วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ฮ่องกงนับแสนร่วมรำลึก 20 ปี "เทียนอันเหมิน"

ฮ่องกงนับแสนร่วมรำลึก 20 ปี "เทียนอันเหมิน"


ชาวพม่าและทิเบตพลัดถิ่นที่ประเทศอินเดีย ออกมาชุมนุมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีรูปของนางออง ซาน ซูจี , ทะไล ลามะ และ "Tank Man" ชายนิรนามผู้ยืนขวางรถถัง (AP Photo/Mustafa Quraishi) 


พระลามะจากทิเบต วางดอกไม้หน้าสถานฑูตจีนในลอนดอน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อ 20 ปีก่อน (AP Photo/Matt Dunham)

 
วางดอกไม้รำลึก หน้าสถานฑูตจีนในลอนดอน
ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาวางดอกไม้หน้าสถานฑูตจีนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์นองเลือดดังกล่าว
 
การวางดอกไม้ในครั้งนี้เพื่อแสดงการรำลึกถึงผู้ที่ถูกกองทัพรัฐบาลจีนสังหารเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 1989 ทางองค์กรแอมเนสตี้สากลเรียกร้องให้ทางการจีนมีการสอบสวยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น แต่ก็ยังคงมีรายงานว่า ทางการจีนได้ปราบปรามผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลเพื่อให้พวกเขาเงียบเสียงและหยุดการกระทำใด ๆ ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์นี้
 
เชา เจียง (Shao Jiang) หนึ่งในผู้รอดชีวิตที่ปัจจุบันอายุ 42 ปี ได้มาวางดอกไม้หน้าสถานฑูตด้วย โดยหลังเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาถูกสั่งจำคุก 18 เดือน ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประท้วง หลังจากนั้นจึ
งถูกจับกุมตัวอีกครั้งและถูกสั่งกักบริเวณ จนกระทั่งสามารถหนีออกจากประเทศจีนได้ในปี 1997
 
เขาเล่าถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า มันเป็นวันที่แย่มาก ทหารออกมายิงผู้คนบนท้องถนนและทางเท้า ตัวของเชา เจียง เองสามารถหนีออกจากจัตุรัสได้ทันและเข้าไปหลบในมหาวิทยาลัย ในนั้นทุกคนต่างอยากทราบชะตากรรมของเพื่อร่วมชั้นและมีใครเสียชีวิตไปแล้วบ้าง
 
"เพื่อนร่วมชั้นของผมสี่คนถูกสังหาร พวกเขาเป็นคนที่ผมสนิทสนมด้วย" เชา เจียง กล่าว
 
เจ้อ เซีย (Ze Xia) อายุ 53 ปี จากคริกเกิลวูด เมืองทางตอนเหนือของลอนดอน ก็มาที่หน้าสถานฑูตจีนเพื่อรำลึกถึงลูกพี่ลูกน้องของเขา นัน หวัง (Nan Wang) ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์
 
เธอเล่าว่าตอนนั้นนัน หวังกำลังถือกล้องถ่ายรูปอยู่บนถนน แต่ในวันนั้นมีคำสั่งจากระดับสูงว่าห้ามให้มีรูปถ่ายหรือการบันทึกวิดิโอเผยแพร่ออกไป พวกกองทัพจึงเล็งและยิงเขากระสุนทะลุศีรษะเขาไป
 
เจ้อ เซีย ยังได้บอกอีกว่า ครอบครัวลูกพี่ลูกน้องของเธอก็ยังคงถูกดำเนินคดี พ่อกับแม่ของนัน หวัง วางแผนว่าจะไปที่สถานที่ที่ลูกของพวกเขาถูกยิง แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตใหออกจากบ้าน "มีคนคอยมาที่บ้านพวกเขาเพื่อไม่ให้พวกเขาออกจากบ้าน คืนก่อนหน้านี้มีตำรวจราว 10 คนนอกบ้านคอยหยุดไม่ให้พวกเขาออกไป" เจ้อ เซีย กล่าว

เคท อัลเลน ผู้อำนวยการองค์กรแอมเนสตี้ในอังกฤษกล่าวว่า มีประชาชนหลายร้อยคนถูกสังหาร บางคนยังถูกขังอยู่ในคุกนานถึง 20 ปีแล้ว จากข้อหาที่พวกเขาชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน
 
"พวกเราเรียกร้องให้รัฐบาลจีนมีการไต่สวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วบอกให้โลกรับรู้ มีผู้ถูกสังหารไปจำนวนเท่าไหร่ และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ยังถูกกักขังอยู่ด้วย"

มีตำรวจหนาแน่นมากในเขตจัตุรัสเทียนอันเหมินในวันครบรอบเหตุการณ์ เนื่องจากทางรัฐบาลจีนต้องการป้องกันการต่อต้านรัฐบาล และสกัดกั้นผู้ที่จะมารำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

 

 
ผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงชุมนุมที่วิคตอเรียปาร์ก และจุดเทียนรำลึก 20 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน (ที่มา: Getty Images/daylife.com)


ผู้ชุมนุมเนืองแน่นที่วิคตอเรีย ปาร์ก, เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (ที่มา: Getty Images/daylife.com)


ผู้ชุมนุมนับแสนร่วมงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์เทียนอันเหมิน ที่วิคตอเรีย ปาร์ก, เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (ที่มา: AP/daylife.com)
 

ฮ่องกงนับแสนร่วมชุมนุมรำลึกถึงเทียนอันเหมิน
ขณะที่ในฮ่องกง กลุ่มสหพันธ์ฮ่องกงเพื่อการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในจีน (Hong Kong Alliance in Support of Patriotic Democratic Movement of China) ได้จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในฐานะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ ที่วิกตอเรีย พาร์ค (Victoria Park) โดยงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อประท้วงรัฐบาลจีนที่ปฏิเสธการนำเหตุการณ์นองเลือดในครั้งนั้นขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
 
เซโต หวา (Szeto Wah) ผู้ก่อตั้งสหพันธ์ฮ่องกงฯ กล่าวกับผู้มาร่วมงานว่า มีผู้มาเข้าร่วม 150,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้มาเข้าร่วมเมื่อปี 1990
 
แซนดรา ลี ครูสอนพละที่มาเข้าร่วมพร้อมกับลูกชายวัย 7 ขวบ บอกว่าเธอต้องการทราบความจริงว่ามีอะไรเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
 
ผู้เข้าร่วมงานยืนสงบนิ่งหนึ่งนาทีเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ มีการวางช่อดอกไม้และแสดงความเคารพ ผู้จัดงานต้องนำคนบางส่วนไปยังสนามหญ้าใกล้ๆ สถานที่จัดงาน เนื่องจากสถานที่จัดงานขนาดหกสนามฟุตบอลจุคนไว้ไม่พอ
 
บรรยากาศในงานมีผู้ถือเทียนนั่งสงบนิ่ง และมีการถือป้ายคำขวัญ "เรียกร้องสิทธิแก่ผู้คนในเหตุการณ์ 4 มิถุนา" (Vindicate June 4)
 
เซโต หวา พูดถึงการจุดเทียนรำลึกว่าเป็นพิธีที่สำคัญสำหรับเมืองฮ่องกง เพราะพิธีนี้ช่วยแสดงให้เห็นความสามารถในการปกครองตนเองส่วนหนึงของฮ่องกง และเสรีภาพในการแสดงออกในฐานะของผู้ต่อต้านรัฐบาลจีน
 
ขณะเดียวกัน ฉิน กัง (Qin Gang) โฆษก รมต.ต่างประเทศของจีนก็กล่าวในการแถลงข่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980s และเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลได้วางผลสรุปไว้ชัดเจนแล้ว นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้วทางการจีนได้ปฏิรูปและเปิดกว้างมากขึ้น การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีนประสบความสำเร็จดี
 
โดย หม่า เจาซู (Ma Zhouxu) โฆษก รมต. ต่างประเทศอีกคนได้ออกมาบอกเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ทางการจีนทำถูกแล้วในเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมในปี 1989
 
ในวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา โดนัลด์ ซาง (Donald Tsang) ก็ออกมาบอกว่า ประชาชนจะติดสินเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว "โดยปราศจาคความลำเอียง" เนื่องจากรัฐบาลจีนได้พัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้ฮ่องกงมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งต่อมาโดนัลด์ ซาง ได้ออกมาขอโทษ ที่ตนไม่สามารถเป็นตัวแทนความเห็นของคนในฮ่องกงทุกคนได้
 
ส่วน ลี ชูก-ยัง (Lee Cheuk-yan) รองประธานกลุ่มสหพันธ์ฮ่องกงฯ กล่าวไว้ว่าฮ่องกงควรทำหน้าที่เป็น "จิตสำนึกของจีน" (China's conscience) ต่อไป ในการทำให้ประชาชนจีนมีสิทธฺเสรีภาพในการแสดงความเห็น
 
โดยเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ในฮ่องกงได้มีหนังสือบันทึกของ เจ้า จื่อหยาง ออกวางจำหน่าย โดยเจ้า จื่อหยาง เป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยพยายามเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 จนถูกทางพรรคหาว่าเขาแสดงความเห็นใจกับการประท้วง "ต่อต้านการปฏิวัติ" ทำให้โดนสั่งกักบริเวณจนกระทั่งเสียชีวิต (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม - ) โดยลีเชื่อว่าทั้งการที่วันที่ 6 มิ.ย. เป็นวันครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ บวกกับการตีพิมพ์หนังสือบันทึกของเจ้า จื่อหยาง ทำให้ประชาชนมาร่วมงานจุดเทียนไว้อาลัยในครั้งนี้มากขึ้น
 
งานรำลึกเหตุนองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมินในฮ่องกงเมื่อปีที่ผ่านมา มีผู้มาเข้าร่วมชุมนุมเพียง 15,700 คน เท่านั้น
 
 


ตำรวจจีนตรวจค้นเอกสารของนีกข่าวต่างประเทศที่พยายามเข้าไปในเขตจัตุรัสเทียนอันเหมิน
ในวันที่ 6 มิ.ย. (AFP/Peter Parks)

 
ประชาชนในพื้นที่หันไปมองกลุ่มทหารตำรวจและกลุ่มตำรวจนอกเครื่องแบบที่กำลังเดินขบวน
ตรวจตราผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่
4 มิ.ย.(Reuters Pictures/Daylife)
 
รูปเด็กเดินเล่นในจัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 3 มิ.ย. โดยมีตำรวจทหารจับตาดู
(Getty Image/Daylife)
 
ในแผ่นดินใหญ่ยังคุมเข้ม สกัดช่องข่าว บล็อกนักข่าว และกักบริเวณครอบครัวผู้สูญเสีย
ในกรุงปักกิ่ง นักข่าวต่างประเทศถูกตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกันไม่ให้เข้าไปในเขตจัตุรัสเทียนอันเหมิน มียามรักษาความปลอดภัยตรวจเช็คพาสปอร์ตและกันไม่ให้ช่างภาพและกล้องวิดิโอเข้าไปในเขตจัตุรัส มีตำรวจนอกเครื่องแบบบางนายข่มขู่และด่าทอนักข่าวที่อยู่รอบ ๆ บริเวณ
 
เจ้าหน้าที่รัฐยังคงสกัดกั้นอย่างเข้มงวด โดยมีการทำให้ช่อง CNN เหลือแต่จอดำ รวมถึงช่องข่าวต่างประเทศอื่น ๆ ที่มีการนำเสนอเรื่องของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เช่นญาติของผู้เสียชีวิตก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยกักตัวไม่ให้ออกจากบ้าน แม้กระทั่ง หวัง ยันนัน (Wang Yannan) ลูกสาวของจ้าว จื่อหยาง ที่แม้เธอจะไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการเมืองเลยก็ยังมีรถตำรวจมาล้อมบ้าน
 
 


องค์กรแอมเนสตี้ในญี่ปุ่น ประท้วงหน้าสถานฑูตจีนในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.
ในฐานะ 20 ปี เหตุการณ์เทียนอันเหมิน
(AP Photo/Daylife)

 
ไต้หวัน-อเมริกา บอกจีนควรเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในอดีต
ประธานาธิบดีไต้หวัน หม่า หยิงเจียว เรียกร้องให้รัฐบาลจีนยกเลิกข้อห้ามการพูดถึงเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน โดยกล่าวในแถลงการณ์วันที่ 6 มิ.ย. ว่า จีนควรเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดนี้ การแกล้งทำเป็นว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไม่ใช่ทางออก
 
ขณะเดียวกัน ฮิลลารี่ คลินตัน รมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้จีนและทั่วโลกหันมาสนใจวันครบรอบเหตุนองเลือดที่เทียนอันเหมิน โดยฮิลลารี่ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า ผู้ประท้วงนับร้อยนับพันคนที่ออกมาบนท้องถนนในสัปดาห์นี้ ทั้งในปักกิ่งและทั่วประเทศก็เพื่อสดุดีนักปฏิรูปอย่างหู เย่าปัง (Hu Yaobang) และเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกรัฐบาลปฏิเสธ
 
"จีนมีความก้าวหน้าด้านเศรษกิจอย่างมาก และหากอยากจะดำรงอยู่ในพื้นที่ของผู้นำโลกอย่างถูกต้อง ก็ควรให้มีการพิจารณาเหตุการณ์มืดมนที่เกิดขึ้นในอดีตและแถลงออกสู่มวลชน ทั้งผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ผู้ที่ถูกจับกุมและผู้สูญหาย นั่นก็เพื่อจะได้เรียนรู้และเยียวยามัน" ฮิลลารี่ กล่าว
 
นอกจากนี้ฮิลลารี่ คลินตัน ยังได้เรียกร้องให้จีนปล่อยตัวนักโทษจากเหตุการณ์ 4 มิถุนาฯ ที่ยังถูกดำเนินคดีอยู่ และมีการเจรจาร่วมกับสมาชิกครอบครัวของผู้สูญเสีย รวมถึงกลุ่มมารดาเทียนอันเหมิน (Tiananmen Mothers) ด้วย
 
โดย ฉิน กัง โฆษก รมต. ต่างประเทศของจีน ก็ออกมาตอบโต้ความเห็นของฮิลลารี่ว่า “เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนแบบประหลาด ๆ” นอกจากนี้ยังได้บอกสหรัฐฯ อีกว่า ละวางอคติทางการเมือง และเลิกบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสีย โดยฉินปฏิเสธจะพูดถึงเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันนี้
 
“วันนี้ก็เหมือนทุกๆ วัน ยังคงปกติ”  ฉินกล่าว
 
 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
 
Flowers laid for Tiananmen Square , BBC , 04-06-2009
 
Tiananmen Square Vigil in Hong Kong Park Draws Crowd of 150,000 , Bloomberg , Sophie Leung and Theresa Tang , 04-06-2009
 (Updated)
 
Tiananmen Wounds ‘Need To Heal’ , Radio Free Asia , 04-06-2009
 
Tiananmen 20th anniversary brings new repression , Christopher Bodeen , AP , 04-06-2009

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น