วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

จ้าว จื่อหยาง นักโทษของแผ่นดิน

จ้าว จื่อหยาง นักโทษของแผ่นดิน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2552 16:21 น.
จ้าว จื่อหยาง หัวหน้าสถาปนิกการปฏิรูปเศรษฐกิจ, นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2530
       เอเชียน วอลล์ สตรีต เจอร์นัล – หนังสือบันทึกความทรงจำของอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งกระเด็นจากตำแหน่ง เพราะไม่ยอมร่วมมือเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2532 เสมือนบานหน้าต่าง ที่เปิดกว้าง เผยภาพการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของชนชั้นผู้นำแดนมังกร ซึ่งแทบไม่เคยมีการแพร่งพรายให้โลกภายนอกรับรู้
       
       หนังสือน่าจะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนแสบร้อนไปตาม ๆ กัน เพราะออกวางแผงในช่วงใกล้ครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมินพอดี
       
       สำนักพิมพ์ไซมอนด์ แอนด์ ชูส์เตอร์ จะเปิดตัวหนังสือเรื่อง “Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang” (นักโทษของแผ่นดิน : บันทึกลับหัวหน้าจ้าว จื่อหยาง ) อย่างเป็นทางการที่อเมริกาในเดือนนี้
       

       เนื้อหาในหนังสือมาจากการบันทึกเทป รวมเวลานาน 30 ชั่วโมงของนายจ้าว ก่อนจะอำลาจากโลกนี้ไปเมื่อเดือนมกราคม ปี 2548 โดยบันทึกเสียงลงในตลับเทปเพลง ที่พอจะมีอยู่ระหว่างถูกกักบริเวณภายในบ้านท่ามกลางการควบคุมอย่างเข้มงวด จากนั้น ได้แจกจ่ายให้เพื่อนฝูงช่วยเก็บรักษา และเพิ่งมีการรวบรวมเทป ถอดข้อความ และแปล เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือเมื่อไม่นาน
       
       นับเป็นหนังสือ ที่มีการพูดอย่างเปิดอกครั้งแรกของบุคคล ซึ่งเคยเป็นผู้นำจีน เกี่ยวกับประสบการณ์ เมื่ออยู่ในศูนย์กลางของอำนาจ

ชายคนหนึ่งในฮ่องกงกำลังอ่านบันทึกความทรงจำของจ้าว จื่อหยางเมื่อวันที่ 14 พ.ค 2552 หนังสือเล่มนี้วางขายในฮ่องกง แต่คงไม่น่าจะได้รับอนุญาตพิมพ์จำหน่ายบนแผ่นดินใหญ่
       นายจ้าวดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงที่นักศึกษาและประชาชนรวมตัวประท้วงกลางจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคม พ.ศ.2532 ในหนังสือเล่มนี้ นายจ้าวได้โต้แย้งเรื่องที่เขาคัดค้านการประกาศกฎอัยการศึก และการใช้กำลังทหารเต็มอัตราเข้าปราบผู้ประท้วง ที่ชุมนุมกันอย่างสงบในคืนวันที่ 3 มิถุนายน เรื่อยมาจนถึงรุ่งเช้าวันที่ 4 มิถุนายน
       
       “ผมบอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าอะไรก็ตาม ผมจะไม่ยอมกลายเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งระดมกำลังทหาร มาบดขยี้นักศึกษา” นายจ้าวระบุในหนังสือ
       
       เขาเปิดเผยว่าการตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกลอบทำกันในวงประชุมเล็ก ๆ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่บ้านเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุด และประธานคณะกรรมาธิการกลางด้านการทหาร
       
       


จ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์พูดผ่านเครื่องขยายเสียงกับนักศึกษา ซึ่งอดอาหารประท้วง ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2532
       การมอบหมายอำนาจให้ใช้กำลังทหารมิได้ผ่านการลงมติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่อย่างใด แถมท่านผู้นำเติ้งยังขอให้ปิดเรื่องการประชุมเป็นความลับอีกด้วย !
       
       หนังสือบันทึกความทรงจำเปิดเรื่องด้วยการย้อนรำลึกของนายจ้าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน โดยอาศัยจากสมุดบันทึก ที่เขาเขียนขึ้นเมื่อปี 2535
       
       “ ผมกำลังนั่งอยู่ที่ลานบ้านกับครอบครัว ก็ได้ยินเสียงยิงปืนดังสนั่น โศกนาฏกรรมสะเทือนใจโลกมิได้ถูกแก้ไขปัดเป่า และกำลังอุบัติขึ้นในที่สุด” นายจ้าวพูดถึงเหตุการณ์ในคืนวันที่ 3 มิถุนายน
       
       หนังสือระบุว่า ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่น ๆ ไม่รอช้า ลดบทบาทความสำคัญของนายจ้าว ภายหลังเหตุนองเลือดผ่านไปไม่กี่สัปดาห์ โดยปลดออกจากตำแหน่ง และสั่งกักบริเวนภายในบ้านพัก นายจ้าวตกเป็นนักโทษจวบจนสิ้นลมหายใจ

ประธานาธิบดี โรนัลด์ รีแกน เดินไปส่งนายกรัฐมนตรีจ้าว จื่อหยางที่รถ หลังจากทั้งสองเสร็จสิ้นการหารือที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2527
       นักโทษของแผ่นดินผู้อาภัพยังระบุว่า นายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง คือตัวการใหญ่ในการให้ร้ายเขา และมี “เจตนาร้ายแอบแฝง” ที่จะใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม
       
       จนถึงบัดนี้ รัฐบาลจีนยังคงปกป้องวิธีการสลายการชุมนุมของตน แต่ก็มิได้แจ้งยอดผู้เสียชีวิตอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อกันว่า มีคนตายหลายร้อยคน
       
       ในคำนำของหนังสือ อาดี้ อิกเนเชียส (Adi Ignatius) บรรณาธิการร่วมในการจัดพิมพ์ มองว่า บางที จุดประสงค์ของการบันทึกเรื่องราว นายจ้าวอาจต้องการเสนอข้อโต้แย้ง เพื่อให้ผู้นำรุ่นใหม่ได้พิจารณา หากมีการย้อนกลับไปดูเรื่องของเขา และตัดสินใจว่าเขาควรได้รับการกู้เกียรติยศชื่อเสียงกลับคืนมา เพื่ออยู่ในความทรงจำของพรรคและของชาติหรือไม่?
       
       จากเนื้อหาของหนังสือ ยังแสดงให้เห็นว่า แม้มีความเป็นนักการเมืองหัวเก่า เมื่อเขาส่งเสริมนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจจีนในกลางทศวรรษ 1980 แต่ในบั้นปลายชีวิต นายจ้าวก็มีความเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่นับเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไว้
       

       หนังสือจบลงด้วยการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองในอนาคตของจีนว่า “อันที่จริงแล้ว ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของตะวันตกนี่แหละ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามีพลังมากที่สุด ดูเหมือนเป็นระบบดีที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้” นายจ้าวระบุ
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9520000058969

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น