วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

อาสาสมัครชาวต่างชาติ และบทบาทล่ามในงานด้านการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

อาสาสมัครชาวต่างชาติ และบทบาทล่ามในงานด้านการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
โดย : นายสมพงค์ สระแก้ว  เมื่อ : 7/06/2009 04:42 PM
ปัจจุบัน องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มีความจำเป็นต้องใช้ อาสาสมัครชาวต่างชาติ เพื่อทำงานให้สามารถเข้าถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ สามารถสื่อสารภาษาท้องถิ่น หรือภาษาต้นทาง หรือภาษาชาติพันธุ์ของประเทศนั้นๆ ผ่านการสัมภาษณ์ พูดคุย บอกเล่าสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแรงงานเหล่านั้น ดังนั้น นอกจากอาสาสมัครจะทำหน้าที่เชื่อมประสานระหว่างคนไทย กับแรงงานข้ามชาติแล้ว เขายังต้องทำหน้าที่ที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและทักษะต่างๆ นั่นคือ การเป็นล่ามสื่อภาษา ให้กับหน่วยงานด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน ด้านการส่งเสริมป้องกันโรคติดต่อ การรักษาพยาบาล การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอนามัย อาทิ โรงพยาบาลที่รับประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

ในห้วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา แวดวงองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ทำงานด้านสุขภาพ และรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มลูกเรือประมง พยายามเปิดพื้นที่ให้อาสาสมัครแรงงานเข้ามาทำงานด้วย และมีบทบาทมากขึ้นในการทำงานเชิงรุก การส่งเสริมป้องกันโรค และการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชน เขาเหล่านั้นมีชื่อเรียกติดปากว่า พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) หากเป็นอาสาสมัครในชุมชน หรือในโรงงาน จะเรียกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ซึ่งทั้งสองกลุ่ม จะต้องได้รับการอบรมให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ฝึกทักษะความชำนาญเป็นการเฉพาะ อย่างน้อยจะต้องมีความรอบรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานข้ามชาติ เด็กต่างชาติ และผู้ติดตาม ในประเด็นนโยบายของรัฐบาล แนวปฏิบัติตามกฎหมายของแรงงาน ระเบียบ ขั้นตอน การจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน สิทธิแรงงาน แนวนโยบายด้านแรงงานของแต่ละจังหวัด เทคนิคการทำงานในชุมชนแรงงานข้ามชาติ เป็นการเบื้องต้น และหัวใจที่สำคัญที่สุดคือ อาสาสมัครต้องมีจิตอาสา เสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประสบปัญหา ต้องซื่อตรงต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และมีระบบการสนับสนุน ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านประกอบกัน

ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในประเด็นการส่งเสริม ปกป้องคุ้มครองสิทธิ การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ก็มักจะพูดถึงความสำคัญของการใช้อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ ในอีกมุมหนึ่งของการทำงาน กล่าวคือ

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ Labour Rights Promotion Network foundation (LPN) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ ทำงานเกี่ยวข้องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน การป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การศึกษา สิทธิแรงงาน และการป้องกันการค้ามนุษย์ ทำงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ และราชบุรี ในโครงสร้างการทำงาน จึงจำเป็นต้องมี บุคลากรที่เป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และเพื่อนพี่น้อง ของกลุ่มชาติพันธุ์ของเขาเอง เพื่อที่จะให้เขาสามารถสื่อสาร ถ่ายทอด แปลความ ผ่านจากผู้ประสบปัญหา นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทางองค์กรได้เรียกชื่อตามภารกิจของงานที่ได้รับ อาทิ หากเขาทำงานที่เกี่ยวข้องด้านการสอนหนังสือเด็กในระบบโรงเรียน หรือนอกระบบโรงเรียน ในศูนย์การเรียนรู้ ทางเราจะเรียกว่า "ครูอาสาสมัครต่างชาติ" หากเป็นงานที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาปัญหา การช่วยเหลือด้านกฎหมาย และคดีความ เราจะเรียกว่า "ผู้ช่วยงานคุ้มครอง สิทธิ" กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ ได้ผ่านการอบรมให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายคุ้มครองเด็ก กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงาน นอกจากนั้นแล้ว อาสาสมัคร จะต้องได้รับการฝึกฝน อบรมทักษะการแปลความ การสื่อสารเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความถูกต้องมากที่สุด ที่สำคัญอาสาสมัคร ล่าม ต้องมีจรรยาบรรณ มีคุณธรรม มีหลักปฏิบัติการปกป้อง คุ้มครอง การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง

จึงเป็นความพยายามที่จะบอกกับสังคมว่า วันนี้ อาสามัครแรงงาน และหรือ ล่าม ในหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนมีความจำเป็นต้องใช้เขาเหล่านั้นมาสร้างสรรค์งานให้เกิดประโยชน์ต่อมิติการพัฒนาด้านต่างๆ ในสังคมไทย หากเราสามารถนำศักยภาพของแรงงานมาทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่แรงงานประสบ หรือปัญหาอื่นๆ ในบ้านเมืองเรา ปัญหาที่มองเห็นคงจะค่อยๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดี พียงแต่เราจะให้โอกาสเขาหรือไม่ เท่านั้นเอง

 

นายสมพงค์ สระแก้ว
ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
Labour Rights Promotion Network Foundation (LPN)

      http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1221

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น