วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เหมือนและต่าง ดุลอำนาจ "กองทัพ" รัฐบาล "อภิสิทธิ์-อานันท์"

 
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4104

เหมือนและต่าง ดุลอำนาจ "กองทัพ" รัฐบาล "อภิสิทธิ์-อานันท์"



หากเปรียบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ อานันท์ ปันยารชุน บนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้นมีความคล้ายคลึงหลายประการ แม้จะดำรงตำแหน่งกันคนละยุค-คนละสมัย

เพราะการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น "ผู้นำหมายเลข 1" ของแต่ละคน แต่ละยุคสมัยมีศิลปะที่ขาดไม่ได้คือ การบริหารดุลอำนาจที่จะค้ำยันเพื่อให้ตำแหน่งยืนยาว-ยั่งยืน

บางยุคของผู้นำบางคนมีขุนนาง-ข้าราชการ-ทหารค้ำยันสนับสนุนให้อำนาจของผู้นำมีประสิทธิผล มีเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย

บางยุคมีเพียง "ทหาร" และกองทัพให้การสนับสนุน ทั้งในฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ

แต่ไม่ว่ายุคใด สมัยใด ศิลปะและเสาหลักที่จะค้ำยัน ถ่วงดุลอำนาจให้รัฐบาลมีเสถียรภาพยืนยาวไปได้มีแต่ "ประชาชน" เท่านั้น

ผู้นำทุกยุคทุกสมัยจึงต้องออกนโยบาย ที่สามารถครอบคลุมเกาะกุมจิตใจผู้คน ทุกระดับทั่วทั้งประเทศ

แต่ในสิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่ แตกต่างกัน ยุคสมัยแปรเปลี่ยน ลักษณะ "ดุลอำนาจ" ของฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ "ขาดดุล" ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์

ทำให้บทบาทของโครงสร้างอำนาจ สลับขั้วและมี "อำนาจอื่น" เข้ามามีส่วนในดุลอำนาจหลัก

ทั้งระบบผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ-ระบบอมาตยาธิปไตย และมือที่มองไม่เห็น ถูกเบียดแทรกเข้าไปมีส่วนสำคัญในการ จัดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ท่ามกลางดุลอำนาจที่ไม่เป็นระบบ-ระเบียบ มีอำนาจของ "กองทัพ" ปรากฏเด่นชัด-เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งในฐานะของผู้ให้การสนับสนุน-ผู้เล่นหลักในกระดานอำนาจการเมือง

ทั้งในยุค "อานันท์ ปันยารชุน" และยุค "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" แม้ระยะเวลาการขึ้นเป็นผู้นำหมายเลข 1 ห่างกันเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ฐานการสนับสนุนดุลอำนาจเป็นฐานเดียวกันคือ "กองทัพ"



เมื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอกอิสระพงษ์ หนุนภักดี และ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council : NPKC) ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจาก "พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ" ในยุค พ.ศ.2534

ด้วยเหตุผลหลักของกองทัพในฐานะคนกลางคือ รัฐบาล "ชาติชาย" มีพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง-ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจแสวงหาประโยชน์ มีการ ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวางข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำ

มีรัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีได้ร่วมมือพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล รวมทั้งคณะที่ปรึกษา "บ้านพิษณุโลก" ใช้อุบายอันแยบยลสร้างภาพลวงตาประชาชนว่า เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วพลิกแพลงหาประโยชน์

เหตุผลที่หนักแน่นของกองทัพคือ รัฐบาลเป็นภัยอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ"มีการทำลายสถาบันทางทหารที่เป็นเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง"

แนบท้ายด้วยข้อหาการบิดเบือนคดี ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2525 ที่พลตรีมนูญ รูปขจร และพรรคพวกได้ บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์ จักรีเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่แบบที่ตนเองและคณะได้กำหนดไว้

ดังนั้นหลังการรัฐประหารจึงมีการ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) มีพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน ทำการอายัดและตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จำนวน 23 คน แล้วให้ยึดทรัพย์ของอดีตรัฐมนตรีจำนวน 10 คน แต่ผู้ถูกยึดทรัพย์ได้ฟ้องคดีต่อ ศาลว่า คำสั่งของ รสช.และ คตส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทำให้ขั้วอำนาจหลักในระบบตุลาการโดยศาลฎีกาจึงมีคำพิพากษาให้ "คำสั่ง" ของ รสช.และ คตส.ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งการยึดทรัพย์ในที่สุด

ในห้วงนั้นชื่อ "นายอานันท์ ปันยารชุน" จึงถูกผู้นำจาก "กองทัพ" เสนอ-สนับสนุนให้ขึ้นสู่อำนาจเป็นผู้นำหมายเลข 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทย มีคณะรัฐมนตรีคณะที่ 49 อีก 24 คน

ถือเป็นคณะรัฐบาลที่มีอดีต-อนาคต-ปัจจุบันล้วนแต่มาจากข้าราชการระดับสูง-นายพลจากกองทัพ และบุคคลใน ราชตระกูล อาทิ ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

หนึ่งในรัฐมนตรีในยุคสมัย "อานันท์" ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "องคมนตรี" ในช่วงถัดมาคือนายอำพล เสนาณรงค์

ในบางช่วงของการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ต้องตัดสินโครงการสำคัญตามที่ "นายวิษณุ เครืองาม" เลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นเคยเล่าว่า มีการเรียกประชุมเป็นการเฉพาะกับรัฐมนตรีไม่กี่คนเท่านั้น

เมื่อได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 "อานันท์" ต้องรับ "บทหนัก" ใกล้เคียงกับยุคสมัยของ "อภิสิทธิ์"

ทั้งต้องเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 และการวางโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบการสื่อสารในโครงการโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมาย และโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก เปลี่ยนผ่าน-ผ่องถ่ายอำนาจจาก "ยุคทหาร" เป็นยุค "นักการเมือง" แท้ๆ

เช่นเดียวกับรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ที่มาจากการหนุนของ "กองทัพ" และต้องรับบทในการ "ปฏิรูปการเมือง" และการปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการออกแบบเครื่องมือในการปกครองใหม่

ต้องเผชิญหน้ากับการบริหารประเทศที่กำลังตกต่ำ-แตกแยก และยังต้องประนีประนอมกับอำนาจของ "กองทัพ" และเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ฉบับสีเขียวที่ "ทหาร" ให้การสนับสนุน

แม้ทั้ง 2 นายกรัฐมนตรี "อานันท์-อภิสิทธิ์" จะมีที่มาและผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการเหมือนกัน แต่การดำรงอยู่ของอำนาจ "ต่างกัน"

เพราะตำแหน่งของ "อานันท์" นั้น "คณะทหาร" มีอำนาจเด็ดขาดในการ "ปลด" นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเมื่อไรก็ได้

แต่ตำแหน่งของ "อภิสิทธิ์" แม้ "ทหาร" จะเป็นขั้วอำนาจหลักในการสนับสนุน แต่ไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการ "ปลด" ออกจากตำแหน่ง นอกจากต้อง "รัฐประหาร" หรือ "ปฏิวัติ" เท่านั้น

ทว่า "อานันท์" สามารถรอดพ้นจากการถูกปลดมาได้ เพราะสามารถครอบครองใจประชาชน ใช้ประชาชนเป็นแนวร่วม ในการดำรงสถานภาพและอำนาจ

มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งแนะแนวทางการดำรงสถานภาพอำนาจให้ "อภิสิทธิ์"

"แม้ทหารหรือกองทัพจะไม่มีอำนาจโดยตรงในการปลดนายกรัฐมนตรี แต่นายกฯอภิสิทธิ์ต้องต่อสู้และก้าวให้ผ่านจากกับดักอำนาจและเกมการเมืองของพวกผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีมากมายหลายขั้ว"

ที่สำคัญ "อภิสิทธิ์" ต้องใช้อำนาจจัดการพรรคร่วมรัฐบาลให้อยู่ในร่องในรอย ไม่ให้ปรากฏเรื่องราวอื้อฉาวคอร์รัปชั่นจนเป็นอันตรายต่อรัฐบาล และในสถานการณ์ปัจจุบันที่กองทัพมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก จึงต้องบริหารระยะห่างกับ "กองทัพ" ให้มีความพอดี

ผู้ดีรัตนโกสินทร์ในรัฐบาลแห่งความโปร่งใสจึงยังคงดำรงสถานภาพ "อดีตนายกรัฐมนตรี" ที่มีเรตติ้งดีที่สุดตลอดกาล

ส่วน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ยังต้องเผชิญหน้ากับดุลอำนาจทั้งใน-นอกรัฐธรรมนูญต่อไปอีกระยะ

หน้า 32
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02pol01110552&day=2009-05-11&sectionid=0202
 


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น