วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แม่น้ำลำคลอง แหล่งรวมขี้เยี่ยวของราษฎรและครูอาจารย์

วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11413 มติชนรายวัน


แม่น้ำลำคลอง แหล่งรวมขี้เยี่ยวของราษฎรและครูอาจารย์


คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ





เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ประทับอยู่หน้าที่ว่าการมณฑลนครสวรรค์ ทรงพระราชดำริเกี่ยวข้องกับแม่น้ำลำคลองอันเคยมีในบ้านเมืองต่างๆ มีใจความโดยสรุปว่า

"พระปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรี เมืองซึ่งเมื่อ 43 ปีมานี้ เรือพระที่นั่งกลไฟอรรคราชวรเดชขึ้นไปจอดได้หน้าเมือง ได้เสด็จพระราชดำเนินตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปในเรือพระที่นั่ง เดี๋ยวนี้ขึ้นไปอยู่ในที่ดอน ไม่มีทางเรือที่จะขึ้นไปถึงได้

"ด้วยเหตุดังนี้จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สำรวจลำน้ำเก่า และตำบลอันมีชื่อเสียงปรากฏซึ่งตั้งอยู่ในลำน้ำนั้น จะได้พิเคราะห์สอบสวนกับสายน้ำซึ่งมีอยู่ในแผนที่ให้เห็นว่าสายน้ำเดิมจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงตื้นตันด้วยน้ำมาร่วมกันและขาดกันอย่างไร"

ชาวบ้าน จ. พระนครศรีอยุธยา จัดกิจกรรมพายเรือเก็บขยะและรณรงค์ชุมชนในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และคลองคูเมือง ในโครงการคืนรอยยิ้มสู่สายน้ำ เจ้าพระยาปลอดมลพิษ ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่าง 22-29 พ.ค. นี้ (ภาพและคำบรรยายจาก โพสต์ ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2552 หน้า A2)

แต่ครูบาอาจารย์สถาบันต่างๆ ในอยุธยาที่ขี้รดเยี่ยวรดอยุธยาทุกวัน ทำทอดหุ่ยกินแรงเอาเปรียบประชาชนชั่วนาตาปี แล้วหากินกับรถยนต์ญี่ปุ่นเท่านั้น ถือเป็นเลิศแล้วในโลกา ไม่ศึกษาค้นคว้าอะไรอีกต่อไป จึงไม่เคยแหกหูแหกตารับรู้เรื่องลำน้ำเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา


"จะเป็นประโยชน์แก่ทางความรู้เรื่องราวในพระราชอาณาจักรเป็นอันมาก"

พระปฐมเจดีย์ เมืองนครชัยศรี จ.นครปฐม มีแม่น้ำลำคลองหลายสาย มีทั้งสายเก่านับหลายพันปีมาแล้ว กับสายใหม่นับร้อยปีมาแล้ว ทั้งหมดล้วนมีประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นและราชอาณาจักรทั้งสิ้น

แต่ทุเรศทุรังที่สุดในโลก ไม่มีรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเอาใจใส่แก้ไขให้น้ำในเมืองนครชัยศรีสะอาดสะอ้านเป็นรมณียสถานของอดีตรัฐในวัฒนธรรมทวารวดีศรีวิชัย ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของสยามประเทศและของอุษาคเนย์ (SEA)

ครูบาอาจารย์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของจังหวัดนี้ก็ไม่มีแก่ใจจะแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เลยพากันสักแต่กินขี้ปี้นอนรดแผ่นดินเมืองพระปฐมเจดีย์ไปวันๆ

แต่เมืองเก่าที่มีลำน้ำทั้งเก่าและใหม่ไหลผ่านมากที่สุดน่าจะเป็นพระนครศรีอยุธยา ที่กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาถ ทรงมีพระราชนิพนธ์เพลงยาวนิราศพรรณนาว่า "บริเวณอื้ออลด้วยชลธี ประดุจเกาะอสุรีลงกา"

ไม่น่าเชื่อที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพระนครศรียุธยา ไม่มีการเรียนการสอนโดยตรงในวิชาประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและประวัติศาสตร์ไทย ฉะนั้น สถาบันการศึกษาในอยุธยาเองจึงไม่รู้ว่ามีแม่น้ำลำคลองอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง ที่ไหลผ่านพระนครศรีอยุธยา แล้วเป็นเส้นทางคมนาคมกับที่ตั้งชุมชนมาแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา

ครูบาอาจารย์ที่บริหารสถาบันระดับอุดมศึกษาพวกนี้ก็พากันขี้รดเยี่ยวรดแผ่นดินกรุงเก่าอย่างหน้าด้านๆ บางทีก็ตั้งสถาบันอยุธยาบังหน้าเพียงจะแสดงให้เห็นว่ามีสติปัญญาทางประวัติศาสตร์เสียเหลือเกิน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นงานเป็นการ แม้อ่านก็ไม่อ่าน

ไม่น่าเชื่อว่าสถาบันแบบนี้ยังไม่เคยทำงานค้นคว้าวิจัยความรู้เกี่ยวกับร้องรำทำเพลงยุคอยุธยาแท้ๆ ตามพยานหลักฐาน ที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือย้อมแมวนาฏศิลป์กรมศิลปากรหลอกขายไปวันๆ เท่านั้น

ยังมีพวกขุนนางชนชั้นกลางกระฎุมพีที่ชอบทำบุญเอาหน้า จะดัดจริตเป็นคนรักสวยรักงามปลูกต้นไม้ดอกให้เต็มเกาะอยุธยา โดยไม่มีสาระสำคัญผูกพันกับกำเนิดกรุงศรีอยุธยาที่มีไม้เมืองเรืองศรีชื่อ "ต้นหมัน" ตรงกับไม้เขมรเรียก "ทะโลก" หรือ "ทะลอก"

คนพวกนี้แหละแหกปากรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เชิดชูประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาสามเวลาหลังอาหารและก่อนนอน แต่พวกมันไม่เคารพพยานหลักฐานที่มีในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา


หน้า 20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น