วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ภาชนะดินเผาบ้านเชียง, เครื่องสำริดแห่งบ้านเชียง, ทับหลังแห่งปราสาทศรีขรภูมิ

ร้อยเรื่องเมืองไทย รอยไทยปีที่ ๑๕     

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุมากมายที่ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันเฉียงใต้ ที่มีอายุกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งมีโบราณวัตถุที่โดดเด่นที่สุด คือ ภาชนะดินเผา อันมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์

      ภาชนะดินเผาบ้านเชียงนั้น แบ่งออกได้เป็น ๓ ยุค ได้แก่

      ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุ ๕,๖๐๐-๓,๐๐๐ ปี ลักษณะเป็นภาชนะดินเผาสีดำหรือเทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ย ตัวภาชนะมักจะตกแต่งด้วยลายขีดเขียนเป็นเส้นคดโค้ง ลายเชือกทาบ และลายกดทับเป็นจุด

      ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ ๓,๐๐๐-๒,๓๐๐ ปี ลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่ ผิวนอกเป็นสีขาว ไหล่ภาชนะหักเป็นมุม มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนหรือทา ด้วยน้ำดินสีแดง

      และภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ ๒,๓๐๐-๑,๘๐๐ ปี นิยมเขียนลายและตกแต่งภาชนะด้วยสีแดง นับเป็นยุคที่มีลวดลายสวยงามที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่สงบสุขและอยู่ดีกินดีกว่าสมัยอื่น

     แต่ก่อนนั้นนักโบราณคดีทั้งหลายต่างมีความเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีอารยธรรมอันเก่าแก่เป็นของตนเอง หากแต่ได้รับเอาศิลปะและวัฒนธรรมมาจากภูมิภาคอื่น

      โดยเชื่อกันว่า  การทำเครื่องมือเครื่องใช้จากสำริด ซึ่งกำเนิดขึ้นในตะวันออกกลางเมื่อ ๕,๐๐๐ ปีก่อน ได้ถ่ายทอดเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว จึงไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้พบหลักฐานแห่งวัฒนธรรมสำริดที่มีอายุ ๕,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปี ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งอยู่ห่างจากตะวันออกกลางนับพันไมล์

      เครื่องสำริดที่พบส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ใบมีด ใบหอก และขวาน เป็นต้น 

      ถึงแม้ชาวบ้านเชียงเมื่อหลายพันปีก่อนไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้แต่โบราณ วัตถุประเภทเครื่องสำริด อายุนับพันปี ที่ขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหล่านี้ ก็เพียงพอที่จะเป็นหลักฐานยืนยันว่า "กลุ่มชนบ้านเชียงสมัยก่อนประวัติศาตร์นั้น เป็นผู้ริเริ่มการถลุงแร่และการหล่อโลหะสำริด ซึ่งนับว่าเป็นวิทยการขั้นสูงของมนุษย์ยุคนั้น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

     ปัจจุบันเครื่องสำริดเหล่านี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

     ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ เป็นยุครุ่งเรืองของวัฒนธรรมเขมรบนดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เห็นได้จากโบราณสถานและโบราณ วัตถุอิทธิพลศิลปะเขมรจำนวนมากที่พบในดินแดนแถบนี้ ซึ่งมีโบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ

     "ทับหลังพระกฤษณะประลองกำลังกับคชสีห์"  ศิลปะเขมรแบบนครวัด สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบที่ปรางค์บริวารปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

     ลวดลายบนทับหลังเป็นภาพพระกฤษณะสวมเครื่องประดับ อันได้แก่ กระบังหน้า มงกุฎ กรองศอ กุณฑล พาหุรัด และนุ่งโจงกระเบนสั้น อยู่ในท่าต่อสู้กับคชสีห์ ๒ ตัว ซึ่งกำลังคาบพวงมาลัยที่มีปลายอีกด้านหนึ่งเป็นพญานาค

     เหนือภาพพระกฤษณะเป็นภาพเทวบุรุษ ๓ องค์ในท่าร่ายรำ และเทวสตรีอีก ๒ องค์ในท่านั่งชันเข่า ภายในซุ้มวงโค้ง

     นอกจากทับหลังชิ้นนี้ ยังมีทับหลังพระกฤษณะประลองกำลังกับคชสีห์และช้าง ศิลปะเขมรแบบนครวัด สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พบที่ปราสาทศรีขรภูมิ เช่นกัน

     ซึ่งกล่าวได้ว่า โบราณวัตถุทั้งสองชิ้นนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งในทางศิลปะ ด้วยลวดลายจำหลักอันวิจิตรงดงาม สะท้อนภูมิปัญญาและความสามารถของช่างโบราณ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

     ติดตามชมรายการรอยไทย ชุด รอยไทย...ในพิพิธภัณฑ์ ได้ทุกวันจันทร์ถึงพุธ เวลา ๑๗.๕๘.-๑๘-๐๐ น.ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี

     รอยไทย สนับสนุนโดยธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน).

 

http://www.thaipost.net/tabloid/140609/6174



check out the rest of the Windows Live™. More than mail–Windows Live™ goes way beyond your inbox. More than messages

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น