วง 100-200 ปี ในสยามประเทศที่ผ่านมา คงจะมีจำนวนมาก แต่หนึ่งในนั้นต้องมีจิตร เพราะความคิดของจิตรจัดได้ว่าอยู่ในแถวหน้าของประเทศที่เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงเป็นที่มาของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ได้รวมตัวกันขึ้นมาเมื่อปี 2545 เพื่อนำเอาข้อคิดข้อเขียนในหลายๆ ด้านจำนวนมาก มาจัดแสดงในงาน 72 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ และช่วงเดือนต.ค.ปี 2546 ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้ง กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์

ด้วยตระหนักในมรดกทางภูมิปัญญาที่จิตรได้มอบให้แก่สังคมไทย กองทุนจิตรฯ จึงทำหน้าที่รับผิดชอบในการศึกษา ค้นคว้า อนุรักษ์ผลงานเขียน ตลอดจนสืบหาวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับจิตรมารวบรวมสะสมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้า เพื่อที่ต่อไปเยาวชนไทยจะได้นำผลการศึกษาต่างๆ ไปใช้ต่อในอนาคต

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงจิตร "ปัญญาชนนอกคอกไทย" ไว้มากมาย จากที่เริ่มก่อตั้งเป็นกองทุนจิตรฯ เมื่อต.ค. 2546 จนถึงปี 2552 และในปีหน้า 2553 จะครบรอบ 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ บัดนี้ถึงเวลาที่กองทุนจิตรฯ จะเติบโตขึ้นอีกก้าวหนึ่งเพื่อขึ้นไปเป็น "มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์"

6 ปีมานี้เราได้หารือและพูดคุยกันในกลุ่ม จึงเห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่กองทุนจิตรฯ น่าจะผลักดันให้เป็น "มูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์" เพราะขณะนี้ประชาชนโดยทั่วไปทราบดีว่าจิตรเป็นใครมีผลงานวิชาการที่เป็นที่ยอมรับมากมาย ดังนั้นด้วยความชื่นชม ศรัทธา จึงพร้อมจัดตั้ง "มูลนิธิจิตรฯ" ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป



นายอาทิตย์ บำรุงเอื้อ กรรมการมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า จิตรมีผลงานที่ฝากไว้ต่อสังคมไทยอย่างกว้างใหญ่ไพศาล สร้างจิตสำนึก ปลุกขวัญกำลังใจให้กับคนในสังคมได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ชื่อเสียงของจิตรจึงเป็นอมตะเรื่องการต่อสู้ต่อความอยุติธรรม ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นจิตอาสา กล้าลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออุดมการณ์

การตั้งมูลนิธิจิตรฯ จะเป็นรูปธรรมชัดเจนในเดือนก.ค. จากนั้นเดินหน้าโครงการกิจกรรมเผยแพร่ผลงาน เนื่องในวาระครบรอบ 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ โดยจัดคอนเสิร์ต "พลังเพลงเพื่อชีวิต" ช่วงเดือน ต.ค.2552 ที่หอประชุมศรีบูรพา ธรรมศาสตร์ ต่อด้วยคอนเสิร์ตกลางแจ้งปลายปีพ.ศ.2552 และวันที่ 25 ก.ย. 2553 คอนเสิร์ตใหญ่เพื่อลำนำชีวิต 80 ปี จิตร จะมีขึ้นที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนงานต่อไปคือการจัดสร้างอนุสรณ์สถาน "จิตร ภูมิศักดิ์" ที่บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร คาดว่าจะสร้างเสร็จในปีพ.ศ.2554 จะครบรอบ 45 ปีการเสียชีวิตของจิตร รวมถึงจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้จิตรอีก 2 แห่ง กรุงเทพฯ และจ.สกลนคร

นายนิพัฒน์ จักกะพาก สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสรณ์สถาน กล่าวว่า จุดที่สร้างอนุสรณ์สถานคือจุดจิตรถูกยิงจนเสียชีวิต สถานที่แห่งนี้เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมของจิตร สามารถบอกเล่าเรื่องราวของจิตรได้อย่างชัดเจน อนาคตจะเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญของสังคมไทย เมื่อเข้าชมเกิดจินตนาการร่วมไปกับการชมสถานที่

พื้นที่ 245 ตารางวา จะออกแบบเป็นสองส่วน ด้านหน้าจะเป็นตัวหยุดความเคลื่อนไหว จะมีกำแพงสูงบล็อกส่วนด้านหน้าไว้ เพื่อตัดโลกภายนอกออกจากตัวอนุสรณ์สถาน เมื่อเข้าไปด้านในจะมีที่ว่างเล็กๆ เราจะสร้างกำแพง เล็กๆ บล็อกไว้ทั้งสองด้าน เพื่อปรับความรู้สึกของผู้จะเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ถือเป็นการต้อนรับเข้าสู่บรรยากาศแห่งความสงบ

เมื่อเข้าไปสู่พื้นที่ชั้นใน ด้านหลังของกำแพงจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของจิตร โดยภายในเราจะสร้างแท่น 2 แท่นเป็นแนวนอนสูงระดับเอวพร้อมทั้งจารึกวิถีชีวิตของจิตร ส่วนด้านท้ายของแท่นจะชี้ไปยังจุดที่เผาศพจิตรและรูปปั้นของจิตร ด้านหลังอนุสรณ์จะคงความเป็นไร่นาป่าเขา เราต้องการจัดวางอนุสรณ์สถานเป็นไปอย่างเรียบง่าย คงรักษาไว้ซึ่งสภาพเดิม ขณะที่ นายสมฤทธิ์ ลือชัย กล่าวว่า จิตรมีผลงานมากมายเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทุกแขนง หากเป็นไปได้เราน่าจะมีการเสนอชื่อจิตรให้เป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทย

หน้า 5
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น