แรงสะเทือนจากการเมือง
กระทบถึงองค์กรของรัฐ
ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ร้ายทางการเมืองบ้านเราในช่วง 2-3 ปีมานี้ ส่งแรงสะเทือนถึงองค์กรของรัฐอย่างลึกๆลับๆ และอย่างทั่วถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐที่เรียกว่า องค์กรอิสระ เช่น กทช. และหรือองค์กรของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น รฟม. - ททท. ฯลฯ
เป็นแรงสะเทือนที่สร้างความล่าช้า ล้มเหลว และเสียหายมหาศาล ทั้งในด้านรายได้ และในด้านของการพัฒนาประเทศ
เสียหายมหาศาลคือ ททท. – การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเดียวที่ต้องพึ่งพาอาศัยงบประมาณจากรัฐในการดำเนินการ เนื่องจากไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเองเช่นองค์กรของรัฐ – อื่นๆอีกหลากหลายองค์กร
แน่นอนว่าวิกฤตการเมืองอันสืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองกระทำการปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิคือแรงสะเทือนมหาศาลให้รายได้จากการท่องเที่ยวสูญเสียไป – จากวันนั้นถึงวันนี้คงไม่ต่ำกว่าล้านล้านบาท
การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจประเทศย่อยยับ เกินกำลังที่องค์กรของรัฐอย่าง ททท. ซึ่งรับผิดชอบดูแลการท่องเที่ยวจะเยียวยาแก้ไขให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยได้เป็นปกติ – ในเวลาอันรวดเร็ว
ตราบใดที่สถานการณ์เลวร้ายทางการเมืองยังไม่คลี่คลายถึงจุดสงบสันติ การดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. คงเดินไปไม่ได้นอกจากคลานไป – คลานไป
โดยสถานภาพของ ททท. แม้จะได้ชื่อว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ก็เป็นรัฐวิสาหกิจเดียวที่ไม่เหมือนใคร เนื่องจากรัฐวิสาหกิจอื่นสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเอง คือสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณดำเนินกิจการจากรัฐ
แต่กิจการของ ททท. ไม่สามารถหารายได้เจือจุนตัวเองได้ เพราะด้วยหน้าที่แท้จริงคือต้องดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยว ดูแลรักษาส่งเสริมสร้างสรรค์แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณจากรัฐทั้งสิ้น ไม่ใช่บริษัททัวร์ หรือขายตั๋วเครื่องบิน
แรงสะเทือนจากการเมืองดังที่รู้เห็นเป็นมา จึงส่งผลกระทบให้ ททท.ขาดความคล่องตัว ขาดความเชื่อมั่น และขาดการเกื้อหนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่หยุดนิ่ง
ด้วยวิกฤตการเมืองที่สร้างความขัดแย้งไม่จบสิ้น โครงการใหญ่หลายโครงการต้องถูกระงับ ต้องหยุดนิ่งหรือต้องชะลอไปก่อน – หยุดหรือชะลอเพื่ออะไรใครนั้น คนการเมืองย่อมรู้อยู่แก่ใจ เพราะคนในองค์กรของรัฐแต่ละองค์กรก็รู้ว่าการเมืองเข้าแทรก
นอกจาก ททท. หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแรงแล้ว รฟม – การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน การดำเนินโครงการที่ริเริ่มและลงตัวมานานเกือบ ทศวรรษ แล้วนั้น
รฟม.ทำรถไฟฟ้าใต้ดินขนส่งผู้โดยสารได้สำเร็จเพียงสายเดียว อีก 2-3 สายที่ผ่าน ครม.มาหลาย ครม. - เปรียบไปก็เหมือนม้าตีนต้น พอออกสตาร์ทก็แผ่ว เพิ่งเริ่มเปิดประมูลได้สำเร็จอีกเพียงสายเดียวคือสายสีม่วง ส่วนสายสีน้ำเงิน สีแดง หรือสีเหลือง สีเขียว ฯลฯ บัดนี้มีอันเป็นไปต้องหยุดนิ่ง – นิ่งสนิทเพราะวิกฤตเสื้อเหลือง-เสื้อแดงนี่เอง
ว่ากันว่ามานานนักแล้วว่า – ไม่ว่าองค์กรใดถ้ามือแห่งการเมืองเข้าไปแตะต้องแทรกแซงแล้วละก็ลางหายนะจะเกิดให้เห็นเป็นลางๆทันที
องค์กรของรัฐอันประกอบด้วย รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระต่างๆนั้น แม้จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ก็ว่ากันอีกว่า องค์กรของรัฐทั้งหลายล้วนตกเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินของนักการเมืองบางคนในรัฐบาลบางรัฐบาล
ด้วยเหตุและด้วยผลนั้น ความรวดเร็ว หรือ ล่าช้า ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของโครงการแต่ละโครงการที่องค์กรภาครัฐดำเนินการอยู่ – จึงขึ้นอยู่กับภาวการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ
กทช. - คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คือองค์กรของรัฐอีกองค์กรหนึ่งซึ่งเป็นอิสระ มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศชาติ และประชาชน
ในวิกฤติการณ์ทางการเมือง และในสงครามความขัดแย้งของคนไทยที่เป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง กทช. ได้รับแรงสะเทือนทางการเมืองไม่น้อยกว่าองค์กรอื่นๆของรัฐ
การใช้รายการวิทยุชุมชนปลุกระดมทางความคิดขัดแย้ง และชักชวนให้ประชาชนแบ่งกลุ่มแบ่งสีออกมาชุมนุมสร้างความปั่นป่วนให้บ้านเมืองนั้น กทช. ก็จำเป็นต้องรับแรงสะเทือนนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะผู้มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง
และการที่รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ อาศัยอำนาจรัฐสั่งปิดวิทยุชุมชนบางสถานี รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ ดี.ทีวี ในข้อกล่าวหาปลุกเร้าประชาชนคนไทยให้เกิดความรู้สึกนึกคิดขัดแย้งแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย – ปลุกระดมให้ผู้คนเสื้อแดงออกมาชุมนุมสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง
มีความสงสัยกันอยู่ในหลายกลุ่มหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง และฝ่ายประชาชนคนกลางที่ไม่ถือหางข้างใดฝ่ายใดว่า
- รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งปิดสถานวิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์ได้ในทันทีโดยไม่ผ่าน กทช. จริงหรือ?
- กทช. ในฐานะผู้มีหน้าที่กำกับดูแลคลื่นวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ทำอะไรอยู่ ทำไมจึงไม่กระทำการควบคุมดูแลให้เต็มที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ เป็นเครื่องมือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
- คำถามสุดท้าย ทำไมจึงปิดแต่เฉพาะสถานีวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำไมไม่ปิดวิทยุโทรทัศน์ของกลุ่มคนเสื้อเหลือง
การเมือง - เปรียบเหมือนคลื่นเหมือนลม มีทั้งประโยชน์และโทษ แต่แรงลมการเมืองวันนี้สร้างปัญหหา และส่งผลกระทบรุนแรงต่อการปฺฏิบัติดำเนินการขององค์กรของรัฐ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ปัญหาความขัดแย้ง ความแตกแยก และความคิดต่าง - ยังไม่ยุติได้โดยง่าย ตราบใดที่ทุกฝ่ายยังไม่ปรับความเข้าใจกัน และยังไม่สร้างความเข้าใจถ่องแท้ให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นกลาง – ที่ไม่ได้สวมเสื้อเหลืองหรือสวมเสื้อแดง
ความรู้สึกคับข้องใจในการทำงานล่าช้าไม่เห็นผล ขององค์กรรัฐต่างๆ ล้วนมีส่วนได้รับแรงสะเทือนทางการเมืองทั้งสิ้น
แน่นอน – เราคงต้องมาทำความเข้าใจในขอบข่ายพันธะหน้าที่ขององค์กรของรัฐ และองค์กรอิสระหลายแห่ง เพื่อขจัดปัญหาความเข้าใจผิดพลาดอันจะสร้างรอยร้าวและความแตกแยกที่จะลุกลามเป็นปัญหาของสังคม และเศรษฐกิจต่อไปหในวันพรุ่งนี้
ในฐานะองค์กรอิสระ มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ฯลฯ ซึ่งได้รับแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองเป็นองค์กรล่าสุด – คงจะต้องออกมาชี้แจงให้คำตอบชัดเจนจริงจังกว่านี้ ไม่ใช่แค่จะตอบคำถามที่ว่า
"กทช.ย่อมาจากอะไร" - เท่านั้น
ขอบคุณครับ
ตอบลบน่าจะเอาเรื่องหา
รายได้พิเศษในรูปแบบต่างๆมาเสนอด้วยนะครับ
ผมอยากรู้ครับ
:)