ห้องสมุดประชาชน ไม่ใช่หอหลวง-หอไตร
คอลัมน์ สยามประเทศไทย
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

สมุด (book) หมายถึงกระดาษที่ทำเป็นเล่ม เช่น สมุดข่อย คือสมุดทำจากกระดาษข่อยเป็นแผ่นยาวๆ พับทางขวางทบกลับไปกลับมา มีทั้งชนิดกระดาษขาว และกระดาษดำ บางทีเรียกอีกชื่อว่าสมุดไทย แรกมีขึ้นในบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาราวหลัง พ.ศ.1700 เลยไม่สลักหินทำศิลาจารึก เพราะเขียนบนสมุดข่อย-สมุดไทยได้แล้วสะดวกกว่า
หนังสือ (letters, alphabet) หมายถึงเครื่องหมายหรืออักขระที่กำหนดขึ้นขีดเขียนแทนเสียงในภาษามนุษย์ บางทีเรียกว่าลายสือ, ตัวหนังสือ
ครั้นนานไปความหมายของคำพวกนี้ปนกันจนแยกไม่ได้ตายตัว เช่น ห้องสมุด (library) มีหนังสือ (books) จึงมีผู้รู้บางท่านแนะนำให้เรียก library ว่าห้องหนังสือ
![]() หอไตรหนองขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งกลางน้ำในสระ ป้องกันมดปลวกทำลายหนังสือ |
ห้องสมุดในสยามประเทศ ควรมีแล้วตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1700 เป็นยุคอโยธยาศรีรามเทพ (ก่อนกรุงศรีอยุธยาราว 200 ปี) มีชื่อเรียกสืบมาถึงสมัยหลังว่า "หอพระมณเฑียรธรรม" หรือ "หอหลวง" เก็บพระราชตำรับตำราเก่าเป็นเล่มสมุดข่อย (สมุดไทย)
หอพระมณเฑียรธรรม หรือหอหลวงยุคอยุธยา สร้างไว้กลางสระน้ำอยู่ในวังหลวง เพราะเป็นสมบัติของหลวง ผู้จะไปอ่านต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจำราชสำนัก เช่น สุนทรภู่ ยุคกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ดีมีตระกูลเชื้อสายเก่าเมืองบางกอก (ไม่ใช่ไพร่จากระยอง)
ลักษณะเดียวกันกับหอพระมณเฑียรธรรม ห้องสมุดในวัดเรียก "หอไตร" กร่อนจากหอพระไตรปิฎก เก็บคัมภีร์ใบลาน สร้างไว้กลางสระป้องกันมดปลวก
ห้องสมุดร่วมสมัยในอุดมคติ ยังไม่มีในประเทศไทย เพราะ "หอสมุดแห่งชาติ" ในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่สืบทอดอุดมการณ์ศักดิ์สิทธิ์ของหอไตรกับหอพระมณเฑียรธรรม จึงไม่เอื้อสามัญชนชาวบ้าน
รัฐบาลทักษิณที่ว่าแน่นักหนาก็พัฒนาอุดมการณ์หอหลวงกับหอไตรในหอสมุดแห่งชาติไม่สำเร็จ เลยหาช่องทางสร้างใหม่จะให้ชื่อห้องหนังสือตามแนวห้องสมุด แต่ไม่สำเร็จอีก เพราะกลายเป็น TK Park สมบัติส่วนตัวของชนชั้นกลางอย่างสูงในสังคมเมืองเท่านั้น
กระทรวงศึกษาธิการที่ป่าวร้องให้ "การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ" อยู่ขณะนี้ ต้องทบทวนแล้วไตร่ตรองจงดี อย่าให้ ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" ที่มีทั่วประเทศ กลายเป็น หอพระมณเฑียรธรรม หรือหอหลวง-หอไตร เพราะจะเท่ากับต่อต้านการอ่านเป็นวาระแห่งชาติอย่างมีประสิทธิ ภาพ
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต้องไม่คิดอย่างข้าราชการวิกลจริตที่กำหนดประเภทหนังสือเข้าห้องสมุดประชาชน แล้วยับยั้งกิจกรรมเกี่ยวข้อง เช่น สอนดนตรีไทย ฯลฯ เพราะต้องการให้ห้องสมุดประชาชนประพฤติตนเป็นหอหลวง-หอไตร
ถ้าจะให้ดีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการควรให้คณะบุคคลภายนอกที่เป็นกลางไปประเมินห้องสมุดประชาชนฯทั่วประเทศในกำกับของ กศน. ว่าขณะนี้ทิ้งร้างไปแล้วกี่แห่ง? ส่วนที่เหลือรอวันร้างอีกกี่แห่ง? แล้วจะร้างหมดเมื่อไร?
หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03290552§ionid=0131&day=2009-05-29
Hotmail® has ever-growing storage! Don't worry about storage limits. Check it out.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น