วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

คลังดันกองทุนอุ้มแรงงานนอกระบบ

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
โพสต์ทูเดย์ — คลังดันกองทุนอุ้มแรงงานนอกระบบจ่ายสมทบ 100 บาท/เดือน มีเงินเดือนหลังเกษียณเกิน 50%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้ให้นโยบายเร่งดำเนินการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจเห็นชอบเพื่อเป็น หลักประกันให้กับแรงงานนอกระบบ และในระบบมีรายได้เกษียณอายุ 60 ปี ไม่น้อยกว่า 50% ของเงินเดือนสุดท้าย ทั้งนี้ หากกองทุนกบช. มีผลบังคับใช้จะเริ่มใช้กับแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีอยู่ประมาณ 23-24 ล้านคน เข้าสู่ระบบก่อน

โดยให้ส่งเงินสมทบกองทุนขั้นต่ำ 100 บาทต่อเดือนถึง 1,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถของแรงงาน โดยส่วนนี้รัฐบาลจะสมทบให้กับแรงงาน 50 บาทต่อเดือน ซึ่งภายใต้สมมติฐานที่แรงงานส่งเดือนละ 100 บาท จะได้เงินหลังเกษียนเดือนละประมาณ 2,800 บาทต่อเดือน ซึ่งแรงงานนอกระบบที่จะส่งเงินสมทบ เข้ากองทุนต้องอายุ 15-60 ปี

นายสมชัย กล่าวว่า กบช.จะมีเงินกองทุนเข้ามาปีละ 4 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่รัฐบาลต้องจ่ายสมทบเดือนละ 50 บาท จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้ก็จะมีการนำไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เป็นกองทุนส่วนบุคคลของแรงงานเหมือนกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งแรงงานที่ส่งจ่ายเงินจะมียอดส่งเงินและผลประโยชน์ที่ได้ชัดเจน โดยกองทุนนี้ถือเป็นภาคบังคับ

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ. กบช.ยังกำหนดว่าหลังกฎหมายมีผลบังคับไปแล้ว 2 ปี ก็จะบังคับให้แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน เข้ามาอยู่ในระบบกบช. เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าจะ มีรายได้หลังเกษียณไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้เดือนสุดท้าย เพราะปัจจุบันสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีรายได้หลังเกษียณอยู่ที่ 38% ของรายได้เดือนสุดท้ายถือว่าน้อยเกินไป โดยในส่วนนี้จะเป็นแรงงานและนายจ้างที่ต้องจ่ายเพิ่ม รัฐบาลจะไม่จ่ายสมทบเพิ่มให้ในส่วนนี้

เบื้องต้นจะบังคับให้ผู้ประกอบการ ที่มีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไปก่อน หลังจากนั้นอีก 2 ปี ถึงจะบังคับผู้ประกอบการที่มีแรงงานน้อยกว่า 200 คน

นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของแรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทซึ่งเป็นกองทุนภาคสมัครใจ ในส่วนนี้จะขอให้โอนบางส่วนมาเป็นกองทุนภาคบังคับของกบช. เช่น เคยส่งให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% ก็ให้โอนมาที่ กบช. 3% ที่เหลือ 2% ไว้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเหมือนเดิม ซึ่งการตั้งกองทุน กบช.นี้จะเป็นประโยชน์กับแรงงานทุกคน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ไม่มีหลักประกันรายได้เกษียณในขณะนี้ นอกจากเบี้ยยังชีพของรัฐบาลที่ให้อยู่เดือนละ 500 บาท
 
http://www.posttoday.com/finance.php?id=48566



Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น