วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ลูกปัดนกแสงตะวัน อีกลูกปัดปริศนาแห่งอาณาจักรฟูนันและทวารวดี

 
วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11418 มติชนรายวัน


ลูกปัดนกแสงตะวัน อีกลูกปัดปริศนาแห่งอาณาจักรฟูนันและทวารวดี


คอลัมน์ แกะรอยลูกปัด

โดย บัญชา พงษ์พานิช plearnstan@gmail.com



 

 
"ลูกปัดแบบนี้อาจนับเป็นที่สุดของความคลาสสิคแห่งเอเชียอาคเนย์ เพราะไม่มีพบที่ไหนอีกเลย"

แรกเริ่มเดิมทีที่โดดเด่นขึ้นมาก็เมื่อครั้งที่ทั่วทั้งโลกกำลังตื่นเต้นกับรายงานการขุดค้นครั้งสำคัญของ หลุยส์ มาเลอเรต์ (Louis Malleret) จากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศเมื่อปี 2502 ที่ "ออกแอว" หรือที่ไทยเราเรียกกันว่า "ออกแก้ว" ในดินแดนเวียตนามบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการประกาศการค้นพบ "อาณาจักรฟูนัน" ที่บางคนมาบอกว่าคือ "อาณาจักรพนม" โดยมีรายงานการพบทั้งที่เป็นเม็ดกลมและแบน

"ปีเตอร์ ฟรานซิส จูเนียร์ (Peter Francis,Jr.) เรียกชื่อว่า ลูกปัดนก (Bird Beads)" ทำจากแก้วสีน้ำเงินเข้มหรือดำ มีลายเส้นลูกคลื่นสีขาวพันรอบไขว้กันเป็นสองกรอบ กรอบหนึ่งมักพบเป็นรูปนก อีกกรอบหนึ่งเป็นรูปคล้ายดาวกระจาย (star-burst) โดยบางเม็ดมีเป็นรูปกระรอกแทนนก หรือรูปดอกไม้แทนดาวกระจาย ที่ผมดูเป็นดวงตะวันฉาย

ปีเตอร์ ฟรานซิส ระบุว่ามีรายงานการพบหลายแห่ง ทั้งที่คลองท่อม, แหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีในประเทศไทย และ ในอินโดนีเซีย "โดยเฉพาะที่ จันทิลารัส (Candi Laras) ในกาลิมันตัน" ซึ่งน่าจะร่วมสมัยราว ๆ สหัสวรรษแรกของคริสตกาล (first millennium A.D.) และแม้จะมีการกล่าวว่าน่าจะมีต้นตอหรือแหล่งผลิตอยู่ในอินเดีย ปีเตอร์ ฟรานซิส กลับบอกว่าลูกปัดแก้วลายนกและดาวกระจายนี้ไม่เคยมีรายงานการพบในอินเดียเลย

 


ในขณะที่หมอเจมส์ แล็งค์ตัน (James Lankton) แม้จะไม้ได้เขียนรายละเอียดอะไรในหนังสือ A Bead Timeline แต่ได้จัดแสดงลูกปัดนี้ไว้ในกลุ่มลูกปัดของอินโดนีเซีย สมัยประมาณคริสต์ศวรรษที่ 5

ส่วนแอนน์ ริชเตอร์ (Anne Richter) เขียนในหนังสือเครื่องประดับเพชรพลอยแห่งเอเชียอาคเนย์ (The Jewellery of Southeast Asia) ว่านอกจากมีพบที่อู่ทองโดยเชื่อว่าน่าจะนำเข้ามาจากอินเดียแล้ว ยังมีพบที่แหล่งโบราณคดีสมัยซาหวิ่น (Sa huynh)ในเวียตนามตอนกลาง อายุประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศักราช 100 พร้อมทั้งระบุว่ามีการพบในบริเวณออกแอวและที่อื่น ๆ รวมทั้งในอินเดียซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นแหล่งผลิต

ที่โดนใจผมมากคือการเรียกชื่อของแอนน์ ริชเตอร์ ที่เรียกลูกปัดนี้ว่า ""ลูกปัดนกและตะวันฉาย (Birds and Sunburst)"" อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อลูกปัดนี้เสียใหม่ว่า ""ลูกปัดนกแสงตะวัน"" ในหนังสือ ""รอยลูกปัด"" ที่ผมพบว่า "มีพบมากเหลือเกินที่คลองท่อม จังหวัดกระบี่ มีทั้งที่เป็นรูปนกกับตะวันฉาย กับรูปอื่นๆ ทั้งที่คล้ายดาว ดวงดอกไม้ ดอกไม้ จนกระทั่งที่คล้ายหงส์ โดยมีรูปหนึ่งคล้ายปลาโลมา"

 


นอกจากนี้ยังมีเม็ดหนึ่งมีเพียงเส้นลูกคลื่นสี่ลอนเส้นเดียวตรงกลาง แล้ววางรูปดอกไม้ ดวงสีขาว หงส์ และ ดวงดอกไม้ในจังหวะของลอนลูกคลื่น โดยมีพบที่ทำเป็นเม็ดแบนด้วย ส่วนเม็ดแตกนั้นมีพบมากมายเช่นกัน

นอกจากนี้แล้ว ในภาคใต้มีให้ผมได้พบเห็นอีกเม็ดจากบางกล้วย แต่เนื้อสีขาวกะเทาะเกือบหมด คงเห็นเป็นรอยเส้นและรูปนกกับตะวันฉายอยู่ตื้นๆ เท่านั้น

ส่วนจากพื้นที่ภาคอื่นมีเห็นประปรายทั้งในพิพิธภัณฑ์และที่อื่นๆ ซึ่งอยากเชิญชวนช่วยกันตามรอยเอามาปะติดปะต่อ อาจจะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นของลูกปัดคลาสสิก "นกแสงตะวัน" ที่เริ่มจากฟูนัน ผ่านทวารวดี และมีทีท่าจะลงเอยว่ามาจากอินโดนีเซีย ซึ่งผมยังมีข้อมูลความรู้ไม่พอ นอกจากรู้แน่ๆ ว่าทุกวันนี้ ลูกปัดแก้วลายนี้มีทำที่อินโดนีเซีย ส่งเข้ามาขายในเมืองไทยมากมาย

ถ้ายังไง อาจจะตามรอยทั้งของเก่าและของใหม่เสียด้วยก็ได้นะครับ

ส่วนท่านที่สนใจแกะรอยภาคพิเศษที่อาจจะพลาดการเสวนา "ส่องลูกปัด หาอดีต ขีดอนาคต" ที่ร้านหนังสือคิโนคุนิยา สยามพารากอนเมื่อวันเสาร์ที่ 13 ถ้าอยู่ที่ภาคใต้ มี 2 รายการเสวนาน่าสน คือที่ "มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่บ่ายโมงตรงของวันพุธที่ 17 มิถุนายนนี้" มีเสวนาเรื่อง ""(ตาม)รอยลูกปัด : สมบัติล้ำค่าที่ตกหล่นในภาคใต้"" ต่อด้วย "วันเสาร์ที่ 20 ตั้งแต่บ่ายสี่โมงก็มีเสวนาที่ครัวนคร" ใน "บวรบาซาร์ กลางเมืองนครศรีธรรมราช" เรื่อง ""สืบรอยลูกปัดปักษ์ใต้ไปถึงกรีกและโรมัน""

สองงานนี้นัดนำลูกปัดไปดูกันเพื่อเทียบกับลูกปัดจากกรุที่ยกไปให้ดูด้วยกัน รวมทั้งสุริยเทพคู่แฝดที่สำคัญกว่าเม็ดที่ถูกโจรกรรมแล้วกลับคืนมาเม็ดนั้น

"สำหรับนิทรรศการ "ปริศนาลูกปัด" ที่มิวเซียมสยามนั้นจะจัดแสดงถึงวันที่ 28 มิถุนายนนี้เท่านั้น ใครยังไม่ไปดูขอแนะนำให้รีบไปดู หรือจะไปร่วมกิจกรรม "อำลาปริศนาลูกปัด" ในระหว่างวันที่ 27-28 นี้ซึ่งจะมีทั้งเสวนาและนำชมรอบพิเศษโดยผมเองครับ"

หน้า 21

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun02140652&sectionid=0120&day=2009-06-14

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น