วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตอันแสนไร้ค่า "แรงงานข้ามชาติ"

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11390 มติชนรายวัน


ชีวิตอันแสนไร้ค่า "แรงงานข้ามชาติ"





นายซาย เส่ง ทุน ขณะเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

นายซาย เส่ง ทุน อายุ 17 ปี เป็นแรงงานข้ามชาติชาวไทยใหญ่ จากรัฐฉานประเทศพม่า เขามีพี่น้อง 3 คน โดยบิดาและมารดามีอาชีพทำนาและทำสวน

เมื่อเดือนมีนาคม 2550 เขาได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อหางานทำ แต่ไม่มีเอกสารหรือบัตรใดๆ เนื่องจากเป็นช่วงที่ยังไม่มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว และเขาได้พักอยู่กับญาติที่สวนลำไยใน จ.ลำพูน จนถึงต้นเดือนมิถุนายนจึงได้ตกลงทำงานตามที่เพื่อนได้ติดต่อมา กับนายจ้างคนไทยซึ่งเป็นงานก่อสร้างปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่ง บริเวณถนนป่าตัน ซึ่งเป็นโครงการของเทศบาลนครเชียงใหม่ และมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งรับผิดชอบ เขาได้รับค่าแรงวันละ 170 บาท

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน เวลาประมาณ 17.30 น. ขณะที่นายซาย เส่ง ทุน และเพื่อนร่วมงานกำลังทำงานอยู่นั้น มีรถผสมปูนถอยมาใกล้ที่พวกเขาทำงานอยู่ ทำให้ดินถล่มทับนายซาย เส่ง ทุน เพื่อนคนงานอีก 1 คน เป็นเหตุให้ทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนหมดสติ

ผู้เห็นเหตุการณ์ได้นำตัวทั้ง 2 คนส่งโรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ โดยนายซาย เส่ง ทุน ได้รับการรักษาอยู่ 5 วันในห้องคนผู้ป่วยฉุกเฉิน (ICU) โดยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ในที่สุดเขาได้เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ญาติพี่น้องจึงได้นำศพไปทำบุญตามประเพณี โดยเสียค่ารักษาพยาบาลประมาณ 5,000 บาท และค่าจัดการศพทั้งหมดประมาณ 20,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวทางญาติของนายซาย เส่ง ทุน ได้รวบรวมเงินออกกันไปก่อน

ระหว่างที่นายซาย เส่ง ทุน ได้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น นายจ้างได้รับปากกับญาติของเขาไว้ว่าจะช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนรายเดือน หลังจากนั้นทางญาติจึงได้ติดต่อกับนายจ้างเพื่อขอรับเงินดังกล่าว แต่นายจ้างได้บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด เช่น เปลี่ยนสถานที่หรือวันนัด และย้ำกับทางญาติของนายซาย เส่ง ทุน อีกว่า "แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆ กับนายจ้างคนไทยได้"

สถานที่เกิดเหตุ



เมื่อญาติของนายซาย เส่ง ทุน มั่นใจว่านายจ้างจะไม่รับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2550 น้าชายของนายซาย เส่ง ทุน ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบิดามารดาของนายซาย เส่ง ทุน ได้แจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และขอรับเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 (แบบ กท.16) ต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เชียงใหม่ และได้ยื่นเอกสารหลักฐานจากประเทศพม่า เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวของบิดามารดา ที่แสดงว่าเป็นทายาทโดยธรรม พร้อมกับเอกสารที่แปลเป็นภาษาไทย ซึ่งแปลโดยคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่า ประจำพื้นที่ 3 (แม่สอด)

แต่เจ้าหน้าที่ของ สปส.ไม่มั่นใจหน่วยงานที่แปล และขอบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้แปล ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการยืนยันว่าหากไม่มั่นใจก็ขอให้ติดต่อไปยังคณะกรรมการชายแดนโดยตรง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ สปส.จึงเรียกน้าชายเข้าพบเพื่อสอบถามเท็จจริงเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง

ต่อมามูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าจาก สปส.ซึ่งได้รับการแจ้งว่าได้ออกหนังสือเชิญนายจ้างเข้ามาพบ แต่นายจ้างไม่มา จึงมอบเรื่องของนายซาย เส่ง ทุน ให้นิติกรของ สปส. และส่งเรื่องให้ตำรวจติดตามนายจ้างมาดำเนินคดี

จนกระทั่งมูลนิธิได้จัดรวบรวมเอกสารหนังสือมอบอำนาจจากบิดามารดาของนายซาย เส่ง ทุน ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่า และภาษาอังกฤษแปลโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการรับรองเอกสาร (Notary Public) ของประเทศพม่า หลังจากนั้นได้ยื่นเอกสารดังกล่าวกับ สปส. และต่อมา สปส.ได้ออกหนังสือแจ้งให้กับน้าชายทราบว่ากรณีของนายซาย เส่ง ทุน อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง

ต้นเดือนของเดือนมิถุนายน น้าชายนายซาย เส่ง ทุน ได้ทำหนังสือถึง สปส.โดยขอให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าภายใน 7 วัน และขอให้ออกคำสั่งภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งทาง สปส.ได้ตอบหนังสือโดยขอให้นำเอกสารไปให้เจ้าหน้าที่ หากไม่นำเอกสารตามที่ขอมาให้กับ สปส. เจ้าหน้าที่จะปิดคดีการสอบหาข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม น้าชายของนายซาย เส่ง ทุน ไม่สามารถนำเอกสารเจ้าหน้าที่ สปส.ต้องการมาให้ได้ เนื่องจากเป็นเอกสารที่ต้องการส่วนใหญ่ชาวพม่าไม่มี

น้าชายของนายซาย เส่ง ทุน ได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ สปส.อีกหลายครั้ง แต่ สปส.ไม่สามารถหาทางออกหรือแก้ปัญหาให้ได้ โดยอ้างปัญหาหลายประการ เช่น เอกสารไม่ครบ ขาดหนังสือทะเบียนสมรสของบิดามารดาของผู้ตาย ใบแจ้งการตายหรือใบมรณบัตรของผู้ตายจากในทะเบียนบ้านของพม่า เป็นต้น

มูลนิธิได้เสนอว่าหากมีช่องทางใดที่สามารถทำได้ ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามช่องทางนั้น เช่น ขอให้ตีความ ม.20(4) ของ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน ให้รวมถึงผู้ที่อยู่ในอุปการะ ม.20(4) บุตรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย แต่ทางเจ้าหน้าที่ สปส.ยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของ สปส.ทุกอย่าง

ในที่สุดได้มีการนำเรื่องยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าสินไหม 450,000 บาท เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 โดยมีน้าชายของนายซาย เส่ง ทุน เป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องแทน กรณีดังกล่าวไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากนายจ้างไม่ได้มาขึ้นศาลและหายตัวไป ส่วนบริษัทที่รับเหมาช่วงปฏิเสธความรับผิดชอบ จึงได้มีการฟ้องร้องบริษัทรับเหมาต้นที่รับผิดชอบโครงการเป็นจำเลยร่วม

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นการนัดพิจารณาครั้งที่ 5 แล้วแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งทนายโจทก์ได้รับคำแนะนำจากผู้พิพากษาว่า ต้องเรียกเทศบาลนครเชียงใหม่ที่เป็นเจ้าของโครงการมาเป็นจำเลยร่วมด้วย

ล่วงเวลามากว่า 1 ปี แต่ทายาทของนายซาย เส่ง ทุน ก็ยังไม่ได้รับเงินทดแทนและค่าเสียหายแต่อย่างใด และเมื่อวันที่ 28 เมษายน ศาลได้นัดพิจารณาคดีอีกครั้ง แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และได้มีการเปลี่ยนผู้พิพากษา

เรื่องราวของซาย เส่ง ทุน เป็นการสะท้อนชีวิตแรงงานข้ามชาติได้อย่างคมชัด พวกเขาคนแล้วคนเล่าที่ต้องเซ่นสังเวยเพื่อสนองความต้องการต้นทุนราคาถูกในสังคมไทย แต่สุดท้ายพวกเขากลับต้อง "ตายฟรี" เนื่องจาก "โรค" เมตตาธรรมชำรุดกำลังระบาดอย่างหนักในสังคมแห่งนี้

แม้ว่าเราจะอวดอ้างว่าเป็นพุทธสาวกอันโดดเด่นที่สุดในย่านภูมิภาคนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็เข้าถึงแค่เปลือก เพราะแม้แต่เพื่อนมนุษย์ข้างบ้านร่วมศาสนา เรายังไม่อาจส่งผ่านความเมตตาธรรมให้พวกเขาได้เลย

หน้า 9
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way04170552&sectionid=0137&day=2009-05-17


Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น