วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วันที่ 28 มิถุนายน 2552 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.พิพิธภัณฑ์สถาบันการเรียนรู้แห่งชาติ

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11425 มติชนรายวัน


ลูกปัดสุสานกษัตริย์เกาหลี ที่อาจเกี่ยวกับลูกปัดเมืองไทย


คอลัมน์ แกะ(รอย)ลูกปัด

โดย บัญชา พงษ์พานิช plearnstan@gmail.com




ลูกปัดหินและแก้วในสุสานกษัตริย์ที่เกาหลี

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมได้ร่วมคณะไปวิจัยค้นคว้าเรื่องลูกปัดที่เกาหลี ด้วยมีข้อมูลมาว่าที่นั่นขุดค้นพบลูกปัดโบราณประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 เป็นจำนวนมาก ประกอบกับคุณหมอเจมส์ แลงค์ตัน กำลังอยู่ทำการวิจัยเรื่องแก้วและลูกปัดที่นั่น โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติคองจูยินดีให้คณะเข้าใช้เครื่องมือวิเคราะห์แก้วของภาควิชาอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม (Department of Cultural Heritage Conservation Sciences) ได้ ประกอบกับในช่วงนี้มีรายการโทรทัศน์จากเกาหลีที่ฉายในบ้านเราจำนวนมากที่เห็นคนใส่สร้อยลูกปัดเป็นสายหมวกแบบแปลกๆ คล้ายกับสายบอกชั้นยศตำแหน่งในวังที่ทำให้ผมสงสัยใคร่อยากแกะรอยลูกปัดที่เกาหลีเป็นอย่างยิ่ง

10 วันที่เกาหลี เท่าที่พอแกะรอยลูกปัดได้นั้น พบว่าลูกปัดที่เกาหลีมีหลากหลายไม่น้อย มีทั้งหิน แก้ว และทองคำ โดยลูกปัดหินมีทั้งผลึกหินคริสตัล (Rock Crystal) และคาร์นีเลียน (Carnelian) ในขณะที่ลูกปัดแก้วนอกจากลูกปัดแก้วสีแล้ว ลูกปัดอินโดแปซิฟิกก็มีมาก ส่วนลูกปัดแก้วหลายสีและโมเสคนั้นมีพบน้อย สู้ลูกปัดทองจำพวกเส้นลวดและเม็ดทองไม่ได้ โดยมีลูกปัดชนิดหนึ่งของเกาหลีที่พบมากเป็นพิเศษ ทั้งที่ทำจากหิน จากแก้ว รวมทั้งที่เลี่ยมด้วยทองคำ นั่นคือลูกปัดรูปลูกน้ำ หรือ Comma Shape หรือ Curved Beads ที่ในเกาหลีเรียกกันว่าลูกปัดเกโกะ (Keko) ลูกปัดลูกน้ำนี้มีบางท่านบอกว่าเคยมีพบในประเทศไทย แต่ผมไม่เคยพบเห็น เท่าที่พบเห็นในเมืองไทยเราเป็นเขี้ยวแหลมหรือไม่ก็ออกไปทางพระจันทร์เสี้ยวมากกว่า ลูกปัดนี้ทางเกาหลีถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกาหลี มีหลักฐานการทำในเกาหลีอย่างชัดเจน

ลูกปัดหินผลึกในสุสานกษัตริย์ที่เกาหลี



แต่ที่สำคัญยิ่งคือลูกปัดที่เกาหลีแทบทั้งหมด ขุดพบจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ถูกถ้วน โดยเท่าที่เห็นทั้งในหนังสือรายงานการขุดค้นตลอดจนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ มีข้อสังเกตสำคัญว่าล้วนเป็นลูกปัดจากสุสานกษัตริย์ราชวงศ์ต่างๆ ในยุคก่อตั้งเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นคายา, แพ็กเจ, ซิลลา และโคริโอ เมื่อประมาณ 1,000 ปีก่อน และพบเรียงร้อยอยู่เป็นสายไม่กระจัดกระจายอย่างที่พบในภาคใต้ สามารถบอกยุคสมัยและลักษณะการใช้สอยได้อย่างชัดเจนในสภาพที่สวยสมบูรณ์อย่างของกษัตริย์และราชินี และมีหลักฐานบันทึกว่าในเกาหลีโบราณนั้น ถือลูกปัดเป็นสิ่งมีค่ามากกว่าทองคำด้วยซ้ำ



นอกจากพบลูกปัดหลายชนิดที่คล้ายกับที่พบในภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว จากการวิเคราะห์เนื้อแก้วเปรียบเทียบกับแก้วในประเทศไทยยังได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าอาจเป็นแก้วประเภทเดียวกัน สีสันคล้ายกันโดยเฉพาะเม็ดสีน้ำเงินที่ทำเอานักวิชาการเกาหลีหลายท่านถึงกับตั้งข้อสมมติฐานว่าอาจเป็นไปได้ที่ผู้คนในเกาหลีกับไทยในอดีตน่าจะมีความสัมพันธ์ผ่านลูกปัดเหล่านี้กันแล้ว และส่งผลให้ในวันสุดท้ายที่เกาหลี คณะของเราต้องงดกิจกรรมทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ มาเป็นการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์แห่งชาติเกาหลี (KBS) เรื่องลูกปัดในประเทศไทยและความคล้ายกับของเกาหลี

โดยในวันที่ 27-28 มิถุนายนนี้ คณะนักวิชาการและผู้แทนสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเกาหลีจะตามมาแกะรอยลูกปัดเมืองไทยที่พิพิธภัณฑ์สถาบันการเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม และในบ่ายวันที่ 28 มิถุนายน 2552 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. จะมีกิจกรรมอำลานิทรรศการปริศนาลูกปัด มีอาจารย์ภูธร ภูมะธน และร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดีตัวจริงซึ่งนำทางผมไปเกาหลีมาเล่าให้มากกว่าที่ผมเล่า พร้อมกับมีคุณหมอเจมส์ แลงค์ตัน คนเขียนหนังสือ A BEAD TIMELINE และศาสตราจารย์คิม กิวโฮ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแก้วจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติคองจู มาร่วมด้วย

ผมจึงขอแกะรอยลูกปัดเกาหลีพอเป็นกระสายยาเพื่อเชิญชวนให้ตามไปแกะรอยจริงๆ ร่วมกันในวันสุดท้ายของการจัดแสดงนิทรรศการปริศนาลูกปัดกับ 4 ผู้เชี่ยวชาญลูกปัด โดยผมจะนำชมนิทรรศการส่งท้ายในวันนั้นด้วยตนเอง อย่าลืมไปแกะรอยร่วมกันเพราะอาจจะพบหลักฐานที่เหลือเชื่ออีกหลายอย่างนะครับ


หน้า 21

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น