วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ผีเสื้อ ตัวแบก และหัวล้านชนกัน/นรา

ผีเสื้อ ตัวแบก และหัวล้านชนกัน/นรา
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 เมษายน 2552 13:10 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น






ผมมีเรื่องจะกล่าวทิ้งท้ายเล็กน้อยเกี่ยวกับ "นิทานข้างผนัง" ที่เพิ่งเขียนไป
       
        แรกสุดคือ ทั้งหมดเป็นเรื่องแต่งขึ้น ไม่มีอะไรจริง ตั้งใจเขียนให้อ่านกันเล่นๆ เพลินๆ (พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นการซ้อมมือเอาไว้สำหรับเตรียมเขียนนิยายขนาดยาวเรื่อง "ครูทองอยู่กับครูคงแป๊ะ" ในอีก 5 ปีข้างหน้า)
       
        ถัดมาคือ เรื่องจบบริบูรณ์แล้ว และไม่มีตอนต่อ ผมคงจะเขียนคลุมเครือไปหน่อย จึงทำให้มีญาติโยมหลายท่านเข้าใจผิดสอบถามมา อันนี้ก็ต้องขออภัยไว้ด้วย
       
        ท้ายสุด มีคนสงสัยว่าแท้จริงแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับตัวเอกของเรื่องในตอนจบ?
       
        ผมอยากจะบอกอย่างนี้ครับว่า แรงบันดาลใจทั้งหมด นอกจากเป็นเพราะความคึกคะนองของผมเองแล้ว ยังเป็นผลมาจากการที่ผมไปอ่านเจอบทความอธิบาย "หนังสือพระปฐมสมโพธิกถา" ของอาจารย์เกษม บุญศรี
       
        "พระปฐมสมโพธิกถา" พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นวรรณคดีว่าด้วยพุทธประวัติที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
       
        แต่ผู้รู้หลายท่าน รวมทั้งบทความที่ผมอ้างถึง ก็อธิบายตรงกันว่า แท้จริงแล้ววรรณคดีชิ้นนี้ ซ่อนเจตนาในการทำให้พุทธประวัติ ห้อมล้อมด้วยเหตุและผล เปลี่ยนจากไสยศาสตร์มาเป็นวิทยาศาสตร์
       
        พูดง่ายๆ ก็คือ นำเอาหลักธรรมที่จริงจัง มาเคลือบด้วยเหตุการณ์หวือหวาโลดโผน
       
        หลายต่อหลายตอน จึงนำเอาเรื่องราวในเชิงสมจริง มาเล่าใหม่ให้แลดู "เหนือจริง"
       
        เหตุการณ์ตอน "ผจญมาร" หรือ "มารวิชัย" เป็นตัวอย่างช่วงหนึ่งที่เด่นชัด คือ นำมาเล่าเป็นบุคคลาธิษฐาน (ผมนั้นเข้าใจความหมายของศัพท์คำนี้ลางๆ แต่จนปัญญาที่จะอธิบายนะครับ) กล่าวถึงขณะที่พระโพธิสัตว์ช่วงใกล้ตรัสรู้ และมีพญามารยกกองทัพมาคุกคาม จนกระทั่งทรงตั้งจิตให้พระแม่ธรณีมาเป็นประจักษ์พยาน ในการบำเพ็ญบารมีต่างๆ สั่งสมมาหลายชาติภพ
       
        ท้ายสุดพระแม่ธรณีก็บีบน้ำจากมวยผม (ทุกครั้งที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบุญบารมีต่างๆ จะทรงหลั่งน้ำลงสู่พื้นดิน) กระทั่งโถมท่วมกองทัพมารจนแตกพ่าย
       
        น้ำทั้งหมดที่หลั่งไหลออกจากมวยผมของพระแม่ธรณี อาจกล่าวง่าย ๆ ว่าเป็นจำนวนบุญบารมีทั้งหมดที่พระโพธิสัตว์กระทำสั่งสมมาเนิ่นนาน
       
        เรื่องทั้งหมดนี้ มองในแง่ของธรรมาธิษฐานหรือธรรมะล้วนๆ แบบสมจริง ก็อาจตีความได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะขณะใกล้ตรัสรู้ ทรงหวนระลึกถึงความหลังต่างๆ ครั้งยังเสวยสุขตามโลกียวิสัย
       พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ในช่วงเสี้ยววินาทีขณะก้ำกึ่งคาบเกี่ยว ระหว่างการบรรลุตรัสรู้หรืออาจล้มเหลว พระองค์ทรงโดนรบกวนด้วยความคิดว้าวุ่นวอกแวกต่างๆ นานา จนหวุดหวิดจวนเจียนจะไม่บรรลุสัจธรรม ในห้วงขณะคับขันนั้นเองทรงรวบรวมสมาธิ จนสามารถระงับจิตใจให้คืนสู่ความสงบนิ่ง กระทั่งนำไปสู่การรู้แจ้ง
       
        ตรงนี้แหละครับที่ถือว่าเป็น "มารผจญ" ในเชิงสมจริง เป็นการขับเคี่ยวสู้รบภายในใจ ซึ่งพุทธประวัติหลายฉบับ รวมถึง "พระปฐมสมโพธิกถา" นำมาปรุงแต่งขยายความให้เป็นอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์
       
        ผมก็เลยนำเอาแนวคิดดังกล่าว มาใส่ใน "นิทานข้างผนัง" ให้ไอ้แผ้วพระเอกของเรื่อง จรดจ่อคร่ำเคร่งกับการเขียนผนัง ขณะจวนเจียนจะสำเร็จ ก็เกิดเสียสมาธิ กระทั่งเตลิดเปิดเปิงหรือใช้ศัพท์แบบนิยายกำลังภายใน ก็ต้องบอกว่า "โดนธาตุไฟเข้าแทรก"
       
        ประกอบกับข้อมูลเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่ผมเคยอ่านเจอ ครูช่างแต่โบราณท่านถือกันมากในการวาดภาพยักษ์ ว่ากันว่ากระดาษข่อยที่ร่างภาพเหล่านี้ ถือเป็น "ของแรง" ห้ามเดินยกเท้าข้าม ห้ามนำเข้าบ้าน เนื่องจากกลัวว่าภัยจะเข้าตัว (ส่วนภาพพระ-นางหรือเทวดา ไม่มีการถือเคล็ดโชคลางเหล่านี้นะครับ เนื่องจากอยู่ฝ่ายดี) และต้องปฏิบัติด้วยความเคารพระมัดระวังอย่างเข้มงวด
       
        ผมผสมรวมข้อมูลทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน เรื่องนี้จึงสามารถเป็นไปได้ 2 แง่ คือ เจ้าแผ้วคิดฟุ้งซ่านเอาเอง จนเตลิดเปิดเปิง (ไปไหนก็ไม่รู้?) หรืออาจจะเกิดจากอาถรรพ์ชั่วร้ายต่างๆ ของภูติยักษ์ตามความเชื่อโบราณ กระทั่งมีอันเป็นไป สุดแท้แต่ท่านผู้อ่านจะเลือกต่อเติมตามอัธยาศัยให้เรื่องจบลงแบบไหนก็ได้
       
        ที่เล่ามาทั้งหมด ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า พุทธประวัติหรือ "พระปฐมสมโพธิกถา" นั้น ดูเผินๆ ก็ชวนให้เข้าใจไขว้เขวว่า เน้นไสยศาสตร์คลับคล้ายจะลุ่มหลงงมงายในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่ถ้าอ่านกันอย่างพินิจพิเคราะห์และขบคิดอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า แก่นแท้หลักธรรมต่างๆ ยังคงอยู่ครบถ้วน เพียงแค่ห่อหุ้มเอาไว้ด้วยสีสันโลดโผน
       
        เหมือนยาดีรสขม แต่เคลือบน้ำตาลเอาไว้ไม่มีผิดเพี้ยน จนนานวันก็ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นลูกกวาด และมองข้ามคุณค่าที่แท้จริง
       
        ใดๆ ทั้งปวงที่ต้องชี้แจงก็มีเพียงเท่านี้ ผมขออนุญาตพาทัวร์ชมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเกาะฯ กันต่อ
       
        ตอนนี้ก็เหลือภาพบนผนังด้านซ้ายมือขององค์พระประธาน ซึ่งเป็นเรื่อง "สัตตมหาสถาน"
       
        สรุปความง่ายๆ ก็คือ เป็นสถานที่ 7 แห่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับ หลังจากตรัสรู้เรียบร้อยแล้ว โดยประทับแต่ละแห่งเป็นเวลา 7 วัน รวมทั้งสิ้น 7 สัปดาห์
       
        มีศัพท์เรียกว่า เป็นการเสวยวิมุติสุข (ความสงบอันเกิดจากความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง) หลังตรัสรู้ แต่พูดให้ง่ายเข้าไว้ตามประสาผมก็คือ พระพุทธเจ้าท่านใช้เวลาหลังจากนั้นอยู่ตามลำพัง เพื่อทบทวนไตร่ตรองแง่มุมต่างๆ อีกครั้ง ก่อนจะกลับเข้าสู่สังคมโลก
       
        เหตุการณ์ตลอดทั้ง 7 สัปดาห์ เป็นจำนวนพอเหมาะพอดีกับพื้นที่บนผนัง ดูแล้วก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่อย่างไร
       
        ทว่าครูช่างนิรนามที่วัดเกาะฯ ก็กำหนดเรื่องราวแบบไม่ปกติ จนทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักโบราณคดีรุ่นหลังๆ ต้องขบคิดตีความกันอุตลุด
       
        กล่าวคือ แค่เหตุการณ์สัปดาห์แรกก็ขาดหายไปเสียแล้ว มาเริ่มต้นกันที่สัปดาห์สองเลยทีเดียว
       
        ภาพที่หายไป (ของจริง) ก็คือ ตอน "โพธิบัลลังก็" พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ดังเดิม มิได้เสด็จลุกจากที่ประทับ
       
        ในบทความชื่อ "แนวคิดในการออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ วัดเกาะแก้วสุทธาราม ประติมานวิทยากับการแสดงออกเชิงช่าง" ของคุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า ภาพที่ขาดหายไป อาจแทนที่ด้วยองค์พระประธาน ปางสมาธิ ซึ่งสอดคล้องกับการตรัสรู้ (และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แปลได้อีกอย่างว่า พระประธานตั้งในตำแหน่งนี้อยู่ก่อนแล้ว โดยไม่เคยมีการกลับทิศเหมือนอย่างที่เคยมีการตั้งข้อสังเกต)
       
        ผมมานึกๆ ดูก็เดาเล่นๆ เพิ่มเติมได้อีกอย่างว่า ภาพ "โพธิบัลลังก์" ที่หายไป อาจเป็นเพราะครูช่างท่านเห็นว่า ซ้ำซ้อนกับภาพลำดับที่ 2 อีกเป็นเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ ซึ่งได้วาดไว้ในผนังฟากตรงข้ามด้านขวามือองค์พระประธาน (อ่านรายละเอียดได้ในบทความชื่อ "มหาอุด")
       
        อีกทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งผมเพิ่งนึกได้สดๆ ร้อนๆ ขณะเขียนก็คือ ภาพตอนตรัสรู้นั้นแนบพ่วงเข้าไปเป็นตอนเดียวกับภาพมารผจญบริเวณผนังหลังองค์พระประธาน
       
        ปกติแล้วในภาพ "มารผจญ" พระพุทธเจ้าจะประทับนั่งในปางมารวิชัย ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ พระหัตถ์ข้างขวา วางแนบเข่าชี้นิ้วทั้งหมดลงไปยังเบื้องล่าง (เป็นการส่งสัญญาณขอให้พระแม่ธรณีปรากฎตัวเป็นประจักษ์พยาน)
       
        แต่ภาพมารผจญที่วัดเกาะฯ กลับวาดพระพุทธเจ้านั่งในปางสมาธิ (ซึ่งเป็นตอนที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว) จึงอาจเป็นไปได้ว่า ครูช่างท่านจึงวาดแบบทู อิน วัน คือ มีสองเหตุการณ์คาบเกี่ยวอยู่ในภาพเดียวกัน
       
        หากยึดตามข้อสันนิษฐานเดาสุ่มทั้งสองอย่างของผม ก็ทำให้ความเชื่อที่ว่า โบสถ์วัดเกาะฯ เคยมีการกลับทิศย้ายองค์พระประธาน กลับมาสู่ความเป็นไปได้อีกครั้ง
       
        อ่านแล้วปวดหัวดีมั้ยครับ?
       
        จะเป็นไปในทฤษฎีไหนก็ตาม ที่สุดแล้วครูช่างท่านก็วาดผนังด้านซ้ายมือ โดยข้ามมายังสัปดาห์ที่สองทันที อันเป็นภาพตอนที่เสด็จไปประทับ ณ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ที่ทรงตรัสรู้ ระยะไม่ห่างกัน เพื่อทอดพระเนตรรำลึกคุณแห่งไม้นั้น และทรงลืมพระเนตรโดยไม่กะพริบเลยตลอดระยะเวลา 7 วัน
       
        ที่แห่งนี้ต่อมาเรียกกันว่า อนิมิสเจดีย์
       
        ภาพที่วัดเกาะตอนอนิมิสเจดีย์ สวยตรงที่การจัดภาพแนวตั้งในพื้นที่แคบ ๆ พระพุทธเจ้ากับต้นโพธิ์นั้นอยู่ติดกัน ครูช่างท่านเน้นพระพุทธองค์เป็นจุดเด่นของภาพ ส่วนต้นโพธิ์นั้นวาดเพียงครึ่งเดียว โน้มเอียงไปทางขวามือจนหลุดเฟรม เป็นการแก้ปัญหาการจัดองค์ประกอบภาพที่ผมคิดว่าเหนือชั้นมาก ขณะเดียวกันก็ยังคงวาดลวดลายเอาไว้อย่างโค้งหวานและแลดูพลิ้ว
       
        ภาพที่สองอันเป็นเหตุการณ์สัปดาห์ที่สาม มีชื่อว่า "รัตนจงกรมเจดีย์" ซึ่งเสด็จจงกรมอยู่ทางเหนือต้นโพธิ์ตลอดทั้งสัปดาห์
       
        การจัดองค์ประกอบก็ยังคงคล้ายๆ กับภาพแรก แตกต่างกันที่ท่วงท่าของพระพุทธเจ้า ซึ่งปล่อยพระหัตถ์ลงทั้งสองข้าง และย่างพระบาทก้าวเดิน
       
        รูปนี้มุมกล้องที่ผมถ่ายมา ค่อนข้างจะเอียงๆ อยู่สักหน่อย เพราะต้องถ่ายจากด้านข้าง ไม่สามารถจับภาพตรงๆ เนื่องจากพื้นที่แคบติดฐานปูนขององค์พระประธาน
       
        ภาพที่สาม (สัปดาห์ที่ 4) เป็นตอน "รัตนฆรเจดีย์" ทรงเสด็จไปทางทิศเหนือของต้นโพธิ์ ประทับนั่งสมาธิ ณ เรือนแก้ว ที่เทพยาดาเนรมิตถวาย
       
        ภาพนี้วาดออกมาเรียบๆ นะครับ ไม่เน้นลวดลาย รวมทั้งใช้สีแดงดำบนพื้นขาวเป็นหลัก วัดโดยความรู้สึกส่วนตัวของผมเอง เป็นภาพที่เกือบจะ "จืด" สุด เมื่อเทียบกับรูปอื่นๆ ทั้งหมดในพระอุโบสถ
       
        อย่างไรก็ตาม ครูช่างที่วาดภาพนี้มาตีตื้นทำคะแนน จนไม่ยิ่งหย่อนด้อยไปกว่าท่านอื่นๆ ด้วยการใส่รายละเอียดบางอย่าง ทางด้านบนและด้านล่างของภาพ
       
        ด้านบนนั้นวาดผีเสื้อยักษ์สองตัว ผมเข้าใจว่าเป็นการแก้ปัญหาพื้นที่ว่าง ส่วนจะมีความหมายในเชิงปริศนาธรรมใดๆ ซ่อนอยู่หรือเปล่า เป็นเรื่องที่ผมยังไม่สืบค้นไม่พบข้อมูล
       
        อีกบริเวณหนึ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือ ตอนล่างข้างภาพ ใต้ฐานบัลลังก์ที่พระพุทธเจ้าประทับ มีภาพที่เรียกกันว่า "ตัวแบก"
       
        ในจิตรกรรมไทยนั้น "ตัวแบก" ส่วนใหญ่มักจะวาดเป็นยักษ์หรือสิงสาราสัตว์ในจินตนาการ แต่ภาพนี้ที่วัดเกาะฯ กลับแหวกแนววาดเป็นชาวต่างชาติ (ดูแล้วหน้าตากระเดียดไปทางแขก) และมีท่วงท่าอาการที่ชวนให้นึกถึงภาพ "หัวล้านชนกัน"
       
        อันนี้ผมเดาว่าไม่น่าจะมีความหมายล้ำลึกอันใดซ่อนอยู่นะครับ คงเป็นการสะท้อนอารมณ์ขันเล็กๆ น้อยๆ ของครูช่างที่วาดเสียมากกว่า

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000046986

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น