ใช้คณิตศาสตร์ ศึกษาภาพฝาผนัง
![]() |
การศึกษาทางโบราณคดี มักจะใช้ศาสตร์ด้านอื่นๆ เข้ามาใช้ร่วมกัน เพื่อให้เรื่องราวในอดีตของมนุษย์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะ ธรณีวิทยา สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ เรณูวิทยา การกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
อาจารย์อติชาต เกตตะพันธุ์ บัณฑิตโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นผู้ประสานงานหน่วยวิจัยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โบราณคดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำความรู้วิทยาศาสตร์มาใช้กับการศึกษาทางโบราณคดี
การใช้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาศึกษาโบราณคดี ทำให้งานวิจัยด้านนี้น่าสนใจและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ในส่วนของวิทยาศาสตร์นั้นคนทั่วไปคงพอจะทราบอยู่แล้ว ส่วนความรู้ทางคณิตศาสตร์ ทั้งเรขาคณิต พีชคณิต และการวัด ก็สามารถนำมาศึกษาทางโบราณคดีได้
ยกตัวอย่าง เช่น การสร้างมุมฉากของสิ่งก่อสร้างในประเทศตะวันตกในอดีตจะใช้เลขชุดพีธากอรัส แต่ทางตะวันออกแถบสุวรรณภูมิ กลับใช้แสงแดดในการสร้างมุมฉาก
![]() |
อาจารย์อติชาติ เปิดเผยถึงสาเหตุที่สนใจทำงานวิจัยนี้ว่า ที่ผ่านมามีการศึกษางานจิตรกรรมวัดอุโมงค์มาอย่างต่อเนื่อง โดยอาจารย์สุรชัย จงจิตงาม ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านโครงการย้อนรอยอดีตจิตรกรรมวัดอุโมงค์ มานานกว่า 10 ปี
ต่อมาในปีพ.ศ.2550 ได้ร่วมกับ ดร.ศิริวรรณ เกตตะพันธุ์ นักเรียนทุน พสวท. ทำงานภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มช. และอาจารย์สุรชัย จงจิตงาม ก่อตั้งหน่วยวิจัยคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โบราณคดี โดยเน้นการนำคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาทางโบราณคดี
งานวิจัยล่าสุดคือ ศึกษาจิตรกรรม รวมทั้งการออกแบบอุโมงค์อย่างจริงจังผ่านงานวิจัย เรื่องจิตรกรรมฝาผนังและโครงสร้างเจดีย์วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ โดยวิธีการทางเคมีและคณิตศาสตร์เบื้องต้น
อาจารย์อติชาต อธิบายว่า การทำวิจัยงานวิจัยดังกล่าว ทำให้ได้เข้าใจถึงการจัดวางผังของอุโมงค์และเจดีย์ และความรู้เกี่ยวกับวัสดุและเทคนิคของการวาดภาพจิตกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเริ่มต้นสั่งสมองค์ความรู้ด้านเทคนิค วัสดุของจิตรกรรมล้านนา เพื่อที่จะขยายผลในการวิจัยศิลปกรรมล้านนาแห่งอื่นต่อไป
"การทำให้ภาพจิตรกรรมปัจจุบันที่เห็นลางเลือน กลับมาให้เห็นเป็นภาพที่สมบูรณ์อีกครั้ง ในลักษณะของภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว วีดิทัศน์ ที่มีสีสัน ทำให้เราสามารถจินตนาการความสวยงามของภาพจิตกรรมฝาผนังในอดีตได้อย่างชัดเจน และมั่นใจว่าผลงานที่ได้เผยแพร่ ทำให้มีผู้สนใจการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ถ้ามองในแง่เศรษฐกิจก็เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่เน้นการนำเสนอในรูปแบบที่ตื่นตาตื่นใจ เข้าใจง่าย และอิงกับผลงานวิจัย" อาจารย์อติชาต กล่าว
![]() |
การทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ถ้าทำวิจัยร่วมกับสาขาอื่น ก็จะเป็นการบูรณาการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูง อย่างงานวิจัยนี้เกิดจากความร่วมมมือระหว่างนักคณิตศาสตร์ นักเคมี และนักค้นคว้าทางศิลปะไทย
โดยองค์ความรู้ที่นำมาใช้ มีทั้ง เคมี คณิตศาสตร์ วิศวกรรมโครงสร้าง สถาปัตยกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็น การมองจิตรกรรมผ่านรังรังสีอินฟราเรด การอนุรักษ์จิตรกรรมด้วยกระบวนการทางเคมี เช่น การวิเคราะห์ชั้นสี เพื่อหาองค์ประกอบทางเคมี และวัดทิศเพื่อหาแนวคิดในการจัดวางผังอุโมงค์และเจดีย์ การใช้น้ำยาแอมโมเนีย รวมทั้งมีดผ่าตัดที่ฝานผ่านชั้นหินปูน ที่ปกคลุมภาพจิตรกรรมมาหลายร้อยปี ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง ทำให้เห็นชั้นของสีเขียวและสีแดงอันสดใส และยังพบลวดลายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความชำรุดลบเลือนของจิตรกรรม
ข้อมูลทั้งหมดที่ได้ จะถูกนำมาประมวลผล และสร้างภาพจำลองคอมพิวเตอร์ 3 มิติ และใช้ Computer-Generated Imagery เพื่อทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโมงค์ได้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
โดยขั้นตอนการทำวิจัยในส่วนของคณิตศาสตร์ จะมีการศึกษาการจัดผัง และกำหนดทิศของอุโมงค์และเจดีย์ โดยวัดระยะทางอย่างละเอียดระดับเซนติเมตร และการวัดมุมละเอียดระดับองศา และวิเคราะห์ผลที่ได้จากการศึกษา
สำหรับการศึกษาทางเคมี จะนำผงสีจากจิตรกรรมฝาผนังมาวิเคราะห์ เพื่อหาวัสดุที่นำมาใช้ในการวาดภาพ โดยเปรียบเทียบกับผงสีที่ใช้อ้างอิง และยังนำผนังปูนที่ชำรุดมาศึกษาโครงสร้างชั้นสีของจิตรกรรมฝาผนัง โดยพบว่าภาพจิตรกรรมมีหินปูน หรือแคลเซียมคาร์บอเนต ปกคลุมอยู่ แต่ทีมวิจัยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ทำให้ภาพชัดขึ้น เห็นสีทั้งสีแดง สีเขียว และลวดลายที่ชัดเจนขึ้น
อาจารย์อติชาติกล่าวว่า ประทับใจในลายจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ ในประเทศไทยมีผลงานจิตรกรรมที่เก่าแก่อายุ 500 ปีขึ้นไปไม่เกิน 10 ชิ้น ในภาคเหนือพบที่วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะภาพพุทธประวัติดังที่พบในวัดส่วนใหญ่ แต่กลับเป็นภาพที่ซ้ำไปมาในลักษณะของกระดาษติดฝาผนัง หรือวอล เปเปอร์ ทำให้งานชิ้นนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น และความโดดเด่นที่ชอบอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพเขียนที่พบให้สีหลากลายสีมาวาด เช่น แดง เขียว เหลือง งานจิตรกรรมที่เคยพบมาไม่ค่อยจะใช้สีฉูดฉาดหลากหลายแบบนี้
นับเป็นการนำเอาวิชาการ หรือศาสตร์ด้านอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างลงตัว
หน้า 5
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNekkwTURVMU1nPT0=§ionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBd09TMHdOUzB5TkE9PQ==
Hotmail® goes with you. Get it on your BlackBerry or iPhone.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น