วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การเมืองย้อนยุค วัฏจักรน้ำเน่า บุฟเฟ่ต์คาบิเนต

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11403 มติชนรายวัน


การเมืองย้อนยุค วัฏจักรน้ำเน่า บุฟเฟ่ต์คาบิเนต





นับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่เห็นบรรดานักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทยต่างกระตือรือร้นทำหน้าที่เป็นนักการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ตั้งหน้าตั้งตาตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่เสนอเข้ามาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

นักการเมืองเหล่านี้ต่างพูดอย่างหน้าชื่นตาบานและเป็นภาษาเสียงเดียวกันว่า "เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไม่ให้ภาษีอากรทุกบาททุกสตางค์หลุดไปเข้ากระเป๋าของนักการเมืองคนใดหรือพรรคการเมืองพรรคใด"

เพราะภาพที่ปรากฏในสื่อในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคือรัฐบาลของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" สั่งเลื่อนพิจารณาโครงการรถเมล์เช่า 4 พันคัน มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท และโครงการการระบายข้าวสารในสต๊อครวมถึงสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่มีมูลค่ารวมกันหลายพันล้านบาท ซึ่งโครงการเหล่านี้ถูกผลักดันโดยรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย

โครงการเหล่านี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้วยสายตาอิจฉาริษยาเพราะมีมูลค่ามหาศาล พร้อมกับมีเสียงกระซิบมาจากกุนซือข้างกายนายกฯให้ระมัดระวังการพิจารณาเพราะมีข้อท้วงติงในเรื่องความไม่สุจริตโปร่งใส

และในทันทีที่งานในมือของพรรคภูมิใจไทยถูกเบรก "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" น้องชายของ "เนวิน ชิดชอบ" แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ออกมาคัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินเช่าที่สาธารณะไร่ละ 10 บาท ที่เสนอโดย "ถาวร เสนเนียม" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเกรงว่าการดำเนินการอาจเกิดความไม่โปร่งใส ที่ดินไม่ตกไปอยู่ในมือของเกษตรกรยากจน แต่อาจตกไปอยู่ในมือของนายทุนแทน

ตามมาติดๆ จากคำแถลงของ "ศุภชัย ใจสมุทร" โฆษกพรรคภูมิใจไทย ว่า "แม้จะมีกระแสข่าวที่ ครม.ติติงโครงการต่างๆ ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งพรรคยินดีรับฟังคำ ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกัน ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นในโครงการต่างๆ ของพรรคภูมิใจไทยได้ ในทางเดียวกับพรรคภูมิใจไทยมีสิทธิเข้าไปท้วงติงโครงการต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลได้ทุกโครงการ"



ถ้ามองปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยสายตาบริสุทธิ์มองโลกเป็นสีขาว ถือว่าพรรคร่วมรัฐบาลต่างสร้างมาตรฐานใหม่ในการตรวจสอบซึ่งกันและกัน โดยมองผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ข้อขัดแย้งต่างๆ ที่ออกมาไม่ใช่การต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่อยากให้มีการนินทาหรือมีข้อครหาว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์อนุมัติโครงการต่างๆ โดยมีการหาเศษหาเลย เอาภาษีประชาชนเข้าพกเข้าห่อของนักการเมืองคนใดหรือพรรคการเมืองพรรคใด

แต่ถ้ามองด้วยสายตาของคนมากประสบการณ์ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องการเมืองไทย และเข้าใจสัจธรรมคำพูดของนักการเมืองว่า "หนึ่งบวกหนึ่งผลลัพธ์อาจไม่ใช่สอง แต่อาจเป็นสาม สี่ ห้า"

จะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ล้วนๆ หรือจะพูดด้วยคำพูดที่เข้าใจกันง่ายๆ ว่า "เอาหมูไปเอาไก่มา"



วัฏจักรที่เกิดขึ้นเป็นวงจรที่คุ้นหน้าคุ้นตาและคุ้นหูดี หากย้อนกลับไปเมื่อก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แวดวงการเมืองถูกกล่าวหาว่าเป็น "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" เพราะรัฐบาลประกอบไปด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค เป็นพรรคเล็กพรรคน้อย เพราะพรรคแกนนำไม่ได้เสียงที่เด็ดขาด เสถียรภาพของรัฐบาลต้องอาศัยเสียงของพรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านี้จึงจะอยู่ได้

ดังนั้นการพิจารณาโครงการต่างๆ ในรัฐบาลสมัยนั้น แต่ละพรรคที่ควบคุมดูแลกระทรวงในสังกัดต้องผ่านการต่อรองว่าพรรคนี้จะเอาโครงการนี้เข้า ขอให้พรรคร่วมสนับสนุนและพร้อมจะผ่านโครงการที่พรรคโน้นเสนอเข้ามา หากพรรคไหนคัดค้านก็จะถูกพรรคร่วมรัฐบาลพรรคนั้นตั้งแง่ เมื่อไหร่ที่เสนอโครงการเข้ามาก็จะถูกคัดค้านเป็นการตอบแทนเช่นกัน หรือถ้าไม่อยากให้คัดค้านก็ขอมีเอี่ยวในโครงการนั้นบ้าง

เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เอาหมูไปเอาไก่มา"

บ้านเมืองยุคนั้นผู้คนเห็นความไม่ชอบมาพากล เห็นว่าประเทศชาติคงเดินไปไม่ถึงไหนเพราะนักการเมืองมัวแต่เตะสกัดกันเอง โครงการไหนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ ก็เดินหน้าไปช้ามาก เพราะพรรคเมืองเห็นผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่าประชาชน เสียงเรียกร้องของผู้คนจึงต้องการพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ต้องการรัฐบาลพรรคเดียวที่มีเสถียรภาพมากกว่า



ปรากฏการณ์เหล่านั้นเหมือนกงเกวียนที่ย้อนกลับมาในยุคนี้สมัยนี้ ที่แกนนำรัฐบาลกำลังถูกขี่ด้วยพรรคการเมืองหลายๆ พรรค หลายๆ กลุ่ม โดยมีเสถียรภาพเป็นเดิมพัน

การคัดค้านโครงการรถเมล์เช่า 4 พันคันและโครงการการระบายข้าวสารในสต๊อครวมถึงสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่มีมูลค่ารวมกันหลายพันล้านบาท หากทำด้วยใจที่บริสุทธิ์เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ย่อมไม่เกรงกลัวต่อสิ่งใดๆ ที่จะเกิดขึ้น เสถียรภาพของรัฐบาลย่อมไม่พ่ายแพ้ต่อสิ่งชั่วร้ายหรือความอยากมีอยากได้ ความไม่สุจริตทั้งปวง

เวลาต่อจากนี้ไปจะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวต้นของบุคคล ของพรรคการเมืองว่าจะยืนอยู่บนหลักการความถูกต้องหรือไม่

การประชุม ครม.ครั้งต่อไปจะเห็นธาตุแท้ของบางสิ่งบางอย่าง เพราะถ้าโครงการเหล่านี้ที่ถูกจับตาจากสังคม ผ่านความเห็นชอบของ ครม. มีการติติงพอเป็นพิธี ไม่ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง หรือสร้างความกระจ่างให้เกิดขึ้น

ขอให้เข้าใจตรงกันว่า "วัฏจักรน้ำเน่า" กำลังย้อนกลับมาในยุคนี้สมัยนี้อีกแล้ว....


หน้า 3
 
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01col02300552&sectionid=0116&day=2009-05-30


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น