วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ลูกปัดสวัสดิกะจากสามแก้ว สวัสดี นาซีหรือสันติภาพ ?

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน


ลูกปัดสวัสดิกะจากสามแก้ว สวัสดี นาซีหรือสันติภาพ ?


คอลัมน์ แกะ(รอย)ลูกปัด

โดย บัญชา พงษ์พานิช plearnstan@gmail.com




แรกเห็นลูกปัดหินผลึกคริสตัลใสสะอาดเม็ดนี้ที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ผมถึงกับอึ้งเพราะไม่เคยคิดว่าสัญลักษณ์อย่างนี้จะมีทำเป็นลูกปัด แต่เมื่อได้ลองแกะรอยไปเรื่อยๆ จึงได้รู้ว่าตรากากบาทต่อหางตั้งฉากทางเดียวกันทั้ง 4 นี้มีเรื่องราวให้แกะรอยอย่างเหลือเชื่อ

คำ ""สวัสดิกะ"" ท่านว่ามาจาก สุ + อัสดิ + กะ แปลประมาณว่า ""ความสุขสวัสดีจงมี"" คล้ายๆ กับคำว่า สวัสดี หรือโสตถิ ที่มีใช้กันมาเนิ่นนานมากนับพันๆ ปีที่อินเดียโบราณ รวมทั้งในประเทศไทยเราด้วยโดยมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลายหลัก

เช่น หลักที่ 23 วัดศาลามีชัย เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อพุทธศตวรรษที่ 14 ที่ขึ้นต้นว่า "โสตถิ" อันเป็นที่มาของคำว่า "สวัสดี" ที่ใช้กันเป็นปกติทั่วทั้งประเทศไทยทุกวันนี้ แต่ก็มีปัญหาที่ไม่ค่อยพบคำว่าสวัสดิกะในพระคัมภีร์ซึ่งมักมีแต่คำสวัสดี ท่านว่ามีพบคำสวัสดิกะในมหากาพย์รามายานะ รวมทั้งมหาภารตะและอื่นๆ ซึ่งมีการให้นิยามความหมายโดยสรุปว่าคือ "เครื่องหมายแห่งมงคล พร โชค ลาภ และอายุยืน"


ส่วน "รูปสัญลักษณ์กากบาทต่อหางตั้งฉากในทางเดียวกันทั้ง 4" ไม่ว่าจะตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกานั้น พบได้ทั่วทั้งโลกโบราณบนชิ้นส่วนภาชนะหรือเครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง ไม่ว่าจะที่ซูซาในเปอร์เซียโบราณ ฮารัปปาและโมเหนโชดาโรในปากีสถานโบราณ และสุเมอเรียในดินแดนเมโสโปเตเมียโบราณ รวมทั้งในดินแดนกรีก โรมันและอียิปต์โบราณด้วย

แม้ในโลกปัจจุบันนี้ก็พบมีการใช้ตราสวัสดิกะอย่างแพร่หลายทั้งในดินแดนแห่งศาสนาฮินดูทั้งที่อินเดียและอินโดนีเซีย และดินแดนแห่งพุทธศาสนาทั่วทั้งเอเชียอาคเนย์ ตลอดจนทิเบต จีน เกาหลีและญี่ปุ่น

มีการตีความและตั้งสมมติฐานกันอย่างมากมายทั้งเรื่องนิยามความหมายและที่มาของรูปสัญลักษณ์ นับได้เป็นร้อยพันสมมติฐาน โดยจำนวนมากเวียนวนอยู่กับ "ความหมายแห่งการเคลื่อนไหวหรือพลวัตที่หมุนวน โดยมีศูนย์กลางเป็นหนึ่งกับอีกสี่สาแหรก ซึ่งมีการตีความตามหมวด 4 ได้มากมาย" ไม่ว่าจะเป็น 4 ทิศ 4 เทพ 4 โลก 4 วรรณะ 4 อาศรม เช่น เป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันของทั้ง 4 วรรณะ

ที่ยืนยันนั้น มีการใช้อย่างแพร่หลายใน 3 ศาสนาสำคัญคือ "ฮินดู พุทธ และ เชน" โดยในศาสนาฮินดูนั้นเชื่อถึงขนาดว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชนเผ่าอารยันที่เก่าแก่ที่สุด หมายถึงพระพรหม พระวิษณุและพระศิวะ ผู้สร้าง ผู้ปกปักรักษาและผู้ทำลายล้าง ในขณะที่ของศาสนาพุทธนอกจากพบใช้ในจารึกที่นิยมนำมาขึ้นต้นหรือตอนจบแล้ว ยังพบใช้เป็นหนึ่งใน 65 ตรามงคลที่ฝ่าพระพุทธบาท ส่วนศาสนาเชนนั้นยกให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญอันดับแรกใน 8 สัญลักษณ์มงคล

ที่ถูกใช้ครั้งใหญ่และเป็นที่จดจำกันทั้งโลกนั้นเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว (ตั้งแต่ พ.ศ.2450) เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพลพรรคนาซี เยอรมัน เรียนรู้ว่าสัญลักษณ์นี้มีความหมายดี แล้วตีความหมายว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งบรรพชนเยอรมันแห่งเผ่าพันธุ์อารยันที่เข้ามาจากอินเดียพร้อมลัทธิถือชั้นวรรณะ แล้วยึดมั่นการฟื้นคืนเผ่าพันธุ์พร้อมกับการกำจัดและชำระความแปดเปื้อนจนเกิดเป็นมหาโศลกโศกนาฏกรรมสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฮิตเลอร์ใช้ "ดวงตราสวัสดิกะนี้เป็นสัญลักษณ์พันธกิจแห่งชัยชนะของเผ่าพันธุ์อารยันผู้ริเริ่มและสร้างสรรค์" ซึ่งลงเอยอย่างที่รู้กันทั่วทั้งโลกว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

จนเมื่อปี 2548 ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมประชาคมยุโรปให้มีการห้ามใช้ตราสวัสดิกะนี้ทั่วทั้งยุโรปในฐานะซากเดนของนาซีที่ไม่พึงประสงค์ ร้อนถึงพี่น้องชาวฮินดูทั้งหลายต้องออกมาร้องทุกข์ว่า ดวงตรานี้ที่แท้แล้วเป็นตรามงคลแห่งสันติที่แพร่หลายมาแล้วกว่า 5,000 ปี

"กลับมาที่เขาสามแก้ว นอกจากพบลูกปัดหินผลึกคริสตัลใสรูปสวัสดิกะแล้ว ยังพบลูกปัดรังผึ้งเขียนลายสวัสดิกะอีกชิ้นหนึ่ง รวมทั้งหลักฐานอื่นร่วมสมัยประมาณพุทธศตวรรษต้นๆ ซึ่งเวลาสอดคล้องพอดีกับข้อสรุปข้างต้นจนอาจตั้งเป็นอีกสมมติฐานได้ว่า รอยสวัสดิกะนี้ที่มีหมายถึงสวัสดีและสันติภาพนี้ อาจเข้ามาจากอินเดียเมื่อสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีนิยามอย่างนาซีแน่นอน"

"หวังว่าจะไม่มีคนไทยคนไหนบ้าเลือดอย่างฮิตเลอร์เอารอยหลักฐานนี้ที่สามแก้วไปปลุกผีอารยันแล้วลุกขึ้นมาห้ำหั่นมหาชนอย่างเมื่อร้อยปีที่แล้ว"

หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun02310552&sectionid=0120&day=2009-05-31

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น