วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปริศนาเมืองโบราณเชียงชื่น-เจียงจืน/ภูมิบ้านภูมิเมือง

ปริศนาเมืองโบราณเชียงชื่น-เจียงจืน/ภูมิบ้านภูมิเมือง
ข่าววันที่ 21 พฤษภาคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

ภูมิบ้านภูมิเมือง

บูรพา โชติช่วง

 

ปริศนาเมืองโบราณ

เชียงชื่นเจียงจืน? อยู่ที่ไหน

               

งานสัมมนาวิจัยวิจักขณ์ ครั้งที่ 4 กรมศิลปากร ลุล่วงไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีหัวเรื่องงานโบราณคดีที่น่าสนใจอยู่จำนวนมาก 1 ในหัวข้อที่หยิบมานำเสนอคือเรื่อง "เชียงชื่น : เจียงจืน? อยู่ที่ไหน" ของ นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน

            ปฏิพัฒน์ กล่าวว่า ชื่อเมืองเชียงชื่นมีปรากฏอยู่ในโคลงยวนพ่าย ซึ่งเป็นวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา แต่งขึ้นเพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงมีชัยชนะต่อล้านนา และเมืองเชียงชื่นเป็นเมืองสำคัญที่แย่งชิงกันระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่าย จนท้ายที่สุดกองทัพอยุธยาได้รับชัยชนะยึดเมืองเชียงชื่นกลับมาเป็นของตนเองได้อีกครั้ง

            อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งอยุธยาและล้านนามีความต้องการยึดเมืองเชียงชื่นมาเป็นของตนเองให้ได้ ปฏิพัฒน์มอง "ย้อนเวลาไปหาอดีต จะเห็นได้ในบรรดาเอกสารโบราณต่างๆ ไม่มีการกล่าวถึงชื่อเมืองเชียงชื่นแต่อย่างใด มีเพียงในโคลงยวนพ่ายเท่านั้นที่กล่าวถึง และนักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานกันว่า เมืองเชียงชื่นคือเมืองเชลียง จะขอยกไว้ไม่กล่าวถึง แต่ที่อยากกล่าวถึงเมืองโบราณเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำยมขึ้นไปทางเหนือไม่ไกลจากเมืองเชลียงนัก และไม่ไกลจากเมืองตรอกสลอบในเขตอำเภอวังชิ้น นั่นคือ เมืองโบราณเจียงจืน"

            เจียง คือ เชียง หมายถึง เมือง ส่วน จืน คือ ตะกั่ว รวมความแล้วหมายถึง เมืองที่มีตะกั่ว เมืองโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตบ้านไฮสร้อย ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เมื่อสำรวจแล้วพบว่าเป็นเมืองที่มีลำน้ำไหลผ่านด้านหนึ่งของตัวเมือง ส่วนอีกด้านหนึ่งติดกับแม่น้ำยม

            ปฏิพัฒน์ บันทึกจากคำสัมภาษณ์ ลุงอิน แปงแสนมูล อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้มาเป็นเวลานาน ให้ข้อมูลว่า ตัวเมืองเจียงจืนเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยม มีกำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง มีคูน้ำล้อมรอบ มีโบราณสถานสำคัญคือวัดหัวข่วง และพระธาตุไฮสร้อย ยังปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัดพระธาตุไฮสร้อย ภายในประกอบด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร และพระอุโบสถ

            ชาวบ้านยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก บ้านไฮสร้อยนี้เดิมนั้นเคยมีท่าเรือ ไว้ใช้ในการเดินทาง ขนส่งสินค้าขึ้นล่องไปตามลำน้ำแม่ยมมาก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่อำเภอลอง นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงกันยังมีวัดสำคัญอีกหนึ่งวัดคือวัดนาตุ้ม บ้านนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง พื้นที่อยู่ใกล้ภูเขาอันเป็นแหล่งแร่เหล็ก ทางพระอธิการวิชัย อภิปุญโญ เจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบัน ได้นำโบราณวัตถุที่ทางวัดเก็บรวบรวมไว้ มีทั้งชิ้นส่วนของเป้าหลอมโลหะ เศษตะกรันเหล็ก ที่คนในพื้นที่เรียกว่าตับเหล็ก และเชื่อกันว่าเป็นเหล็กชั้นดี เมื่อนำมาหลอมทำอาวุธ ทำเครื่อง มือใช้ต่างๆ ซึ่งแหล่งแร่เหล็กนี้อยู่บนภูเขา ไม่ห่างจากวัดเท่าใดนัก และปัจจุบันชาวบ้านก็ยังมีการขุดหาแร่เหล็ก

            "ชาวบ้านที่ขุดหาแร่เหล็ก จะมีพิธีกรรมการเปิดหลุมหาแร่เหล็กทุกครั้ง และจะทำปีละหนเท่านั้น โดยยึดตามโบราณในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของภาคเหนือ ตรงกับเดือนอ้ายของภาคกลาง ซึ่งในปีที่ผ่านมาตรงกับวันที่ 31 พฤศจิกายน 2551 คราวนั้นพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือพระพุทธรูปศิลปะล้านนา แบบที่เรียกกันว่าสิงห์ 3 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21" ปฏิพัฒน์ ขยายความ

            และสะท้อนองค์พระพุทธรูปศิลปะล้านนา พิจารณาของพุทธศิลป์องค์นี้แล้วมีรายละเอียดผสมผสานศิลปะสุโขทัยอยู่ พระรัศมีเป็นเปลว พระเกตุมาลาขนาดเล็ก นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม มีขนาดไม่เท่ากัน ประทับนั่งสมาธิราบ สังฆาฏิยาว แต่ส่วนปลายตัดตรง นอกจากนี้ชาวบ้านยังพบพระพุทธรูปไม้ศิลปะพื้นเมืองขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่พบ นั่นคือ กบสำริด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนเครื่องประดับอยู่บนริมหน้ากลองสำริด ที่เรียกกันว่า กลองมโหระทึก ซึ่งเป็นกลองที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม และเท่าที่มีหลักฐานการพบกลองมโหระทึกในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง คือพบที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ และที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน กบสำริดชิ้นนี้พบในลำคลองที่น้ำไหลผ่านหน้าวัด

            ผอ.สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน สะท้อนความสำคัญของเมืองโบราณเจียงจืน ที่มีพระธาตุไฮสร้อยเป็นศูนย์กลางของชุมชน ที่สำคัญคือเป็นแหล่งแร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งแร่เหล็ก แร่ตะกั่ว แร่ดีบุก แร่ทองแดง แร่พลวง และแร่แบไรต์ ที่สำคัญของแร่คือแร่เหล็กและแร่ตะกั่ว จึงมีชื่อเรียกว่า เมืองเจียงจืน และในปัจจุบันนี้ยังเรียกตำบลนี้ว่าตำบลบ่อเหล็กลอง คนในชุมชนยังมีการขุดหาแร่เหล็กอยู่อีกด้วย

            ที่น่าสนใจไปอีก คือในแผนที่สำรวจเรื่องเหมืองแร่ในบริเวณภาคเหนือของไทยก็พบว่า บริเวณอำเภอลองนี้เป็นแหล่งแร่สำคัญ มีการสำรวจพบแร่นานาชนิดตามที่กล่าวข้างต้น และจากการสำรวจทางโบราณคดีต้าผามอกในบริเวณอุทยานแห่งชาติผากลอง อำเภอลอง ก็พบแหล่งแร่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะแร่ตะกั่วนี้ในอดีตทางวัดและชาวบ้านแปรธาตุทำเป็นพระพิมพ์วัตถุบูชา แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงอยู่เล็กน้อย

            นักโบราณคดีท่านนี้ สะท้อนภาพประวัติศาสตร์กลับไป ด้วยเหตุที่บริเวณพื้นที่นี้เป็นแหล่งแร่สำคัญ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแย่งชิงเพื่อครอบครองพื้นที่แหล่งแร่นานาชนิดนี้ ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรล้านนา โดยมี เมืองเจียงจืน หรือที่เรียกกันในโคลงยวนพ่ายว่า เมืองเชียงชื่น ซึ่งเดิมเคยรวม อยู่กับอาณาจักรสุโขทัย เมื่ออยุธยารวมสุโขทัยเข้ามาไว้ในอำนาจได้แล้ว เมืองเชียงชื่นจึงอยู่ในอำนาจอยุธยาด้วย(เมืองครอกสลอบ ซึ่งพบจารึกสมัยสุโขทัยที่วัดวังชิ้น ในอำเภอวังชิ้นนั้นก็อยู่ใต้ลงไปจากเมืองเจียงจืนหรือเชียงชื่นไม่มาก)

            ไม่เพียงแต่เมืองเชียงชื่นเท่านั้น ในโคลงยวนพ่ายยังกล่าวถึงด้วยว่า กองทัพของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยายังยกตามขึ้นไปตีทัพของพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาถึงสบตื่น ตรงที่แม่น้ำลี้มาชนกับลำน้ำแม่ตื่น ซึ่งอยู่เหนือเมืองเชียงชื่นขึ้นไปอีกด้วย มีข้อสังเกตด้วยว่ามีการหล่อพระพุทธรูปสำริดของสุโขทัยเป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นที่ยอมรับในฝีมือช่างศิลป์มีความสวยงามมาก ส่วนผสมของพระพุทธรูปสำริดนั้นหลอมด้วยทอง แดงและดีบุก ซึ่งแร่ที่นำมาหล่อก็น่าจะมาจากเมืองเชียงชื่นหรือเจียงจืนนั่นเอง

            นักโบราณคดีท่านนี้กล่าวสรุป หากพิจารณาหลักฐานในแง่ที่เมืองเจียงจืน เป็นแหล่งแร่ที่สำคัญที่สามารถนำมาทำเป็นอาวุธคือเหล็กและแร่อื่นๆ ที่มีความจำเป็นในการสร้างพระพุทธรูปสำริด รวมไปถึงการทำเครื่องไม้เครื่องมือใช้ในชีวิตประจำวัน การแย่งชิงเพื่อครอบครองแหล่งแร่เหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ 2 อาณาจักรอยุธยากับล้านนาต้องทำสงคราม เพื่อแย่งชิงเป็นของตนเองให้ได้

            ดังนั้นเมืองเจียงจืนก็น่าจะเป็นเมืองเชียงชื่น ที่ปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารโคลงยวนพ่าย ที่เขียนขึ้นมาในสมัยอยุธยา เพื่อยอพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่มีชัยชนะเหนือกองทัพล้านนาของพระเจ้าติโลกราช ยึดเมืองเจียงจืนหนือเชียงชื่นกลับมาไว้ในครอบครองได้สำเร็จ
 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=70&nid=38473


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น