วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สืบสานงาน 'โขน' ศิลปะไทยสู่รุ่นหลัง

 
วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 เวลา 00:00 น.
 
สืบสานงาน ‘โขน’ ศิลปะไทยสู่รุ่นหลัง
จากพระราชเสาวนีย์ใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตระหนักถึงคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมไทยซึ่งกำลังจะสูญหายไป จึง    มีพระราชประสงค์ฟื้นฟูและอนุรักษ์นาฏกรรม ตามแบบประเพณีไทยโบราณ อาทิ โขน และละครรำแบบต่าง ๆ ขึ้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละคร ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.  2550 เพื่อเป็นการสืบสานงานช่างฝีมือไทยทั้งในส่วนของงานช่างทำหัวโขน ช่างปักสะดึงกรึงไหม ช่างเงินช่างทอง และศิลปะการแต่งหน้า อันเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติให้คงอยู่สืบเนื่อง
 
เพื่อเป็นการอนุรักษ์ “โขน” ซึ่งเป็นการแสดงชั้นสูงให้คงอยู่และสืบทอดไปถึงอนุชนรุ่นหลัง มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะกรรมการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละคร จึงเห็นควรจัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พรหมาศ พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัด ติวงศ์ บรรเลงโดยวงปี่พาทย์ กรมศิลปากร, วงโยธวาทิต กองดุริยางค์กองทัพบก ศิลปินชั้นนำจากกองการสังคีต กรมศิลปากร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย. 2552 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย.

พัสตราภรณ์ ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างโดย อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มจันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ใช้วิธีการปักสะดึงกรึงไหมตามแบบโบราณ พิเศษตรงกระบวนลายที่ประณีตงดงามตามแบบศิลปะไทย และใช้สีสันตามแบบศิลปกรรมไทยโบราณ และยังออกแบบถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับ)  แบ่งเป็นเครื่องประดับสำหรับตัวละครเอก พระราม พระลักษมณ์ พระอินทร์ ทศกัณฐ์ และ อินทรชิต จัดสร้างโดยใช้เงินสลักดุน กะไหล่ทองประดับพลอย ส่วนตัวละครอื่น ๆ ใช้วิธีการหล่อทองแดงชุบทองประดับพลอยสังเคราะห์

หัวโขนและศิราภรณ์ การจัดสร้างครั้งนี้พยายามรักษาแนวทางตามแบบโบราณ โดยหัวโขนฝ่ายยักษ์ ควบคุมโดย ขรรค์ชัย หอมจันทร์,หัวโขนฝ่ายลิง ควบคุมโดย อภิชาต เกิดเฉ็งเม็ง และศิราภรณ์ ควบคุมโดย สุรัตน์ จงดา ขั้นตอนการทำหลังจากปั้นหุ่นและปิดกระดาษเป็นโครงหัวโขนแล้ว จึงนำมาวาดโครงหน้าเพื่อเตรียมปั้นหน้าโขนเพิ่มเติม จากนั้นใช้ขี้เลื่อยผสมกาว ผงชันและปั้นหน้าโขนตามเค้าโครงที่วาดไว้

สิ่งของประกอบการแสดง ออกแบบและควบคุมการจัดสร้างโดย อ.สุดสาคร ชายเสม เป็นฉากและอุปกรณ์การแสดงที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษ อาทิ ช้างเอราวัณ เครื่องสูง โรงพิธี


http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=200358&NewsType=1&Template=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น