วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

รอยอดีตในเชียงตุง(2)

รอยอดีตในเชียงตุง(2)/จิปาถะวัฒนธรรม
สมโขติ อ๋องสกุล9/5/2552

จิปาถะวัฒนธรรม

สมโชติ อ๋องสกุล

 

รอยอดีตในเชียงตุง(2)

หนองตุง แหล่งน้ำขนาดใหญ่กลางเมือง เชื่อกันว่ามีเทวดารักษาหนองตุงประจำอยู่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ในเมืองเชียงตุง ซึ่งในอดีตมีถึง 9 หนอง คือหนองตุง หนองเย หนองยาง หนองท่าช้าง หนองแก้ว หนองไค้ หนองป่อง หนองผา และหนองเข้

กาดหลวง หรือ ตลาด เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ทำให้เห็นความเป็นเมืองชุมทางการค้าของเชียงตุงที่สืบเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สินค้าจากเขตรัฐฉาน สิบสองพันนา ยูนนาน จีน พม่า ลาว เชียงใหม่ เชียงรายฯลฯ ที่บรรดาพ่อค้าวัวต่างเคยนำมาตามเส้นทางการค้าทางบก บัดนี้พ่อค้าก็นำสินค้าทั้งอุปโภค บริโภคในระบบและนอกระบบบรรทุกแทบล้นรถยนต์สี่ล้อ หกล้อ สิบล้อ จากทุกเมืองในรัฐฉาน สิบสองพันนา ยูนนาน จีน พม่า  ลาว เชียงใหม่ เชียงราย รวมทั้งกรุงเทพฯ จำหน่ายในกาดหลวงเมืองเชียงตุง

วัดสำคัญ เช่น วัดยางกวง ซึ่งพญาผายู(พ.ศ.1879-1877) แห่งเชียงใหม่ ได้ส่งพระเถระจากเชียงใหม่ขึ้นไปเชียงตุง เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาหนสวนดอก ซึ่งในเชียงตุงเรียกว่าหนยางกวง และวัดป่าแดง ซึ่งสมัยพญาสามฝั่งแกน (พ.ศ.1945-1984) พระมหาญาณคัมภีร์ได้นำพุทธศาสนา "ลังกาวงศ์ใหม่" ไปเผยแพร่ถึงเชียงตุง ในพ..1989 พระยาสิริธัมมจุฬาเจ้าแห่งเชียงตุงได้สร้างวัดป่าแดงถวาย เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี  

ทั้งสองวัดดังกล่าว และวัดในสังกัดยังรักษาแบบแผนเดิมสืบทอดถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนายังแนบแน่น มีการไปมาหาสู่กันของพระสงฆ์เชียงใหม่-เชียงตุง ที่น่าสนใจมีหลายวัดสอนอักษรธรรม ภาษาล้านนา และภาษาไทยมาตรฐาน ในทางศาสนาและวัฒนธรรมถือได้ว่าเชียงตุงเป็นฐานที่มั่นที่ผูกพันกับเชียง ใหม่และสยามตลอดกาล

ชุมชนช่าง ได้เห็นอยู่หลายแห่งในเมืองเชียงตุง เช่น ทางไปวัดยางกวง มีชุมชนช่างปั้นหม้อ ข้างวัดจอมคำมีชุมชนช่างตีเหล็ก ชุมชนทำดอกไม้กระดาษ ชุมชนทำครัวเงิน ชุมชนทำ "ครัวรักครัวหาง" หรือเครื่องเขิน

หอหลวง ซึ่งสร้างสมัยเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง จากความทรงจำของเจ้านางสุคันธา(พ.ศ.2453-2546) พระธิดาคนหนึ่งของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง ชั้นบนของหอหลวงเป็นห้องพักของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทรแถลง ซึ่งลูกๆ เรียกว่า "ฟ้าหม่อม" มีห้องพักของชายาเอก คือแม่เจ้าปทุมมหาเทวี(ธิดาเจ้าเมืองสิง) ซึ่งคนเชียงตุงร่วมสมัยเรียกว่า "เจ้าแม่เมือง" และมีห้องพักของชายาคนรองๆ ซึ่งชาวเชียงตุงร่วมสมัยเรียกว่า "นางฟ้า" ต้องเข้าออกทางประตูหน้าห้องเท่านั้น และ "นางฟ้า" ต้องใช้ห้องน้ำรวม

นอกจากนั้นชั้นบนของหอหลวงเป็น "ห้องเงินเมือง" เป็นห้องเก็บเงินของเมือง (รูปีอินเดีย) และเป็น "หอเทวดา" ซึ่งมีโต๊ะใหญ่ตั้งเครื่องบูชา (ดู ความทรงจำที่เมืองเชียงตุงของเจ้านางสุคันธา อนุสรณ์งานพระราช ทานเพลิงศพเจ้านางสุคันธา ณ เชียงใหม่)

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ พ.ศ.2534 รัฐบาลพม่าได้สั่งรื้อ "หอหลวง" แล้วสร้างเป็นโรงแรมสูง 4 ชั้นชื่อโรงแรมนิวเชียงตุง สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในบริเวณที่เคยเป็น "หอหลวง" คือบ่อน้ำขนาดใหญ่และต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีทั้งไม้ผล เช่น ต้นลำไย ต้นมะม่วง ต้นมะพร้าว ฯลฯ ไม้ดอก เช่น ต้นพะยอม ต้นพิกุล ต้นดอกสีม่วง ฯลฯ (สำรวจ 1 เม.ย. 2552 ท่ามกลางสายฝนปรอยๆ) เชื่อกันว่ามีเทวดารักษาหอหลวงประจำอยู่

เมื่อรัฐบาลพม่ารื้อหอหลวงแล้ว ก็นึกหอเจียงเหล็ก

 

http://www.siamrath.co.th/uifont/Articledetail.aspx?nid=3275&acid=3275

Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น