วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อลังการเพลง"จิตร" ซิมโฟนีออร์เคสตร้า

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6779 ข่าวสดรายวัน


อลังการเพลง"จิตร" ซิมโฟนีออร์เคสตร้า


นุเทพ สารภิรมย์




เพลงของ "จิตร ภูมิศักดิ์" กลับมาอีกครั้ง หลังจากสร้างความประทับใจตราตรึงเมื่อปลายปีพ.ศ.2551 ที่ผ่านมา คราวนี้เป็น 80 ปี ซิมโฟนีซิ จิตร ภูมิศักดิ์ "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย" พร้อมด้วยกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ร่วมกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล จัดคอนเสิร์ต ซิมโฟนี 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จัดขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์

ครั้งนี้มีศิลปินรับเชิญที่มาร่วมขับร้องบทเพลงของจิตร ทั้ง มงคล อุทก, สุเทพ ถวัลย์วิวัฒนกุล และวงโฮปแฟมิลี่ และ สุรชัย จันทิมาธร หงา คาราวาน

โดยนำบทเพลงมาแสดงคอนเสิร์ตทั้งสิ้น 27 เพลง แบ่งออกเป็น 5 ช่วง แยกตามความหมาย และความเหมาะสมของเนื้อหาเพลง

คอนเสิร์ตเปิดด้วยการมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร สถานที่ที่จิตรถูกยิงเสียชีวิต จากนั้นเข้าสู่บรรยากาศเริ่มต้น ด้วยการเปิดอินโทรเสียงดนตรีเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ประกอบการบรรยายบอกเล่าประวัติความเป็นมาของจิตร ภูมิศักดิ์

เข้าสู่ช่วงที่ 1 เยาวชน นักศึกษา การศึกษา เบิกเพลงแรกด้วยเพลง ฟ้าใหม่ เน้นเพลงที่จิตรเขียนขึ้นระหว่างถูกจองจำในมหาวิทยาลัยลาดยาว หรือเรือนจำลาดยาว บทเพลงนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความใฝ่ฝันถึงวันใหม่ฟ้าใหม่ ที่ประ เทศไทยจะมีเสรีภาพภราดรภาพ

ต่อด้วย มาร์ชเยาวชนไทย จิตรประพันธ์เมื่อพ.ศ.2498 ใช้ร้องในงานชุมนุมของนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

มาร์ชธรรมศาสตร์-จุฬา สามัคคี จิตรประพันธ์เพลงมาร์ชธรรม ศาสตร์-จุฬาสามัคคี ระหว่างปีพ.ศ.2489-2499 เพื่อให้นิสิตนักศึกษา 2 สถาบันใช้ร้องในงานฟุตบอลประเพณี เพื่อความสามัคคีพลังนักศึกษาและเพื่อรับใช้ประชาชนในอนาคตกาลร่วมกัน



มาร์ชครูไทย ประพันธ์พ.ศ.2503 เพราะไม่เห็นด้วยกับความคิดที่เปรียบเปรยครูเป็นเหมือน เรือจ้าง แต่ยังยืนยันความคิดว่าบทบาทครูไทยต้องเป็นโคมไฟนำทางแห่งสังคม

ช่วงที่ 2 ชาวนา ชนบท เริ่มจาก เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ ประพันธ์ช่วงพ.ศ.2503 ขณะต้องโทษติดคุกการเมืองด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จากรัฐบาลจอมพลลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

มาร์ชชาวนาไทย จิตรประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองเสร็จเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2502 ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่ห้องเลขที่ 78 จิตรแต่งเพลงนี้เพื่ออุทิศให้ชาวนาไทย

มนต์รักจากเสียงกระดึง เป็นบทเพลงชื่อเดียวกันกับละครเพลงที่จิตร ได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2505 แสดงให้เห็นถึงชีวิตของหนุ่มสาวในชนบท

กลิ่นรวงทอง จิตรประพันธ์เพลงนี้เพื่อพรรณนาถึงการยืนหยัดต่อสู้ของชาวนาว่า ชาว นาต้องเหนื่อยแสนเหนื่อยกว่าจะได้ข้าวออกมาแต่ละเมล็ด

เปิบข้าว ถือเป็นบทเพลงที่แพร่หลายมากที่สุด ทั้งที่จิตรไม่เคยประพันธ์เพลงเปิบข้าว แต่เป็นบทกวี ต่อมาวงคาราวานได้นำบทกวีมาใส่ทำนองกลายเป็นเพลงเปิบข้าวที่คุ้นเคยในปัจจุบัน

ช่วงที่ 3 กรรมกร เริ่มจากเพลง ความหวังยังไม่สิ้น จิตรแต่งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2505 ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว เพื่อให้ตระหนักถึงพลังของชนชั้นตัวเองที่สามารถพลิกฟื้นความกลัว การถูกบีบคั้นและสามารถหาความเป็นธรรมให้ตัวเอง

มาร์ชกรรมกร จิตรระบุว่าประพันธ์เพลงนี้ขึ้นระหว่างปีพ.ศ.2498-2499 เพื่อใช้สำหรับร้องในงานฉลองพระราชบัญญัติแรงงาน



รำวงวันเมย์เดย์ แต่งเนื่องในโอกาสฉลองวันกรรมกรสากล 1 พ.ค. เพลงนี้มีเพื่อให้กรรม กรได้ตระหนักถึงพลังของตัวเองว่าสามารถสร้างทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นได้สองมือ เพลงสุดท้าย ศักดิ์ศรีของแรงงาน ประพันธ์เมื่อพ.ศ. 2504

การแสดงหยุดพัก 20 นาที และก่อนเริ่มการแสดงช่วงต่อไป นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นมามอบเงินสมทบทุนการก่อตั้งมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ให้แก่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

จากนั้น นายสุรชัย จันทิมาธร หงา คาราวาน ขึ้นเวทีโชว์กีตาร์เดี่ยวเพลง "จิตร ภูมิศักดิ์" โดยน้าหงาบรรยายความในใจว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่มีส่วนร่วมในงานของจิตร บุคคลที่มีเรื่องราวการต่อสู้ภาคประชาชน จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ รู้สึกดีใจเด็กรุ่นใหม่สนใจและช่วยกับสืบสานผลงานของจิตร จุดนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่พวกเรารอมานาน

เข้าสู่ ช่วงที่ 4 เผด็จการ จักรวรรดินิยม (ภัยเขียว ภัยขาว) เริ่มจากเพลงหยดน้ำบนผืนทราย ประพันธ์ขึ้นประมาณปี พ.ศ.2504 เนื้อเพลงได้นำลักษณะความขัดแย้งและแตกต่างทางสังคมให้มาเกี่ยวโยงกับความขัดแย้งและแตกต่างทางธรรมชาติ และจิตรยังหาญกล้าบรรยายให้เห็นว่า ทางออกมีเพียงต้องล้มล้างพวกทรราช

มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม จิตรประพันธ์เพลงนี้ขึ้นระหว่างปีพ.ศ.2498-2499 เพื่อปลุกเร้าให้ชาวไทยตื่นขึ้นมารับรู้และช่วยกันต่อต้านสหรัฐอเมริกา

เทิดสิทธิมนุษยชน บทเพลง "เทิดสิทธิมนุษยชน" เป็นเพลงที่เร่งเร้าวิญญาณของนักสู้ให้ลุกขึ้นกู้ศักดิ์ศรี ทำลายล้างทุกข์เข็ญและอธรรมให้สูญสิ้นไป เพื่อสร้างชีวิตใหม่

ช่วงที่ 5 เพลงปฏิวัติ ทะเลชีวิต จิตรประพันธ์เมื่อปีพ.ศ.2504 ต้องแต่งถึง 4 ครั้งจึงจะพอใจ เพื่อให้กำลังใจผู้ที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จ การ

เลือดต้องล้างด้วยเลือด คาดว่าจิตรคงประพันธ์ขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2505-2509 เพื่อมาร่วมฉลองวันที่ 1 ธ.ค.2508 งานประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

วีรชนปฏิวัติ คาดว่าน่าจะประพันธ์ขึ้นพ.ศ. 2505 เป็นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม วรรคทองของเพลงนี้อยู่ตรงช่วง สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่จนได้ชัยมา

จอมใจดวงแก้ว จิตรได้ประพันธ์เพลงนี้ให้กับสหาย "กลาโหม" เพื่อร้องให้แก่คนรักของเขาในวันที่ต้องอำลาจากกัน

ต่อด้วยเพลง อาณาจักรความรัก จิตรเป็นคนที่มีความรักเยี่ยงหนุ่มสาวทั่วไป จึงเชื่อว่าความรักที่แท้จริงนั้นไม่ใช่เป็นความรักส่วนตัวของคนเพียง 2 คน แต่ควรเป็นความรักในมวลชนที่แผ่ไปถึงผู้ทุกข์ยากทั้งปวงด้วย

ภูพานแห่งการปฏิวัติ จิตรหรือสหายปรีชาแต่งขึ้นช่วงปีพ.ศ.2508-2509 ภายหลังเข้าป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

มาร์ชปลดแอกประชา ชนไทย ภายหลังจากจิตรได้เมื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิว นิสต์แห่งประเทศไทยเต็มตัว ได้แต่งเพลงนี้ขึ้นโดยเริ่มต้นชื่อว่า "มาร์ชพลพรรคต่อต้านอเมริกา" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "มาร์ชกองทัพปลดแอกประชาชนไทย"

เพลงสุดท้าย "แสงดาวแห่งศรัทธา" ทันทีที่เสียงดนตรีเพลงดังขึ้นก็สะกดจิตใจของผู้ฟังทั้งหอประชุม และเมื่ออิสรพงศ์ ดอกยอ ขับร้อง ทุกคนต่างขยับปากร้องคลอตามอย่างแผ่วเบาจนจบ กระทั่งสิ้นสุดเสียงเพลง ทั้งหมดต่างลุกขึ้นปรบมือให้กำลังใจกับบรรดานักร้องนักดนตรี เป็นฉากจบของการแสดงคอนเสิร์ตที่สมบูรณ์


หน้า 5
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNVEl4TURZMU1nPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBd09TMHdOaTB5TVE9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น