วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"ฮูลู"สันติภาพ สร้างสุข 3 จังหวัดใต้

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6758 ข่าวสดรายวัน


"ฮูลู"สันติภาพ สร้างสุข 3 จังหวัดใต้


นุเทพ สารภิรมย์




ทุกส่วนในสังคมต้องการเห็นสันติภาพและความสงบสุขเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปะทุคุกรุ่นมาหลายปี

"โครงการสื่อพื้นบ้านเพื่อสุขภาวะของเยาวชน" ถึงคราวสัญจรลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรม ใช้ดนตรีพื้นบ้านเป็นสื่อกลาง เพื่อหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนคติและความเข้าใจอันดีต่อกัน และหวังว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่นำมาซึ่งสันติภาพ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มดินสอสี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี จึงร่วมกันทำ "ลิเกฮูลูเพื่อสันติภาพ"

โดยประสานความร่วมมือระหว่างบุคลากรในท้องถิ่น ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่าง "ลิเกฮูลู" มาถ่ายทอดให้ลูกหลานนักศึกษา มอ.ปัตตานี เพื่อสานสุขขยายต่อไปยังชาวบ้านในชุมชน

การละเล่นชนิดนี้ เป็นการร้องและมีดนตรีให้จังหวะ ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ ใช้ภาษา คารม ด้นกลอนสด โต้ตอบ ยอวาที และแซว เนื้อหาของเพลงจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คล้ายกับลำตัด หรือเพลงฉ่อยทางภาคกลาง

แต่มีเอกลักษณ์สำคัญที่ท่าร่ายรำจะบ่งบอก และสะท้อนถึงวิถีของผู้คนและธรรมชาติ เช่น ท่ากรีดยาง พายเรือ การทำมือเป็นลูกคลื่น ท่ากวักมือชักชวนพี่น้องกลับมายังบ้านเกิด โดยจะตบมือแทรกเป็นจังหวะเพิ่มความสนุกสนาน



นายเจะปอ สะแม ปราชญ์ท้องถิ่น หัวหน้าคณะลิเกฮูลู แหลมทราย เล่าว่า เป็นศิลปะพื้นบ้านของชาวมุสลิม เล่นกันมานานกว่า 100 ปี สมัยก่อนเล่นเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้าน

แต่กาลเวลาทำให้ลิเกฮูลู เสื่อมหายไปจากชุมชนมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะชาวบ้านประสบปัญหาทำมาหาเลี้ยงชีพ วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง ทำให้การละเล่นพลอยหายไปด้วย เพราะลิเกฮูลู เป็นการละเล่นที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต

จนปลายปีพ.ศ.2535 จึงเริ่มรวบรวมชาวบ้านกว่า 20 คน ที่ยังพอมีความรู้ความสามารถในทักษะการละเล่นลิเกฮูลู มารวมกลุ่มฝึกซ้อมร่วมกัน ระยะแรกพวกเราเล่นกันภายในหมู่บ้าน ร้องรำทำเพลงบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่ผ่านมาของชุมชนเราในอดีต

หลังจากนั้น 1 ปี จึงตั้งคณะลิเกฮูลูขึ้นมา ชื่อ "แหลมทราย" และเริ่มตระเวนเล่นในชุมชนใกล้เคียง โดยนำบทร้องเพลงเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่นานชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่พอมีความสามารถเล่นลิเกฮูลู เริ่มหันมาสนใจและรื้อฟื้น

กระทั่งช่วงต้นปีพ.ศ.2552 เจะปอได้มาเป็นผู้ฝึกสอนลิเกฮูลูให้แก่นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี ในโครงการสื่อพื้นบ้านสานสุข

เจะปอเล่าถึงการสอนของเขาว่า เริ่มจากเล่ารายละเอียด เกี่ยวกับประวัติของลิเกฮูลู ให้นักศึกษาฟังเข้าใจก่อน จาก นั้นถึงสอนแนวทางการแต่งเพลง โดยนำเอาองค์ความรู้ของวิถีชุมชน มาถ่ายทอดให้ผ่านบทเพลง และกำชับให้นักศึกษาเข้าหาชาวบ้านในชุมชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาแต่งเป็นบทเพลงประกอบ ลิเกฮูลู เมื่อสามารถแต่งบทเพลงได้แล้ว ถึงจะกำหนดท่าทางในการรำประกอบเพลงได้



"ผมหวังว่าเมื่อชาวบ้านได้ฟังและเห็น เขาจะนำกลับไปคิด นั่นคือช่องทางของจุดเริ่มต้นสันติภาพ เพราะครั้งหนึ่งลิเกฮูลูเคยช่วยพลิกฟื้นวิถีชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และครั้งนี้ผมยังเชื่อว่า อย่างน้อยลิเกฮูลู จะเป็นสื่อสามารถช่วยทำให้ความสงบสุข หวนกลับคืนมาสู่ชุมชนมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้" หัวหน้าคณะลิเกฮูลูแหลมทราย กล่าว

การแสดงสัญจรครั้งนี้ ทางกลุ่มนักศึกษารวมตัวกันในนาม "กลุ่มข้าวยำละครเร่" เปิดแสดงที่ชุมชนสะบารัง และชุมชนรูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี โดยเน้นสื่อสารตรงไปยังเยาวชน ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนชื่นชอบ และประทับ ใจการแสดงของกลุ่มนักศึกษา

ขณะที่เนื้อหาของเพลงที่แต่งขึ้นมา เป็นการผสมผสานระหว่างภาษาไทยกับภาษามลายู เพื่อให้เยาวชนในชุมชนได้เข้าใจ ทำให้รู้สึกเป็นมิตร เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนของพวกเขา และเพิ่มสีสันในการแสดง

น.ส.สุตาภัทร หมั่นดี นักศึกษาคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในนักแสดงกลุ่มข้าวยำละครเร่ เล่าความประทับใจว่า เป็นครั้งแรกที่เราได้เล่นลิเกฮูลูแบบผสมผสานกับละครเร่ ส่วนในเนื้อหาการแสดงเกี่ยวกับความรักใคร่ปรองดอง และความสามัคคีในชุมชน โดยเชื่อว่าหากชุมชนมีความรักสามัคคีกัน ความสันติสุขจะเกิดขึ้น

"สำหรับบทเพลงเป็นการบรรยายว่า เราอยู่ประเทศเดียวกัน ต้องมีความรักสามัคคี ห่วงใยซึ่งกันและกัน มอบความรักให้กัน พ่อแม่เพื่อนผอง ของเรา เราก็รัก ดังนั้น เรามาช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดูแลประเทศไทยของเรา ที่ผ่านมาพี่น้องเราไม่ได้ทำงาน ไม่ได้กรีดยาง"

"ครูก็ไม่ได้สอน เด็กไม่ได้เรียน 3 จังหวัดชาย แดนภาคใต้ต้องการความสงบ ไฟใต้ถ้าไม่จุดมัน จะลุกได้ไหม หากพวกเรามาร่วมรักสามัคคี ไม่ทะเลาะกัน มาร่วมสร้างความรักสามัคคี หันหน้าเข้าหากัน สานสัม พันธ์กัน หากไฟใต้ดับ 3 จัง หวัดก็สงบ สันติภาพจะเกิดกับบ้านเรา" สุตาภัทรอธิบาย บทเพลง

ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหน สันติสุขจะเกิดขึ้นใน 3 จัง หวัดภาคใต้ แต่ลิเกฮูลูเพื่อสันติภาพ โดยกลุ่มนักศึกษาข้าวยำละครเร่ และ "เจะปอ"

ได้สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาพยายามที่จะใช้วัฒนธรรมและวิถีพื้นบ้าน เป็นสื่อกลางทำความเข้าใจ ให้เกิดความรักซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน แม้อาจต้องใช้เวลานานก็ตาม

แต่ก็ย่อมดีกว่าการใช้กำลังเจ้าหน้าที่บังคับให้เกิดความสงบเรียบร้อย ที่เกิด ได้แค่ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น

หน้า 5

http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNVE14TURVMU1nPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBd09TMHdOUzB6TVE9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น