วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ครุฑแบก พระปรางค์ ศิลปกรรมอยุธยา/ภูมิบ้านภูมิเมือง

ครุฑแบก พระปรางค์ ศิลปกรรมอยุธยา/ภูมิบ้านภูมิเมือง
ข่าววันที่ 28 พฤษภาคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

ภูมิบ้านภูมิเมือง

บูรพา โชติช่วง

 

ครุฑแบก พระปรางค์

ศิลปกรรมอยุธยา

            

            ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และรอบๆ กรุงเก่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวคุ้นตามากนอกเหนือ จากมรดกร่องรอยของซากกำแพงวัด วัง เจดีย์ ปรากฏให้เห็นอยู่เป็นกลุ่มและกระจายตัวแล้ว มรดกทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอีกลักษณะหนึ่ง เห็นจะเป็นพระปรางค์ พบเห็นได้วัดพุทไธสวรรย์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดไชยวัฒนาราม วัดส้ม วัดนก ฯลฯ มีอิทธิพลศิลปะขอมและเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา

            เชื่อว่านักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมมรดกศิลปวัฒนธรรมนี้ ส่วนมากแล้วมัคคุเทศก์จะพรรณนาเรื่องราวความยิ่งใหญ่รุ่งโรจน์ของกรุงเก่า 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ 33 องค์ปกครองอาณาจักรนี้ และล่มสลายต่อมา ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวก็เป็นส่วนน้อยที่จะอินหรือสนใจศิลปกรรม สถาปัตยกรรมขององค์ปรางค์ และจะเป็นทำนองผิวเผินเพียงแค่รับรู้ว่าปรางค์ มีรูปแบบศิลปกรรมขอม

            พระปรางค์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมมีที่มาที่ไปอย่างไรนั้น ขอยกเนื้อความตอนหนึ่งในงานเอกสารงานวิจัยวิจักขณ์ ครั้งที่ 4 กรมศิลปากร วงศ์ฉัตร ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการช่างศิลป์ วิชาการชำนาญการ สำนักโบราณคดี "ศึกษาการประดับตกแต่งชั้นอัสดงพระปรางค์ : ปรางค์ในศิลปะสมัยอยุธยา" ได้สรุปไว้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้ความเห็นว่า "ปรางค์เห็นจะมาแต่ ปราง คณ(ปร+องคณ) แปลว่า ชาลา ทางเดินเข้า เช่น เทวสถานเข้า โคปุรแล้วก็ถึง ปรางคณ แล้วจึงถึงเท วาลัย เพราะเป็นของติดต่อปะปนกันอยู่ เลยทำให้เข้าใจ ไปผิดฯ คำว่าปรางค์ว่า ที่อยู่ก็ได้ ว่ายอดรูปดอกข้าวโพดก็ได้"

            วงศ์ฉัตร ถ่ายทอดของพระปรางค์ เป็นสถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลรูปแบบลักษณะจากปราสาทขอม สร้างขึ้นบนพื้นฐานคติสัญลักษณ์แห่ง "เขาพระสุเมรุ" แทนความหมายของแกนหรือศูนย์กลางแห่งจักรวาลตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ศิลปะสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ถูกใช้และพัฒนาเรื่อยมานับแต่พุทธศตวรรษที่14 เพื่อใช้แทนความหมายของพระมหากษัตริย์ของขอมในฐานะ ผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาล หรือนัยหนึ่ง ผู้ทรงเป็นภาคอวตารของพระผู้เป็นเจ้า ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพระโพธิสัตว์ ตามคติพุทธศาสนาลัทธิมหายาน มีบทบาทในอารยธรรมขอม ราวพุทธศตวรรษที่ 17

            จากการศึกษาพระปรางค์ในไทยนั้น มีอิทธิพลศิลปสถาปัตยกรรมของขอมมานับแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 จัดให้อยู่ในรูปแบบสมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 15-18) ก่อนที่จะพัฒนารูปแบบสู่ศิลปะสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ในที่สุด ภายใต้รูปแบบลักษณะจำแนกเป็น 4 แบบ

            ทรงศิขร รูปทรงพระปรางค์ตามแบบแผนเดิมของขอม เน้นตามคติ "จำลองภูเขา" และ "สวรรค์ชั้นฟ้า" บนภาพความคิดของเขาพระสุเมรุ รูปทรงเน้นมวลอาคารให้ดูหนักแน่นมั่นคงเสมือนขุนเขา และให้รายละเอียดในเรื่องของลำดับชั้นของสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาประจำตามลำดับชั้น ทิศ และฐานานุศักดิ์

            ทรงงาเนียม ยอดพระปรางค์มีลักษณะคล้ายงาช้าง เรียกว่างาเนียม รูปทรงส่วนยอดจะมีลักษณะใหญ่แต่สั้น ตอนปลายจะมีลักษณะโค้งและค่อนข้างเรียวแหลม พระปรางค์ทรงงาเนียมถือเป็นประดิษฐกรรมของช่างไทยโดยแท้ มีการพัฒนาจากรูปแบบเดิมจนมีลักษณะเฉพาะของตนเองในสมัยอยุธยาตอนต้น คตินิยมสร้างในลักษณะทึบตัน เหลือเพียงห้องคูหาเล็กๆ พอบรรจุพระพุทธรูป หรือสถูปจำลองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

            ช่างศิลป์ท่านนี้ ให้ทัศนะ "คติทางไทยออกแบบเชิงสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว ไม่ให้มีการใช้สอยภาย ในเพื่อประกอบพิธีกรรมเหมือนอย่างปราสาทขอม" และชี้ให้เห็นช่างไทย "มุ่งเน้นให้พระปรางค์ดูสูงเด่นเป็นสง่า ด้วยการเสริมฐานเป็นขั้นให้ดูตระหง่านยิ่งขึ้น และปรับตัวเรือนธาตุและส่วนยอดให้บางและเพรียว ส่วนยอดนั้นลดการประดับตกแต่ง ที่ต้องการสื่อความหมายของที่อยู่แห่งเทวดาทั้งปวงลง เพราะต้องการเน้นตรงเฉพาะความหมายแห่งพระพุทธองค์เป็นสำคัญ"

            ทรงฝักข้าวโพด รูปทรงผอมบางและตรงยาวคล้ายฝักข้าวโพด ส่วนยอดนั้นจะค่อยๆ เรียวเล็กลงก่อนรวบเป็นเส้นโค้งที่ปลาย รูปทรงพระปรางค์นี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะตัวของพระปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ และทว่าไปการใช้พระปรางค์ในฐานะอาคารประธานหลักของวัดนั้นเสื่อมความนิยมลงนับแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์จะหันมานิยมใช้อีกครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักใช้เป็นอาคารรองอย่างปรางค์ทิศเท่านั้น

            "งานออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทนี้ จึงด้อยคุณลักษณะ รูปทรงที่ดูผอมบางทำให้ขาดพลัง ส่วนของเรือนธาตุ ส่วนของเรือนธาตุปิดทึบตัน ไม่มีการเจาะช่องคูหาภายใน ส่วนยอดทำเป็นชั้นๆ ด้วยเส้นบัวกลีบขนุนและบันแถลงไม่ทำรายละเอียดใดประดับ" ช่างศิลป์ ชี้ให้เห็น

            พระปรางค์รูปทรงอีกแบบหนึ่ง ทรงจอมแห โครงสร้างมีลักษณะแอ่นโค้งเหมือนอาการทิ้งน้ำหนักตัวของแหที่ถูกยกขึ้น รูปทรงเช่นนี้ความจริงถูกนำมาใช้กับการออกแบบพระเจดีย์สมัยต้นรัตนโกสินทร์มาก่อนแล้ว และต่อมาพัฒนามาใช้กับรูปทรงพระปรางค์

            "ศิลปะและสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา มักจะได้รับการอ้างถึงในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับการกำหนดยุคสมัย โดยทางวิชาการสายประวัติศาสตร์แล้ว ศิลปะสมัยอยุธยาได้รับการจัดลำดับยุคสมัยไว้เป็น 4 ยุคสมัยด้วยกัน นับแต่แรกเริ่มการเข้ามา ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาของพระเจ้าอู่ทองในช่วงปี พ.ศ.1839 จวบจนการสูญเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.2310"

            ช่างศิลป์ ขยายความ แม้ว่าการสร้างปรางค์ในพุทธสถาปัตยกรรมไทยในสมัยอยุธยา ปรากฏอย่างเด่นชัดใน 2 ช่วงระยะเวลาคือ ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาของการสืบทอดพัฒนาการด้านศิลปะสถาปัตยกรรมเนื่องในอารยธรรมขอม และในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 23 อันเป็นช่วงเวลาภายหลังมีชัยชนะเหนืออาณาจักรขอม

            "ที่จริงแล้ว บทบาทที่โดดเด่นของปรางค์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมในหลายภูมิภาคของประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา โดยพิจารณาจากแคว้นละโว้ แคว้นสุพรรณภูมิร่วมกับสถาปนาอโยธยา และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงพุทธศตวรรษที่ 22 หรือนับแต่เริ่มแนวความคิดของพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ นิกายเถรวาท"

            อย่างไรก็ดี นักวิชาการช่างศิลป์ท่านนี้ ได้กล่าวถึงสิ่งที่น่าสนใจศิลปกรรมองค์ปรางค์อีกอย่างหนึ่งคือ "การประดับลวดลายปูนปั้นส่วนยอดปรางค์ในชั้นอัสดง (ศัพท์ศิลปะสถาปัตยกรรม) หรือส่วนยอดเหนือชั้นเรือนธาตุ จะเห็นว่าองค์ปรางค์มีการลำดับชั้นศักดิ์ของ "รูปแบก" ในลักษณะงานประติมากรรมประดับบนองค์ปรางค์ ซึ่งคงสร้างขึ้นตามคติความเชื่อในเรื่องเขาพระสุเมรุ มีกล่าวกันอยู่ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง วรรณกรรมของพญาลิไทครั้งกรุงสุโขทัย"

            รูปแบกในร่างยักษ์ พญาครุฑ แต่ละชั้นเรือนธาตุองค์ปรางค์วัดราชบูรณะ ดูแล้วมีพลัง แต่ใครสังเกตหรือจินตนาการอย่างอารมณ์ขัน พญาครุฑเชิดหน้า ปีกแขนรับน้ำหนักเขาพระสุเมรุ(ปรางค์) อยากจะโปรยบินหนีเต็มแก่แล้ว

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=70&nid=38950
 


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น