วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรี "ขี้เหร่เนะ" "ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้"

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน


ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรี "ขี้เหร่เนะ" "ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้"


โดย สุรเชษฐ์ เพชรน้ำไหล




หญิงร่างเจ้าเนื้อที่นั่งพูดคุย เล่าถึงชีวิตส่วนตัวของเธอให้ฟังวันนั้น มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ฉายความสดใสให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

แววตา สีหน้าท่าทาง - เป็นประจักษ์พยานยืนยัน

ครั้งหนึ่ง เมื่อเข้าร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีใหม่หมาด นักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดจนผู้คนในสังคมเคยวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่า "ขี้เหร่" ซึ่งนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นก็ออกมายอมรับ

"แต่ก็เล่นคำบอกว่าเป็นคณะรัฐมนตรี "ขี้เหร่เนะ" ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า "น่ารัก""

แม้จะไม่ชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าเป็นใครบ้าง แต่เธอ ในฐานะรัฐมนตรีใหม่ถอดด้าม ก็ต้องตกเป็นเป้าสายตาของนักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้คนทั่วไป

"เธอ - "ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี" จึงต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็น แสดงฝีมือให้เต็มที่"

และในที่สุดผลงานที่ปรากฏออกมาต่อสาธารณชนก็ได้หรี่เสียงซุบซิบนินทา เสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้นลง

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ (นามสกุลเดิม หงส์ภักดี) เป็นบุตรสาวของ "เลิศ หงส์ภักดี" อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นครราชสีมาหลายสมัย

เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2499 จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นสอบเข้าวิทยาลัยพยาบาลทหารบก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตามความประทับใจของผู้เป็นแม่ที่ครั้งหนึ่งป่วย พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนาน และชื่นชมบริการที่ดีของคุณพยาบาล จากนั้นเรียนต่อสำเร็จปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (สื่อสารการเมือง) จากมหาวิทยาลัยเกริก

"เป็นคนเรียนอะไรก็ได้ เลยไปสอบเข้าวิทยาลัยพยาบาลทหารบก รุ่นที่ 10 เข้าเรียนปี พ.ศ.2516 จบปี พ.ศ.2520 การเรียนที่นี่ได้เปรียบกว่าที่อื่นคือ ได้เป็นทั้งพยาบาลและเป็นทั้งทหาร เพราะการเป็นทหาร ทำให้มีวินัย มีรุ่นพี่รุ่นน้อง เริ่มงานพยาบาลครั้งแรกที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา อยู่ 3 ปีแล้วโอนมาอยู่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นการทำงานด้านวิชาการ แล้วก็เป็นนักบริหาร เป็นหัวหน้าฝ่าย ขยับมาเป็นผู้อำนวยการสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา"

นั่นคือตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่แวดวงการเมือง

ด้านชีวิตครอบครัว ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ เป็นภรรยาของ "ไพโรจน์ สุวรรณฉวี" สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา หลายสมัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ตอนนี้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี รู้จักกันดีในฐานะสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชายล้วน

"นับจากบรรทัดต่อจากนี้ไป เป็นมุมชีวิตที่น่าสนใจของรัฐมนตรีหญิงคนเก่ง"

"""""""""""

เข้าสู่แวดวงการเมืองได้อย่างไร?

ครอบครัวทำงานเกี่ยวกับด้านนี้อยู่แล้ว พ่อรับราชการ ตำแหน่งสุดท้ายคือ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พอเกษียณก็เล่นการเมือง สมัยนั้นไม่ต้องสังกัดพรรค ได้รับเลือกเป็น ส.ส. จ.นครราชสีมา หลายสมัย และตัวเองก็มาแต่งงานกับคุณไพโรจน์ ซึ่งใกล้ชิดกับการเมืองมาตั้งแต่เป็นประธานนักศึกษาของมหาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นเลขาฯส่วนตัวของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช



คุณไพโรจน์ดูแลคุณพ่อในเรื่องการเมือง พอคุณพ่อเลิกเล่นการเมือง คุณไพโรจน์ก็ลาออกจากราชการ แล้วมาลงรับเลือกตั้ง ได้รับเลือกเป็น ส.ส. นครราชสีมา

พอคุณไพโรจน์ติดเรื่องบ้านเลขที่ 111 เราก็มาปรึกษากัน ได้ข้อตกลงว่าควรจะมาทางนี้ เลยลงสมัคร ส.ว. ครั้งแรกปี 2549 แต่ก่อนลงสมัคร ได้มานั่งคิดแล้วว่า ส.ว.หน้าที่อะไรบ้าง ก็พบว่าไม่น่าจะเกินความสามารถของตัวเอง เพราะอย่างที่บอกเราทำอะไรก็ได้ เพราะใจเปิดรับ ก็ได้รับเลือกเป็นลำดับที่ 5 จากจำนวนผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. 8 คน

เป็น ส.ว.ได้ไม่นานก็มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.?

อยู่ได้สี่เดือนกว่าเกิดการปฏิวัติ (19 ก.ย.2549) สิ้นสภาพ จึงกลับเข้ารับราชการอีกเกือบปี จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ พี่ไพโรจน์ก็บอกว่าเราน่าจะลงสมัคร ส.ส. เลยไปศึกษาว่า การเป็น ส.ส.นั้นต้องทำอะไรบ้าง คุณพ่อทำงานอะไร พี่ไพโรจน์ทำแบบไหน ตัดสินใจแล้วว่าถ้าไม่ได้รับเลือกจะไม่กลับไปรับราชการอีกเด็ดขาด ถือว่าพอแล้ว ตอนนั้นลงเลือกตั้งกับลูกคนโต (พลพีร์ สุวรรณฉวี) อยู่คนละเขต ตัวเองลงเขต 4 ลูกชายลงเขต 6

ในเขตที่ลงสมัคร ไม่ใช่เขตดั้งเดิมของพี่ไพโรจน์ แต่เป็นเขตที่คุณพ่อเคยลงสมัครตั้งแต่ปี 2520 โน่น คิดว่าไม่เป็นไร เรามีทั้งคุณพ่อเวลาหาเสียง อยู่โคราชมานานกว่า 30 ปี ผลงานก็มี ไม่เคยทอดทิ้งคนโคราชแม้จะไม่ใช่คนที่นี่

เวลาไปหาเสียงเราจะไม่ก้าวร้าว ไม่ไปตำหนิใคร หาเสียงเฉพาะในนโยบายพรรคเพื่อแผ่นดิน มีดีอะไรก็เอาไปโชว์เขา และก็อาศัยเราเป็นข้าราชการ มีลูกน้องอยู่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัย มีคนรู้จักมากจึงได้รับเลือกตั้ง ทั้งแม่ทั้งลูก

เป็น ส.ส.สมัยแรกได้เป็นรัฐมนตรีเลย?

พรรคเพื่อแผ่นดินส่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถามว่าเราทำได้ไหม ก็มานั่งศึกษาว่ากระทรวงการคลังมีทั้งหมดกี่กรม และแต่ละกรมทำหน้าที่อะไรบ้าง ในเรื่องที่ยังไม่รู้ก็ต้องศึกษา ต้องมีที่ปรึกษาที่ดี มีความรู้ ความสามารถ ไม่เข้าใจก็ถามเขาได้ ซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วก็กลับมานั่งคิดวิเคราะห์ ดูนโยบาย วางแผนงานต่อไป ก็รู้สึกว่าเราพิสูจน์ตัวเองได้ว่าทำได้ แต่หากจะให้คนร้อยคนชอบเราคงเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่คิดว่าห้าสิบๆ นะ (ยิ้ม)

อยู่กระทรวงการคลัง 2 สมัย เหตุที่ลาออกไปช่วงหนึ่งมาจากสุขภาพตัวเอง ช่วงที่หยุดพักเป็นช่วงที่เรากำลังทำงานได้ดี ซึ่งเมื่อได้รับความไว้วางใจจากพรรคเพื่อแผ่นดินเข้าไปอีกรอบหนึ่ง ในสมัยของท่านสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) การทำงานกับท่านก็ราบรื่นดี เพราะเราดูแลงานในส่วนเดิมทั้งหมด จนพอมีเรื่องของการเลือกนายกฯใหม่ มาเป็นท่านอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็ได้รับความไว้วางใจให้มาดูแลกระทรวงไอซีที

ระหว่าง คลัง กับ ไอซีที ชอบที่ไหนมากกว่ากัน?

งานของทั้งสองกระทรวงมีความแตกต่างกัน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงไอซีที ตัวเองใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตมานานมาก แล้วพวกเทคโนโลยีต่างๆ เราก็พอเป็นอยู่บ้าง แต่อาจจะไม่รู้ลึกถึงขั้นปฏิบัติการ ในเรื่องของการบริหารงาน เราก็ใช้หลักการบริหารงานทั่วไปที่ได้เรียนมา กับการที่เรามีประสบการณ์ในการทำงานมาบริหารช่วย เพราะการเป็นรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องไปรู้ในเรื่องรายละเอียดมากนัก แต่ขอให้การทำงานเข้าเป้าและการทำงานตามนโยบายรัฐบาลให้มีประโยชน์ ตามไตรมาสที่ตั้งไว้ แล้วก็กำกับดูแลทุกหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ไอซีที ทำงานเพื่อให้ได้ประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด

เป็นคนจริงจังกับงาน เครียดมั้ย?

ไม่เครียด เครียดทำไมล่ะ (หัวเราะ) คือเราทำงานให้สนุก น้องๆ ที่ทำงานด้วยกันก็ไม่เครียด เพราะเราไม่ดุ คุยกันได้ ใครต้องการอะไร อย่างไร อย่างเวลามีข่าวอะไรดีๆ มา ก็จะมีคนช่วยอ่าน คนช่วยตัดข่าวมาดูกัน การทำคลิปปิ้งข่าวนั้นดี แต่ตัวเองจะชอบอ่านข่าวทั้งฉบับก่อนเพื่อจะได้รู้ว่ากระทรวงอื่นทำอะไรบ้าง เพราะการอ่านก็เหมือนกับเราอยู่สารสนเทศ ถือเป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง เราต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ลูกน้อง

ตอนนี้ครอบครัวไม่ต้องมีภาระอะไร ลูกเต้าโตหมดแล้ว เขาดูแลตัวเองได้ เราจึงมาทุ่มเทให้กับงานอย่างเดียว มีเวลาให้กับงานค่อนข้างเยอะ บางวันอยู่ที่กระทรวงจนลืมเวลา ลูกน้องต้องเข้ามาเตือนว่าดึกแล้ว 2 ทุ่มแล้วจะกลับบ้าน (หัวเราะ)

เวลาที่ให้กับครอบครัว และพื้นที่ตัวเอง?

ตัวเองโชคดีที่ลูกชายทั้งสามคนไม่มีใครเกเร จึงไม่ต้องห่วงเขามาก ถ้ามีเวลาว่างก็จะไปทานข้าวด้วยกันตลอด ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน ตอนเช้าเจอกันที่โต๊ะอาหาร ถ้าว่างมากๆ ก็จะคุยกันเรื่องงาน เรื่องข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์วันนั้นๆ ชี้ชวนกันให้อ่านข่าวโน้น ข่าวนี้

สำหรับการลงพื้นที่ (จ.นครราชสีมา) ปกติแล้ววันเสาร์-อาทิตย์ ก็ลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนบ้าง จะปล่อยพื้นที่ไม่ได้ เพราะเราถูกเขาเลือกมา แต่ก่อนจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีก็เคยบอกกับเขาแล้วว่าอาจจะมาเยี่ยมได้ไม่บ่อยนัก เพราะว่าเราก็มีภาระเป็นรัฐมนตรี ต้องเข้าประชุมสภา การไปพบปะชาวบ้านอาจจะเป็นศุกร์หรือจันทร์

พบรักกับคุณไพโรจน์ได้อย่างไร?

(ยิ้ม) เขาเป็นเลขาฯคุณพ่อ เจอพี่ไพโรจน์ตั้งแต่เรียนหนังสือ ตั้งแต่ชั้นมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา สอบเข้าวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก พอเรียนจบไปทำงานที่โคราช พี่เขาก็ขอย้ายตามไปเป็นปลัดอำเภออยู่ที่นั่น ตอนเราอยู่โรงพยาบาลก็ไปทำงานตามปกติ บางทีเขาก็มารับส่งตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคุณพ่อ ด้วยความใกล้ชิดอย่างนี้แหละมั้ง จากหน้าที่เลยกลายมาเป็นสามีเสีย (หัวเราะ) คือเรามีความรู้สึกว่าพี่เขาดูแลดี เราอายุห่างกัน 6 ปีนะ รู้จักกัน 8 ปีกว่า ถึงได้แต่งงาน

ในการใช้ชีวิตคู่ สำหรับเรื่องครอบครัวเราจะตัดสินใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเรื่องลูกจะเรียนยังไง ไปทิศทางไหน แต่เรื่องงานเราไม่เคยไปก้าวก่ายเขา เขาก็จะไม่ก้าวก่ายงานของเรา แต่ถ้าจัดงานร่วมกันในฐานะอยู่จังหวัดเดียวกัน ก็เกี่ยวข้องกันเรื่องงานบ้าง ก็จะปรึกษากันว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ดีไหม เป็นของธรรมดา

ความรู้พยาบาล วันนี้ยังใช้ได้อยู่ไหม?

ใช้ได้ ไม่มีลืม ยังใช้เป็นประจำในชีวิตครอบครัว วันก่อนตอนไปทำบุญกระดูกพ่อแม่ ปรากฏว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งเดินๆ แถวนั้นแล้วเป็นลมบ้าหมู ชักอยู่ในวัด เราก็เอาความรู้พยาบาลไปช่วยเขา หาช้อนห่อกระดาษทิชชูยัดปากไว้ก่อน ป้องกันเขากัดลิ้นตัวเอง ตะแคงหน้าให้นอนหง่ายไม่งั้นเดี๋ยวลิ้นไปจุกคอ บอกอย่าให้คนมุง เพราะเขาจะได้หายใจโล่งๆ บังเอิญว่าวันนั้นมีคุณหมอจากโรงพยาบาลรามาธิบดีก็มาทำบุญอยู่ใกล้ๆ ด้วย หมอกับพยาบาลเลยได้ช่วยกันดูแลผู้ป่วย (หัวเราะ)

ช่วงหนึ่งที่คุณไพโรจน์เป็นอัมพฤกษ์ เส้นเลือดตีบ เขาพักรักษาตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนตัวเองอยู่ที่โคราช ก็สอบถามอาการจากคนดูแลอยู่เป็นประจำ ว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง พูดคุยกันทางโทรศัพท์ ให้ลองกดเส้นเท้าดูหน่อยซิ มีความรู้สึกไหม นิ้วกระดิกไหม ก็สั่งการดูอาการทางโทรศัพท์ คือวิชาชีพนี้มันเป็นความรู้ที่ติดตัวเราอยู่ตลอด พี่ถึงบอกว่าการเป็นพยาบาลได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ เพราะเราสามารถดูแลคนข้างเคียงได้

ประสบการณ์นักเรียนพยาบาลทหารประยุกต์ใช้กับการเมืองได้?

ได้ในเรื่องความอดทน เรื่องสมาธิ เพราะอย่างเวลาที่เราฟังใคร ต้องฟังให้จบก่อน เหมือนฟังอาการคนที่มารักษาก่อนจะทำการวินิจฉัย เวลาประชุมคณะรัฐมนตรี เราต้องมีสมาธิฟังเขาพูดจนจบ อยากเสนอ ก็ค่อยขออนุญาต บอกข้อเสนอ ตอบข้อสงสัยไป คิดว่าการเรียนพยาบาลมาไม่เสียหาย แล้วก็รู้สึกว่าได้เปรียบกว่าคนอื่นในเรื่องความนิ่ง มีสมาธิในการทำงาน

ตอนนี้จึงเป็นคนที่นิ่งมาก คิดดูแล้วกัน รถถูกผู้ชุมนุมประท้วงขว้างเละทั้งคัน โฆษกของพรรคก็ถูกก้อนหินก้อนใหญ่ เรามีสติก่อนรีบเรียกโรงพยาบาล และพยายามถามเขาอยู่ตลอดว่าเป็นอะไรรึเปล่า ให้เขาขานชื่อเรา จำได้หรือเปล่า จำไว้เลยนะว่าถ้าใครเป็นอะไรอย่าจับเขานั่ง ให้นอนไปเลย เพราะไม่รู้ว่าสมองเป็นอะไรบ้าง ในการเคลื่อนย้ายก็เช่นกัน ต้องเป็นเจ้าหน้าที่เท่านั้น คือท่าย้ายผู้ป่วยผิดท่ามันอันตรายมากเลยนะ

ทำไม ส.ส.หญิงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กและสตรี?

คิดว่าปัญหาเด็ก สตรี กับ ส.ส.ผู้หญิงนั้นเป็นของคู่กัน กับเด็กนี่จะมี ส.ส.ผู้ชายที่ไหนจะอ่อนหวานไปหาเด็ก มีมั้ยผู้ชายที่ไหนเข้าไปเยี่ยมสถานรับเลี้ยงเด็กแล้วอุ้มเด็ก น้อยมาก ความเป็นผู้หญิง ความเป็นแม่ ความอ่อนหวาน ทำให้เข้าถึงตัวเด็กได้ง่ายกว่าผู้ชาย สำหรับเรื่องสตรี ถ้า ส.ส.หญิงไม่รู้เรื่องสตรีด้วยกันแล้วจะไปรู้เรื่องใครล่ะ

อันที่จริงเราทำงานได้ทุกด้านแหละ อย่างตอนนี้ ตัวเองก็ทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุด้วย เพราะเรารู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บอย่างเป็นเบาหวาน การดูแลรักษาทำยังไง ปีหนึ่งต้องไปเช็คตาสักครั้ง ถ้ารู้สึกว่าสายตาคุณฟ่าฟาง นั่นแหละเบาหวานกำลังจะขึ้นตาแล้ว ตาจะขุ่นแล้วก็บอด นี่คือส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุที่ดูแลอยู่

ถ้าจะให้คำจำกัดความตัวเอง สั้นๆ?

เป็นคนเรียบง่าย ไม่โผงผาง ไม่เครียด (ยิ้ม) แล้วก็คิดทำแต่สิ่งดีๆ

"ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ไปเรื่อยๆ"


หน้า 17
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01fun01310552&sectionid=0140&day=2009-05-31

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น