วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"โขน"รามเกียรติ์ ศึก"พรหมาศ"

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6772 ข่าวสดรายวัน


"โขน"รามเกียรติ์ ศึก"พรหมาศ"


นงนวล รัตนประทีป






หากใครที่พลาดชมการแสดง "โขนเฉลิมพระเกียรติ" รามเกียรติ์ ตอน "พรหมาศ" เมื่อปลายปีพ.ศ.2550 มาแล้ว ปีนี้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะกรรมการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละคร รวมถึงนักแสดงหลายร้อยชีวิต จากกองการสังคีต กรมศิลปากร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, และวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพฯ จะนำมาแสดงให้ชม สร้างความประทับใจกันอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้พิเศษสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะคณะกรรมการจัดสร้างฯ เติมเต็มและแก้ไขส่วนที่บกพร่องจากการแสดงครั้งก่อน

และก่อนจะถึงเวลาแสดงจริง ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และคณะกรรมการจัดสร้างฯ จัดแถลงโหมโรงถึงเบื้องหลัง อาทิ ขั้นตอน และวิธีการทำหัวโขน ศิราภรณ์ การแต่งหน้า ศิลปะการออกแบบฉาก และอุปกรณ์ประกอบฉาก

พัสตราภรณ์ (ผ้านุ่งของโขน) โดยใช้วิธีการปักสะดึงกรึงไหมตามแบบโบราณ ถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับ) สำหรับตัวละครเอก เช่น พระราม พระลักษมณ์ พระอินทร์ ทศกัณฐ์ และอินทรชิต

นอกจากนี้ ยังจัดแสดงสาธิตขั้นตอนการทำพัสตราภรณ์พระลักษมณ์ จากนักเรียนศิลปาชีพแผนกปักดิ้น โรงฝึกศิลปาชีพฯ สวนจิตรลดา และถนิมพิมพาภรณ์ (ตาบทิศ) จากนักเรียน นักศึกษา กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง

รวมไปถึงตัวอย่างการแสดง ช่วงอินทรชิตชุบศรพรหมาศ ให้ชมด้วย



ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างโขน-ละครฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการจัดแสดงครั้งที่แล้วมีประชาชนหลายคนไปดูไม่ทัน ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นว่าการแสดงโขนนับวันจะค่อยๆ ลบเลือนหายไป เพราะเป็นการแสดงที่ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรจากหลายฝ่าย เครื่องแต่งกายก็ต้องจัดสร้างขึ้นใหม่ในบางชุด ศิราภรณ์ เครื่องประดับต่างๆ การซ้อม การแสดง และลงทุนค่อนข้างสูง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละครขึ้นใหม่เมื่อปีพ.ศ.2550 เพื่อเป็นการสืบสานฝีมือเชิงช่าง อันเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเห็นสมควรจัดการแสดงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการอนุรักษ์โขน ซึ่งเป็นการแสดงชั้นสูงของไทย ให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมในรูปแบบที่ถูกต้อง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้นำนักเรียนศิลปาชีพแผนกปักดิ้น จากโรงฝึกศิลปาชีพฯ สวนจิตรลดา มาสาธิตการปักพัสตราภรณ์ชุดพระลักษมณ์ ที่ออกแบบควบคุมการจัดสร้างโดย อาจารย์วีระธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มจันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์



โดยใช้วิธีการปักสะดึงกรึงไหมตามแบบโบราณ ที่จะต้องปักให้เสร็จก่อนวันแสดง จำนวน 2 คน คนหนึ่งมาจากจ.อุตรดิตถ์ ที่บ้านห้วยต้า ไม่มีทางรถยนต์ ต้องนั่งรถและไปต่อเรือ อีกคนเป็นชาวเขาเผ่ามูเซอ อยู่บนดอยสูง จ.เชียงใหม่

น.ส.รำไพ ยาสี อายุ 24 ปี นักเรียนศิลปาชีพฯ แผนกปักดิ้นชุดพระลักษมณ์ เล่าว่า อยู่บ้านห้วยต้า ต.นางพญา อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ พ่อแม่ทำนายากจน ได้เข้ามาทำงาน เพราะตามพ่อกับแม่ไปรับเสด็จ แลได้เข้ามูลนิธิฯ เพื่อฝึกอาชีพที่บ้านห้วยต้า

จากนั้นทางมูลนิธิฯ เห็นว่าฝีมือดีในเรื่องการทอและปักผ้า จึงได้มาเรียนที่โรงฝึกศิลปาชีพฯ สวนจิตรลดา แผนกปักดิ้น ครั้งแรกก็ฝึกเอาดิ้นทองมาดัดตามลายที่สกรีนไว้ ซึ่งละเอียดและเล็กมาก อยู่แผนกนี้ประมาณ 4 ปีแล้ว ครั้งแรกลายไม่สวยเลย ฝึกมาเรื่อยๆ ฝีมือก็ดีขึ้น จนได้มาปักดิ้นเงินดิ้นทอง โปงเงิน โปงทอง

สำหรับชุดของพระลักษมณ์ในการแสดงครั้งนี้ที่ทำขึ้นใหม่ โดยจะช่วยกันปักในสะดึงเดียวกันประมาณ 2-3 คน การปักตัวหนึ่งใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเสร็จ และต้องใช้ความชำนาญด้วย การที่ได้มาทำงานตรงนี้รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก

ด้าน น.ส.นะสี จะก่า อายุ 20 ปี ชาวเขาเผ่ามูเซอ นักเรียนศิลปาชีพฯ แผนกเดียวกัน เล่าว่า อยู่บ้านมูเซอปากทา ต.ม่องจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ บ้านยากจน ได้มาทำงานที่นี่เพราะตามแม่ไปรับเสด็จ อีกทั้งก่อนหน้านี้มีเพื่อนในหมู่บ้านไปเรียนที่โครงการฝึกอบรมศิลปาชีพที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จึงขอไปเรียนได้ 2 สัปดาห์ เกี่ยวกับการปักผ้าไหมและศูนย์ปิดพอดี จึงกลับมาอยู่บ้าน

ต่อมาในปีพ.ศ.2548 ทางโรงฝึกศิลปาชีพฯ สวนจิตรลดา ส่งจดหมายมาให้ไปเรียนและทำงาน งานปักดิ้นต้องใช้ความอดทนสูง ตอนแรกๆ ก็ยากอยู่เหมือนกัน เพราะต้องใช้ความละเอียดในการตัดโปงเงินโปงทองให้เป็นชิ้นเล็กๆ และถ้ายิ่งเป็นลายเล็กๆ ยิ่งยาก ถ้าไม่ชำนาญก็จะไม่สวย

โขน รามเกียรติ์ ตอน พรหมาศ ครั้งนี้ นอกจากจะได้ชมการแสดงชั้นสูงแล้ว ยังได้ยลเครื่องแต่งการ และเครื่องประดับที่อลังการ

เปิดให้ชมในวันที่ 19-21 มิ.ย.นี้ จำนวน 5 รอบ คือ วันที่ 19 มิ.ย. เวลา 19.00 น. โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ทอดพระเนตรการแสดง

วันที่ 20-21 มิ.ย. มี 2 รอบ เวลา 14.00 น. และเวลา 19.30 น. ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ผู้สนใจชมสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่เคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ทุกสาขา ได้ตั้งแต่วันนี้ในราคา 200, 400, 600, 800 บาท และ 100 บาท ราคาพิเศษสำหรับนักเรียน นักศึกษา

หน้า 5
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น